ยุค 4.0 หนังสือพิมพ์จะอยู่หรือไป
ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ ทยอยปิดตัวลงอย่างน่าใจหาย แม้แต่หนังสือพิมพ์รายวัน ก็ไม่อาจต้านทางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ด้วยต้นทุนการผลิตที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับรายได้จากค่าโฆษณา ที่กระจายที่ลดลง เมื่อไม่อาจแบกรับต้นทุนไหว จำเป็นต้องหาทางออก มาตรการต่างๆ ทั้งลดจำนวนหน้า ลดยอดพิมพ์ ลดค่าใช้จ่าย ลดขนาดองค์กร ถูกนำมาใช้ องค์กรไหน แบกรับต้นทุนและภาวะขาดทุนไม่ไหว จำต้องยอมปิดฉากลงไป
ยุติฉบับพิมพ์ หันเข้าสู่ออนไลน์
30 พ.ย. 2559 ชลอ จันทร์สุขศรี กรรมการ/บรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ประกาศปิดตัว ให้เหตุผลว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปมาก มีสื่อชนิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้การต่อสู้ของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นไปอย่างยากลำบาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย ทางผู้บริหารบริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด ได้พยายามประคับประคองสถานการณ์อย่างสุดความสามารถมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ก็มิอาจทนต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้ จึงตัดสินใจยุติการผลิตหนังสือพิมพ์บ้านเมือง นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยหันเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์แบบเต็มตัว ในชื่อ บ้านเมืองออนไลน์
ปรับองค์กรลดค่าใช้จ่าย
ช่วงปลายปี 2560 เครือมติชน ที่มี ฐากูร บุญปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารในเครือ ได้ทำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอปรับปรุงโครงสร้างกิจการ ด้วยการยุบแผนกการพิมพ์และแผนกขนส่ง โดยโอนส่วนงานดังกล่าวไปให้กับบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามกีฬา เข้ามารับจ้างพิมพ์ จัดส่งหนังสือ และนิตยสารให้กับบริษัทฯ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2560
ลดคน รอวันอำลา
ช่วงเดียวกัน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก มีข่าวปิดตัวเกิดขึ้นเช่นกัน เริ่มจากการลดพนักงานในส่วนของหนังสือพิมพ์ ลงจาก 54 คน เหลือ 24 คน และลดพนักงานทั้งเครือจาก 543 คน ให้เหลือ 300 คน รวมทั้งจะขายช่อง NOW26 ให้กับกลุ่มบริษัท บีทีเอส แม้ผู้บริหารในขณะนั้นออกมาปฎิเสธ ว่า ไม่มีแผนที่จะปิดหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก แต่จะปรับเปลี่ยนการหารายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์เดิมไปสู่เว็บไซต์และออนไลน์ และต่อมาด้วยปัญหาทางธุรกิจ ปัจจุบัน กลุ่มสปริงนิวส์เข้าถือครองหุ้นเครือเนชั่น ต้องรอติดตามต่อไปว่า หนังสือพิมพ์คมชัดลึก จะปิดฉากลง หรือ หันเข้าสู่โลกออนไลน์ในที่สุด
เมื่อยักษ์เขียวต้องยอมสยบ
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ยอดพิมพ์ของ “นสพ.ไทยรัฐ” ไม่แตะหลักล้านฉบับ เหมือนที่เคยสูงสุดเช่นหลายปีก่อน แต่ ยังเป็น นสพ.อันดับ 1 ของเมืองไทย ที่ขยับตัวเข้าสู่วงการโทรทัศน์ดิจิตัล และเวบไซด์ไทยรัฐ โดยไม่ตกเทรน แต่ยอดโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ลดลงอย่างน่าใจหาย ความหนาของหนังสือพิมพ์จำนวน 40 หน้า ลดเหลือ32 หรือ 28 หน้า และโฆษณาจากลูกค้าประจำไม่กี่เจ้า นอกนั้นเป็นโฆษณารายการในไทยรัฐทีวีเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงรายได้จากออนไลน์ เท่านั้นที่ขยับตัวสูงขึ้น
และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ไทยรัฐ ยอมรับโฆษณาแบบ Jacket ให้โฆษณายึดครองพื้นที่ คลุมทับข่าวหน้า 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ข่าวสำคัญในแต่ละวัน โดยเป็นโฆษณาของKing Power เจ้าของธุรกิจดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ และกิจการยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันยังโฆษณาหน้ากลางสี่สี ซึ่งหากสังเกตให้ดี ในวันต่อมามีการเสนอข่าวหน้า 1 ตอบแทนให้กับกิจการของ King Power อีกด้วย นั่นเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า เข้าสู่ยุควิกฤติของสื่อสิ่งพิมพ์ขึ้นแล้วจริงๆ
สายส่งปิดตัว
สายส่ง มีความสำคัญในฐานะ ผู้นำส่ง หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือพ๊อกเก็ตบุ๊ค ถึงมือเอเยนต์รายใหญ่ เพื่อกระจายสู่เอเยนต์รายย่อย และกระจายตามแผงหนังสือ รอให้ลูกค้าเลือกซื้อ มีรายงานว่าสายส่งหนังสือเจ้าเก่า ชื่อดัง อย่าง “สายส่งธนบรรณ”ที่เคยรุ่งเรืองมากว่า 30 ปี จัดส่งนิตยสาร หนังสือต่างๆ เดือนละห้าร้อยกว่าหัว ในปี 2560 เหลือหนังสือให้จัดส่งจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วประเทศไม่ถึงร้อยหัว เริ่มทยอยปิดบริษัทตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และมีกำหนดปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาพเศรษฐกิจ โดยหนังสือ และนิตยสาร ที่เหลือค้างจำนวนมาก หลายเจ้าไม่ขอรับกลับคืน และขอให้ทางธนบรรณ จัดการชั่งกิโลขายให้ด้วย เมื่อร้านหนังสือเหลือน้อยลง หนังสือที่จะส่งก็เหลือน้อยมาก แล้วสายส่งจะส่งอะไรให้กับใคร
เอเยนต์ปิดตาม
การล้มลงแบบโดมิโน่ กระทบไปยัง สายส่งในต่างจังหวัด ร้านหนังสือ “รักษ์สาร” และ “เอเยนต์หนังสือพิมพ์รายวัน สุรัตน์” ใน จ.ตราด แจ้งให้ลูกค้า และพนักงาน รวมทั้งแผงหนังสือในเครือว่าจะหยุดกิจการส่งหนังสือพิมพ์แล้ะอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ด้วยเหตุผลว่า กิจการขาดทุนและไม่ต้องการดำเนินธุรกิจต่อ ยอดขายหนังสือ ทั้งหนังสือพิมพ์รายวันที่เคยขายได้วันละ กว่า 2000เล่ม ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียง 1000 กว่าเล่ม ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา และในช่วง 1 ปี เหลือเพียง 500 เล่มเท่านั้น ซึ่งแผงหนังสือส่วนใหญ่อยู่ในต่างอำเภอ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการส่ง ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ได้รับจากเจ้าของสิ่งพิมพ์ ที่ส่วนใหญ่ลดจำนวนการพิมพ์ลง เนื่องจากยอดขายตก
ทางออกเพื่ออยู่รอด
อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผ่านงานบริหารสื่อเครือเนชั่น มากว่า 30 ปี ให้สัมภาษณ์ผ่าน วอยซ์ ออนไลน์ โดยทำนายว่า วิกฤติสื่อในคราวนี้ เป็นยิ่งกว่า สึนามิ เพราะ สึนามิ หนีขึ้นที่สูงยังรอดได้ แต่วิกฤติคราวนี้ เป็นเหมือน แผ่นดินไหว บวกกับ มหาไซโคลน ที่ถล่มมาแล้ว ราบคาบหมด ถึงจะหลบเข้าที่กำบังก็บาดเจ็บล้มตายมหาศาล เป็นเรื่องยากที่จะรอด
อายุของหนังสือพิมพ์ขึ้นอยู่กับความเร็วของอินเตอร์เนต ยิ่งความเร็วมาก อายุยิ่งสั้น เนื่องจากร้อยละ 80 คนใช้โทรศัพท์มือถือเข้าถึงข้อมูลผ่านเวบไซด์ หรือ เฟสบุ๊ค เป็นหลักไปเสียแล้ว แผงหนังสือเริ่มยุบ ร้านหนังสือทยอยปิดตัว สายส่งเริ่มคิดค่าเก็บคืนเป็นเล่ม จากที่ไม่เคยมี แนวโน้มในการปรับตัว อาจหันไปทำฟรีก๊อปปี้ เพราะควบคุมต้นทุนได้ ไม่มีค่าสายส่ง ทุกวันนี้ โฆษณาของหนังสือพิมพ์ลดลง ยอดขายลดลง แม้แต่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ เคยหนามากถึง 40 หน้า ตอนนี้เหลือแค่ 24 หน้า ทุกค่ายอยู่ในภาวะประคองตัว
นักข่าวต่างจังหวัดต้องปรับตัว
