กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกประกาศสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยยึดตามฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน ซึ่งวันที่ 14 เมษายน เป็น "วันมหาสงกรานต์" ทางจันทรคตินั้นตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที
ตำนานนางสงกรานต์
"ธรรมบาลกุมาร" เป็นเทพบุตรที่พระอินทร์ประทานให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย จนวันหนึ่ง "ท้าวกบิลพรหม"ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเอง โดยธรรมบาลกุมารได้ขอตอบคำถามใน 7 วัน
เมื่อถึงเวลา ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมแพ้ในการตอบคำถามครั้งนี้ และก่อนจะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหม ได้เรียก "ธิดาทั้ง 7 องค์" ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และในทุกๆ ปี ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ จึงเป็นที่มาของ "นางสงกรานต์" โดยแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง
เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ โดยนางสงกรานต์มีชื่อดังนี้
"ทุงษเทวี" นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
"โคราดเทวี" นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
"รากษสเทวี" นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
"มัณฑาเทวี" นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
"กิริณีเทวี" นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
"กิมิทาเทวี" นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
"มโหทรเทวี" นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์