รู้ทันสื่อในยุคดิจิตอล ความท้าทายวิชาชีพนักข่าว

หมวดหมู่ นักวิชาการ , โดย : admin , 3 เมษายน 61 / อ่าน : 4,371


รู้ทันสื่อในยุคดิจิตอล ความท้าทายวิชาชีพนักข่าว

อาทิตย์  แสงสว่าง

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิทักษ์ไทย

           ในยุคสมัยของความเจริญก้าวหน้าขอเทคโนโลยีได้ทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงจนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการพลิกโฉมสังคมข้อมูลข่าวสารไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง

            แม้นที่ผ่านมาผู้คนอาจจะมองการพัฒนาด้านเทคโนโลยีไปในทิศทางของการมุ่งที่จะพัฒนาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิตแต่วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องตระหนักแล้วว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาที่ก้าวไกลจนก่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงพัฒนาการของสังคมด้วยเช่นกันและยิ่งหากมองเจาะจงเฉพาะไปที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารจะพบว่ามีการพัฒนาไปไกลมากอย่างยิ่งเช่นกันเพราะได้มีการเพิ่มคำว่าเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในอดีตให้กลายเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปเรียบร้อยแล้วโดยบริบทของความหมายของคำว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้นหมายถึงเทคโนโลยีซึ่งก็คือวิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติในขณะที่สารสนเทศนั้นมุ่งให้ครอบคลุมหมดไม่ว่าจะเป็นข่าวสารข้อมูลข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกนำมาการแสดงหรือชี้แจงให้เป็นที่ประจักษ์

            ในขณะที่การสื่อสารยังคงมีความหมายเฉกเช่นเดิมคือการนำสืบหรือข้อความของฝ่ายหนึ่งส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยผู้ส่งข่าวสารหรือแหล่งกำเนิดข่าวสารช่องทางการส่งข้อมูลซึ่งเป็นสื่อกลางหรือตัวกลางอาจเป็นสายสัญญาณและหน่วยรับข้อมูลหรือผู้รับสารแต่เมื่อนำมารวมกันเป็นคำว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแล้วกลับกลายเป็นขอบเขตของการสื่อสารที่กว้างไกลไปจากอดีตเป็นอย่างมาก

            ลำพังแค่เทคโนโลยี  (Technology) ซึ่งมีความหมายมาจากคำ 2 คำคือเทคนิค (Technique) อันหมายถึง วิธีการที่มีการพัฒนาและสามารถนำไปใช้ได้และคำว่าลอจิก (Logic) หมายถึงวิธีการปฏิบัติที่มีการจัดลำดับอย่างมีรูปแบบและขั้นตอนเพื่อที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในเรื่องความเร็ว (Speed) ความน่าเชื่อถือ (Rliably) และความถูกต้องครบถ้วน (Accuracy) ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีที่มารองรับคุณสมบัติดังกล่าวก็ย่อมหมายถึงเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเองและเมื่อคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและถูกนำมาใช้ในเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั่นก็คือการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือที่ช่วยประมวลผลข้อมูลให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม  การจัดเก็บข้อมูล  การประมวลผล  การรายงาน  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้สารสนเทศไว้ใช้งานได้อย่างทันเหตุการณ์ และยิ่งเมื่อนำทั้งหมดมาเชื่อมต่อกับการสื่อสาร (Communication) จึงได้ทำให้เกิดพัฒนาการอย่างมากทั้งต่อผู้ส่งสาร ช่องทางการสื่อสาร และผู้รับสารเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบริการ World Wide Web : www หรือ Web ได้พัฒนาจากเป้าหมาย ทางการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และคุณภาพของประชาชนในสังคม ได้กลายเป็นการก้าวข้ามไปสู่สังคมข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วไปแล้วในทุกวันนี้

            ทุกวันนี้ผู้คนสามารถที่จะค้นคว้าเรื่องราว ข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ในโลกของอินเตอร์เน็ต แต่ไม่ได้มีการรับรองใดใดว่าข้อมูลทั้งหมดเหล่านั้นจะต้องถูกต้องครบถ้วนเสมอไปสิ่งที่กล่าวย้ำในข้างต้น ก็เพื่อหวังให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาชีพผู้สื่อข่าวได้ตระหนักว่า เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันซึ่งก็คือคอมพิวเตอร์ ดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร โครงข่ายโทรศัพท์ โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคปัจจุบันได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ ”สื่อแบบดั้งเดิม”  (traditional media)  ซึ่งได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์อย่างมากมายแล้ว

            เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการแถลงข่าวในรอบวันประเด็นร้อนสังคมที่อยู่ และแม้แต่กระทั่งสังคมโลกทั้งโลกกลายเป็นสิ่งที่พร้อมจะปรากฏขึ้นทันทีทันควันในโลกของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่านทางช่องทาง Windows ที่เรียกกันว่า “สังคมออนไลน์” ในเสี้ยววินาทีหลังจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นจากนั้นสื่อทางด้านวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์จะรับช่วงต่อด้วยการพยายามแข่งขันกันนำเสนอให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยที่สื่อทางด้านสิ่งพิมพ์กลายเป็นไม้สุดท้ายของการนำเสนอเนื่องจากยังคงต้องยึดโยงอยู่กับกระบวนการผลิตด้านสิ่งพิมพ์ที่ต้องใช้เวลานานในการดำเนินการ และขั้นตอนในการจัดจำหน่ายหรือนำเสนอไปสู่ผู้รับสารที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

            จุดอ่อนในเรื่องของขั้นตอนระยะเวลาของสื่อทางด้านสิ่งพิมพ์ได้ทำให้หนังสือพิมพ์ต่างๆพากันอุดจุดอ่อนดังกล่าว ด้วยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศควบคู่ขึ้นมา ในรูปแบบของการสร้างเว็บไซต์ข่าวสารของหนังสือพิมพ์ตนเองขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ในเรื่องระยะเวลาดังนั้นในทุกวันนี้ สื่อมวลชนจะต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่าผู้คนในสังคมสามารถที่จะรับข่าวสารข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมากทั้งจากอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยุ และโทรทัศน์ปัญหาที่ตามมาก็คือ การแข่งขันทางด้านความรวดเร็วในการนำเสนอ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาในเรื่องของความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลข่าวสาร ทั้งในรูปแบบของความผิดพลาดโดยไม่เจตนา และความผิดพลาดโดยจงใจที่จะบิดเบือนข้อมูลเพื่อผลประโยชน์บางประการ

            ด้วยเหตุนี้เองผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ที่ระมัดระวัง ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล ก่อนที่จะนำเสนอสู่สังคมทั้งนี้ก็เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพ และจริยธรรมที่ดีงามของการเป็นนักข่าว

            ข้อมูลข่าวสารต่างๆที่ปรากฏขึ้นในสังคมออนไลน์ทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกวัน สามารถเป็นไปได้ทั้งข้อมูลจริงข่าวสารที่ถูกต้องหรือเป็นข่าวสารที่บิดเบือน เป็นข่าวปล่อยเป็นเรื่องของการกระทำทำโดยไม่ได้นึกถึงไปถึงผลแห่งการกระทำที่จะตามมา หรือแม้แต่กระทั่งรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากข่าวดังกล่าว แต่ก็เพราะหวังผลที่จะให้เกิดขึ้นเช่นนั้นเพื่อประโยชน์แห่งตน พวกพ้อง หรือกลุ่มผลประโยชน์ร่วมกัน

            นักข่าวที่ดีจึงจำเป็นที่จะต้องตามให้ทันกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งตามให้ทันถึงเจตนาแห่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวด้วย

            ด้วยเหตุนี้เอง สำหรับประเด็นข่าวสารที่เกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ นักข่าวพึงคิดไว้เสมอว่าเป็นเพียงประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นมาแล้วนักข่าวได้รับรู้ว่ามี ”ประเด็นดังข่าว” ที่เกิดขึ้นในสังคม

            ก่อนการที่จะนำไปเขียนวิเคราะห์  และนำเสนอต่อผู้อ่านสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจสอบตรวจทาน  ให้ชัดเจนเสียก่อนว่ามีความถูกต้องของข้อมูลครบแล้วจริงหรือไม่เพื่อที่จะได้ไม่พลาดท่าตกเป็นเครื่องมือของใครก็ตามที่สร้างข่าวหรือบิดเบือนข่าวเหล่านั้นขึ้นมา

            อย่าลืมว่า หลักสำคัญเบื้องต้นของการประกอบวิชาชีพนักข่าว  ก็คือ การมีจมูกที่ไวต่อข่าว หรือ Nose for News ซึ่งในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารในสังคมออนไลน์เป็นไปอย่างรวดเร็ว  การจมูกที่ไวต่อข่าวเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว จะต้องไวต่อการสัมผัสถึงเจตนาแอบแฝงที่ปนมากับข่าวด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใครง่ายๆ

