เส้นทางจากดาวน์...สู่ดาว แคทลียา อัศวานันท์ ศิลปินดาว์นซินโดรมคนแรกของไทย

หมวดหมู่ กลุ่มอ่อนไหวและเปราะบาง , โดย : admin , 14 สิงหาคม 61 / อ่าน : 4,220

แคทลียา อัศวานันท์

อ่านเส้นทางจากดาวน์...สู่ดาว แคทลียา อัศวานันท์ ศิลปินดาว์นซินโดรมคนแรกของไทย

จังหวะชีวิตที่มีศิลป์

ก่อนที่ คุณแคทลียา อัศวานันท์ หรือ เหมียว จะเริ่มจับพู่กันสาดสีฉูดฉาดทับซ้อนบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ จนวันนี้เธอได้รับการขนานนามว่าเป็น “ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย” ผู้สร้างศิลปะด้วยหัวใจไร้ขีดจำกัด  คุณเหมียวสั่งสมประสบการณ์ทางศิลปะมาตั้งแต่ครั้งศึกษาในโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งคำว่าศิลปะในที่นี้ ไม่ใช่การนับชิ้นผลงานตามครูสั่ง หากแต่เป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่หล่อหลอมให้คุณเหมียวเติบโตทั้งทางกาย ความคิด และ จิตใจ

แม้โรงเรียนรุ่งอรุณจะอยู่ไกลจากบ้านของเธอมาก แต่อุปสรรคนี้กลับกลายเป็นโอกาส เมื่อครอบครัวตัดสินใจให้คุณเหมียวเดินทางไป กลับ ด้วยรถเช่าเหมาร่วมกับครอบครัวอื่นที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน การที่เธอไม่ถูกครอบครัวจำกัดโอกาส เพียงเพราะว่าเธอมีภาวะดาวน์ซินโดรม แต่กลับเชื่อมั่นว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ ด้วยเหตุนี้คุณเหมียวจึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ต้องรับผิดชอบกิจวัตรของตัวเองตั้งแต่เล็ก อีกทั้งการมีกลุ่มเพื่อนร่วมทางในวัยใกล้กันที่คอยแนะนำ ดูแล สานมิตรภาพเติบโตไปพร้อมๆ กัน

การเรียนรู้ในโรงเรียนรุ่งอรุณซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกแนวใหม่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ได้กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้คุณเหมียวได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ อาทิ การทำอาหาร การเดินเรียนเวียนฐานไปตามหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ เน้นวิชาชีวิตที่ลงมือทำ ไม่ใช่การฝึกนั่งอ่านเขียนนานๆ เหมือนห้องเรียนทั่วไป รวมทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายคุณเหมียวมีโอกาสเลือกงานทอผ้าเป็นงานฝึกฝนหลักตามความสนใจ ที่ช่วยเสริมทักษะตา มือ สัมพันธ์ และคงสมาธิในการทำงาน พื้นฐานเหล่านี้น่าจะบ่มเพาะให้คุณเหมียวเติบโตมีความมั่นคงมากพอ จนวันที่เธอตัดสินใจก้าวต่อสู่ระดับอุดมศึกษา

จากบทสนทนาระหว่าง BeamTalk กับคุณเหมียว และ อีกบทสนทนาหนึ่งซึ่งเราแยกออกมาคุยกับคุณแม่จ๋า (คุณพรประภา อัศวานันท์) อาจจะฉายภาพการทำงานสนับสนุนจัดปัจจัยแวดล้อมของครอบครัวที่ส่งผลต่อภาวะภายในของคุณเหมียวได้เป็นอย่างดี

