แวดวงดนตรี "เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์"
ตลอดระยะเวลากว่า 30 กว่าปี ศิลปินที่ยืนหยัดในวงการดนตรีและเป็นซุปเปอร์สตาร์มาได้อย่างยาวนานที่สุด คงจะหนีไม่พ้นชื่อของชายคนนี้ ธงไชย แมคอินไตย์ พี่เบิร์ดคือแบบอย่างของศิลปินที่ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นไอดอลและเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมของศิลปินและนักดนตรี มีแฟนคลับยุคใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ทุกครั้งที่จัดคอนเสิร์ตก็เต็มทุกรอบ และเป็นดาวค้างฟ้ามาโดยตลอด วันนี้เราจะมาหาคำตอบสิ่งเหล่านี้กันครับ
เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ชีวิตในวัยเด็กของพี่เบิร์ดไม่ได้ราบรื่นนัก ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน จึงต้องแบ่งเบาภาระทางบ้านด้วยการช่วยพับถุง เก็บกระป๋องนมขาย เย็บงอบ ด้วยความที่รักในเสียงเพลงตั้งแต่เด็กประกอบกับพี่น้องในบ้านเล่นดนตรี จึงเกิดวงดนตรีในครอบครัวที่ชื่อว่า "มองดูเลี่ยน" พี่เบิร์ดในช่วงชีวิตนั้นจึงได้อยู่กับการร้องเพลงและทำกิจกรรมตลอดเวลา ประกวดเวทีต่าง ๆ และได้รับรางวัลมากมาย
ขณะที่เป็นนายธนาคารอยู่นั้น พี่เบิร์ดก็รับงานถ่ายแบบ รวมถึงเป็นพนักงานเปิดประตูในดิสโก้เธคชื่อ ฟามิงโก โรงแรมแอมบาสเดอร์ ด้วยความที่เป็นคนสนุกสนานเฮฮา เอนเตอร์เทนเก่ง จึงทำให้เข้าตาผู้จัดละคร และก็ได้เล่นละครเรื่องเเรกในปี พ.ศ.2526 และก็ได้เข้าชิงรางวัลสมทบชายยอดเยี่ยม จากนั้นก็มีงานละครต่อเนื่อง จนได้ไปประกวดร้องเพลงเวทีสยามกลการในปี พ.ศ. 2527 และได้รับรางวัลในการประกวดถึง 3 รางวัล รวมทั้งรางวัลนักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากลจากเพลง “ชีวิตละคร”
พรสวรรค์และความสามารถของพี่เบิร์ดได้เข้าตา พี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จากนั้นพี่เบิร์ดก็ได้เข้าไปเป็นศิลปินในสังกัดแกรมมี่อย่างเต็มตัวโดยมีพี่เต๋อ เป็นคนฝึกสอนและเป็นโปรดิวเซอร์ จนได้มีอัลบั้มแรก นั่นก็คืออัลบั้ม หาดทราย สายลม สองเรา ซึ่งเป็นอัลบั้มของศิลปินชายที่ดีที่สุดแห่งปี มียอดจำหน่าย 5 แสนตลับคนแรกของแกรมมี่ มีเพลงดังอาทิ ฝากฟ้าทะเลฝัน, ด้วยรักและผูกพัน, บันทึกหน้าสุดท้าย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 อัลบั้มชื่อ สบาย สบาย ซึ่งต้นสังกัดจัดให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี โดยมีเพลงเด่น เช่น เพลง "สบาย สบาย" "เหมือนเป็นคนอื่น" และ "ฝากใจไว้" โดยเพลง "สบาย สบาย" เป็นเพลงที่ดังข้ามประเทศ มีการนำลิขสิทธิ์เพลงไปแปลงหลายภาษา เช่น จีน ฝรั่งเศส เป็นต้น
