ความสุขที่สุดในชีวิตของสมจิตร : โดยทีม YoungGuide Reporter โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ

, 15 มิถุนายน 61 / อ่าน : 1,882

"ความสุขที่สุดในชีวิตของสมจิตร" อีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ในประเด็น "สุขภาวะในชุมชน" 

จากธีรภัทร ทะเลลึก ทีม YoungGuide Reporter โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ

 



กามีดาดีอูรักลาโวยจ กามีสายักเดะกามีดาดี สายักบาซาเดะกามีเมอเลาตะเดะ กาลาอิตู ตาปีจะกาลาอีนี่โกะเซอมีญาเต็จบาปาเมอเลาตะ

ณ ท้องทะเลกว้างใหญ่สีคราม สะท้อนเงาท้องฟ้ายามเย็นมีเรือประมงเล็กลำหนึ่งลอยลำอยู่ไม่ไกลจากฝั่ง เป็นเรือไม่ใหญ่มากลำสีน้ำตาลด้านล่างตัดด้วยสีแดง บนเรือมีชายตัวสูงผิวดำผมหยิกยืนอยู่

เขามีชื่อว่าสมจิตร แววตาของเขามองออกไปในผืนทะเลที่มองไม่เห็นหมู่เกาะ พระอาทิตย์ยามเย็นเริ่มลับขอบฟ้า แสงสีส้มกระทบกับท้องทะเลสวยงามราวกับอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ชายผู้นั้นเอามือไปหยิบเหล็กหมุนเพื่อสตาร์ทเรือกลับบ้าน ลมพัดกระทบผิวของเขาเบา ๆ เรือที่หยุดนิ่งเริ่มขยับไปข้างหน้า... ใบหน้าของชายคนนั้นมีรอยยิ้มที่ดูสุขใจ

เมื่อถึงบ้านเขาเดินเข้าไปในบ้านอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้า จากนั้น เขาก็ออกจากบ้านมุ่งตรงไปที่อีกบ้านหลังหนึ่ง ทันทีที่เขาเอามือไปจับที่ลูกบิดประตู และเปิดประตูบานนั้นออก มีเด็กผู้ชายร่างเล็กๆเดินออกมาแล้วพูดว่า “เย้ๆ คุณครูสมจิตรกลับมาแล้ว” ในบ้านหลังนั้นเต็มไปด้วยเด็ก ๆ ที่รอคอยเขา ใบหน้าของเด็ก ๆ เต็มไปด้วยรอยยิ้มทำให้เขามีความสุขใจ

เขาเริ่มสอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับภาษาที่ถูกเรียกว่า ภาษาอูรักลาโวยจ เป็นภาษาพื้นบ้านของกลุ่มชนอูรักลาโวยจ เด็กๆทุกคนดูสนใจ เสียงหัวเราะของเด็ก ๆที่ดังขึ้นเวลาออกเสียงผิด ๆ ทำให้สมจิตรมีความสุขเขารู้สึกภูมิใจมาก ๆ ที่ได้ปลูกฝังภาษาถิ่นของกลุ่มชนอูรักลาโวยจที่เป็นบรรพบุรุษของตนเองให้กับคนรุ่นหลัง

เช้าวันต่อมา เขาลืมตาขึ้นช้า ๆ พบกับเช้าอากาศที่สดใส ลมพัดเบา ๆ มีเสียงคลื่นกระทบฝั่งดังซ่า...

เขาลุกขึ้นจากที่นอน เอามือขวาชูขึ้นเหนือหัวแล้วเอามือซ้ายพาดหัวจับที่ข้อศอกขวา บิดตัวเบา ๆ เพื่อผ่อนคลาย สักพักหนึ่ง เขาเดินออกไปนั่งที่หน้าบ้าน

มีมือคู่หนึ่งมากอดเขาทางด้านหลัง ปรากฏว่าเป็นเด็กชายผู้เป็นลูกของเขา สองพ่อลูกนั่งคุยกันไป ๆ มา ๆ ลูกชายสงสัยเรื่องภาษาอูรักลาโวยจ