ไม่มีอะไรยาก

คุณเหมียว : “เพื่อนมีตั้งแต่อนุบาล ประถม ก็มีเพื่อนหลายรูปแบบ มีประสบการณ์ที่ดีค่ะ มีเพื่อนที่ช่วยเราเยอะ ทำให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้น ตั้งแต่ประถมหก ใบตาล (ครอบครัวของใบตอง ใบตาล ใบเตย ที่ขึ้นรถโรงเรียนไปกลับด้วยกันหลายปี) ช่วยกันเรื่องงานหยดน้ำด้วย (งานหยดน้ำคือ งานแสดงผลงานและการเรียนรู้ในช่วงปลายภาคการศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ) ก็ดี มีเพื่อนที่ดี ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมีเพื่อน (ญาติ) ทำงานศิลปะอยู่แล้ว หนูไม่ได้คาดหวังจะเข้ามหาวิทยาลัย แต่หนูไปเรียนโรงเรียนช่างศิลป์ที่เป็นของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนบอกว่าที่ศาลายา (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) เขาเปิดรับนะ เลยไปสมัครก็มีเพื่อนมาสอบที่เดียวกัน

ตอนที่สอบเข้าไม่ได้เตรียมตัวอะไรเพราะเรียนศิลปะอยู่แล้ว หนูชอบ สอบข้อเขียนไม่ได้กังวลอะไร หนูไม่รู้คะแนน แต่เพื่อนบางคนก็กังวลเพราะทำไม่ได้ ตอนสัมภาษณ์นี่ก็เรามีผลงานที่เราทำมาอยู่แล้วตั้งแต่ที่เรียนรุ่งอรุณ เขาก็อยากดู”

กล้าที่จะก้าว

คุณแม่จ๋า : “วันหนึ่งเหมียวมาบอกว่าอยากเรียนวาดรูป แม่ก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร มีคุณครูที่รุ่งอรุณโทรมาบอกให้ลองไปสมัครที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ดู คือเราอยู่ที่รุ่งอรุณมาสิบกว่าปี ก็เหมือนเป็นพื้นที่คุ้นเคย (comfort zone) ทั้งของเหมียวและแม่ แต่นี่มันเป็นพื้นที่ใหม่ที่เราต้องชั่งใจ… การตัดสินใจไปสมัครเรียนวันนั้นยังไม่รู้เลย ว่าสถาบันอยู่ตรงไหน ทุกขั้นตอน การสมัคร การสอบ สอบสัมภาษณ์ เหมียวเขาทำตามขั้นตอนเหมือนนักเรียนทั่วไป แต่เราต้องมาซักซ้อม มาเตรียมลูกเรา จะฝนกระดาษคำตอบอย่างไร ใส่ชื่อ ใส่รายละเอียดอะไรนี่ต้องซ้อมกันซ้ำๆ”

ทุกคนเท่าเทียมกัน

คุณเหมียว : “ปีหนึ่งต้องเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันทุกคน ก็ไม่ได้ยากมาก การปรับตัวในมหาวิทยาลัย คือสังคมมันต้องเป็นค่ะ เราต้องเจอ เราไม่ได้อยู่คนเดียวตลอดไป ทุกคนเท่าเทียมกัน การที่จะดูแลตัวเองได้ ก็ต้องเริ่มเรื่องสังคมก่อน สังคมเขาจะมองเราอย่างไร นี่ก็สำคัญ การที่เราต้องปรับตัวนี่มันแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ได้ยาก เพราะทุกคนเขาก็ทำกันหมดล่ะค่ะ

การดูแลตัวเอง กิจวัตรที่เราเป็นนักเรียนนี่อยากบอกทุกคนว่า ความกระตือรือร้นต้องมีติดตัวเรา การที่เรามีอาจารย์คอยติชมผลงานนี่เป็นเรื่องธรรมดา ต้องมีสติที่ดีก่อนเป็นอันดับแรกปกติหนูเป็นคนตื่นสาย แต่หนูก็มาทันเรียนตลอด หนูย้ายบ้านมาอยู่ใกล้ๆ”

ชีวิตของลูก งานของแม่

คุณแม่จ๋า : “สองสัปดาห์แรกแม่ไปขอนั่งฟังในแต่ละวิชาเพื่อให้เห็นแนวการสอน ทั้งวิชาพื้นฐานต่างๆ เรียนห้องไหน จดชื่อครู ทำตารางสอนให้ลูก ว่าวิชานี้เขาต้องเตรียมอะไรไปบ้าง วิชาเลคเชอร์ต่างๆ ก็ต้องจดมาว่าครูเขาให้อ่านหนังสืออะไร

