โครงการสืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐาน
วันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2560
กิจกรรมโครงการสืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐาน ของเทศบาลนครขอนแก่น สนับสนุนโดย สสส. วันที่ 30 มิถุนายน 2560 เป็นวันแรกของการเปิดกิจกรรม เวลา 08.30 น. ชาวบ้านชาวชุมชนศรีฐานทั้ง 4 ชุมชน ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมอย่างมากมายเพื่อสืบค้นประวัติบ้านเกิดของตนร่วมกัน รวมไปถึงเด็กรุ่นใหม่น้องๆนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานพร้อมครูอาจารย์ที่มาสืบค้นประวัติชุมชนของตนเองร่วมกันกับผู้สูงอายุในชุมชน บรรยากาศวันนี้อากาศไม่ร้อนมากนัก ทำให้กิจกรรมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น นอกจากการลงทะเบียนแล้วยังมีการแจกเสื้อ กระเป๋าจากเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครขอนแก่น
นายธวัชชัย รื่นรมย์สิริ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น
เวลา 09.15 น. นายธวัชชัย รื่นรมย์สิริ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวเปิดงานและชี้แจงวัตถุประสงค์
“วัตถุประสงค์ของโครงการก็อยากจะย้ำว่าทั้ง 40 ชีวิตเป็นคนสำคัญ โดยส่วนใหญ่จะมีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนศรีฐานและรอบๆชุมชนศรีฐาน ซึ่งทำไมเราถึงต้องทำ หลายคนรู้จักคำว่า spark u ปลุกใจเมือง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครขอนแก่น สมาคมสื่อมวลชน จ. ขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. วันนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ”
“งานนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.ให้งบประมาณมา โดยพื้นฐานเขาเชื่อว่าชุมชนจะเป็นผู้ที่เป็นตัวหลักในการทำงานทั้งหมด เทศบาลกับ สสส. เพียงแค่เป็นตัวผลักดันให้เกิดกระบวนการเท่านั้น ทำโครงการนี้เหมือนทำกับบ้านตัวเองเพราะฉะนั้นเจ้าของบ้านจะต้องเต็มที่ เราอยากจะรู้ตัวเราจริงๆจะได้พูดอย่างภาคภูมิใจ ต้องขอขอบพระคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดกิจกรรมวันนี้ขึ้น สิ่งที่เรามั่นใจมากที่สุดคือพลังของชุมชน พลังของเยาวชน โดยเฉพาะโรงเรียนและชุมชนบ้านศรีฐานที่เป็นตัวผลักดันให้เทศบาลต้องออกมาทำงานนี้ กระผมขอเปิดโครงการ Spark u ปลุกใจเมือง ตอน สืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐาน”นายธวัชชัยกล่าว
นายบัญชา พระพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
หลังจากรองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวเปิดงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ เด็กๆได้นั่งฟังอย่างเป็นระเบียบตามกลุ่มที่จัดไว้แล้ว หลังจากนั้น นายบัญชา พระพลผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ ได้กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
“ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองเรามีความเชื่อมโยงกันพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเดิมก็เป็นของบ้านศรีฐาน ปัจจุบันเหตุใดเราจึงมารวมกัน เราใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันได้หลังจากที่เราลงสืบค้นประวัติของศรีฐาน ทางสสส. เทศบาลนครขอนแก่นผู้ที่เกี่ยวข้องจะสรุปร่วมกัน ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็จะมาช่วยเติมเต็ม หมู่บ้านเรามีความเป็นบ้านเก่าผสมชุมชนเมืองทำอย่างไรจะให้ความมีเสน่ห์กลับมาอีกครั้ง ”
“ เราจะดีที่สุดในแบบของเรา จะทำอย่างไรให้มีมูลค่าทางจิตใจ มูลค่าทางเศรษฐกิจและ มูลค่าทางสังคม การทำงานในครั้งนี้อยากให้รวมเป็นหนึ่ง ในส่วนของภารกิจหรือการแบ่งเป้าหมายหน้าที่ทำเต็มที่ในส่วนของแต่ละคนที่ได้รับผิดชอบ ผู้มีส่วนร่วมต่างๆยินดีที่จะมาร่วมมือเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับชาวบ้านเรา มีหลายอย่างที่สามารถต่อยอดได้ ศักยภาพเราสามารถที่จะสู้กับหลายๆที่ในประเทศไทยได้”
“แต่ตอนนี้รอการเจียระไนคนที่จะเจียระไนคือพวกเรา ช่วยกันดูช่วยกันขัด ช่วยกันล้างเพื่อให้เป็นเพชรเม็ดงามของมหานครขอนแก่น ซึ่งทางเทศบาลนครขอนแก่นก็เต็มที่ ทางหน่วยงานต่างๆที่มาร่วมก็เต็มที่ สำคัญคือคนในชุมชนเต็มที่หรือยัง ถ้าเราเต็มที่แล้วไม่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยินดีที่จะมีอะไรก็ปรึกษาหารือ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ของครูนักศึกษา แต่เป็นของชุมชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้ได้ คำว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นกับบ้านศรีฐานคืออันเดียวกัน” นายบัญชา กล่าว
นางสุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน
ลำดับถัดไป นางสุมาลี สุวรรณกร ได้เข้ามาพูดคุยถึงรายละเอียดการเก็บข้อมูล ในระยะเวลาสามวันเพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านชุมชนศรีฐานและเด็กๆลูกหลานชุมชนศรีฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน
“โครงการสืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐานวันก่อนได้เข้าไปคุยกับเด็กๆในโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานว่า เรามาครั้งนี้ 3 วันนี้เราจะมาทำอะไรกันบ้าง เราแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ประวัติชุมชน 2.สถานที่สำคัญ 3.ของดี โดยแต่ละกลุ่มจะมีพี่เลี้ยงกลุ่ม กลุ่มประวัติชุมชนเราจะสืบค้นประวัติด้วยการถามบุคคลสำคัญที่เราเตรียมไว้ 5 คน โดยเด็กๆจะต้องช่วยกันตั้งคำถาม อย่ารออาจารย์ถามคำถาม หนูต้องสงสัยด้วย ”
“จะต้องไปซักถามประวัติข้อมูลของบ้านศรีฐานว่าเป็นมาอย่างไร หลังจากนี้จะให้แยกเข้ากลุ่มแต่ละกลุ่มและให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดคำถาม ช่วยกันสงสัย ช่วยกันจดว่าเราจะทำอะไรบ้างสถานที่สำคัญ เฉพาะแค่ในวัดก็มีเยอะแล้ว เช่น หลวงปู่ยาครูจัด โบสถ์ ในโบสถ์จะมีใบเสมา และมีเศียรพระพุทธรูปเป็นเศษหินต่างๆเครื่องปั้นดินเผา ต้นไม้ ต้นมะขามยักษ์ เราไปช่วยกันสืบค้นว่าในวัดมีอะไรอีกและสถานที่สำคัญที่อื่น ”นางสุมาลี กล่าว
