นางเลี้ยงหมากะป้าแจ่ม : โดยชมัยภร แสงกระจ่าง ผลงานประเด็นกลุ่มอ่อนไหวและเปราะบาง

หมวดหมู่ กลุ่มอ่อนไหวและเปราะบาง , โดย : admin , 31 กรกฎาคม 61 / อ่าน : 3,688


มีคนย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านใหม่

นางเป็นหญิงสาววัยทำงาน นุ่งกระโปรงสั้นดูทันสมัย ทาปากแดง.....

จาก ชมัยภร แสงกระจ่าง เรื่องนางเลี้ยงหมากับป้าแจ่ม





มีคนย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านใหม่

นางเป็นหญิงสาววัยทำงาน นุ่งกระโปรงสั้นดูทันสมัย ทาปากแดง ผมหยิกเป็นลอนสวยงาม ใคร ๆก็บอกกันว่า นางทำงานในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง แต่พูดต่อ ๆกันมาหลายคนแล้วก็ยังไม่มีใครรู้แม้แต่คนเดียวว่ารัฐวิสาหกิจนั้นคืออะไร นางอยู่ซอยหมา ชาวบ้านเรียกซอยที่นางอยู่ว่าซอยหมา เพราะทั้งซอยมีแต่คนเลี้ยงหมา มีทั้งที่เลี้ยงไว้ในบ้านและเลี้ยงไว้ในถนน หรือบ้างก็เกิดขึ้นมาบนถนนหลังการเลี้ยงไว้บนถนน นับรวม ๆกันแล้วประมาณห้าสิบตัว

พอนางมาอยู่ ผู้คนจะเห็นนางเดินเข้าซอยมาเร็ว ๆ สองมือหิ้วถุงพะรุงพะรัง ดูกะเร้อกะร่า พอเห็นหมาตัวหนึ่งก็หยุดวางถุงลงแล้วเริ่มหยิบน่องไก่บ้าง หมูปิ้งบ้าง ลูกชิ้นปิ้งบ้างออกจากถุงและส่งให้หมา ตัวไหนมาถึงก่อนก็ได้ชิ้นใหญ่ไป นางทำตัวเหมือนว่าถุงของนางเป็นกระเป๋าโดเรม่อน หยิบแล้วหยิบอีกไม่มีวันหมดกระเป๋า เดินไปสักพักนางก็แวดล้อมไปด้วยหมา มีทั้งที่เดินตามกันมา และเดินมาดักหน้า นางแจกอาหารไป นางก็พูดพึมพำไป เสียงกระหนุงกระหนิงราวกับคุยกับคนรัก ป้าแจ่มซึ่งเป็นป้าแสนดีของคนทั้งซอยหมาแรกเห็นเข้าก็ออกมาโอภาปราศรัย

“โอ คุณเอามาแจกเยอะแยะเลยคุณ คุณอยู่บ้านหลังไหนค้า”

ชาวบ้านซอยหมา เรียกป้าแจ่มเป็นนางงามมิตรภาพประจำซอย เพราะเป็นคนชอบแจกยิ้มและชอบโฆษณาตัวเองพร้อม ๆกับโฆษณาคนอื่น ทั้งที่สิ่งที่โฆษณานั้นบางทีก็เป็นแง่มุมที่ไม่สมควรแก่การโฆษณาเท่าไร เช่น ประวัติความเป็นมาของตนเองและคนโน้นคนนี้ ป้าแจ่มทำไปโดยไม่รู้ตัว และดูเหมือนว่าเป็นความสุขของป้าแจ่มที่จะทำให้ใครต่อใครรู้จักกันโดยทั่วถึง บางครั้งป้าแจ่มก็กลายเป็นผู้สื่อข่าวของหมู่บ้านไปด้วย เพราะไม่รู้จักแต่เฉพาะคนซอยหมา หากรู้จักคนซอยอื่น ๆ และแม่ค้าที่ตลาดไปด้วย แม่ค้าที่ได้รับประโยชน์เพราะป้าแจ่มโฆษณาสินค้าเป็นเชิงบวกเรียกลูกค้าได้มาก ก็เรียกว่า “ป้าแจ่มปากหวาน” แต่แม่ค้าบางคนที่ไม่ชอบให้ป้าแจ่มโฆษณาสินค้าของตนเชิงลบก็เรียกป้าแจ่มว่า “ป้าแจ่มปากเยอะ” หนักกว่านั้นบางคนก็เรียก “ป้าแจ่มปากหมา” ป้าแจ่มรู้ทุกสมญาเพราะที่ตลาดก็มีคนแบบป้าแจ่มเยอะเหมือนกัน จึงเข้าหูป้าแจ่มจนได้ แต่ป้าแจ่มก็ไม่ว่าอะไร เอาแต่หัวเราะแล้วก็โฆษณาสมญาของตัวเองต่อไปอย่างสนุกสนานจนคนที่ได้ยินได้ฟังเริ่มไม่รู้ว่า ป้าแจ่มแกถูกตั้งสมญาหรือป้าแจ่มแกตั้งของแกเอง