งานที่ครูสั่งมาเป็นการบ้าน เราก็มาวางแผน ช่วยอำนวยการ คือช่วยย่อยขั้นตอนให้ง่ายขึ้น แต่ให้ลูกลงมือทำเอง ช่วงแรกๆ วิชาเลคเชอร์ต้องมีเครื่องบันทึกเสียงช่วยเพราะเหมียวขี้ลืม ก็จะบรีฟ (brief) กันในทุกๆ วัน ให้คุ้นชิน วันนี้ต้องเรียนอะไร ต้องเตรียมอะไร วันหยุดก็มานั่งสางงานการบ้านต่างๆ

จนปีสองเขาก็เอ่ยปากบ่อยๆ ว่าเพื่อนๆ อยู่หอกัน เราก็คิดว่าคงถึงเวลาแล้ว โชคดีที่น้องสาวเขาเรียน ม.มหิดล ศาลายาก็พักที่หออยู่ก่อนแล้ว เราเลยตัดสินใจเช่าบ้านให้พี่น้องอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยก็สะดวกในการเดินทาง และเหมียวนี่เป็นคนตรงเวลา เช้ามาก็นั่งรอเรียนแล้ว ในห้องยังไม่มีใครมาหรอก

เรื่องเรียนก็มีต้องลงซ้ำบ้าง ตกบ้างเป็นธรรมดา แต่พื้นฐานการดูแลตัวเองเหมียวฝึกมาตลอดอยู่แล้วจากรุ่งอรุณ มีอย่างเดียวที่ทำเองไม่ได้คือ สระผม ถึงจะว่ายน้ำเป็น เขาก็ใช้การเข้าร้านสระผมแทน การหั่นปอกไม่ถนัดนัก การข้ามถนนยังทำไม่ได้ เล่นกีฬาบางชนิดไม่ได้ อย่างขี่จักรยาน นี่ทรงตัวไม่ได้  เราก็ทำในสิ่งที่ทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราต้องดูว่าเขาทำอะไรได้ดี แล้วส่งเสริม”

เส้นทางการเติบโตสร้างสรรค์งานศิลป์ในคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ของคุณเหมียวต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสมยาวนานกว่าเพื่อนๆ ร่วมรุ่น จนถึงวันนี้เธอใช้ระยะเวลากว่าเจ็ดปี จึงมีงานนิทรรศการแสดงภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ

The Art of Inspiration

ก่อนที่แคทลียา อัศวานันท์ จะมีผลงานกว่าสองร้อยชิ้นเพื่อคัดเลือกมาแสดงในนิทรรศการจากดาวน์..สู่ดาว เธอต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่า งานศิลปะของเธอไม่ใช่แค่งานง่ายๆ


สิ่งที่เหมียววาดได้ดีคือ “ความรู้สึก”

ไม่ใช่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ แต่เป็นความเห็นของคุณแม่จ๋า คนที่รู้จักคุณเหมียวมาทั้งชีวิต และภาพที่คุณเหมียวเลือกมาเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกเบื้องหลังงานแต่ละชิ้นนั้น เราสัมผัสได้ถึง ความคิด ความรู้สึก มากมายและลึกซึ้ง

คุณเหมียว  “มันกดดันนะ มันไม่ใช่แค่หมานะ อาม่าก็เสียไปแล้วด้วย”

BeamTalk นี่กำลังหมายถึงความตาย การสูญเสีย ? (คุณเหมียวเพิ่งสูญเสียคุณยายไปเมื่อไม่นานมานี้)

คุณเหมียว “ใช่ มันไม่ได้อยู่ในโลกมนุษย์ ก็อยากให้อยู่ด้วยกันไปตลอด แต่มันต้องไป”

BeamTalk นี่คือวิธีการทำงานใช่ไหมคะ เมื่อมีความรู้สึกเข้ามากระทบ ?