อดิศักดิ์ วิเคราะห์ว่า นักข่าวรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ ต้องผสมผสานกับ คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เรื่องอินเตอร์เนต จะช่วยได้มาก นักข่าวต่างจังหวัดควรเปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากทำหน้าที่แมสเซนเจอส่งข่าวให้ส่วนกลาง มาเป็น มีเดียคอนดักเตอร์ เป็นผู้เรียบเรียงประสานงาน จัดทำเนื้อหาในท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย เสนอให้กับคนอ่าน มีเนื้อหาที่สามารถเข้ามาค้นได้ตลอด ต้องค้นหาตัวเอง โดยสร้างตัวตนของตนเองในโลกดิจิตัล บนแพลตฟอร์ม คนที่ไม่ปรับตัว หรือ ปรับตัวไม่ได้ ต้องออกจากอาชีพนี้ ไปทำอาชีพอื่น ที่อยู่ได้ จำต้องผันตัวไปทำสื่อที่เป็นชุมชน เพราะยังมีพื้นที่ให้ทำอะไรอีกเยอะ
ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ เทคโนโลยีทำให้ทุกคนเป็นสื่อได้ โดยหันไปโตในออนไลน์มากขึ้น แต่ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด ถ้าจะอยุ่รอดต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นการนำเสนอ เนื้อหาเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
ยังเหลือโฆษณาให้สื่อสิ่งพิมพ์แค่ไหน
นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สื่อสิ่งพิมพ์หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่ยังมีความจำเป็นสำหรับการโฆษณาสินค้า มีเพียงฉบับที่ได้รับความนิยมสูงเท่านั้น ส่วนฉบับรองลงมาอาจจะอยู่ในภาวะลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สื่อหนังสือพิมพ์ยังจำเป็นสำหรับสินค้าหรือผู้ประกอบการธุรกิจบางกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงภาพยนตร์ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ กลุ่มธุรกิจรถยนต์
ทางเลือกและทางรอด
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาต(กสทช.) คาดการณ์ว่า ในปี 2018 นี้ จะเป็นปีที่ชัดเจนอย่างมากของการหลอมรวม (Convergence) ระหว่าง อุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน จนทำให้ไม่สามารถแยกแยะทั้งสองอุตสาหกรรมออกจากกัน นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์แบบดั้งเดิมและสื่อรูปแบบกระดาษจะถูกสื่อรูปแบบใหม่บน OTT platform เข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยจะทำให้พวกเขาไม่มีเวลาหันไปใช้งานและเสพสื่อแบบดั้งเดิมอีก
ทั้งนี้เพราะสื่อรูปแบบใหม่บน OTT platform โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเชียล มีเดีย จะมีวิธีการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ และสร้างความสนใจให้กับผู้บริโภค (audience attention) ที่แยบยลอย่างมากด้วยการใช้เครื่องมือ social analytics ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนทำให้สามารถส่งคอนเทนต์เฉพาะบุคคล (content personalization) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและชาญฉลาดอย่างที่ไม่เคยมีสื่อรูปแบบเดิมๆ ทำได้มาก่อน ซึ่งเป็นที่แน่ชัดอย่างมากว่า OTT providers ต่างๆ จะเกิดขึ้นและพัฒนาขึ้นอย่างมากในปี 2018 และปีนี้เองจะเป็นปีที่เกิดการ disruption ในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงรูปแบบเดิมๆ อย่างหนักที่สุด
เป็นความจริงที่คนทำสื่อต้องยอมรับให้ได้ว่า สื่อ คือ ธุรกิจชนิดหนึ่ง มีรายได้หลักจากการหาโฆษณา โดยมีจำนวนผู้อ่านเป็นเครื่องมือการันตีความนิยม วันหนึ่ง เมื่อผู้อ่าน เปลี่ยนพฤติกรรมหันไปอ่านจากออนไลน์ ที่มีเนื้อหาหลากหลาย ชนิดแย่งกันเสิร์ฟถึงที่ ไม่ต้องไปหาซื้อตามแผงหนังสือ เอเยนต์ลดจำนวนลง รายได้หลักจากโฆษณา ที่เคยหล่อเลี้ยงองค์กรแปรผันตาม ยอดจำนวนพิมพ์ที่เปลี่ยนไป เจ้าของธุรกิจหันไปลงโฆษณาในสื่อออนไลน์ที่สามารถวัดผลตอบรับได้มากและชัดเจนกว่า และคงตอบคำถามได้ว่า หนังสือพิมพ์จะอยู่อย่างไรในยุค 4.0
โดยกานต์ เหมสมิติ
ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ
ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า 128/177 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
16th Fl., Phayatai Plaza, 128/177 Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]