ครูแบบไหนที่เราอยากให้เป็นครูในชีวิต ในช่วงชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง จะพัฒนาตัวเองไปในทิศทางไหน เบ้าหลอมสำคัญที่ช่วยขัดเกลาให้เรามองเห็นเป้าหมายควบคู่ความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นคือ “ครู” แต่ครูแบบไหนที่เราอยากเห็น และอยากให้เป็น “ครูในชีวิต” ครูเซียง ปรีชา การุณ ครูใหญ่ หมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดา
ปันบันดาลใจ ปันประสบการณ์ของครูท่านหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาหลัก และไม่ได้จบวิชาชีพครู แต่ความเป็นครูของเขา เกิดจากการทุ่มเทและลงมือทำ โดยใช้วิชาการละครที่ตนเองถนัด สร้างกระบวนการเรียนรู้สุดสนุก ไม่มีการประเมินผล ไม่จำกัดความสนใจ รวมทั้งเปิดพื้นที่ในการค้นหาตัวเอง และผลักดันให้เด็กๆ มองเห็นคุณค่าที่มีอยู่ จนเด็กหลายคนประสบความสำเร็จ ทั้งการงานอาชีพและการเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม ครูแบบนี้หรือเปล่าที่เราอยากให้เป็น “ครูในชีวิต”
จุดเริ่มต้น “คนการละคร” ของครูเซียง
ครูเซียงศึกษากระบวนการศิลปะและละครเพื่อชุมชน ตั้งแต่ปี 2551 กับกลุ่มเด็กรักษ์ป่า จ.สุรินทร์ เขาเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 6 และเข้าเรียนต่อใน กศน. ควบคู่กับการศึกษาด้านบทกวี บทกลอนที่ตัวเองสนใจ และเข้าเรียนต่อด้านวิจิตรศิลป์ที่วิทยาลัยใน จ.อุบลราชธานีบ้านเกิด และเป็นหนึ่งในทีมคณะละครหุ่นเด็กรักษ์ป่า ที่นำศิลปะการละคร ผสมผสานกับความรู้ด้านศิลปะ บทกวี บทกลอน มาสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในหลายพื้นที่ เพราะเชื่อมั่นว่า “ละครหุ่นเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับมนุษย์”
จนกระทั่งได้มาแสดงละครหุ่นให้กับกลุ่มผู้ติดสารระเหยใน จ.มหาสารคาม จากการชักชวนของ อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง ท่านเป็นนักเขียนบท นักแปล และผู้กำกับละครเวที และอาจารย์สอนด้านวรรณกรรมและการละคร ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทำกิจกรรมการแสดงละครหุ่นให้กับเด็กๆ ใน ต.นาดูน ควบคู่ไปด้วย
ทำให้ครูเซียงได้รู้จักกับการแสดงพื้นบ้าน การเชิดหนังตะลุงอีสาน (หนังบักตื้อ) และเรื่องราวในฮูปแต้ม (จิตรกรรมภาพวาดในโบสถ์ หรือสิมอีสาน) จนเกิดความประทับใจในวิถีภูมิปัญญาและความรุ่มรวยด้านศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อีกทั้งคนในชุนชน ต.นาดูน ยังมีความมุ่งมั่น อยากรักษาศิลปะการแสดงนี้ให้อยู่คู่ชุมชน
ครูเซียงเล่าความประทับใจ ในวันที่กิจกรรมจบต้องล่ำราเด็กๆ และคนในชุมชน เด็กๆ บางส่วนร้องไห้ และรู้สึกใจหายที่ครูต้องกลับไปกลายเป็นจุดเริ่มต้นความผูกพัน เกิดอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว นั่นจึงเหตุให้ครูเซียง ตัดสินใจลงหลักปักฐานในหมู่บ้านเล็กๆ ไกลปืนเที่ยง ใน ต.นาดูน จ.มหาสารคาม เพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนการละครหุ่นกับเด็กๆ อย่างจริงจัง ซึ่งในช่วงแรก เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ขาดทั้งทุนทรัพย์และสถานที่ ชีวิตความเป็นอยู่ของครู นอนตามวัด ตามบ้านชาวบ้าน อาหารแต่ละมื้อบางครั้งพ่อแม่ของเด็กที่มาร่วมกิจกรรมก็นำมาให้
แม้ความพร้อมของปัจจัยภายนอกและสิ่งอำนวยความสะดวกจะติดขัด แต่ความพร้อมภายในหัวใจของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้ปกครองต่างหากที่สำคัญ และผลักดันให้ครูมีกำลังใจในการพัฒนาละครหุ่นกับเด็กๆ
โดยวิธีการของครูเน้นเปิดโอกาสให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ตามความสนใจ ไม่มีการประเมินผล ให้เวลาเต็มที่ในการเรียนรู้และค้นหาความถนัดของตัวเอง จนเด็กๆ หลายคนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากเด็กหลังห้องที่ถูกมองเป็นวายร้าย กลายเป็นเด็กที่พบความถนัด ความสนุก และความภูมิใจที่ได้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง
จนผู้ปกครองและคนเฒ่าคนแก่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกหลานเข้ามาสนับสนุนให้เกิดพื้นที่และการแสดงละครหุ่นในชุมชนอย่างจริงจังมากขึ้น
จนปัจจุบัน นาดูน ต.เล็กๆ ไกลปืนเที่ยงกำลังมีโรงละคร ที่มีกระติบข้าวเหนียวเป็นหุ่น มีการแสดงหมอลำเป็นเนื้อหา และมีเด็กๆ กับคนเฒ่าคนแก่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องเล่าและการแสดงละครหุ่นหมอลำกระติบข้าวเหนียวหนึ่งเดียวของเมืองไทย ที่ไม่ใช่แค่ความสนุก แต่ยังอัดแน่นไปด้วยแนวคิดทางธรรมะ เพื่อปลูกฝังความดีงามให้เบ่งเบ่งในหัวใจของมนุษย์ทุกคน
แม้ทุกวันนี้ครูเซียงแทนตัวเองกับเด็กๆ ด้วยภาษาถิ่นว่า “อ้าย”หรือพี่ แต่กระบวนใช้ศิลปะการละครที่ครูทำร่วมกับเด็กๆ จนพวกเขาค้นพบความถนัดและคุณค่าของตัวเอง ส่งผลให้ลูกศิษย์ที่จบคณะละครหุ่นเทวดาหมอลำกระติบ เติบโตอย่างมั่นคงทั้งการงานอาชีพ และมั่นคงภายใน เขาจึงเป็นครูทั้งความคิด และเบ้าหลอมชีวิตให้กับเด็กๆ
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมปันศิลป์ ปันสุข เพิ่มเติมได้ที่