คุณเหมียว “ทุกคนแหละ…”

BeamTalk ไม่นะ บางคนมีความรู้สึกเสียใจ เขาอาจแค่เขียนสเตตัสในเฟซบุ๊ค บางคนก็แค่ระบายเป็นคำพูด ด่าว่าออกมา ไม่ใช่ทุกคนจะวาดออกมาเป็นภาพเหมือนคุณ

คุณเหมียว “ความรู้สึกหรือคำพูดนั้น เราอาจจะมองไม่เห็นว่าเรารู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่ส่องกระจก เราจะกลายเป็นคนที่มีคนเกลียดเรา เราอย่าไปพูดในสิ่งที่ ไม่น่าจะพูดเลยดีกว่า”

“คำพูด คำจา ที่ไม่เห็นความรู้สึกของคน เพราะความรู้สึกในใจเรามันมองไม่เห็น นี่มันรู้สึกแย่เนอะ”

 

คือ สภาพสังคมรอบตัว มีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกัน มีคนทำร้ายร่างกายกันจนต้องติดคุก

แต่ในภาพ คือ ความโดดเดี่ยวที่อยู่ในใจเรา

คุณมีวิธีผ่อนคลายตัวเองอย่างไร ?

คุณเหมียว “ก็พยายามฟังเขาเยอะๆ แต่พอเจอคำพูดแรงๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาคิดยังไง

หนูคิดนะไม่ใช่ไม่คิด

คนเราก็ต้องมีการปลดปล่อย ของหนูก็ใช้การทำงานวาดภาพ

ไม่อยากไปเล่นกับอารมณ์คนอื่น”

คุณเหมียว “การเรียนต้องฝึกฝน อยู่ที่บ้านก็ทำสเก็ตซ์ไป แต่ลงมือทำงานจริงในสตูดิโอที่เรียน งานอย่างชิ้นใหญ่ๆ นี่ใช้เวลาหลายวัน ช่วงปีหนึ่ง ปีสอง อาจารย์ก็จะให้หัวข้อนะ มาปีหลังๆนี่ ปล่อยอิสระแล้ว การวาดภาพ หนูโอเคอยู่ แต่ติดขัดในการเขียนบรรยายไม่ได้ ต้องใช้การคุยแล้วมีคนเขียนออกมา หนูนำเสนอพอได้ แต่การสื่อสารอาจจะยังไม่ดีนัก อาจจะไม่เข้าใจกัน ต้องมีคนแปล งานของหนูใช้สีผสม สีตัดกัน ครูกอล์ฟ (อาจารย์สุทธาสินีย์ สุวุฒโท) เป็นคนแนะนำ หนูก็ชอบนะ สีมันสวยดี การเลือกใช้สีก็ตามที่เรียนรู้มา”

เมื่อถามเธอว่า ศิลปะคืออะไร ?

“ใจรักอย่างเดียว ไม่มีกรอบกำหนด”

 

BeamTalk มีโอกาสได้พูดคุยเบื้องหลังที่มาของงานของคุณเหมียว จากอาจารย์สุทธาสินีย์ สุวุฒโท (ครูกอล์ฟ)  คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ทั้งกระบวนการขึ้นชิ้นงาน พัฒนาการ และ ขั้นตอนการประเมินผลงานซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

คุณครูกอล์ฟ “เดิมสถาบันฯ รับนักศึกษาพิการทางร่างกาย ก็มีแคทเข้ามาเป็นเคสสมองเป็นรุ่นแรก การทำงานกับแคท ครูจะช่วยดู กำชับในรายละเอียด ล้างสีหรือยัง บางทีเหมือนเขาจะทำเพลินไป สีก็ไม่มีคุณภาพ ครูก็จริงจังบางทีก็ดุ คุณเปลี่ยนน้ำ คุณเพิ่มตรงนี้ คุณไม่ดูสเก็ตซ์เลย ก็โต้ตอบกันเหมือนคนทั่วไป บางทีเขาก็แอบไปร้องไห้

งานแคทระบายเหมือนเด็ก แต่เขามีเอกลักษณ์เรื่องสัญลักษณ์ ที่ไม่ต้องเหมือนจริง ซึ่งเขาเคยผ่านช่วงทำงานเหมือนจริงแล้ว แต่มันไม่ได้

