สื่อมวลชน-สังคม-รัฐบาล
ยุคเรียนรู้ผิดรู้ถูกว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพ”
พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช*
สังคมไทยได้ก้าวผ่านยุคเสรีภาพครึ่งใบและรัฐบาลไม่มีอำนาจในการควบคุมสั่งการใด ๆ ตามกฎหมายเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายอย่างใด ๆ หรือแม้แต่จะใช้อำนาจสั่งปิดหนังสือพิมพ์ของภาคเอกชนรวมถึงสื่อภาครัฐด้วย
กล่าวได้ว่าปัจจุบันสังคมไทยได้หลุดพ้นการถูกควบคุมการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวดจากอำนาจรัฐและกฎหมาย ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งก่อนหน้านี้นั้นสังคมไทยแทบไม่มีหลักประกันในเรื่องดังกล่าว
เดิมทีเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐบาล มีอำนาจมากและใช้อำนาจขัดขวางการทำหน้าที่อย่างเสรีของสื่อมวลชนภายใต้กฎหมายเฉพาะหลายฉบับเพื่อใช้ควบคุมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และกฎหมายที่มีลักษณ์ควบคุมหรือให้อำนาจเด็ดขาดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ถูกยกเลิกครั้งสำคัญในยุคปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งหวังให้เกิดการวางพื้นฐานการเมืองการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย ดังนั้น สาระสำคัญจึงต้องบัญญัติถึงหลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่สื่อมวลชนและให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและมีบทบาทในการตรวจสอบอำนาจรัฐ
การจัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งภายใต้การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามกฎหมายไม่อาจประสบความสำเร็จในการแก้ไขการทุจริตคอรัปชั่นในการบริหารโครงการใหญ่ของรัฐบาลได้ การปฏิวัติรัฐประหารล้มรัฐบาลจึงเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
หลังจากนั้นประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 สิทธิเสรีภาพทางการเมืองสะดุดหยุดลงชั่วระยะหนึ่งและได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2550 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุดยังคงให้การคุ้มครองและเพิ่มสาระสำคัญในเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประเทศไทยได้ผ่านพ้นยุคลิดรอนสิทธิเสรีภาพ สังคมไทยเริ่มมีบทบาททางการเมืองและใช้เสรีภาพเคลื่อนไหวทางความคิดประท้วงหรือคัดค้านรวมถึงการวิจารณ์รัฐบาลของสื่อมวลชนไม่เห็นด้วยกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล แต่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องเสรีภาพทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบใหม่ มีการใช้กำลังปราบปรามประชาชนจนล้มตายบาดเจ็ดหลายครั้ง แต่ไม่อาจหยุดยั้งการแสดงออกทางการเมืองที่จะเข้ามาควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาล
หากจะมองย้อนหลังไปสู่ประวัติศาสตร์อันยาวนานไปสู่ศตวรรษที่ 18 สื่อแรกที่เกิดขึ้น ได้แก่ หนังสือพิมพ์และสื่อประเภทนี้ได้เริ่มมีบทบาททางสังคมและการเมืองมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนและคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน
ปัจจุบันเกิดสื่อมากมายหลายประเภทรวมเรียกว่า “สื่อมวลชน” และสื่อใหม่ทางอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทางข่าวสารอย่างสูงในสังคมยุคนี้ โดยธรรมชาติของสื่อมวลชนภาคเอกชนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอำนาจรัฐมาช้านาน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารถึงความบกพร่องผิดพลาดรวมถึงการใช้อำนาจเกินกว่าอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือรัฐบาลยกเว้นสื่อภาครัฐจะถูกเข้มงวดกวดขันในเรื่องเสรีภาพจากองค์กรของรัฐเจ้าของสัมปทานคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม
