ปันบันดาลใจ...หัวใจของความเป็นครู ตอนที่ 2

หมวดหมู่ , 24 พฤศจิกายน 64




การแสดงพื้นบ้าน X การประยุกต์ให้เข้ากับโลกยุคใหม่ ตามความเข้าใจของคนทั่วไป หมอลำคือการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสาน กระติบ คือ ภาชนะใส่ข้าวเหนียว และละครหุ่นในภาคอีสาน คือ บักตื้อ (ละครหุ่นเชิดด้วยหนังสัตว์ คล้ายหนังตะลุงในภาคใต้) และละครหุ่นกระบอก ซึ่งทั้ง 3 การแสดง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน แล้วอะไรที่ทำให้เกิดการผสมผสาน จนกลายเป็นการแสดงหมอลำหุ่นกระติบข้าวเหนียวหนึ่งเดียวในประเทศไทย


ย้อนความไปเมื่อหลายปีก่อน ครูเซียงมาลงหลักปักฐานใน ต.นาดูน จ.มหาสารคาม เพื่อร่วมกันพัฒนาละครหุ่นกับเด็กๆ และคนในชุมชน โดยนำศิลปะการละครที่คุ้นเคยมาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ แต่ปัญหาที่พบ คือ ภาษาที่ใช้คือภาษาภาคกลาง ในขณะที่เด็กๆ คุ้นเคยกับภาษาอีสานมากกว่า ทำให้การฝึกฝนทั้งคำร้อง และการเล่าเรื่องติดขัด แทนที่ครูเซียงจะฝืนธรรมชาติและความถนัดที่เด็กๆ มี เขากลับใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน จนได้คำตอบว่า “ภาษาถิ่น” และ “เพลงหมอลำ” เป็นสิ่งที่เด็กๆ คุ้นเคยและสนใจมากที่สุด


เมื่อได้คำตอบของปัญหา ครูและเด็กๆ จึงตัดสินใจไปหาผู้รู้ด้านหมอลำในหมู่บ้าน แต่ระหว่างทางไปที่บ้านของผู้รู้นั้น พวกเขาเจอกับผู้เฒ่าที่กำลังนั่งสานกระติบข้าวที่บ้าน จึงเข้าไปทักทายตามปกติวิสัย ขณะพูดคุยกัน ครูเซียงสังเกตเห็นกระติบข้าวที่วางซ้อนอยู่ ใบหนึ่งเล็กมีลักษณะคล้ายหัวคนกำลังกำลังอ้าปาก ส่วนอีกใบมีขนาดใหญ่คล้ายร่างกายคน ครูเซียงจึงเกิดความคิดนำกระติบมาพัฒนาเป็นหุ่น และเมื่อลองทำปรากฏว่านอกจากจะมีความสวยงามแปลกตา ยังให้ความรู้สึกเหมือนคนอีสาน สร้างเอกลักษณ์ เป็นที่จดจำ และเป็นความภูมิในความเป็นเลือดอีสานอีกด้วย และขอให้ผู้รู้ด้านหมอลำ ช่วยแนะนำการร้องหมอให้กับเด็กๆ เพื่อพวกเขาจะได้มีพื้นฐานที่ถูกต้อง และพัฒนาเนื้อหาคำร้องให้เข้ากับการแสดงละครหุ่นต่อไป




เมื่อถามว่าการนำสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในชุมชน มีอุปสรรคปัญหาหรือไม่ และอย่างไร
ครูเซียงเล่าว่า ในแรกเริ่ม คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนตั้งคำถามกับสิ่งที่ครูและเด็กๆ ร่วมกันทำไม่น้อย เช่น พอรู้ว่าจะนำกระติบข้าวเหนียวมาพัฒนาเป็นหุ่น หลายคนก็บอกว่ากระติบเป็นของสูง ใช้ใส่ข้าวเหนียว เหมือนกับเป็นภาชนะเลี้ยงชีวิต จะนำไปทำหุ่นเหมาะสมหรือไม่ หรือ หมอลำเป็นการแสดงพื้นบ้านทรงคุณค่า จะนำไปอยู่ในละครหุ่นได้อย่างไร
ครูเซียงต้องใช้ทั้งเวลาในการลงมือทำ รวมทั้งอธิบายหมุดหมายเพื่อให้คนในชุมชนเชื่อในสิ่งที่ทำอยู่ยังคงอยู่บนฐานคิดของการเคารพคุณค่าเก่า และทำให้เกิดการพัฒนาที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น และละครหุ่นหมอลำกระติบข้าวเหนียวยังทำหน้าที่สื่อสารความเป็นเอกลักษณ์การแสดงพื้นบ้านอีสาน เนื้อหายังคงสอกแทรกธรรมะ และแง่คิดเพื่อให้คนทำคุณงามความดี ขณะเดียวกันเด็กๆ ได้ซึมซับเรื่องราวที่จะเป็นเบ้าหลอมให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณค่าและคุณภาพมากขึ้น


ทุกวันนี้ ต.นาดูน เป็นหนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัด นอกจากมีจุดเด่นด้านการแสดงละครหุ่นหมอลำกระติบข้าวเหนียว ยังต่อยอดขยายผลไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชน ทั้งโฮมสเตย์ที่พัก อาหารท้องถิ่นบนวิถีชีวิตเรียบง่ายและงดงาม 


ติดตามข่าวสารและกิจกรรมปันศิลป์ ปันสุข เพิ่มเติมได้ที่
Youtube ปันศิลป์ ปันสุข : https://bit.ly/3tKmMPW

 

 


Pride Month

8 มิถุนายน 67


โครงการปันศิลป์ ปันสุข

โดย : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ที่ตั้งสานักงาน : 
     128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
     128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 
โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]