เขาหัวโล้น ปัญหาหนักอกคนเมืองน่าน

หมวดหมู่ นักวิชาการ , โดย : admin , 3 เมษายน 61 / อ่าน : 8,223


เขาหัวโล้น ปัญหาหนักอกคนเมืองน่าน  

        สภาพปัญหาภูเขาหัวโล้นตลอดเส้นทางจากแพร่สู่น่านและจากตัวเมืองน่านผ่านอำเภอต่างๆ ทางสายเหนือจนถึงด่านชายแดนไทย - ลาวที่บ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่านล้วนแต่ประสบปัญหาที่เหมือนกัน คือ เหมือนคนหัวล้านไม่มีต้นไม้เขียวชอุ่มเหมือนในอดีตก่อนๆ มา จากปัญหาที่คนเมืองน่านมีปัญหาด้านเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินที่สำคัญ คือ 80% ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ป่าไม้ เพราะเป็นพื้นที่สูงเป็นภูเขาเป็นส่วนมาก เป็นแหล่งต้นกำเนิดแม่นํ้าที่สำคัญ คือ แม่นํ้าน่านที่หล่อเลี้ยงคนภาคกลางของประเทศ

        ประมาณ 10 - 20 กว่าปีมานี่เองที่ ปัญหาป่าถูกบุกรุกมากขึ้นเพราะการทำพืชเชิงเดี่ยว คือ ข้าวโพดที่เป็นสินค้าสำคัญในการทำการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม (เลี้ยงสัตว์) บ.อุตสาหกรรมใหญ่หลายๆ บริษัทส่งเสริมให้มีการปลูกพืช (ข้าวโพด) เพื่อใช้ในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลภายใต้การผลักดันของบริษัทยักษ์ใหญ่ มีนโยบาย ทำถนนเข้าไปในชนบทเพื่อประโยชน์การขนส่ง ผลิตผลทางการเกษตร โดยอ้างความเดือดร้อนของประชาชนในการทำมาหากินจึงยังเป็นการบุกรุกป่าขยายที่ทำกินของประชาชนออกไปเรื่อยๆ เพื่อปากท้องของชาวบ้านที่มีค่าใช้จ่ายใช้จ่ายในการครองชีพที่สูงขึ้น ต้องหารายได้ให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นเขาหัวโล้นเพราะการทำมาหากินเลี้ยงปาก เลี้ยงท้องและเพื่อการศึกษาของลูกหลาน

ปัญหาที่ตามมาจาก เขาหัวโล้น

         -  มวลภาวะจากฝุ่นละออง จากการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพดการรุกที่ป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ย่อมมีการเผา หมอกควันจากการเผาป่าทำให้เกือบจะทั่วภาคเหนือมีปัญหาเหมือนกันแทบทุกจังหวัด

         -  ปัญหาจากสารพิษตกค้างในดิน จากการปลูกข้าวโพดขั้นตอนหลังการเผาป่าแล้ว ก็จะมีการพ่นยาฆ่าหญ้าเพื่อไม่ให้รบกวนต้นอ่อนข้าวโพด เมื่อมีฝนตกลงมาก็จะมีการไหลปนเปื้อนมากับนํ้าเข้าสู่แหล่งนํ้าธรรมชาติ
ห้วย หนอง คลอง บึง ซึ่งจากการสำรวจของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในภาคเหนือระบุว่า ปัญหาสารปนเปื้อนในดิน - นํ้าของจังหวัดน่านอยู่ในขั้นเกินมาตรฐาน นํ้าดื่มที่ผลิตในท้องถิ่นมีสานปนเปื้อนเกิดนมาตรฐาน

            แนวทางการแก้ปัญหา จากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของชาวบ้าน เป็นความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ยากจนโดยตรง จะแก้ปัญหาโดยใช้หลักกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาทางให้ชาวบ้าน รู้จักการทำมาหากินแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ไว้โดยใช้หลัก เข้าใจเข้าถึงแล้วพัฒนา ขณะนี้มีหลายองค์กรเข้าร่วมช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาแหล่งนํ้า ทำฝายหรือเขื่ิอนเล็กๆ เพื่อเก็บกักนํ้าเพื่อใช้ในการเกษตรของชุมชน โดยมีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ เป็นต้น จัดสรรที่ดินทำกินเพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยให้ชาวบ้านทะยอยคืนผืนป่าที่บุกรุกปลูกข้าวโพด ลงมาปลูกพืช - เลี้ยงสัตว์ ตามพื้นที่ ที่รัฐจัดสรรให้ มีการฝึกอบรมการทำการเกษตรแบบใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นโดยใช้พื้นที่น้อยลง จัดหาตลาดเพื่อขายผลผลิตทางการเกษตร เช่น ตลาดประชารัฐ เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นพอเพียงกับสภาวะเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันได้ ก็จะเป็นการลดการบุกรุกป่า อีกไม่นานป่าก็จะกลับคืนมาให้ หากชาวบ้านไม่เข้าไปบุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป



โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม (Media As Social School)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]