จะเห็นได้ชัดว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่ละครั้ง สื่อภาครัฐ ได้แก่ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์จะถูกสังคมปฏิเสธการทำหน้าที่และเรียกร้องให้มีปฏิรูปเสียใหม่ทุกครั้งหรือยุบทิ้งหรือบางครั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบสื่อภาครัฐบางแห่งถูกเผาทำลาย
นับแต่มีรัฐธรรมนูญ 2550 สังคมไทยมีการขัดแย้งทางการเมืองของขั้วอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ และมีเหตุการณ์ท้าทายการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเกือบถึงขั้นวิกฤติ แต่รัฐบาลสามารถควบคุมความสงบไว้ได้เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 มีข้อน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าระยะเวลาอันสั้นหลังจากเหตุการณ์สงบลงรัฐบาลได้เริ่มเปิดฉากโจมตีการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนภาคเอกชนกล่าวหาว่าในสถานะการณ์ขัดแย้งทางการเมืองและเห็นว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างลำเอียง ไม่เป็นกลางและไม่เป็นธรรมแก่รัฐบาล
รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดการโจมตีสื่อภาคเอกชนก่อนที่สื่อมวลชนภาครัฐจะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์โจมตีถึงความอ่อนด้อยในสมรรถนะของสื่อภาครัฐ สื่อมวลชนภาคเอกชนจึงตกเป็นจำเลยของรัฐบาลและสังคมถึงขั้นที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปไปพร้อม ๆ กัน
เวลาผ่านไปจนถึงต้นปี 2554 ก่อนมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลเดิม ดูเหมือนว่ารัฐบาลเก่าได้เงียบเสียงไม่กล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปสื่อ ปล่อยให้ปัญหาเรื่องการปฏิรูปสื่อมวลชนให้ปฏิรูปตัวเองตามธรรมชาติขององค์กรธุรกิจทั่วไป ซึ่งต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้รับกับสภาพความเป็นจริงทางสังคมและการเมือง
ประเด็นนี้ยังมีข้อโต้แย้งว่าการปฏิรูปสื่อไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือรัฐบาลเป็นภาระหน้าที่ของใครกันแน่ และสังคมกำลังจับตามองท่าทีของรัฐบาลใหม่กับสื่อมวลชนว่าจะอยู่อย่างเข้าใจกันได้แค่ไหนเพียงใด ?
รัฐธรรมนูญในรัฐเสรีประชาธิปไตยให้การรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน ด้วยความเชื่อว่าสื่อมวลชนไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนจะต้องเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีความเป็นอิสระจากอำนาจใดไม่ว่าจะเป็นอำนาจของรัฐ รัฐบาล หรือำนาจทุน เพื่อให้สื่อมวลชนมีอิสระทำหน้าที่อย่างเสรีรายงานข่าวและแสดงความคิดอย่างมีความรับผิดชอบทางวิชาชีพต่อสังคมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
สื่อมวลชนมีหน้าที่สำคัญรักษาพันธกิจสำคัญทางสังคม และสามารถใช้การสื่อสารตามอาชีวปฏิญาน
อย่างปราศจากข้อสงสัยเพื่อปฏิบัติภารกิจให้เกิดประโยชน์แก่สังคมมวลชน สภาพความเป็นจริงของสื่อมวลชนต่างต้องแข่งขันเพื่อการอยู่รอดทั้งในเชิงธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อและการสนับสนุนจากรัฐในการบริหารสื่อภาครัฐเพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและในทางวิชาชีพอย่างไม่มีข้ออ้างที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้
ทั้งนี้ เพื่อให้สื่อมวลชนทั้งระบบได้ก้าวให้ทันโลกหลังยุคสงครามเย็นยุติลงและนำสังคมอย่างชาญฉลาดด้วยการมุ่งคิดค้นเสนอเนื้อหาให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมในระดับชาติหรือโลก ช่วยกันยกระดับรักษาและสร้างสังคมแห่งความรู้และการรู้แจ้งทางสติปัญญา
โลกแห่งความเป็นจริงจะทำได้หรือไม่ เพียงใด เป็นประเด็นที่น่าจะจับตามองถึงพันธกิจอันหนักอึ้งของสื่อมวลชนตามที่สังคมคาดหวังไว้ ?
