ฝันถึงโรงนา : โดยมัณฑนา ธราพรสกุลวงศ์ บทความประเด็น สุขภาวะในชุมชน

, 15 มิถุนายน 61 / อ่าน : 1,870

"ฝันถึงโรงนา" ผลงานสร้างสรรค์ที่จะสะท้อนให้คุณเห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมของท้องถิ่น 

อีกหนึ่งบทความในประเด็น "สุขภาวะในชุมชน" จากมัณฑนา ธราพรสกุลวงศ์

 

นี่ก็เที่ยงแล้วบ่ายคล้อยมาแล้ว ข้าวยังไม่ตกถึงท้องสักเม็ดเลย‘ถ้าเป็นที่บ้านคงอิ่มไปสองมื้อแล้วแน่ๆ’คือสิ่งที่ฉันคิดในใจขณะยังคงนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ภายในห้องอพาร์ทเม้นท์สภาพดูดีหลังศูนย์การค้าชื่อดังย่านชานเมือง

เสียงจ็อกแจ๊กจากแป้นพิมพ์ดังตัดสลับกับเสียงเพลงแจ๊สที่ดังมาจากลำโพง ฉันเชื่อว่าเพลงแจ๊สช่วยให้หายเครียดได้บ้าง เพราะเพลงที่นางเอกเปิดฟังในภาพยนตร์ต่างชาติที่ฉันเคยดู ฉันทนกับชีวิตแบบนี้มากว่า 3 ปีแล้ว ด้วยเหตุจำเป็นต้องย้ายเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แต่เดิมจากชีวิตของเด็กชนบทไม่ง่ายนักสำหรับเมืองกรุงที่ต้องผ่านการปรับตัวหลายๆอย่าง ต้องแข่งขันกับเวลา

ดังนั้น เราต้องรีบทำหลายๆสิ่งให้ท่วงทันต่อเวลาที่เดินไปอย่างรวดเร็วรวมถึงการแก่งแย่งชิงดีในทุก ๆ ด้านที่เร้าใจซับซ้อนดั่งจังหวะดนตรีจัดจ้านของเพลงแจ๊สที่ฉันกำลังฟังอยู่เสมอ วิถีชีวิตแสนจะเร่งเร้านี้ช่างผิดไปจากบ้านเล็กในป่าใหญ่อันเงียบสงบแบบวิถีชนบทซึ่งเหมือนเสียงเพลงเนิบช้า แต่เป็นเสียงสนุกสนานและเพลิดเพลินกว่าแบบในเมือง

ฉันจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนประจำอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งขนาดใหญ่พอ ๆ กับโรงเรียนประจำจังหวัด เด็กนักเรียนกว่า3,000กว่าคน มาจากหลายอำเภอในโซนเหนือของจังหวัด เช่น อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีนคร อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอศรีสำโรง บ้านฉัน และอำเภอสวรรคโลก ที่ตั้งของโรงเรียน เป็นวงจรปกติทั่วไปของเด็กที่พอจะมีความสามารถและกำลังทรัพย์ที่จะเลือกในโรงเรียนที่ดีกว่า แม้ว่าจะไกลบ้านก็ตาม เมื่อจบมัธยมก็จะแยกย้ายกันไปหาที่เรียน บ้างก็เลือกไปทางเหนือ บ้างก็ไปภาคตะวันออก หรือเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ตามที่พวกเขาจะสอบเข้าได้ เมื่อเรียนจบก็ทำงาน บางคนเรียนจบที่ไหนก็ทำงานนั่น บางคนหมุนชีวิตวัยทำงานของตนเข้าสู่วัฏจักรคนเมืองกรุง มีบ้างที่กลับมาบ้าน ส่วนใหญ่มักจะกลับมาเป็นข้าราชการ แต่น้อยคนนักที่มาจากท้องนาป่าเขา แล้วจะกลับคืนสู่วิถีเดิม ๆ อย่างแท้จริง ผู้คนต่างพากันวิ่งเข้าหาหน้าที่การงาน หาความเจริญก้าวหน้า

ฉันเชื่อว่า ในไม่ช้าวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนท้องถิ่นที่กินอยู่แบบบ้านนาบ้านไร่อันเป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่าก็จะสูญหายไป