เวลาแคททำงาน มันไม่ใช่ทำง่ายๆ ปาดๆ ครั้งเดียวผ่าน เขาต้องทำงานเบิ้ลสามเท่า ห้าเท่า มากกว่านักศึกษาทั่วไป เพื่อนทำห้า แคททำสิบห้า ซึ่งไม่ใช่แค่ปะ ต้องมีกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นหนึ่งไปจนเสร็จ

แม้จะไม่ได้เหมือนจริง แต่มันมีความยาก ไม่ได้ทำเอาง่าย ไม่ได้ทำวันเดียวเสร็จ เราต้องให้คนยอมรับด้วย”

คุณครูกอล์ฟ “พัฒนาการงานของเขาคือ เทคนิค เราถอดศิลปะเด็กกับแคท คือ เริ่มโครง ลงสีให้เต็ม ตอนแรกแคทเป็นอย่างนั้น พัฒนาการของเขา คือมีการทับสี การทับจินตนาการ อารมณ์ความรู้สึกของศิลปิน กับเนื้อหาตรงนั้น เช่น เขาพูดถึง เพื่อนรัก วันนี้คุณทำตรงนี้ ต่อมาคุณจะทับเน้นตรงไหน ให้เนื้อหาเด่นขึ้น สีตรงนี้ไม่ขึ้นแล้ว ให้ลองทับด้วยปากกา อีกวันเขาทับด้วย สีชอล์ก ดังนั้นเมื่อมีฟอร์มขึ้นแล้ว มันไม่ใช่ลงสีวันเดียวเสร็จ มันมีการทับเนื้อหา จินตนาการ ความคิดอารมณ์ศิลปิน เพื่อการไตร่ตรอง ฉาบให้เนื้อหาตรงนั้นมันขึ้นมาอย่างชัดเจนมากขึ้น นี่คือพัฒนาการ”

คุณครูกอล์ฟ “ในส่วนของการประเมิน ก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายของการศึกษาพิเศษว่าบางคนจบได้อย่างไร ก็พบว่า มีช่องทางให้ช่วยเหลือคนที่มีข้อติดขัดเรื่องการสื่อสาร คือให้เครดิตครู หรือคนที่มาช่วยถอด ตีความหมาย สไตล์ การใช้สี วิธีการสร้างสรรค์ โดยต้องมีคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เซ็นรับรอง”

 

คุณครูกอล์ฟกล่าวทิ้งท้ายว่า “การมีโอกาสได้ทำโครงการศิลปะสำหรับเด็ก เยาวชน ทั้งผู้พิการด้อยโอกาส หลายงาน เราเห็นหลายคนผ่านความท้อแท้สิ้นหวัง แต่เมื่อได้ทำศิลปะ เขามีความสุขมากขึ้น ศิลปะเข้าไปช่วยเยียวยา ได้ระบายความรู้สึก ช่วยเรื่องการสื่อสารเขาแสดงออกผ่านงาน บางคนเข้าไปทำงานกับผู้พิการอื่นๆ ได้เห็นว่าถึงตัวเองมีปัญหาข้อบกพร่อง แต่การได้ไปช่วยคนพิการขั้นรุนแรง ได้มีประสบการณ์เห็นความทุกข์ของคนอื่น ต่างก็ช่วยเยียวยาให้กันและกัน” (จากภาพคุณเหมียวไปเป็นครูผู้ช่วยสอนบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ).

 

----------------------------------------

คุณแคทลียา อัศวานันท์ (เหมียว / แคท)

การศึกษา                      ประถมศึกษา  :     โรงเรียนรุ่งอรุณ

                                    มัธยมศึกษา    :     โรงเรียนรุ่งอรุณ

                                    อุดมศึกษา      :      กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 4 คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

