ภาษาไทยอะไรกันนี่!...วันนี้ปันศิลป์ ปันสุข ขอนำเสนอ "คำซ้ำแบบไหน ใช้ไม้ยมก"
เพื่อน ๆ คงได้ใช้ไม้ยมกอยู่บ่อย ๆ แต่รู้ไหมว่า เอ๊ะ แล้วมันใช้ยังไงนะ
"ไม้ยมก" ใช้เขียนหลังคำ "วลี" หรือประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำวลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง เช่น ต่าง ๆ มาก ๆ ดำ ๆ แต่เมื่อเป็นคำคนละบท คนละความ คนละชนิดกัน ไม่ควรใช้ไม้ยมก เช่น หนูไปปทุมวัน ๆ นี้ เพื่อไปซื้อเสื้อ ๕ ตัว ๆ ละ ๑๐๕ บาท แต่พ่อค้าร้านเสื้อที่เคยมาขายทุกวัน ๆ นี้ไม่มา เสียเวลาที่สุด
ซึ่งคำเขียนที่ถูกต้อง ก็คือ
หนูไปปทุมวัน วันนี้ เพื่อซื้อเสื้อ ๕ ตัว ตัวละ ๑๐๕ บาท แต่พ่อค้าร้านเสื้อที่เคยมาขายทุกวัน วันนี้ไม่มาขาย
“ปทุมวัน” เป็นชื่อเฉพาะบอกสถานที่ และ “วันนี้” เป็นคำวิเศษณ์บอกเวลา “ตัว” เป็นลักษณะนาม แต่ “ตัวละ” เป็นเป็นคำประกอบคำนามบอกจำนวน “ทุกวัน” คำวิเศษณ์บอกจำนวน และ “วันนี้” เป็นคำวิเศษณ์บอกเวลา
นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้รูปคำเดิมที่มีเสียง ๒ พยางค์
เช่น นานา จะจะ ที่ไม่ต้องใช้ไม้ยมกในการเขียน
เพื่อน ๆ ลองแต่งประโยคที่ใช้ ไม้ยมก และไม่ใช้ ไม้ยมก รับรองว่าสนุกดีมีประโยชน์ค่ะ