วันหนึ่ง ฉันใช้เวลาปิดเทอมที่แสนจะน้อยนิดหลีกหนีความวุ่นวายของเมืองใหญ่กลับมาบ้าน เป็นช่วงจังหวะที่ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะคิดถึงบ้านได้ขนาดนี้ ฉันได้มีโอกาสพบกับลุงนก หรือนกกวี สัญญา พานิชยเวช นักเขียนอิสระผู้พลัดถิ่นมาอาศัยในสุโขทัย และเขาได้จัดตั้งสำนักพิมพ์โรงนาบ้านไร่ขึ้น ก่อนหน้านั้นฉันมีโอกาสได้รู้จักและพูดคุยกับคุณลุงมาบ้างพอผิวเผิน จากการอาศัยติดตามไปร่วมแสดงความยินดีในงานรับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 12 เนื่องจาก‘สายลมบุพกาล’ ของ ลอง จ้องรวี ซึ่งท่านรู้จักมักคุ้นกันดีกับคุณแม่ของฉัน ได้รางวัลรองชนะเลิศ สาขากวีนิพนธ์ในปีนั้น หลังจากนั้นฉันก็เริ่มติดตามลุง และสำนักพิมพ์โรงนาบ้านไร่เรื่อยมาทางเฟสบุ๊ค และนานๆ ครั้งที่กลับบ้านก็จะแวะไปเยี่ยมเยือนท่านเป็นครั้งคราวอย่างเช่นวันนี้...

ที่สำนักพิมพ์โรงนาบ้านไร่แห่งนี้แรกเลยทีเดียวฉันเห็นเพียงภาพจากในเฟสบุ๊ค เป็นภาพศาลากลางน้ำ มีดอกบัวสีม่วงเหนือน้ำขึ้นอยู่กลางสระรูปทรงของศาลาดูแปลกตา คล้ายกับหมวกของชาวนาที่เคยเห็นยายใส่ทำสวนตอนเด็กๆ ดูเป็นสถานที่ที่สงบร่มเย็น ดึงดูดให้รู้สึกว่าจะต้องมาเยือนที่แห่งนี้ให้ได้ เมื่อเห็นจริงๆแล้วก็ทึ่ง เพราะสำนักพิมพ์นี้มันอยู่กลางนา! สมชื่อจริงๆ

ลุงนกเรียกที่นี่ว่าโรงนา ใช้ที่นี่เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ที่รวมตัวของมิตรสหาย ชาวบ้านทำกิจกรรมร่วมกัน ยิ่งกว่านั้นคือเป็นที่สอนเด็กๆให้รู้จักกับวิถีชีวิตดั้งเดิมโดยใช้ศิลปะเขามาเป็นตัวช่วยในการขัดเกลา จากงานกิจกรรมทั้งการขีด เขียน เรียน วาด ดนตรีและผู้คน ทำให้โรงนาแห่งนี้แทบไม่เคยเงียบเหงา และยังคงดำเนินไปด้วยโครงการสร้างสรรค์อีกนับไม่ถ้วนที่หลั่งไหลมาจากลุงนก และพันธมิตรที่เหนียวแน่นอีกมากมาย

สุโขทัย เป็นจังหวัดที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงทำเกษตรกรรม จะขับรถไปที่ไหน ก็เห็นทุ่งนา ไร่ สวนเต็มไปหมดทั้งสองข้างทาง ตามคำของพ่อขุนราม ‘ในน้ำมีปลาในนามีข้าว’ แต่เชื่อหรือไม่ คนทำเรือกสวนไร่นาที่ยังเหลืออยู่ ก็มีแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ขึ้นไปเท่านั้น เด็กรุ่นใหม่ๆ อย่างฉันแทบจะไม่รู้แล้วว่าวิถีชีวิตในท้องทุ่งเป็นอย่างไร ข้าวที่ปลูกไม่ได้กินเอง ยุ้งฉางที่เคยมีอยู่เกลื่อนทุกบ้าน กลายเป็นเพียงที่เก็บของ บ้างก็รื้อทิ้งเสียมาก จริงอยู่ที่ในน้ำบ้านของเรายังมีปลา และในนาก็ยังมีข้าว แต่สิ่งเหล่านั้นกลับคล้ายว่าไม่ใช่ของเรา เราต้องซื้อหากันมากิน จะทำสวนทำนาต้องกู้ยืมเป็นหนี้สินกันจนท่วมตัว อาหารจากธรรมชาติที่เคยสมบูรณ์เรากลับต้องใช้สารเคมีมาช่วยส่งผลเสียต่อสุขภาพคนทำไปอีก กว่าจะได้ผลผลิตขายแลกเป็นเงิน บั้นปลายชีวิตก็ต้องรักษาตัวตัว

ฉันเองที่เป็นลูกหลานและมีบรรพบุรุษเป็นเกษตรกร ยิ่งรับรู้ ยิ่งเห็นความเป็นไป ยิ่งปวดใจ

‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ตัวอักษรรูปร่างธรรมดาๆ ปักบนหลังเสื้อหม้อฮ่อมแขนยาวทรงเสื้อคลุมอย่างทางเหนืออยู่เหนือชื่อสำนักหนังสือโรงนาบ้านไร่ สุโขทัย เป็นเสื้อที่ฉันมักจะหยิบมาใส่คลุมเป็นประจำด้วยความภูมิใจและเคารพนับถือเจ้าของสำนักพิมพ์ เท่าที่ได้รู้จากคุณแม่ลุงนกไม่ได้เป็นคนสุโขทัยเลย แต่พลัดถิ่นเข้ามาเป็นเขยสุโขทัย จับพลัดจับพลูได้รู้จักกับนักเขียน นักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากมายจนสุดท้ายปักหลักตั้งโรงนาบ้านไร่ขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน

จากการได้เข้ามาพูดคุยครั้งล่าสุดนี้ฉันได้ถามถึงหัวใจในการสร้างโรงนาบ้านไร่แห่งนี้ ลุงนกได้เท้าความเดิมให้ฟังถึงการทำงานที่ล่าสุดได้มีโอกาสรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรม พื้นเพท้องถิ่นของคนสวรรคโลก พบว่าส่วนมากแล้วเป็นวิถีชีวิตชาวนาชาวไร่ มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบัน ระบบวัฒนธรรมวิถีชีวิตต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไป ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่แฝงอยู่กับวิถีชีวิตดั้งเดิมก็ค่อยๆหายไป ลุงนกจึงหาทางที่จะอนุรักษ์วิถีชีวิตชาวนาอันเป็นพื้นเพดั้งเดิมของคนสวรรคโลก สุโขทัยนี้ให้ยังคงอยู่ โดยจัดเป็นกิจกรรมต่างๆขึ้นโดยครอบคลุมในทุกๆด้านของวิถีชีวิตชาวนาซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม นา และที่อยู่อาศัย ซึ่งในทุกๆกิจกรรมได้นำมาประยุกต์ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาผู้คนให้เข้าถึง เข้าใจ และกลับมาสู่วิถีชีวิตดั้งเดิม อีกทั้งยังสร้างความเข้มแข็งในชุมชนให้เกิดขึ้นและสามารถที่จะยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

ฉันมองว่าโรงนาจึงเป็นเสมือนฐานบัญชาการของการฟื้นฟูรากฐานทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเรา

ลุงนกไม่ได้ทำงานคนเดียวเลย แต่มีชาวบ้านและพันธมิตร เป็นเสมือนกองทัพที่เตรียมพร้อมจะสนับสนุนความคิดของลุงนกให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้เสมอ ฉันไม่ได้แต่พูดคุยกับลุงนกเพียงอย่างเดียว ช่วงที่ฉันแวะเข้าไปหานั้นเป็นโอกาสที่ดีมาก ได้เห็นพลังของชาวบ้านและพันธมิตรที่ได้เข้าร่วมพันธกิจนี้มานานแล้ว ตอนนั้น มีเด็กๆมาเข้าค่ายอยู่พอดี กิจกรรมที่ลุงนกดีไซน์ขึ้นมาสำหรับเด็กๆนี้มีทั้งการวาดรูปสีน้ำ การทำสมุดทำมือ การฝึกเขียน การวิ่งเล่นตามท้องทุ่ง ตกปลา แคมปิ้ง ทำกับข้าว ทำขนมไทยพื้นบ้าน หรืออาหารขึ้นชื่อของจังหวัดอย่างก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย หรือการฝึกทำกาแฟ ทำสบู่ ที่สามารถต่อยอดได้ หรือการทำกิจกรรมสุดผจญภัยเช่นไปพายเรือคายัก ก็เป็นตัวเลือกให้ผู้ที่อยากพาเด็กๆมาเข้าค่ายได้เลือกกิจกรรมได้

โดยทั้งหมดนั้นได้รับความร่วมมือมาจากชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญนั่นเอง

ทำก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยก็เชิญคนทำยกหม้อมาตั้งเตาปรุงเครื่องให้เห็นกันสดๆ ใครอยากทำกินเองก็สอนปรุงกันที่นั่นพร้อมสอดแทรกความรู้เกลร็ดดั้งเดิม เช่นว่า ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยจริงแล้วปัจจุบันนี้จะมีสูตรที่ใส่หมูแดงกับหมูสดที่เป็นชิ้นๆ ซึ่งก็มีที่มาของโซนที่กินแต่ละแบบในสุโขทัยต่างกัน เป็นต้น

ถ้าทำสบู่ก็มีผู้นำชุมชนนี้ที่เป็นวิทยากรและคนทำขายจริงๆเอาอุปกรณ์มาสอนและมาทำให้ดูกันถึงที่ ทำกาแฟก็พามาร้านของพันธมิตรคู่ใจอย่างลุงบิวต์ มาสอนตั่งแต่บดเมล็ดกาแฟและการชงกาแฟแบบต่างๆให้เห็น