พ.ศ.2533 เป็นปีที่กระแสพี่เบิร์ดฟีเวอร์เพราะเขารับบทโกโบริในละคร คู่กรรม ซึ่งถือเป็นละครที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอันดับ 1 ของไทยตลอดกาล ด้วยเรตติ้ง 40 และในปีเดียวกันนี้ อัลบั้ม “บูมเมอแรง” ก็ได้ออกมา ทำให้ความดังของพี่เบิร์ดพีคขึ้นไปอีก โดยเพลงเด่น ๆ ในอัลบั้มนี้มีอาทิเช่น บูมเมอแรง, คู่กัด, หมอกหรือควัน และเพลง "คู่กัด" ก็มีการนำไปแปลงหลายภาษาในเอเชียอีกเช่นกัน
หลังจากนั้นพี่เบิร์ดก็มีอัลบั้มและเพลงฮิตต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายและทุกอัลบั้มก็จะมี “เพลงดังระดับปรากฎการณ์”ทุกอัลบั้ม เช่น พริกขี้หนู, ขออุ้มหน่อย, ถ่านไฟเก่า, คู่แท้, เล่าสู่กันฟัง, คนไม่มีแฟน, แฟนจ๋า, มาทำไมและอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้พี่เบิร์ดเป็นเจ้าของสถิติต่าง ๆ ของค่ายเพลงแกรมมี่ ผลงานโดดเด่น 3 ลำดับแรกของพี่เบิร์ด ได้แก่ อัลบั้ม บูมเมอแรง (พ.ศ. 2533) เป็นศิลปินคนแรกของค่ายที่มียอดจำหน่ายเกิน 2 ล้านตลับ โดยอัลบั้ม พริกขี้หนู (พ.ศ. 2534) มียอดจำหน่ายรวมมากกว่า 3.5 ล้านตลับ เป็นสถิติยอดจำหน่ายสูงที่สุดของยุค 90 และ ชุดรับแขก (พ.ศ. 2545) มียอดจำหน่ายมากกว่า 5 ล้านชุด เป็นอีกปรากฏการณ์ที่อัลบั้มมียอดจำหน่ายสูงที่สุดในวงการเพลงไทย
พี่เบิร์ดเป็นศิลปินที่ไม่เคยรับงานร้องเพลงใด ๆ เลย นอกจากงานคอนเสิร์ตของตัวเอง ซึ่งคอนเสิร์ตของอัลบั้มต่าง ๆ ในแต่ละครั้งนั้น ถือว่าเป็นการรวมคนที่เก่งที่สุดในด้านต่าง ๆ ของประเทศมาทำงานร่วมกัน หลาย ๆ คอนเสิร์ตนั้น มักจะมีเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในการแสดงเสมอ คนดังในแต่ละยุคจะมารวมตัวกันในโชว์คอนเสิร์ตของพี่เบิร์ด ใครเก่งด้านอะไร จะได้โชว์ในสิ่งที่ตัวเองถนัด ด้วยความที่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี จึงทำให้ผู้ชายในวัย 60 ยังคงแสดงให้เห็นว่ากาลเวลาทำอะไรเขาไม่ได้ 30 ปีก่อนเป็นแบบไหน คอนเสิร์ตล่าสุดก็ยังคงเป็นแบบนั้น นี่คงเป็นเคล็ดลับและตัวอย่างที่ดีของการทำอาชีพของตัวเองให้ยืนยาว จะสังเกตได้ว่าในปัจจุบันแม้การฟังเพลงของผู้คนจะเปลี่ยนไป แนวเพลงและวิธีคิดมีความหลากหลายมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้เห็นก็คือ พี่เบิร์ดยังมีผลงานเพลงออกมาให้เราได้ฟัง ซึ่งแนวเพลงก็เป็นแนวที่ร่วมสมัยและมีศิลปินรุ่นใหม่ ๆ มาร่วมงานมากมาย สุดท้ายแล้วความสำเร็จในอาชีพของพี่เบิร์ด ชื่อเสียง เงินทอง และการเป็นดาวค้างฟ้าอาจจะเป็นแค่ส่วนประกอบนึง ความสำเร็จที่แท้จริงของพี่เบิร์ดหรือไม่ว่าใครก็ตาม มันอาจจะเป็นแค่การได้ทำในสิ่งที่เรารักและทุ่มเทกับมันแล้วมีความสุขเท่านั้นเองก็ได้
ติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับแวดวงดนตรีได้ที่
จีรศักดิ์ จำรัส ( Music Creator )
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมปันศิลป์ ปันสุข เพิ่มเติมได้ที่