การแสดงงาน / ผลงาน

2556    ร่วมแสดงงานนิทรรศการผลงานภาพสีน้ำผู้เข้าอบรมศิลปะบุคคลทั่วไป

วันที่ 2-7 กรกฎาคม 2556 ณ หอศิลป์วังหน้า

2556    ร่วมแสดงงานนิทรรศการย้อนรอยชีวิตอยุธยากรุงเก่า

วันที่ 16-20 ธันวาคม 2556 ณ ห้องนิทรรศการ คณะศิลปวิจิตร ศาลายา

2557    ร่วมแสดงงานนิทรรศการผลงานของผู้เข้าอบรมศิลปะบุคคลทั่วไปปี 2557

วันที่ 2-7 กันยายน 2557 ณ หอศิลป์วังหน้า

2558    ร่วมเป็นวิทยากรโครงงานสร้างสรรค์

ดวงจันทร์สัญลักษณ์ทางศิลปะร่วมสมัยสะท้อนวัฒนธรรมอาเซียน

วันที่ 2 เมษายน 2558 ณ สถาบันแสงสว่าง

2558    ร่วมแสดงงานนิทรรศการผลงานภาพสีน้ำของผู้เข้าอบรมศิลปะบุคคลทั่วไป ปี 2558

วันที่ 27 สิงหาคม – 10 กันยายน 2558 ณ เซ็นทรัล ศาลายา

2559    ร่วมแสดงนิทรรศการ “พอดีเฟรม”

นำเสนอผลงานนักศึกษา คณะศิลปวิจิตร สาขาจิตรกรรม

วันที่ 28 มกราคม 2559 ณ คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

2560    ร่วมแสดงนิทรรศการ Self + Art Museum

วันที่ 18 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์

2560    ร่วมเป็นวิทยากรกิจกรรมศิลปะ

วันที่ 19 มิถุนายน 2560 ณ โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล

2560    ร่วมแสดงงาน The Art of Us

วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ณ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข

2560    ร่วมแสดงงานศิลปะกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ

วันที่ 15 สิงหาคม 2560 ณ เมืองคุมาโมโต้  ประเทศญี่ปุ่น

2560    นำรูปภาพไปแสดงงานในฐานะ Guest for International Partnership with Community Engagement

งานประชุม Smart IT Solutions for Integrating Healthcare, Mental Health and LTC

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ เมือง Kaohsiung ประเทศไต้หวัน

2560    จัดแสดงนิทรรศการภาพ “จากดาวน์… สู่ดาว” The Art of Inspiration

วันที่ 1-31 ธันวาคม 2560 ณ  Venice Art Space วัชรพล รามอินทรา

-----------------------------------------

ผลงานของ แคลียา อัศวานนท์ ได้รับการคัดเลือกจากงาน The Art of Us ของสถาบันราชานุกูล ไปร่วมจัดแสดงกับผลงานของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศไต้หวัน เมื่อกลับมาครอบครัวจึงได้คัดเลือกผลงานที่คุณเหมียวทำอย่างต่อเนื่องนับร้อยชิ้น มาจัดแสดงในงาน The Art of Inspiration ตลอดเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก มีผู้ชื่นชอบซื้อผลงานของเธอ ซึ่งรายได้ครึ่งหนึ่งมอบให้สถาบันราชานุกูลเพื่อสนับสนุนงานศิลปะของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษต่อไป คุณเหมียว : “การแสดงงานที่ไต้หวันและญี่ปุ่น ร่วมกับเด็กพิเศษเหมือนกัน บรรยากาศดีมาก มีคนชมงานเรา เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ไปแสดงงาน เห็นงานของคนอื่นๆ ก็สนุกดี ที่ญี่ปุ่น มีงานมาโชว์จำนวนมาก ที่ไต้หวันก็มีเด็กพิเศษมาร่วมแสดงงานด้วย

หนูอยากให้คนมาดูงานกันเยอะๆ การจัดนิทรรศการฯ นี่ ได้เรียนรู้เยอะนะ มีคนมาซื้อภาพเยอะอยู่ เวลาให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ หนูรู้สึกดีนะที่ได้ทำตรงนี้ การเผชิญหน้า ได้ฝึกการสื่อสารด้วย

แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น ต้องมีสอบศิลปะนิพนธ์ด้วย ซึ่งค่อนข้างยาก

