วิกฤตสื่อยุคประเทศไทย 4.0

หมวดหมู่ นักวิชาการ , โดย : admin , 3 เมษายน 61 / อ่าน : 3,522


วิกฤตสื่อยุคประเทศไทย 4.0

ดร.ลำเนา เอี่ยมสอาด

สาขานิเทศศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

 

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคThailand 4.0   ซึ่งขณะนี้กลไกต่างๆ ได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว เพื่อให้ประเทศไทย 4.0 เป็นจริงขึ้นมา ส่วนจะได้ผลมากน้อยเพียงใดก็คงต้องติดตามกันต่อไป   ในฐานะของผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่ในวงการสื่อและได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้โดยตรงคงจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้     ต้องมาทำความเข้าใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน  ต้องรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น  และมาช่วยกันหาคำตอบกัน  จะได้หาทางรับมือกับสถานการณ์ได้

 

สถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวข้องกับสื่ออย่างไร 

          อาชีพหรือการทำงานด้านการสื่อสาร เช่น ด้านสื่อสารมวลชนนั้น นับว่ามีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองมากที่สุด    ในยุคที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจเติบโตสูง และธุรกิจต่างๆ ขยายตัวเฟื่องฟู เช่น เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว งานด้านสื่อต่างๆ และการสื่อสารมวลชน นับว่า มีบทบาทสำคัญและเป็นที่ต้องการของสังคมมาก  จะเห็นได้ว่าในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง สาขาที่มีผู้นิยมเรียนมากที่สุดคือทางด้านนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์  ไม่ว่าจะเป็น วารสาร ประชาสัมพันธ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ การโฆษณา ภาพยนตร์  การแสดง ฯลฯ  เช่น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะที่ มีคะแนนการสอบเข้าสูงที่สุดกว่าสาขาอื่นๆ คือคณะนิเทศศาสตร์

            แต่ในขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำ  ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมืองไทยที่มีการแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงหรือเรียกว่าสงครามระหว่างสีเสื้อเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว  จนกระทั่งมีการรัฐประหารยึดอำนาจโดยผู้นำทหาร    ช่วงนั้นผู้คนส่วนมากหวังว่าเมื่อทหารเข้ามาปกครองประเทศ ทำให้บ้านเมืองสงบแล้ว  จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น  แต่ขณะนื้เวลาผ่านไป 3 ปีกว่าแล้ว    บ้านเมืองดูเหมือนสงบดี แต่ยังไม่มีวี่แววว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นแต่อย่างใด  มิหนำซ้ำเศรษฐกิจในยุคที่ทหารปกครองประเทศ  กลับยิ่งเลวร้ายกว่าในยุคประชาธิปไตย ที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองเสียอีก   

            ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการเมืองที่ไม่มีประชาธิปไตย ส่งผลให้อาชีพหรือการทำงานด้านการสื่อสารตกต่ำลงไปด้วย    ช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 หนังสือพิมพ์ นิตยสาร บริษัทผลิตสื่อโฆษณา บริษัทผลิตรายการทางวิทยุ และรายการโทรทัศน์ ประสบภาวะขาดทุน และได้ปิดกิจการลงจำนวนมาก

ปัญหาการขาดทุนและการปิดตัวของสื่อได้ผลต่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยก็คือสาขาวิชาด้านนิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์ มีผู้นิยมเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด   บางแห่งถึงกับต้องยุบสาขา เช่น ในปี พ.ศ.2561 สาขานิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้ประกาศปิดหลักสูตร  เนื่องจากมีผู้สมัครเรียนน้อยลงมาก   ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่กำลังจะปิดหลักสูตรนิเทศศาสตร์ตามมา

 

 วิชาชีพด้านสื่อและนิเทศศาสตร์จะสูญไปหรือไม่ 

เราลองมาทบทวนความหมายของคำว่า “วารสารศาสตร์” กันดูอีกครั้ง วารสารศาสตร์ หมายถึง การนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ในรูปของข่าว (News) และความคิด (Ideas) ในรูปของบทความ บทรายงาน คอลัมน์ บทวิจารณ์ บทสัมภาษณ์ ไปยังสาธารณชน โดยผ่านสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ

ดังนั้นตราบใดที่มนุษย์ยังมีลมหายใจ ทุกคนย่อมต้องการการสื่อสารกับสังคม  ดังนั้นการนำเสนอข่าว และความคิดต่างๆ ย่อมเป็นที่ต้องการเสมอ ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจและการเมืองจะเป็นเช่นไร

บางคนอาจจะแย้งว่า ในสมัยนี้วิชาชีพด้านวารสารศาสตร์ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ใครๆ สามารถผลิตสื่อเองได้  ผู้รับสารสามารถเป็นผู้ส่งสารด้วย  ผู้บริโภคสื่อก็สามารถเป็นผู้ที่ผลิตสื่อได้ด้วย  ซึ่งเหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในโซเชียลมีเดีย   ใครที่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถถ่ายภาพและเขียนข่าวและแสดงความคิดเห็นต่างๆ เผยแพร่สู่สาธารณะได้

 

ข่าวสารที่เชื่อถือไม่ได้ และสื่อที่ไร้จรรยาบรรณ 

          ขณะที่สื่อเก่าๆ ทยอยปิดตัวลงนั้น   เรากำลังสนุกกับข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและน่าตื่นเต้นอยู่นั้น   อีกด้านหนึ่งในโลกออนไลน์ นับวันเราจะยิ่งเผชิญกับข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ยาก  มีสื่อที่หยาบคาย สื่อลามก ข่าวสารที่ไร้จรรยาบรรณ   การโกหก หลอกลวง  ข่าวสารที่มีอคติ เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค สื่อที่ควบคุมไม่ได้ ฯลฯ  อยู่มากมายเหลือคณานับ