เมื่อป้าแจ่มส่งเสียงทักทายออกไปแล้วก็รอฟังคำตอบ แต่นางนิ่งเฉย เหมือนไม่ได้ยิน ป้าแจ่มเลยส่งเสียงดังขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง

“แหม คุณใจบุญจริ๊ง อยู่บ้านไหนล่ะนี่”

พูดไม่พูดเปล่า ป้าแจ่มเดินเข้ามาใกล้ด้วย ในรัศมีเสียงที่แน่ใจว่า ถ้านางไม่หูตึงนางต้องได้ยิน แต่แล้วป้าแจ่มก็ต้องอึ้งตะลึงงันเป็นครั้งแรกในรอบอายุสิบปีหลังที่เข้ามาอยู่หมู่บ้านแห่งนี้เลยทีเดียว เพราะผู้หญิงคนนั้นเงยหน้าขึ้นมองป้าแจ่ม สบตาป้าแจ่ม นัยน์ตาว่างเปล่าไร้สัญญาณการรับรู้

“ตาบอดหรือคุณ” ปากของป้าแจ่มไวเกินไปสักนิด แต่สมองนางเบื้องหน้าก็ยังมีอาการไม่รับรู้ผ่านสายตาเย็นชา คราวนี้ป้าแจ่มถอยห่าง เดินกลับไปยังบ้านของตัวเอง และเข้าไปตั้งหลักอยู่ในรั้ว จนกระทั่งนางเดินผ่านไปแล้ว ป้าแจ่มก็รีบเปิดประตูรั้วออกมาจ้องดูว่านางจะไปอยู่บ้านหลังไหน ปรากฏว่า นางคนมาใหม่เข้าไปอยู่ที่บ้านสุดซอยอันเป็นบ้านที่ไม่มีคนอยู่มานานมาก พอป้าแจ่มเห็นดังนั้น ก็สรุปทันทีว่า “นางมาเช่าบ้านครูน้อย”บ้านครูน้อยเป็นบ้านไม่ร้างมานาน ใครต่อใครก็ปริวิตกกลัวว่า จะกลายเป็นที่สุมหัวของเด็กเสพยา ดังนั้น การมีคนมาเช่าจึงเป็นความสุขอย่างยิ่งของคนที่รับรู้ ป้าแจ่มก็เช่นกัน

นับแต่วันนั้นมา นางก็อยู่ในสายตาของป้าแจ่มผู้อยู่ต้นซอยโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกันป้าแจ่มก็ใช้ความสามารถเฉพาะตัวเล่าเรื่องของนางไปทั่วซอยและทั่วตลาด แต่ป้าแจ่มไม่ได้บอกชื่อนางเพราะไม่รู้ชื่อนาง จึงเรียกนางว่า นางเลี้ยงหมา ใคร ๆก็พลอยเรียกว่า นางเลี้ยงหมาไปด้วย รวมทั้งแม่ค้าในตลาด เวลานางไปซื้อของก็จะมีการซุบซิบนินทาตามหลัง เหมือนนางจะได้ยินแต่นางก็ไม่เคยพูดกับใคร ยกเว้นคนขายไก่ทอด

คนขายไก่ทอดเป็นผู้ชายตัวอ้วนกลมค่อนข้างมีอายุ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร เขาขายไก่ทอดเป็นน่อง เป็นชิ้น และเป็นไม้ ซึ่งเป็นตับ ไส้ และ เครื่องในที่เสียบไม้ราคาถูกสำหรับคนเลี้ยงหมาโดยเฉพาะ นางมาซื้อไก่เขาตั้งแต่แรก บางทีก็เหมาน่องไก่ไปทั้งหมด ราคาก็ไม่น้อยเพราะน่องละ ๑๐-๑๒ บาท นางซื้อไปเป็นสิบ ๆน่อง และซื้อทุกวัน บางครั้งก็เอาตับไก่ไปด้วย แรก ๆเขาคิดว่าบ้านนางคงอยู่กันหลายคน เขาเคยพยายามจะสื่อสารกับนางให้มากกว่าประโยคสั่งซื้อแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะนางไม่สบตาเขา ไม่อยากพูดกับเขามากกว่านั้น แถมยังตีสีหน้าบึ้งตึงใส่ด้วย

