นักข่าว ยุค New Media ต้องตั้งสติ ยึดหลักพุทธ กาลามสูตร เสนอข่าว

หมวดหมู่ นักวิชาการ , โดย : admin , 3 เมษายน 61 / อ่าน : 2,701


นักข่าว ยุค New Media ต้องตั้งสติ

ยึดหลักพุทธ กาลามสูตร เสนอข่าว 

โดย ภูวนารถ ณ สงขลา 

        บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์บางกอก ทูเดย์ 

 

                การทำหน้าที่สื่อสารมวลชน การทำหน้าที่นักข่าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีทางการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กำลังเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างยิ่งในการทำหน้าที่อย่างมีจรรยาวิชาชีพ

                เนื่องจากสังคมโลกตื่นตัวกับโอกาสเปิดทางการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็วในการนำเสนอไปยังบุคคลที่สาม บุคคลอื่นๆ จำนวนมาก ภายใต้การเชื่อมต่อที่เรียกกันว่าสังคมออนไลน์

                ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความท้าทาย ก็เนื่องมาจากความเชื่อที่บรรดา New Media ได้สร้างกระแสความตื่นตัวในเรื่องนักข่าวพลเมือง หรือ Citizen Reporter จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความเชื่อที่ว่า

                ใครก็สามารถที่จะเป็นนักข่าวได้หมด ขอเพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็พอ 

                เพราะสามารถที่จะบันทึกภาพ บันทึกคลิปภาพคลิปเสียง แล้วก็ส่งผ่านข้อมูลพร้อมกับข้อความเข้าไปยังโลกโซเชี่ยลออนไลน์ได้แล้ว

                ไม่ต้องพึ่งพาสื่อมวลชนดั้งเดิม Traditional Media เป็นตัวกลางอีกต่อไป

                เพราะความนิยมที่ว่ารวดเร็วกล่าวสื่อดั้งเดิม สามารถสื่อสารได้สองทางมากกว่าสื่อดั้งเดิม

                แต่ภายใต้ความรวดเร็วอันเป็นที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ ตลอดจนการสื่อสารสองทางที่รวดเร็วทันใจ ได้อย่างผลกระทบตามมาต่อสังคมอย่างมากมาย

                เพราะ New Media จะหละหลวมต่อการตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ได้มีการประเมินในเรื่องการมีคุณค่าของข่าว บ่อยครั้งที่ไม่ได้แยกแยะในเรื่องความเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะกับผลประโยชน์ส่วนตน

                ที่สำคัญประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วอย่างมาก ทำให้การตรวจสอบความถูกต้อง การทบทวนข้อเท็จจริง และการไม่ใช้อารมณ์ร่วมในการนำเสนอถูกละเลยไป 

                ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากความเชื่อในเรื่องการเป็นนักข่าวพลเมืองนั่นเอง คือคิดว่าสามารถรายงานเรื่องราวอะไรก็ได้ ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกของผู้นำเสนอเรื่องราวผ่าน New Media ในขณะนั้น โดยไม่ได้คำนึงหรือยับยั้งชั่งใจถึงผลกระทบที่จะตามมา

                ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายกับใครบ้างหรือไม่เพียงใด

                ซึ่งนี่คือจุดแตกต่างของการเป็นนักข่าวพลเมือง กับ นักข่าววิชาชีพ 

                นักข่าววิชาชีพ จะถูกสอนให้คำนึงถึงคุณค่าข่าว ผลที่จะเกิดกับสังคม ผลที่จะเกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่สำคัญจะต้องรายงานข่าวในลักษณะของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยที่ข่าวนั้นจะต้องไม่มีความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไปปะปนอยู่ในข่าว

                และกระบวนการผลิตของสื่อดั้งเดิม จะไม่ใช่แต่จากนักข่าวแล้วสามารถนำเสนอไปสู่สังคม สู่สาธารณะชนได้เลยทันที แต่ยังมีกระบวนการกลั่นกรองในระบบกองบรรณาธิการ ผ่านหัวหน้าข่าว ผ่านบรรณาธิการข่าว บรรณาธิการบริหาร และหากเป็นเรื่องที่มองว่ามีความเสี่ยงที่จะนำเสนอก็จะต้องผ่านฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายของทางสำนักพิมพ์ สำนักข่าววิทยุ โทรทัศน์ ก่อนด้วย จึงจะสามารถนำเสนอออกมาเป็นข่าวสู่สังคมได้

                แต่นักข่าวพลเมืองจำนวนมากไม่เข้าใจในหลักการดังกล่าว เมื่อพบเห็นเหตุการณ์หรือเกิดอารมณ์ที่ต้องการแสดงออกในขณะนั้นก็จะนำเสนอข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนออกมาสู่สังคมในทันที โดยที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบความผิดถูกของข้อมูล

                เพียงเพราะพึงพอใจที่จะได้เห็นปฏิกริยาการสื่อสารสองทางที่เกิดตามมาในทันทีเช่นกัน ซึ่งจะพบเป็นประจำถึงการแสดงความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลายขั้วความคิด จนเกิดวิวาทะ ความขัดแย้ง ตำหนิด่าทอกันด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคาย แค่มีใครก็ตามที่คิดเห็นแตกต่างไปจากความเชื่อ ความรู้สึกของตนเอง 

                นี่คือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับสังคม ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตื่นกระแส New Media การตื่นกระแสนักข่าวพลเมืองนั่นเอง

                กรณีสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัล 30 ล้านบาท เป็นตัวอย่างปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า ทันทีที่เรื่องนี้ปรากฏออกมาเป็นข่าวว่ามีการไปแจ้งความเพื่ออายัดเงินรางวัล และเกิดคู่กรณี 2 ฝ่ายระหว่างดาบตำรวจกับครู

                จะเห็นว่า ในโลกออนไลน์ ในโลก New Media มีการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายเชียร์กันอย่างรุนแรงในทันที โดยที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ทันได้รวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดี แต่มีการปักใจเชื่อไปก่อนแล้วฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด

                จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบัน New Media  ได้ทำให้ข้อมูลและเรื่องราวที่ปรากฏสู่สังคมมีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง ปนเปกันจนยากที่จะแยกแยะ ที่สำคัญผลสำรวจพบว่ามีข้อมูลที่ผิดพลาด บกพร่อง และถูกบิดเบือน เกินกว่าร้อยละ70-80 ในโลกสังคมออนไลน์ เพราะความสามารถทางคอมพิวท์กราฟฟิก ความสามารถในการตัดต่อคลิปภาพและเสียง เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

                อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องราวที่มีการนำเสนอผ่านสังคมออนไลน์ ผ่านนักข่าวพลเมืองจะต้องผิดพลาดหรือว่าเลวร้ายไปหมด บางเรื่องก็สามารถที่จะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การสืบค้นหาความจริงได้เป็นอย่างดี

                 ดังนั้น ผู้ที่นิยมเสพรับข่าวสารเรื่องราวจาก New Media จำเป็นที่จะต้องรู้จักแยกแยะ วิเคราะห์ สังเคราะห์เหตุผลอย่างถี่ถ้วยรอบคอบ หากต้องการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นความจริง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีเสียใจ หรือมากล่าวคำขอโทษขออภัยในภายหลัง หรือแม้กระทั่งต้องถูกดำเนินคดีจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ซึ่งมีการกำหนดระวางโทษเอาไว้รุนแรงมาก

                ข้อแนะนำสำหรับคนในสังคม และรวมถึงนักข่าวที่มีไม่น้อยที่นำเสนอข่าวคล้อยตาม New Media คล้อยตามกระแสไปก่อน เรื่องของความถูกต้องครบถ้วนค่อยมาแก้ไขกันในภายหลังนั้น น่าที่จะนำคำสอนในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงเคยสอนไว้แก่ทุกคนมาปรับใช้ในการเสพ New Media ใดๆก็ตาม ด้วยหลักกาลามสูตร 10 ประการ

                หลักกาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนแก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่ออย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญา ควรพิจารณาให้ตระหนักชัดเจนถึงความจริงก่อนเชื่อ ซึ่งมีอยู่ 10 ประการ ได้แก่ 1) อย่าเชื่อในถ้อยคำที่ได้ฟังตามกันมา 2) อย่าเชื่อถ้อยคำที่สืบกันมาตามประเพณีต่างๆ 3) อย่าเชื่อข่าวลือที่พูดต่อกันมา 4) อย่าเชื่อด้วยการอ้างตำรา 5) อย่าเชื่อจากการคาดเดาเอง 6) อย่าเชื่อจากการคาดคะเน 7) อย่าเชื่อตรึกตามอาการ 8) อย่าเชื่อความพอใจว่าลงกับทิฐิของตัว 9) อย่าเชื่อเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ 10) อย่าเชื่อเพราะเป็นครูอาจารย์ที่เคารพนับถือ

                จะเห็นได้ว่าหลักกาลามสูตรได้สอนให้รู้จักพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนด้วยปัญญา ไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ หรือเชื่ออย่างมงาย อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นครูอาจารย์ที่เคารพ เป็นบุคคลที่มีความรู้ มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือเพียงใด แต่ก็ยังต้องพิจารณาก่อนที่จะเชื่อตามคำกล่าวนั้นๆ

                ยิ่งประเด็นอย่าเชื่อในการฟังตาม ๆ กันมา ซึ่งจะเห็นว่าในปัจจุบันข้อมูลจาก New Media ที่ได้รับต่อๆกันมา หลายเรื่องเป็นเท็จ ไม่จริง หรือถูกบิดเบือน แต่ก็ยังส่งต่อๆกันไป บางครั้งข้ามเดือนข้ามปียังวนกลับมาอีกก็มี ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อเพราะ “เขาว่า” ทั้งๆที่ไม่รู้ว่า “เขา” ที่ว่านั้นเป็นใคร ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่

                โดยสรุปก็คือ ความเชื่อควรมาคู่กับความคิดพิจารณา ต้องรู้จักคิด วิเคราะห์ถึงเหตุและผลแล้วจึงเชื่อ ไม่ใช่เชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ดังนั้นคำสอนหลักการพิจารณาความเชื่ออย่างหลักกาลามสูตรจึงเป็นคำสอนที่สามารถนำมาใช้ได้ตลอด แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันก็ตาม

                ดังนั้นในการทำหน้าที่นักข่าว หรือนักข่าวพลเมืองก็ตาม การจะนำเรื่องราวใดไปนำเสนอต่อสังคมควรไตร่ตรองและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะเชื่อในคำกล่าวอ้างใดๆ เพื่อไม่ให้การทำหน้าที่ในการเป็นสื่อมวลชนที่ดีนั้นเกิดข้อผิดพลาดจากตัวผู้นำเสนอเสียเอง



โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม (Media As Social School)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]