โลกยุคนี้ในทางวิชาการมีชื่อเรียกต่างกัน แต่ในที่นี้จะขอเรียกว่า “โลกยุคโลกาภิวัตน์” (the globalized world) สังคมยุคนี้เกิดประเด็นโต้แย้งทางความคิดในสังคมเสรีนิยม เรื่อง “สื่อมวลชนเพื่อใครกันแน่?” และคิดว่าเป็นหัวข้อสำคัญที่จะนำเสนอแนวคิดเชื่อมโยงกับสื่อมวลชนและสังคมไทยภายใต้บริบทของการเกิดจักรวรรดิยุคใหม่หรือนัยหนึ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อให้มีเรื่องอภิปรายโต้แย้งกันต่อไป
มีสำนักคิดของสำนักคิดทางสังคม อาทิ เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) นักวิชาการชาวเยอรมัน สำนักความคิดแฟรงเฟิร์ต (Frankfurt School) ถือเป็นหนึ่งในสำนักคิดก้าวหน้าเพื่อการศึกษาค้นหาเหตุผลและวิพากษ์วิจารณ์การดำรงอยู่ของสังคมสมัยใหม่ฮาเบอร์มาสเป็นผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดในเรื่องการเปิดพื้นที่ของสื่อมวลชนต้องเพื่อประโยชน์แก่สังคม เขาได้นำเสนอเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” หรือ Public Sphere ให้สังคมและสื่อมวลชนนำไปขบคิดถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบกับปัญหาทางสังคมและการเมือง
หนึ่งในความเห็นที่ว่าสื่อจะต้องทำหน้าที่เป็น “เวทีสาธารณะ” หรือเปิดพื้นที่อย่างโล่งแจ้งไม่มีมุมมีเหลี่ยมซ่อนเร้นสิ่งผิดสิ่งถูก เพื่อให้สาระของปมปัญหาและการบริหารผิดพลาดของรัฐบาลและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างขาดความถูกต้องยุติธรรมได้คลี่คลายโดยส่งเสริมให้ประชาชนได้สิทธิอย่างเสมอภาคเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะของสื่อมวลชนเพื่อสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้มีการรับรู้แพร่หลายและเพื่อผลักดันหรือสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจได้เข้าแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ถ้ารัฐบาลใดขาดความสามารถในการบริหารประเทศ ประชาชนจะไม่ให้โอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกภายหลังมีการเลือกตั้งครั้งใหม่
ความคิดในเรื่องการเปิดพื้นที่สาธารณะของ เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส กลายเป็นแรงระเบิดกระจัดกระจายให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นและเปิดโอกาสให้สังคมเข้ามาตรวจสอบการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างเอาจริงเอาจังคู่ขนานไปกับการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่น่าสนใจหยิบยกมาประกอบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการก้าวข้ามความเชื่อในเรื่อง "หลักการอำนาจนิยม" มาสู่ยุค “หลักการแห่งอิสรภาพนิยม” นับแต่ศตวรรษที่ 17 สังคมเกือบทั่วโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองมาสู่สังคมเสรีประชาธิปไตยในยุคสมัยใหม่ ซึ่งหมายถึงการเมืองในยุคเสรีประชาธิปไตยจะเข้มแข็งในหลัก “อิสรภาพหรือเสรีภาพ” และยังมีจุดอ่อนซึ่งนักคิดมีชื่อเสียงหลายสำนักออกมาวิพากษ์วิจารณ์ที่เรียกว่า “นิติปรัชญาหรือรัฐศาสตร์ปรัชญาแนววิพากษ์” อะไรทำนองนั้น
หนึ่งในจำนวนนักคิดได้แก่ ฮาเบอร์มาสทำการวิพากษ์วิจารณ์สังคมสมัยใหม่ที่ล้มเหลวในการรักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในศตวรรษที่ 18 จากการสนับสนุนแนวความคิดเกี่ยวกับการเปิด “พื้นที่สาธารณะ” (Public Sphere) ของฝ่ายกฏุมพีหรือเสรีนิยม และเรื่องนิติรัฐ (Rechtsstaat/Legal State) โดยมีบทสรุปในแง่ลบว่า ทั้งแนวความคิดพื้นที่สาธารณะแบบเสรีนิยม (Liberal Public Sphere) กฎหมายทั่วไป และนิติรัฐแบบกฏุมพี (Bourgeois Rechtsstaat) ต่างได้สูญเสียรากฐานทางสังคมในตัวเองจนไม่สามารถให้กำเนิดเป็นทฤษฎีแนววิพากษ์ซึ่งมีเกณฑ์ชี้วัดเชิงบรรทัดฐานทางคุณค่าได้อีกต่อไป (รศ.จรัล โฆษณานันท์, ใน .นิติปรัชญาแนววิพากษ์” สำนักพิมพ์นิติธรรม, ตุลาคม พ.ศ. 2550, หน้า 201 อ้าง Kaarlo Tuori (Ed), Critical Legal Positivism, Aldershot}, : Ashgate, 2002, p.77)