 

ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา 

          เป็นธรรมชาติของสังคมไทยในอดีตอันช้านานจนถึงปัจจุบัน  ที่มักจะมีการแก้ไขปัญหาก็ต่อเมื่อเกิดปัญหามากจนถึงขั้นเดือดร้อนจนทนไม่ไหว  แต่ไม่เคยมีการสรุปบทเรียนจากที่อื่นๆ แล้วนำมาปฏิบัติเพื่อป้องกันปัญหาล่วงหน้า

            ในด้านการสื่อสารก็เช่น หนีไม่พ้นความจริงข้อนี้  ตอนนี้ใครๆ ก็พูดว่าใครก็ตามที่มีเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ก็สามารถผลิตสื่อต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเคยเรียนนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์มาก่อน   ตอนนี้ในสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คจึงเต็มไปด้วยข้อมูล ข่าวสาร บทความ การโฆษณาสินค้า  การรณรงค์ การระดมทุน ฯลฯ มากมายสุดจะพรรณนา  บางคนเขียนหนังสือไทยยังสะกดคำผิดบ้างถูกบ้าง  บางพูดภาษาไทยออกเสียงผิดๆ   เพราะเรียนมาน้อยหรือไม่เคยฝึกอบรมมา  แต่อยากแสดงออก อยากเขียน อยากพูดสู่สาธาณะ   ซึ่งสามารถทำได้ง่ายมาก โดยไม่ต้องมีคนมากลั่นกรองหรือตรวจสอบแต่อย่างใด  เราจึงได้เห็นสื่อที่มีเนื้อหาสาระที่ไร้คุณภาพ ไร้จรรยาบรรณอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่น

 

ประเทศไทย 4.0 คืออะไร

ตามที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้สรุปไว้ว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลไทยที่ใช้ในการผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง  มีความที่มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในยุค Thailand 3.0 ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานแล้ว  ขณะที่ประเทศอื่นๆในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นประเทศที่เคยมีรายได้ต่ำกว่าประเทศไทยหรือเคยอยู่ในยุค 3.0 หลายประเทศได้ก้าวไปสู่ประเทศที่มีฐานะที่มีรายได้สูง หรือมีฐานะร่ำรวยแล้ว เช่น ประเทศจีน เกาหลี สิงคโปร์    หากประเทศไทยไม่ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ต่อไปอาจจะถูกประเทศอื่นๆ ในระดับเดียวกันพัฒนาแซงหน้าไปอีกหลายประเทศ

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง สิ่งที่จะต้องทำคือการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้คนอื่นได้มีส่วนร่วม การสร้างแบรนด์ของตนเอง มีการลงทุนในต่างประเทศ  มีความสามารถในการแข่งขัน  มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย  มีการขยายตลาดไปสู่ประเทศอาเซี่ยน และตลาดโลก

ประชาธิปไตยจะต้องกลับมา 

            แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยปัจจุบันจะดูล้าหลังและมืดมน  มองไม่เห็นทาสว่าง แต่ผมคิดว่ารัฐบาลคงไม่อาจดันทุรังสวนกระแสโลกได้นาน  ผมเชื่อว่าอีกไม่นานการเมืองไทยจะเป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งและเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น  ประชาชนมีรายได้มากขึ้น แม้ว่าประเทศไทย 4.0   จะยังไม่เกิดในยุครัฐบาลชุดนี้  แต่ถ้ามันเป็นวิสัยทัศน์และนโยบายที่ดี  รัฐบาลชุดต่อๆ ไปก็จะต้องนำไปสานต่อ และสร้างให้เป็นจริงขึ้นมา    ประเทศไทยเราก็จะเป็นประเทศที่พัฒนา ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้สูง  ผู้คนในสังคมมีความสุข  สิ่งแวดล้อมสวยงามปลอดภัย

 

ถามหาสื่อมืออาชีพ และจรรยาบรรณของสื่อ 

          การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ได้นั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ  สื่อที่ดีมีคุณภาพยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างแน่นอนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน 

ผมคิดว่าอีกไม่นานสังคมจะต้องถามถึงสื่อมืออาชีพที่มีคุณภาพ มีจรรยาบรรณ และเชื่อถือได้  ทำนองเดียวกับการที่ผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเรียกร้องให้ทางการจัดการกับผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารที่ใส่สารพิษ  อาหารปลอม และอาหารที่โฆษณาชวนเชื่อเกินความจริง

            วิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ เป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนและฝึกประสบการณ์อย่างเพียงพอ จึงจะสามารถผลิตสื่อที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือได้ 

            แม้เทคโนโลยีการสื่อสารจะเจริญมากสักเพียงใดจนใครๆ ก็สามารถผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ ได้  แต่อย่าลืมว่าสาระสำคัญของการสื่อสารประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ ด้านรูปแบบ (Format) และเนื้อหา (Content) เทคโนโลยีมีส่วนช่วยได้มากในการสร้างรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายและรวดเร็ว  แต่การสร้างสรรค์  เลือกสรร รวบรวม เรียบเรียง วิเคราะห์ สังเคราะห์ เนื้อหาสาระข่าวสารต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความรู้ ทักษะและศิลปะด้านการสื่อสารขั้นสูง   ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ 

          ดังนั้นวิชาชีพด้านนิเทศศาตร์ จะไม่สูญสิ้นไปอย่างแน่นอน  เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นและการเมืองเป็นประชาธิปไตย   วิชาชีพด้านสื่อที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ มีจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และมีความทันสมัย จะกลับมาอีกรุ่งเรืองอีกครั้งอย่างแน่นอน 



โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม (Media As Social School)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]