หรืออยากไปพายเรือคายักลุงบิวต์ก็ขนเรือพาไปพาย อยากตกปลา ในนารอบโรงนาก็มีปลาตัวใหญ่ว่ายไปมาอยู่มากมาย เรียนให้เหมือนเล่น

เสร็จแล้วก็มานั่งฟังลุงนกสอนเขียน หรือไม่ก็นั่งวาดรูปโดยมีผู้ใหญ่ใจดีมากสอนวาดต่อ เป็นเช่นนี้ด้วยความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

นอกจากกิจกรรมที่ให้ความรู้กับเด็กๆแล้ว โรงนาบ้านไร่ ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่ตอบสนองในด้านการอนุรักษ์วิธีชาวชีวิตชาวนาในด้านต่างๆทั้งที่ได้วางแผนไว้และมีคนเสนออาสาเข้ามาช่วย เช่นกิจกรรมล่าสุดที่เริ่มต้นด้วยไม่นานมานี้ เป็นตลาดขายสินค้าพื้นบ้านแสนเรียบง่าย ครั้งนี้ไม่ได้มีแต่เด็กๆที่สนุกอย่างเดียว แต่แพร่กระจายความสุขไปทางผู้ใหญ่ให้เชิญชวนกันมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าพื้นบ้าน ทั้งของกินพื้นบ้านแสนเอร็ดอร่อย ผลไม้ตามฤดูกาล ผ้าพื้นเมือง วันดีคืนดีก็เป็นโอกาสให้นักเขียนกวีชื่อดังแวะเวียนมาให้คนพบเจอ บ้างก็มีเหล่าศิลปินนักวาดผลัดเข้ามาทั้งขายของและสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ท่ามกลางเสียงเพลงขับกล่อมจากวงดนตรีของมิตรสหาย

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงนาฉันรู้สึกว่ามันเหมือนหลุดออกมาจากความฝัน เป็นสิ่งที่อยากให้เป็นและอยากให้เกิดขึ้นในความเป็นจริง จากการได้มาสัมผัสทั้งใกล้และไกลทำให้รับรู้ได้ถึงความสุขจากรอยยิ้มของผู้คนที่มีให้กัน ยิ้มที่เปล่งประกายมาจากข้างในของทุกๆคน ทั้งจาก ยิ้มของคนต้นเรื่อง ของลุงนก ยิ้มคนในชุมชนที่อาสาเข้ามาช่วย ยิ้มของเด็กๆที่วิ่งเล่นในทุ่งนาอย่างสนุกสนาน หรือแม้แต่ยิ้มของผู้มาเยือนเช่นตัวฉัน มันคือความสุขที่เกิดจากตัวตนของเราโดยแท้จริง ตัวตนซึ่งมาจากวิถีชีวิตอันเป็นรากเหง้าของเรา และไม่ได้เป็นแค่ความสุขของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันกลายเป็นความสุขของทุกคนที่สามารถเข้ามาสัมผัสได้

ฉันมักจะกลับมาหวนคิดบ่อยๆ สำหรับตัวฉันเองคงจะไม่แปลกนักถ้าฉันจะชอบของเก่าๆ ยินดีและมีความสุขไปกับการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเอง ด้วยว่าคุ้นชินและแวดล้อมไปด้วยผู้ใหญ่ที่รักบ้านเมืองนี้ตั้งแต่เด็กๆ แต่ทำไมเพื่อนในวัยเดียวกันถึงแตกต่างออกไป ในความเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นคนรุ่นใหม่

ลึกๆแล้วเราอยากจะก้าวไปข้างหน้า อยากจะสร้างตัวตนของเราเอง สีสันของความแปลกใหม่ช่างเย้ายวนใจ กระแสความนิยมอาจจะพัดพาเราไปสู่สิ่งที่เราคิดว่าดีกว่า ดีกว่าที่จะอยู่กับอะไรเดิมๆ แต่เหมือนเราลืมคิดไปว่าในกองอิฐเก่าๆที่เป็นฐานเดิมของพื้นที่เรายืนอยู่นี้ ยังมีลวดลายที่สวยงามและมีค่าดั่งทองประดับไว้อยู่ ถ้าเพียงแค่เราหันกลับมามองค้นหาดูดีๆ เราสามารถที่จะซ่อมแซมให้มันสวยงามและกลับมาดีดังเดิมได้ เราอาจจะผสมผสานมันกับความแปลกใหม่ที่เราพบเจอ จนกลายเป็นสิ่งใหม่ที่อาจจะดีกว่าที่เคยเป็นมาก็เป็นได้

 

 

#feedDD #MASS

 

 

 


ติดตามเรื่องราวดีๆ อัพเดท สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่แฟนเพจ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่นี่


โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม (Media As Social School)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]