“เรามาในวันนี้เพื่อจะมาสืบค้นหาสิ่งดีๆในชุมชนของเราในหมู่บ้านของเราหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าบ้านของเรามีประวัติความเป็นมายาวนานมากมีคนสนใจที่อยากจะมาสืบค้นอยากรู้เรื่องบ้านเราเยอะมาก กรมศิลปากรไม่ได้มาขุดแบบนี้ในทุกหมู่บ้านเขาจะมาในหมู่บ้านที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้นบ้านของเรามีเรื่องราวที่น่าสืบหา สืบค้น และน่าสนใจเยอะมาก เพราะฉะนั้นสามวันนี้พวกเราทั้งหมดในนี้จะเป็นคนมาช่วยกันตามหาว่าประวัติหมู่บ้านของเราเป็นมาอย่างไร”
“ เป็นมาพันปีเหมือนที่เขาว่าจริงหรือไม่ เรามีสถานที่สำคัญคือที่ไหนบ้าง สถานที่สำคัญเหล่านี้เราจะยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่นอย่างไรกลุ่มแผนที่เดินดิน ก็จะเป็นคนไปดูว่าในชุมชนศรีฐานทั้งหมดนั้นบ้านแต่ละหลังมีจุดที่น่าสนใจอะไรบ้าง ”
ผศ.ดร.ทรงวิทย์พิมพะกรรณ์ วิทยากรและผู้นำทีมแผนที่เดินดิน
“กลุ่มแผนที่เดินดินสำคัญมากๆต้องทำก่อนกระบวนการอื่นๆด้วยซ้ำไปแต่เราจะนำแผนที่เดินดินเป็นตัวหนุนเสริมทุกกลุ่ม เพราะฉะนั้นขออนุญาตทุกกลุ่มว่ากลุ่มแผนที่เดินดินจะสัมภาษณ์ทุกกลุ่มเพื่อที่จะนำข้อมูลมาประกอบในแผนที่เดินดินนี้เพราะเวลาเราลงชุมชนเราต้องเดินตามที่เรียกว่าแผนที่เดินดิน ต้องเดินลงสำรวจที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้สำรวจพื้นที่โดยละเอียดในชุมชนเรา ส่วนใหญ่นั่งรถผ่าน ไม่ได้ลงไปดูสำรวจ สอบถาม ครั้งนี้จะได้ไปสอบถามทุกบ้าน พูดคุย และบันทึกออกมาเป็นแผนที่ของชุมชนโดยคนในชุมชนของเราเอง”
“กลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย นักเรียน ครู ตัวแทนชุมชน สถาปนิกจากเทศบาลนครขอนแก่นมาร่วมด้วย เราจะทำงานไปพร้อมกับทุกกลุ่มวันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ส่วนมากเราจะได้ยินบ้านศรีฐานมาจากคนอื่น ตอนนี้เราจะสืบค้นด้วยตัวของเราเองไม่ต้องผ่าน โรงเรียน ไม่ต้องผ่านวัดหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทุกคนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเก็บรวบรวมข้อมูลนำเสนอด้วยตัวของทุกคนเอง เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ ต้องขอบคุณเทศบาลนครขอนแก่น สสส. และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะหนุนเสริมต่อไปในอนาคต เราจะมีอนาคตต่อเนื่องไปอีกนาน ถ้าเรามีกิจกรรมในครั้งนี้”ผศ.ดร.ทรงวิทย์ กล่าว
กิจกรรมช่วงเช้าผ่านไปอย่างราบรื่นโดยการเปิดงานจากตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เวลาประมาณ 10.30 น. ทุกกลุ่มที่ได้แบ่งไว้แล้วเพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลในหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย เริ่มแบ่งกลุ่มกันออกอย่างชัดเจน เพื่อพูดคุยตกลงกัน ว่าควรจะสัมภาษณ์ใครก่อนและลงพื้นที่ใดก่อน น้องๆจากโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน ทั้งหญิงและชายแยกไปตามกลุ่มของตนเองโดยมีชาวบ้านชาวชุมชนศรีฐานและพี่เลี้ยงจากเทศบาลนครขอนแก่น อย่าพร้อมเพรียงกัน
