สิ่งแวดล้อมเป็นพิษชีวิตมีภัย

หมวดหมู่ นักวิชาการ , โดย : admin , 3 เมษายน 61 / อ่าน : 7,246


สิ่งแวดล้อมเป็นพิษชีวิตมีภัย 

      ผ.ศ.สุพจน์ พฤกษะวัน

ในขณะที่คนทั่วโลกกำลังหันมาสนใจในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น น้ำท่วม พายุถล่ม ซึนามิ ไฟป่า และความแห้งแล้ง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางส่วนของสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในโลกเท่านั้น เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีขอบเขตอย่างกว้างขวาง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมที่สามารถมองเห็น จับต้องได้ และส่วนที่เป็นนามธรรม เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และแบบแผนการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ต่างก็มีอิทธิพลเกี่ยวโยงกันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งแวดล้อมจึงเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ

เมื่อสิ่งแวดล้อมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมจึงสามารถแยกออกมาให้เห็นเพื่อความชัดเจนได้ 2 ด้านคือ สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่า พืชพรรณ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ สัตว์ป่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาจใช้เวลาเร็วหรือช้าย่อมขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สิ่งมีชีวิต ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัวของสิ่งมีชีวิต เช่น พืช และสัตว์ ในทางวิชาการเราเรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ ประเภทที่สองคือ สิ่งไม่มีชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต อาจจะมองเห็นหรือไม่ก็ได้ เช่น ดิน น้ำ ก๊าซ อากาศ ควัน แร่ธาตุ เมฆ รังสีความร้อน แสง เสียง ฯลฯ เราอาจเรียกสิ่งแวดล้อมประเภทนี้ว่า สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

สิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่งคือ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับการอบรมสั่งสอน สืบทอด และพัฒนากันมาโดยตลอด สิ่งแวดล้อมด้านนี้แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ หรือสิ่งแวดล้อมที่สามารถมองเห็นได้เช่น บ้านเรือน เครื่องบิน โทรทัศน์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้นอำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตบางอย่างอาจมีความจำเป็นแต่บางอย่างเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย อีกประการหนึ่งคือ สิ่งแวดล้อมทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม หรือ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบสำหรับอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ ระบอบการปกครอง ศาสนา การศึกษา อาชีพ ความเชื่อ เจตคติ กฎหมาย ขนบทำเนียมประเพณี ระเบียบข้อบังคับ และสิ่งแวดล้อมที่มองไม่เห็น จะแสดงออกมาในรูปพฤติกรรม

สิ่งแวดล้อมกับมนุษย์มีความสัมพันธ์กัน เพราะปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์จะต้องเริ่มต้นที่การตอบสนองความต้องการทางกายและความปลอดภัยมั่นคงก่อน เช่น มีความมั่นคงทางอาหาร มีบ้านเรือนที่แข็งแรง อาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มาจากสิ่งแวดล้อมโดยอยู่รอบตัวมนุษย์นั่นเอง อีกทั้งมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีปฏิสัมพันธ์กันเกิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีการจัดลำดับชั้นทางสังคม มีความต้องการการยอมรับจากสังคม มนุษย์จึงต้องการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาเป็นพื้นฐานสำคัญ ดังนั้นมนุษย์จึงมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นแฟ้น โดยมนุษย์ได้อาศัยปัจจัยต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิตในด้านต่างๆ คือ แหล่งปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นในการดำรงชีวิต ซึ่งได้แก่ อาหาร มนุษย์ต้องกินอาหาร ซึ่งมีแร่ธาตุและพลังงานต่างๆ จากพืชและสัตว์ อาศัยน้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติในการดื่มและใช้ อาศัยดินและสภาวะทางอากาศเพื่อผลิตอาหาร การแสวงหาอาหารของมนุษย์มีการพัฒนามาโดยตลอด เริ่มต้นจากการนำอาหารมาจากแหล่งธรรมชาติ การนำอาหารมาเก็บสะสมไว้ การรู้จักเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และการผลิตอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันภัยจากธรรมชาติ การเลือกที่อยู่อาศัยตามแหล่งที่สามารถหาอาหารได้สะดวกและปลอดภัย การเลือกที่อยู่อาศัยต้องมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างบ้านของมนุษย์เราจะเห็นรูปแบบและวัสดุในการสร้างในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกัน ล้วนมาจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น เช่น บ้านใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม หลังคาทรงจั่วเพื่อให้น้ำฝนไหลได้สะดวก เป็นต้น