(กังวลไหม ?)  หนูก็ไม่อะไร…

ออกแบบเส้นทางของตัวเอง

คุณเหมียว : “อาชีพต่างๆ หนูก็ค้นหาจากมือถือ มันก็มีหลายอาชีพนะ หนูน่าจะสอนสีน้ำได้ เป็นครูสอนศิลปะสอนเด็กพิเศษ ไปสอนตามบ้านก็มีรายได้นะ หนูต้องการแบบนั้น หนูจัดการดูแลตัวเองได้ สอนระดับอนุบาลก็น่าจะได้อยู่นะ ก็เป็นคนที่รักเด็ก อนาคตหนูไม่ได้อยากทำแค่งานศิลปะอย่างเดียว คิดว่าต้องทำอย่างอื่นด้วย เช่น ทำน้ำปั่น หนูหาข้อมูลแล้วมันเป็นอาชีพได้ เคยลองทำแล้ว อร่อยนะ อีกอันก็อยากทำตุ๊กตาขายหนูเคยไปเรียนที่สยาม ทุกคนต้องหาจุดให้เจอ

ความสุขของแม่ แต่งานยังไม่จบ

คุณแม่จ๋า : “ตอนนี้แม่ยังไม่ได้มองเรื่องอนาคตไปไกล ไม่ว่าจะเรียนจบหรือไม่จบ แต่ที่บ้านก็อยากให้เหมียวอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้ (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) ให้ครบแปดปี ต่อไปชั้นล่าง (ตึกที่ทำงานของคุณพ่อ) จะจัดเป็นแกลอรี่แสดงงานของเหมียว เขาจะขายน้ำปั่นก็ทำได้ … ถามใจแม่อยากก็ให้ลูกได้สอนจริงจัง ได้ทำงานประจำ แต่ประเทศเราจะเป็นครู ก็ต้องจบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ก็ต้องเรียนปริญญาอีกใบ ?

มาถึงวันนี้ชีวิตแฮปปี้ดีกว่าที่คิดไว้นะ อย่างน้อยคิดว่า เขาจะมีวิถีชีวิต มีเป้าหมาย การทำงาน แต่เราต้องสานต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่จุดพลุครั้งเดียวแล้วจบ ที่จัดนิทรรศการฯ ครั้งนี้นอกจากให้เหมียวแล้ว ก็อยากให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกคนมีที่ยืนมากขึ้น แม่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น”

“น้องสองคน ไม่ได้สนิทกันเท่าไหร่ แต่น้องสาว เขาเก่งนะ เวลาพ่อแม่ไม่อยู่เขาก็ดูแลพี่ได้อย่างใกล้ชิด เขาทำแทนพ่อแม่ได้เสมอ ก็ในระดับหนึ่ง ตอนนี้เขาเรียนหมอ (ทันตแพทย์) ปีห้า ส่วนน้องชายเป็นคนขี้สงสัย ก็ดูแลพี่ได้นะ อยู่ปีสองคุณยายเป็นคนสอนน้องสาวให้ขับรถ ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ตอนนี้คุณยายไม่อยู่แล้ว คุณยายเป็นคนเลี้ยงเหมียวมาค่ะ สนิทกัน เสียใจค่ะพ่อแม่นี่ต้องให้อยู่แล้ว เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิด หนูประทับใจที่พ่อแม่เขาสนับสนุนค่ะ เขาติดตามตลอด คุณพ่อรักลูกสาวมากกกกก เห็นผลงานเขาก็ชื่นชม”

“หนูมีอิสระอยู่แล้ว ทุกคนไม่เหมือนกัน

หนูไม่เป็นภาระกับใคร หรือต้องมาดูแลเราตลอด

ภาระมีซ่อนอยู่ ต้องหาให้เจอ

หนูก็ดูแลตัวเองได้ในระดับนึง”





ขอขอบคุณคุณพรประภา อัศวานันท์  คุณแคทลียา อัศวานันท์  อาจารย์สุทธาสินีย์ สุวุฒโท (ครูกอล์ฟ)  คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด

 


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

 

อ่านเนื้อหาต้นฉบับที่ : https://specialpalza.com/…/beam-talk-people-catleeya-asava…/



โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม (Media As Social School)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]