ส่วนสังคมไทยเราเพิ่งเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้นำทางการเมือง นักการเมือง สื่อมวลชน และประชาชนในหลักการขั้นต้นว่าด้วย “สิทธิเสรีภาพทางการเมือง” ในยุคปฏิรูปการเมืองครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 ซึ่งถือว่าความคิดอย่างมีสาระในเรื่องเสรีประชาธิปไตยเพิ่งจะได้มีการเรียนรู้ร่วมกันในช่วงระยะสั้น
คำว่า “สิทธิเสรีภาพ” แม้จะเป็นคำเก่า ๆ แต่ถูกทำให้ลดคุณค่าจากอำนาจรัฐยุคก่อน พ.ศ. 2540 คำนี้เริ่มจะออกฤทธิ์ออกเดชและเริ่มมีความหมายและมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นตามลำดับ จนสังคม สื่อมวลชน ผู้นำทางการเมืองต่างปรับรับกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมต่างใช้ผิดใช้ถูกปะปนกันไป แต่ถ้ามองในแง่ดีจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศและสังคมซึ่งอาจต้องหาประสบการณ์จากการเรียนรู่ผิดรู้ถูกไปอีกระยะหนึ่ง
กล่าวได้ว่าการปฏิรูปการเมืองในสังคมไทยสองครั้งผ่านมานั้น นับเป็นครั้งสำคัญของการเริ่มต้นการวางรากฐานว่าสิทธิเสรีภาพของคนในชาติและรัฐบาลจะต้องมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพหาใช่ควบคุมสิทธิเสรีภาพดังความเชื่อในยุคหลักการอำนาจนิยมอีกต่อไป คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้าใจตรงกันในเรื่องนี้
หลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนกับการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อประชาชนหรือเพื่อผู้ใดกันแน่ได้มีการหยิบยกถูกกล่าวถามถึงบ่อยครั้งในเวทีสนทนา นโยบายสำคัญของรัฐบาลก็ดีการออกกฎหมายสำคัญกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของรัฐบาลก็ดีต้องถือว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมายบังคับให้รัฐบาลนำสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และสังคมสามารถจะตรวจสอบว่าสื่อมวลชนได้ให้ความสำคัญในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่เช่นกัน
มีงานวิจัยบางชิ้นได้ทำการสำรวจพื้นที่ของสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ว่าเปิดพื้นที่มากน้อยแค่ไหนใน “ประเด็นสาธารณะ” เช่น หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ได้มีการหยิบยกเรื่องมาตรา 40 กับองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะว่าควรจะมีองค์กรบริหารกี่องค์กรเพื่อทำหน้าที่ตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผลปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ต่างเปิดพื้นที่และให้ความสำคัญเพื่อเสนอความคิดเห็นให้การจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการดังกล่าวหลุดจากอำนาจของรัฐบาลและโอนอำนาจดังกล่าวมาอยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรใหม่ที่เป็นอิสระจากอำนาจของรัฐบาลตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 47 ได้มีการประกาศใช้ในภายหลัง เป็นต้น
องค์กรสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อภาครัฐหรือเอกชนจะต้องปรับความคิดให้สอดรับกับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยต่างเรียนรู้ผิดรู้ถูกเรื่องสิทธิเสรีภาพและมีข้อสังเกตว่า คำว่า “เสรีภาพ” จะให้ทั้งคุณและโทษหากใช้อย่างไม่เคารพสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหายใด ๆ ผู้ถูกละเมิดสิทธิได้ทำการฟ้องร้องสื่อประเภทสิ่งพิมพ์เป็นคดีความมากขึ้นกว่าก่อน การปฏิรูปการเมืองถึงขั้นบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับ ที่สุด ถูกศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกในความผิดฐานหมิ่นประมาท ถึงแม้ว่าจะเพิ่งกระทำความผิดครั้งแรกก็ตาม
ยุคปฏิรูปการเมืองหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ทั้งนักการเมืองและองค์กรธุรกิจสื่อต่างทำหน้าที่ ภายใต้การสังเกตตรวจสอบจากสังคมมากขึ้นกว่าเดิม บางครั้งสื่อมวลชนถูกนำไปเกี่ยวโยงกับการต่อสู้ทางการเมืองจนถูกสังคมและนักวิจารณ์เห็นว่าสื่อเริ่มเลือกข้าง ซึ่งในความหมายของวิชาชีพนั้นสื่อจะเลือกข้างประชาชนและรักษาประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าผู้นำทางความคิดบางคนให้ความเห็นว่า “สื่อต้องเลือกข้างที่ถูกต้อง”
นั่นเท่ากับว่าสื่อถูกนำเข้าไปสู่การการแย่งอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์แอบแฝงและไม่ใช่พันธกิจของสื่อมวลชนสื่อมวลชนต้องรักษาบทบาทหน้าที่ของอาชีพอย่างอิสระจะเป็นผู้ตัดสินทานประชาชนหรือผู้บริโภคข่าวเสียเอง ไม่อาจกระทำได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศของการแบ่งค่ายแยกขั้วอำนาจทางการเมืองกันอย่างชัดเจนและประการสำคัญสื่อมวลชนไม่มีหน้าที่ไปตัดสินว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดหรือใครผิดใครถูกหรือ เลือกข้างหรือไม่เลือกข้าง เว้นแต่ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นฝ่ายตัดสิน ปฏิเสธหรือเลือกที่จะเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สื่อมวลชนจึงถูกนำมาเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองเป็นคู่แฝดกัน จนกระทั่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนทำการปฏิรูปเมื่อกลางปี 2553 ภายหลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองได้สงบลง
ความจริงแล้วเป็นเพียงการซื้อเวลาให้รัฐบาลจะได้มีเวลาปรับยุทธศาสตร์ตั้งรับกับปัญหาหลังจากการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อขอพื้นที่คืนย่านราชประสงค์คืนจากประชาชนกลุ่มเสื้อแดงต่างเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาจนรัฐบาลสั่งการให้คนกลุ่มนั้นคืนพื้นที่จนเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ถึงขั้นมีการใช้กำลังปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนล้มตายบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก และมีการเผาอาคารทรัพย์สินของภาคเอกชนค่าเสียหายเป็นหมื่นล้าน ซึ่งในสังคมเสรีประชาธิปไตยไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์ทำนองนั้น
การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในช่วงระยะสองสามปีนับแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ต้องตกอยู่ภายใต้การแย่งอำนาจทางการเมืองกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งฝ่ายการเมืองได้วางยุทธศาสตร์ข่าวสารแบบนักสื่อสารการเมืองเพื่อสร้างวาทะกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดกระแสวิจารณ์และต่อต้านกลุ่มอำนาจเดิม จนบางครั้งเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์รุนแรงขึ้นตามวาระข่าวสารอย่างเป็นระบบในช่วง พ.ศ. 2550-2553 และใช้ทฤษฎีสื่อสารมวลชนเข้ามาจัดวาระข่าวให้สื่อมวลชนติดตามรายงานข่าวได้อย่างต่อเนื่องจนสื่อมวลชนไม่อาจถอนตัวได้จากเรื่องราวหรือเหตุการณ์แห่งความขัดแย้งทางความคิดของกลุ่มอำนาจทางการเมืองและเฝ้าติดตามทำหน้าที่รายงานข่าวหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหลายสถานการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่องชนิดวันต่อวันหรือชั่วโมงต่อชั่วโมง
มุมมองของสื่อมวลชนทั้งประเภทเดียวกันหรือต่างประเภทต่างมีมุมมองข่าวและปัญหาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบางครั้งต่างกันแบบขาวกับดำทั้งมุมมองของข่าวและความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่มาจากแหล่งข่าวเดียวกัน สื่อมวลชนในยุคนี้จึงตกอยู่ในวังวนแห่งการแย่งอำนาจของนักการเมืองและวาทะกรรมใหม่กำหนดชุดความคิดให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์จนบ่อยครั้งเกิดวิวาทะทางความคิดและเรื่องทั้งหมดได้ถูกนำถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชน
ในยุคนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สื่อมวลชนจะต้องถูกสังคมวิจารณ์ว่าเลือกข้างเลือกสีอย่างไม่มีข้อสงสัย และยิ่งไม่สงสัยว่าในยุคนี้ทำไมผู้บริโภคสื่อต่างก็เลือกบริโภคตามความต้องการเช่นกันสภาพเช่นนี้จึงสอดรับกับความคิดที่ว่า “สังคมคิดอย่างไร สื่อก็คิดอย่างนั้น” สังคมยุคนี้จึงเกิดแบ่งฝ่ายเลือกข้างเกิดขึ้นทันตาเห็นอย่างน่าเป็นห่วงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในสังคมไทย
แต่พันธกิจสำคัญของสื่อมวลชนต้องอย่าลืมหน้าที่สำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือเป็น “สติให้ปัญญาและหาทางออกให้กับปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากันแบบเอาเป็นเอาตายในขณะนี้ด้วย” สิ่งที่กล่าวนี้คือบทพิสูจน์ของความเป็นอิสระทางความคิดแห่งวิชาชีพและจริยธรรมสื่อเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของคำว่า “เสรีภาพสื่อมวลชน” ให้สังคมเลื่อมใสศรัทธาในความเป็นสถาบันสาธารณะ
ดังนั้น ภายหลังรัฐบาลสามารถคลี่คลายปัญหาจนกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลสลายตัวและมีการจับกุมตั้งข้อกล่าวหาแกนนำบางคนไปแล้ว รัฐบาลแทนที่จะหยิบเรื่องสำคัญมาเสนอต่อสาธารณะกลับเปิดพื้นที่ทางสังคมมาเบี่ยงเบนการบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และใช้วิธีการนำเสนอต่อสาธารณชนให้มีการปฏิรูปสื่อมวลชนถึงประเด็นการนำเสนอข่าวอย่างสมดุลและเป็นธรรมไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดกันเสียที เพียงแต่รัฐบาลพูดคลุมไม่แยกว่าเป็นสื่อภาครัฐหรือภาคเอกชนเท่านั้นเอง
ความจริงแล้วภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลที่ควรเร่งด่วน คือ การปรับกระบวนยุทธ์ใช้สื่อภาครัฐเพื่อชี้แจงปัญหาต่าง ๆ ทางการเมืองที่กำลังรุกคืบและรุมเร้ารัฐบาลจนต้องแก้ปัญหาเป็นรายวันอย่างเคร่งเครียดอยู่ในเวลานั้น ส่วนสื่อภาคเอกชนนั้นปล่อยให้ประชาชนผู้บริโภคเข้ามาตรวจสอบวิจารณ์โดยตรงน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
และประการสำคัญรัฐบาลนั่นแหละควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนักเพื่อรีบเร่งปฏิรูปการทำงานของรัฐบาลให้มีความขัดแย้งให้น้อยที่สุดกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อปัญหาทางการเมืองซึ่งนับวันขยายวงกว้างไปสู่ภูมิภาค โดยใช้สื่อภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางสื่อสารการเมือง
ทั้งนี้เพื่อรักษาอำนาจรัฐและสื่อความเข้าใจเรียกความศรัทธาจากประชาชนเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนทั่วประเทศ ซึ่งจะถึงกำหนดวันเลือกตั้งอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (และภายหลังผลการเลือกตั้งเป็นที่ทราบทั่วกันว่าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่แทนรัฐบาลเดิม)
กล่าวได้ว่าเรื่อง “เสรีภาพของสื่อมวลชน” ใช่ว่ารัฐบาลใดจะสั่งการให้ซ้ายหันขวาหันตามแต่ใจหรือใช้คำสวยหรูว่า “ปฏิรูป” หรือแม้แต่คิดจะใช้รัฐสภาออกกฎหมายควบคุมเสรีภาพตามแต่ใจดั่งรัฐไทยในยุคเผด็จการผ่านมาต่างเคยใช้อำนาจในการออกกฎหมายควบคุมสื่อหรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไม่เกรงใจใครได้อีกต่อไป
ส่วนประชาชนจะใช้สิทธิรักใครชอบใครไม่รักใครไม่ชอบผู้ใดหรือสื่อใดหรือแม้แต่พรรคการเมืองใดก็ถือว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวเช่นกัน ใช่ว่าผู้ใดจะชี้นิ้วสั่งการตามอำเภอใจได้ง่ายนัก
โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม (Media As Social School)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]