“พ่อฮะๆ อูรักลาโวยจเป็นใครมาจากไหนเหรอครับ แล้วทำไมเราถึงต้องพูดภาษาอูรักลาโวยจฮะ”

สมจิตรจึงเล่าว่า เมื่อหลายปีมาแล้วมีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า อูรักลาโวยจ เดินทางเร่ร่อนไปในทะเลเพื่อหาที่อยู่อาศัยสุดท้ายก็เข้ามาอาศัยที่เกาะลันตา

แล้วลูกของเขาก็ตามอีกว่า

“พ่อฮะๆ แล้วภาษาล่ะ ทำไมพวกเราต้องพูดภาษานี้ล่ะฮะ”

เขาว่า “เพราะมันเป็นภาษาท้องถิ่นของเราไง แต่สมัยนี้พ่อเห็นเด็ก ๆ รุ่นหลังไม่ค่อยพูดกัน พ่อกลัวว่าภาษามันจะหายไป เลยพยายามที่จะปลูกฝังภาษาให้กับคนรุ่นหลัง และอีกอย่างภาษาอูรักลาโวยจนั้นก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้อูรักลาโวยจนั้นดูมีเสน่ห์
และมีภาษาเป็นของตัวเอง และที่สำคัญกว่านั้นก็คืออูรักลาโวยจเป็นบรรพบุรุษของเรา และเราทุกคนในหมู่บ้านนี้ก็เป็นอูรักลาโวยจ”

ลูกชายยิ้ม เขาว่า “โห...พ่อฮะ ผมคิดดูแล้ว ผมจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะอนุรักษ์ภาษาของบรรพบุรุษของเราที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน”

ผู้เป็นพ่อฟังแล้วยิ้ม

เวลาล่วงไปถึงตอนบ่าย...เป็นเวลาปกติที่เขาจะไปสอนภาษาอูรักลาโวยจให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านสังกาอู้ ทุกอย่างที่เขาทำล้วนทำให้เขาและเด็กๆ มีความสุข
..............................
..............................

เวลาผ่านไปนานแสนนาน เวลาเปลี่ยนอะไรก็ต้องเปลี่ยน 
..............................
..............................

บ่ายวันหนึ่งที่บ้านหลังเดิม วันนี้เป็นวันที่อากาศร้อนไม่มีลม มีเสียงนกกาดังมาจากป่าข้างบ้าน มีเสียงคลื่นกระทบฝั่งเบาๆ สักพักหนึ่งบรรยากาศก็แปรเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จู่ ๆก็มีพายุพัดเข้ามาอย่างแรง

ฝนตกหนักเป็นเวลา 3 ชั่วโมงกว่า จึงสงบลง เมื่อฝนหยุดตกสมจิตรจึงออกจากบ้านและตรงไปที่บ้านหลังนั้นหลังเดิมเพื่อจะสอนภาษาอูรักลาโวยจที่เขาทำมาตลอด

เมื่อเขาเดินไปถึงบ้านหลังนั้นและเปิดประตูบ้านก็พบว่าเหลือเด็กที่รอจะเรียนภาษาอูรักลาโวยจแค่คนเดียว ในใจของสมจิตรไม่เคยคิดที่จะลดละความพยายามที่จะสอนและสืบทอดภาษาของบรรพบุรุษ เขาจึงสอนต่อไปเพราะสิ่งนั้นเป็นความสุขที่สุดในชีวิตของเขา

ในใจของเขาหวังว่าวันหนึ่งภาษานี้จะไม่หายไปและจะอยู่ไปตลอดกาล

*คำว่า "อูรักลาโวยจ" เป็นการเขียนตามการออกเสียงของชนพื้นเมือง

 

.........................

 

โดย : ธีรภัทร ทะเลลึก ทีม YoungGuide Reporter โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ

 

 


ติดตามเรื่องราวดีๆ อัพเดท สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่แฟนเพจ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่นี่



สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม
@MediaAsSocialSchool

 

สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม
@MediaAsSocialSchool


ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า 128/177 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
16th Fl., Phayatai Plaza, 128/177 Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8     โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]