            ทุกวันนี้ความสามารถของคอมพิวเตอร์กราฟฟิกสามารถที่จะทำเอกสารปลอม หลักฐานปลอม รูปถ่ายปลอม หรือแม้แต่กระทั่งการตัดต่อเสียง ตัดต่อคลิปวีดีโอปลอม เพื่อที่จะบิดเบือนข้อมูลอย่างไรก็ได้ จึงยิ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของผู้ประกอบอาชีพนักข่าวจะต้องมีความละเอียดถี่ถ้วนในการตรวจสอบหลักฐานข้อมูลก่อนที่จะนำเสนอข่าวสารใดๆ ที่สามารถมีผลกระทบต่อสังคม

            โดยขอให้ยึดมั่นในหลักการพิจารณาคุณสมบัติของข่าวซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นหลักคิดที่ดีที่เหมาะสมที่สุด จึงได้มีการสั่งสอนสืบต่อกันมา ว่าข่าวที่ดีจะต้องมีในเรื่องของปัจจัยหรือองค์ประกอบดังนี้

  1. ข่าวที่ดีจะต้องมีความถูกถ้วน  (Accuracy) นั่นคือ ข่าวต้องชัดเจนที่ความถูกต้องเป็นความจริงเท่านั้น
  2. ข่าวที่ดีต้องมีความสมดุลและเที่ยงธรรม (Balance and Fairness) หมายถึงว่าข่าวต้องมีความเป็นกลางไม่ลำเอียง
  3. ข่าวที่ดีจะต้องมีความเป็นภาวะวิสัย (Objectibity) หรือการไม่เอาตัวเข้าไปพัวพันกับการรายงานข่าวเพื่อให้เป็นข่าวที่ปราศจากอคติส่วนตัวของผู้สื่อข่าวนั้นเอง
  4. ข่าวที่ดีจะต้องมีความง่าย กะทัดรัดและชัดเจน ( Simplicity Conciseness and Clearness) หมายถึงว่ามีความชัดเจนและกะทัดรัด เนื้อหาของข่าวจะต้องไม่กำกวม สองแง่สามง่าม มีความชัดเจน อ่านแล้วรู้และเข้าใจได้ทันที

             ซึ่งในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารยิ่งพัฒนาไกลมากขึ้นด้วยเรื่อยผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าว ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องยึดหลักและแนวทางที่ถูกต้องในการทำหน้าที่ให้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

             พึงระลึกไว้เสมอว่า คุณสมบัติของการเป็นนักข่าวที่ดีที่ได้รับการยอมรับกันตลอดมาโดยตลอดนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดประการแรกที่ได้รับการยอมรับตรงกันหมดทั่วโลกก็คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน ต่อสังคม

             และเพื่อให้สามารถรับมือกับยุคสมัยของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลมากได้ อีกคุณสมบัติหนึ่งที่พึงมี และได้มีการบรรจุไว้แล้วในหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักข่าวก็คือ จะต้องมีความสามารถในการทำงานภายใต้ระยะเวลาที่เร่งรีบ ไม่ถูกการบีบคั้นของโลกออนไลน์ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรือทำงานเพียงเพื่อต้องการแข่งขันกับเวลาจนลืมดูคุณภาพและความถูกต้องครบถ้วนของเนื้อข่าว

             รวมทั้งจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักหรือใช้เครื่องมือในการสื่อสารข่าวได้อย่างถูกต้อง ไม่ตกเป็นเหยื่อของเครื่องมือหรือเทคโนโลยีต่างๆเสียเอง ซึ่งนั่นหมายความว่านักข่าวจะต้องเป็นคนที่มีไหวพริบในการอ่านสถานการณ์ข่าว สถานการณ์ผลประโยชน์ในแง่มุมต่างๆได้ดี โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง ที่นับวันแต่จะรุนแรงมากขึ้นทุกทีสุดท้ายในยุคสังคมดิจิตอล ที่การเมืองแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย มีการทำลายล้างกันอย่างรุนแรง ผลประโยชน์ทางการเมือง ผลประโยชน์ธุรกิจ พร้อมที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกใช้สื่อหลอกใช้นักข่าว หรือแม้แต่กระทั่งเพื่อประโยชน์จูงใจเพื่อให้นักข่าวยินยอมเข้าร่วมเป็นกลไกในการนำเสนอข่าวเพื่อผลที่ตามมา ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพนักข่าวทั้งสิ้น

             แต่หากนักข่าวทุกยุคทุกสมัยยังคงยึดมั่นต่อการรู้จักเกียรติยศและศักดิ์ศรี ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลใดๆ ทำหน้าที่บนจริยธรรมของนักข่าวที่ดีไม่ว่าการสื่อสารจะพัฒนาไปปอีกเพียงใดก็ตามนักข่าวที่ดีก็จะยังคงเป็นทีต้องการของสังคมสืบไปอย่างแน่นอน



โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม (Media As Social School)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]