เขาได้ยินแม่ค้ากับป้าแจ่มนินทานางด้วยน้ำเสียงเยาะหยัน “คงมีผัวแล้วผัวทิ้งแหง ๆเลย คนแบบนี้ ผอมแห้งแรงน้อย โกโรโกโส” ป้าแจ่มทำน้ำเสียงกระแทกกระทั้นโดยลืมไปว่า ตัวเองก็ถูกผัวทิ้งเหมือนกันและอยู่คนเดียวมานานนับสิบปี แล้วก็นินทาต่อเนื่องไปอีกสารพัดสารพัน และไม่ใช่ครั้งเดียว คนขายไก่รู้สึกสงสารนาง วันหนึ่ง เขาจึงพูดเสียงดังให้ได้ยินกันไปทั่ว ๆว่า

“เขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ ใจก็บุญซื้อของไปเลี้ยงหมา เราก็มีรายได้ แล้วยาย ๆป้าจะไปว่าเขาทำไม”

นั่นแหละ เสียงนินทาของตลาดจึงเบาบางลง

วันเวลาผ่านไปไม่ถึงปี นางที่ใครไม่รู้ชื่อเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จากที่ดูเป็นสาวและคล่องแคล่วว่องไวก็กลายเป็นนางผู้เคลื่อนไหวช้าลง ผอมแห้งลงเรื่อย ๆ จนชายขายไก่รู้สึกเป็นห่วง เขาไม่ได้กลัวขาดรายได้ แต่เขารู้สึกผูกพันกับความเป็นคนเงียบของนางจริง ๆ วันหนึ่งเขาจึงถามขึ้น

“ไม่สบายหรือเปล่าครับ ดูผอม ๆ”

นางเหลือบตาขึ้นมองเขา ในแววตานั้นแห้งแล้งไร้ชีวิต ตอบเขาเบา ๆว่า “เป็นมะเร็งลำไส้ค่ะ”

คำตอบของนางไม่ได้เข้าหูชายขายไก่คนเดียว แต่เข้าหูแม่ค้างขายผลไม้แผงข้าง ๆด้วย ในเวลาไม่กี่นาที เรื่องนางเป็นมะเร็งลำไส้ก็ดังไปทั่วตลาด ชายขายไก่ไม่เข้าใจว่าทำไมนางจึงบอกเขาด้วยน้ำเสียงธรรมดาเหมือนว่านางเป็นหวัด แล้วข้อสำคัญนางมาบอกเขาทำไม 
เรื่องนางเป็นมะเร็งแต่ยังเลี้ยงหมาอย่างเป็นปกติเริ่มเป็นที่จับตา “เป็นมะเร็งแล้วยังไม่ไปรักษาตัวอีก” หลายคนบ่น น้ำเสียงเสียดสีเย้ยหยันเริ่มหายไป สายตาตลาดเริ่มเห็นใจมากขึ้น แต่ก็เป็นสายตาที่เลยไปถึงความเวทนาสงสาร แต่คนที่ทำให้ตลาดแปลกใจก็คือป้าแจ่ม เพราะแกไม่ยอมพูดถึงนางเลย แต่กลับหลบ ๆเลี่ยง ๆที่จะพูดถึงเรื่องนี้ไปอย่างผิดคาด และวันหนึ่งป้าแจ่มก็หายหน้าไปจากตลาด แม่ค้าคนสนิทเล่าว่า

“แกปวดท้องไปโรงพยาบาล”

เรื่องป้าแจ่มปวดท้องไปโรงพยาบาลกลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ตลาด” จากปวดท้องธรรมดา ปวดท้องไส้ติ่ง ปวดท้องสารพัดสารพัน ก่อนจะลงเอยด้วย “ป้าแจ่มเป็นมะเร็งลำไส้” ละมั้ง เท่านั้นแหละทั้งตลาดก็กระหึ่มไปด้วยเสียงเล่าลือว่าป้าแจ่มเป็นมะเร็งลำไส้
คนสองคนที่เป็น “คู่นินทา” เป็น “มะเร็งลำไส้” พร้อม ๆกันขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ ป้าแจ่มหายหน้าไปจากตลาด หมกตัวอยู่แต่ในบ้าน ในขณะที่นางคนชอบเลี้ยงหมายังคงกระย่องกระแย่งมาตลอดทุกวัน ทำให้แม่ค้ามึนงงไปตาม ๆกัน ชายชายไก่จึงอดไม่ได้ที่จะบอกเรื่องป้าแจ่ม