เครื่องนุ่งห่มก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะมนุษย์ต้องการนำมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อให้ความอบอุ่นหรือใช้ประดับร่างกาย เครื่องนุ่งห่มล้วนแสวงหามาจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น ในระยะแรกอาจนำใบไม้ เยื่อไม้ และหนังสัตว์ ต่อมาก็ผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เพื่อใช้กันในครอบครัว และต่อมาจึงผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มเพื่อการค้า ยารักษาโรคเป็นปัจจัยในชีวิตของมนุษย์ โดยเริ่มจากการใช้พืชสมุนไพร และพัฒนามาเป็นยาที่สังเคราะห์จากสารเคมี โดยเลียนแบบตัวยาในสมุนไพร วัตถุดับที่ใช้ก็นำมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก็อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ที่ตั้งชุมชน มักจะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทะเลสาบ ชายฝั่งทะเล การตั้งถิ่นฐานของชุมชนก็เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น คนที่อยู่ในที่ราบลุ่มมักตั้งอยู่ริมน้ำ เพื่อสะดวกในการเดินทาง ได้อาหารจากสัตว์น้ำ ส่วนชุมชนในเขตแห้งแล้งมักตั้งเป็นกลุ่มกระโจมและเคลื่อนย้ายบ่อยๆ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและอาชีพของคนในชุมชนก็แตกต่างกันตามทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ที่ราบลุ่มทำเกษตรกรรม บริเวณชายทะเลหรือเกาะก็ทำการประมง บริเวณทุ่งหญ้าก็เลี้ยงสัตว์ บริเวณที่เป็นแหล่งแร่ก็ทำเหมืองแร่ เป็นต้น ในปัจจุบันในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งเน้นการผลิตเพื่อการจำหน่าย จึงมีความต้องการทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันของเหลือใช้ก็ทิ้งไปสู่สิ่งแวดล้อมรองรับ สิ่งแวดล้อมก็จะเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

ลักษณะทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในเรื่องอุปนิสัยใจคอ อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ การเมืองก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ กลุ่มที่มีกำลังพลและความอุดมสมบูรณ์ย่อมเป็นรัฐที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตามความขัดแย้งทางการเมืองก็มีผลกระทบต่อมนุษย์ เช่น การพิพาทเรื่องพรมแดน และการแย่งชิงทรัพยากร เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชิเป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุกด้าน หากมนุษย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาดประชาชนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ถ้าประชาชนไม่ตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วก็จะใช้อย่างฟุ่มเฟือย ขาดความระมัดระวัง ขาดความรับผิดชอบ ทำให้เกิดความสูญเสียไปอย่างไม่คุ้มค่าและเกิดความขาดแคลนในที่สุด ชุมชนหรือประเทศนั้นก็จะอยู่ในฐานะที่ยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ เกิดปัญหาความวุ่นวายต่างๆ

มนุษย์มีส่วนอย่างสำคัญในการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมล้วนแล้วแต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น สภาพปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักร่วมกันมีดังนี้คือ

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า หรือบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน โดยการนำพื้นที่นั้นมาเป็นที่ทำมาหากินหรือเป็นที่อยู่อาศัยทำให้ต้นไม้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และรากที่อุ้มดินถูกทำลายลงไป นอกจากนั้นเกิดการลดลงของสัตว์ป่า หรือบางประเภทสูญพันธุ์ไปเพราะขาดที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร หรือถูกมนุษย์ล่าไปเป็นอาหารและสินค้า

ปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำท่วมและน้ำเป็นพิษเกิดจาการที่แหล่งน้ำธรรมชาติถูกทำลาย น้ำใต้ดินมีปริมาณน้อยลง ฝนแล้งและการปล่อยสารพิษที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชผักลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ยามใดที่มีปริมาณน้ำมาก ขาดสถานที่กักเก็บและขาดพืชดูดซับก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้น

ปัญหาแผ่นดินทรุด ปัญหานี้จะมีความสัมพันธ์กับระบบน้ำใต้ดินที่ถูกนำมาใช้เกินความพอดี จึงเป็นเหตุให้แผ่นดินทรุด ดินถล่มและการเลื่อนไหลของดิน ทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมากมายมหาศาล

ปัญหาการขาดแคลนแร่ธาตุและพลังงาน เราไดนำแร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในดินอย่างจำกัดมาใช้อย่างไม่มีการประหยัด ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่หมดสิ้นไป ในด้านพลังงานไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรือน้ำมัน เราก็นำมาใช้โดยไม่คำนึงว่า สักวันหนึ่งทรัพยากรเหล่านี้ก็จะหมดไป ภาระของคนต่อไปคือต้องหาเงินไปซื้อแร่ธาตุและพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล และจะส่งผลต่อรายได้ของคนในชาติด้วย

ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง เกิดจากการบุกรุกของประชาชนทำที่อยู่อาศัย และที่ทำมาหากิน ทำให้พืชผักและสิ่งมีชีวิตในทะเลถูกทำลายลง ปัญหาที่ตามมาก็คือแหล่งอาหารและอาชีพของประชาชนที่อยู่ใกล้ทะเลหมดลงไป ความยากจนก็จะเกิดตามมา

ปัญหามลพิษ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหามลพิษในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษอากาศและเสียง มลพิษทางน้ำ มลพิษที่เกิดจากขยะของเสียอันตราย และสารอันตรายที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมและการเกษตร มลพิษเหล่านี้สร้างปัญหาทางด้านสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งทำให้ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากในการรักษาผู้ป่วย

ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นก๊าซที่ห่อหุ้มโลกไว้มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิของโลกไว้ให้คงที่ก๊าซเรือนกระจกแบ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีในธรรมชาติและก๊าซเรือนกระจกจาการเผาไหม้จากชุมชนและอุตสาหกรรม ถ้าหากเรือนกระจกมีก๊าซที่มาจากอุตสาหกรรมและการเผาไหม้ต่างๆ ก็จะมีผลต่ออุณหภูมิอากาศ เช่น เกิดความร้อนมาก อากาศเปลี่ยนแปลงไปไม่เป็นไปตามฤดูกาล และมหาสมุทรจะขยายตัวจนเกิดน้ำท่วมในอนาคต

ปัญหาขยะมูลฝอย ปฏิกูล และขยะอิเล็คโทรนิค สิ่งเหล่านั้นเกิดจากสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการและหมดประโยชน์จากการใช้แล้วจึงกลายเป็นของเสีย ขยะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ เพราะขยะเป็นแหล่งอาหารของแมลงนำโรค ทำให้เกิดน้ำเสียและเกิดมลพิษทางอากาศ 

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์และมีผลกระทบต่อมนุษย์อย่างมหาศาล เพราะมนุษย์ใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตของตน การที่จะอนุรักษ์หรือการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลจึงควรมีกระบวนการต่างๆ ที่เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมดังนี้คือ การให้การศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น การประสานความร่วมมือทั้งในและนอกประเทศเพื่อช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การใช้มาตรการบังคับ เช่น การใช้กฎหมาย การจัดระบบเฉพาะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ในป่าหรือชุมชนเพิ่มขึ้น การจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดตั้งป่าชุมชน และการวางผังเมือง ซึ่งสามารถกำหนดเขตต่างๆ ได้ หากเราละเลยและปล่อยให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ชีวิตเราก็จะไม่ปลอดภัย




สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม
@MediaAsSocialSchool

 

สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม
@MediaAsSocialSchool


ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า 128/177 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
16th Fl., Phayatai Plaza, 128/177 Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8     โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]