ต้นกำเนิดหมากรุก

หมวดหมู่ บทความ , 16 มิถุนายน 66

ต้นกำเนิดหมากรุก



“เดินไม่ดูตาม้าตาเรือ” หลายคน ที่ได้ยินคำนี้ครั้งแรก คงจะสงสัยว่า “ตาม้า ตาเรือ” คืออะไร? แต่ใครที่เคยเล่นหมากรุกคงรู้ดีว่าคำ ๆ นี้หมายถึงอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าหมากรุกนั้นมีที่มาอย่างไร

สำหรับหมากรุกไทยนั้น ว่ากันว่ามีการเล่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากการขุดค้นพบตัวหมากรุกสังคโลก ตัวหมากรุกเคลือบจากแหล่งเวียงกาหลง ซึ่งอยู่ในยุคสมัยสุโขทัย โดยบันทึกของนักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส นายฟรังชัวส์ อังรี ตุรแปง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้บันทึกว่าคนไทยนิยมเล่นหมากรุกกันอย่างแพร่หลาย แม้แต่ในวรรณคดีไทยเรื่องต่าง ๆ ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเล่นหมากรุก ทั้งขุนช้างขุนแผน ไชยเชษฐ์ รามเกียรติ์ และอิเหนา ในอดีตด้วยวิธีคิดหรือกลยุทธ์ของหมากรุกกลถอยเอาชนะนั้น เคยมีส่วนช่วยปกป้องประเทศชาติในสมัยที่ธนบุรีรบกับพม่ามาแล้ว



ต้นกำเนิดของหมากรุกนั้น ยังคงเป็นที่สนใจของโลกในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งยังไม่มีหลักฐานอะไรที่ระบุได้ชัด ว่าหมากรุกนั้นมีต้นกำเนิดมาจากที่ไหน เพราะมีการเล่นกันหลายประเทศ และแต่ละประเทศ ก็มีตำนานกล่าวขานเพียงว่า ได้มีการเล่นมาช้านาน ต่างก็เชื่อว่าหมากรุก เกิดที่ กรีก อินเดีย จีน เปอร์เซีย หรือที่อื่น ซึ่งที่ผ่านมามีผู้พยายามค้นคว้าหาหลักฐานมานานแล้ว

อย่างในหนังสือเรื่อง The Origin of Chess ของ Harsha กล่าวว่า หมากรุกเกิดขึ้นในจีนก่อนปี ค.ศ. 174 เรียกกันว่า “ชองกี (Chong-ki)” หรือกีฬาพระราชา ทำให้เห็นว่าเป็นกิจกรรมของบุคคลชั้นสูง ต่อมาก็มีคนนำเข้าไปในญี่ปุ่นในราว ๆ 1,000 ปี มานี้เอง ซึ่งที่ญี่ปุ่นเรียกหมากรุกว่า “โกะ (Go)” ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างก็ไม่มีประวัติชัดเจน เพียงแต่เล่าอ้างจากตำนานเท่านั้น 



แต่ตำนานที่อาจจะมีคนกล่าวถึงกันมากก็คือ ตำนานจาก “รามายณะของอินเดีย” เมื่อ 2-3,000 ปีมาแล้ว โดยในตำนานเล่าว่าเมื่อพระรามยกทัพไปทำศึกกับทศกัณฐ์ที่เมืองลงกา นางมณโฑเห็นทศกัณฐ์เคร่งเครียดเป็นกังวล จึงคิดหาทางให้ทศกัณฐ์มีเวลาพักผ่อนเสียบ้าง และเห็นว่าควรจะเป็นการเล่นที่เกี่ยวกับการแข่งขันคล้ายกับการทำสงคราม จึงได้คิดค้นหมากรุกให้ทศกัณฐ์เล่น 

โดยหมากรุกดังกล่าวคนอินเดียเรียกว่า “จตุรงค์” ซึ่งจะแตกต่างจากที่ไทย เนื่องจากมี 4 ชุด 4 ฝั่ง และ 4 เหล่าทัพ ซึ่งเป็นที่มาว่า “หมากรุก” คือการเล่นทำสงครามแบบกองทัพ ถ้าหากดูตามนี้ เราก็จะเห็นว่าหมากรุกนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ ผ่อนคลายความเครียด เพื่อความสนุก (ตามที่นางมณโฑอยากให้ทศกัณฐ์ได้พัก) แต่ด้วยความที่มันเป็นเกมกลยุทธ เราจึงสามารถนำแนวคิด วิธีการ ในเกมหมากรุก มาปรับใช้ร่วมกับสงครามจริง ๆ หรือใช้กับในชีวิตประจำวันได้ ทำให้เราเห็นความมหัศจรรย์ของหมากรุก ทำให้มันมีประโยชน์มากกว่านั้น

อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก
ธนิศร ศรีก๊กเจริญ และ ธีรศักดิ์ อุ่นอารมณ์เลิศ. (2553). การวิเคราะห์คุณค่าของศิลปะหมากรุกไทย. (รายงานการวิจัย). วารสารศิลปากรศึกษาศาสตร์
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2562). ตำนานหมากรุกไทย. จาก
ประโชติ สังขนุกิจ. (2566). หมากรุกไทย มาจากไหน ปริศนาความเป็นมาและหลักฐานแรกที่เอ่ยถึง. จาก

Pride Month

8 มิถุนายน 67


โครงการปันศิลป์ ปันสุข

โดย : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ที่ตั้งสานักงาน : 
     128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
     128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 
โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]