“พักบ้างก็ได้นะคุณ ป้าแจ่มแกเป็นมะเร็งเหมือนคุณแหละ แกยังพักเลย”

นางยิ้ม ใบหน้าของนางหน้าเหี่ยวย่นมองดูราวคนแก่อายุสักแปดสิบ
ป้าแจ่มนั่ง ๆนอน ๆอยู่ในบ้านรอผลพิพากษาของหมอมาเกือบ ๗ วันแล้ว ความรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งแล่นอยู่ในสมองมาเป็นเดือนก่อนหน้าจะไปโรงพยาบาล ทำให้แกเป็นมะเร็งไปเรียบร้อยแล้ว แกเก็บตัวอยู่ในบ้านจนหน้าซีดหน้าเซียว

วันนั้น แกนอนซมอยู่ และมีเสียงคนกดออดหน้าบ้าน แกผงกหัวขึ้น ส่งเสียงร้องครวญครางเล็กน้อยก่อนลุกขึ้นมองตรงช่องประตู เห็นเงาวอบแวบ แกก็ตะโกนถามว่า “ใครน่ะ” แต่เงานั้นไม่ตอบ แกก็เดินตัวงอ ๆ ออกไปดูหน้าคนมากดออด

“ใครวะ” แกบ่นพึมพำขณะเปิดประตูเก่า ๆ ฝืด ๆ

นางเลี้ยงหมา ยืนอยู่หน้าประตู ในมือถือถุงพลาสติก พอเห็นเจ้าของบ้านก็ยิ้มจนหน้าย่น ป้าแจ่มผงะ เพราะนางเลี้ยงหมาทั้งผอมทั้งแห้งอย่างไม่น่าเชื่อ แต่กระนั้น พอนึกได้ว่านางเลี้ยงหมาเคยมีปฏิกิริยากับแกเช่นไร แก็หน้าตึง ตะคอกออกไป “มีอะไร”

นางเลี้ยงหมายื่นถุงพลาสติกลอดเข้ามาทางช่องเหล็กดัดประตู “เอามาให้”

“เอามาให้ทำไม” ป้าแจ่มเสียงอ่อนลงเล็กน้อย

นางเลี้ยงหมายิ้ม ใบหน้าแห้งเหี่ยวนั้นดูราวกับกระดาษย่น “ได้ข่าวว่าป้าไม่สบาย เจ้านี้อร่อย ฉันซื้อมาฝาก”

ป้าแจ่มรับถุงนั้นมา สัมผัสได้กับความสั่นเทาของคนที่หิ้วมันมา นางส่งให้เสร็จก็หันหลังให้และเดินจากไปโดยไม่มองป้าแจ่ม ป้าแจ่มกลับเข้าบ้านอย่างงง ๆ

เมื่อนั่งลงที่โต๊ะกลางบ้านและเริ่มกินก๋วยเตี๋ยวนั้น ป้าแจ่มก็ตระหนักถึงความรู้สึกปีติที่แล่นพล่าน แกวางช้อนและวิ่งออกไปเปิดประตูบ้านออกไปยืนมองคนที่เดินจากไป ไม่มีวี่แววของใครในซอยนั้นแล้ว แต่ป้าแจ่มก็ยังสัมผัสได้ถึงความสั่นระรัวแห่งร่างกายของนางเลี้ยงหมา “นางไม่สบาย”ป้าแจ่มร้องอึงอลอยู่ในหัวใจ

อีกหนึ่งเดือนต่อมา นางเลี้ยงหมาก็ตายเพราะมะเร็งลำไส้ ในขณะที่ผลการตรวจหมอสรุปว่าป้าแจ่มไม่ได้เป็นมะเร็ง วันเผาศพนางเลี้ยงหมา ชายขายไก่เห็นน้ำตาป้าแจ่มไหลพราก ๆ






#feedDD #MASS

 

 


ติดตามเรื่องราวดีๆ อัพเดท สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่แฟนเพจ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่นี่



 



โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม (Media As Social School)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]