เช้านี้เด็กๆยิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนาน ตื่นเต้นว่าพวกเขาจะต้องทำอะไร และไปสถานที่ใดบ้างที่ตนเองอาจจะยังไม่รู้จัก ไม่เคยไป ทั้งนี้กลุ่มที่ 1 ได้แก่กลุ่มข้อมูลประวัติชุมชน ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติชุมชนบ้านศรีฐาน ลงพื้นที่สัมภาษณ์บุคคลสำคัญ ประกอบด้วย ผู้รู้ประวัติชุมชนในพื้นที่ ที่เลือกมาจำนวน 5 คน เพื่อให้ทราบประวัติชุมชนบ้านศรีฐาน ผู้นำทีมคือ นายหนูฤทธิ์ ล่ามแขก
กลุ่มที่ 2 กลุ่มสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดจอมศรี ใบเสมา ศาลเจ้าปู่ยาครูจัด หนองบอน บ่อพญานาค และอื่นๆอีกมากมาย โดยลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้จักสถานที่สำคัญในพื้นที่ จำนวน 5 คนเพื่อให้ทราบประวัติสถานที่สำคัญชุมชนบ้านศรีฐาน ผู้นำทีมคือ นายบุญบาล อนุศรี
กลุ่มที่ 3 กลุ่มของดีชุมชน สืบหาของดีทางด้านอาหาร ด้านวัฒนธรรม ด้านปูชนียบุคคล ลงพื้นที่สัมภาษณ์บุคคลสำคัญ ประกอบด้วย เจ้าของสูตรอาหารของดีชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านด้านวัฒนธรรม และปูชนียบุคคล เพื่อให้ได้ข้อมูลของดีชุมชนบ้านศรีฐาน ผู้นำทีมคือ นางวาสนา จตุภักดิ์
กลุ่มที่ 4 กลุ่มแผนที่เดินดิน จัดทำแผนที่เดินดินชุมชน ผู้นำทีมคือ ผศ.ดร.ทรงวิทย์พิมพะกรรณ์
กลุ่มที่ 5 กลุ่มหนังสั้น กลุ่มทำหนังสั้นเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนบ้านศรีฐาน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักผู้นำทีมคือ นายไพฑูรย์ เพิ่มศิรินิวาส
แต่ละกลุ่มจะต้องมีพี่เลี้ยงร่วมเดินทางไปด้วย โดยการเก็บข้อมูลต้องถ่ายภาพนิ่ง และจดบันทึกข้อมูลหรือ บันทึกเสียงด้วยเครื่องบันทึกเพื่อนำมาถอดเทป
กลุ่มของดีชุมชน เตรียมความพร้อม
เมื่อพูดคุยทำความเข้าใจตรงกันเรียบร้อยแล้วทุกกลุ่มก็เริ่มแยกย้ายกันไปลงพื้นที่ สัมภาษณ์ตามสิ่งที่ได้วางแผนไว้ ยกตัวอย่างวันนี้กลุ่มสถานที่สำคัญและกลุ่มของดี ได้สำรวจภายในบริเวณวัดก่อน กลุ่มสถานที่สำคัญช่วงเช้า ได้สำรวจโดยการนำของคุณครูโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานและชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมเพื่อสืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐานในวันนี้ด้วยกันและที่จะขาดไม่ได้คือ เยาวชนนักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานที่วันนี้มากันอย่างพร้อมเพรียง
พร้อมสมุดบันทึกคนละเล่ม ปากกาคู่ใจคนละแท่ง เดินต่อแถวกันอย่างเป็นระเบียบเพื่อเดินดูสถานที่สำคัญภายในวัด ที่ตนเองอาจไม่เคยเห็นมาก่อน วันนี้พวกเขามีเพื่อนๆและชาวบ้านพร้อมทั้งคุณครูมาด้วย เรียกได้ว่าเด็กๆมีกำลังใจที่จะสืบค้นข้อมูลไปพร้อมๆกับชาวบ้านชาวชุมชนศรีฐานอย่างแน่นอน
กลุ่มที่กระตือรือร้นไม่แพ้กันคือ กลุ่ม ของดีชุมชน ภายในวัดจอมศรีนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชนศรีฐานแล้ว ยังมีของดีมากมายภายในวัด เช่นเดียวกับวันนี้ที่เด็กๆนักเรียน คุณครู ชาวบ้าน และพี่เลี้ยงเทศบาลนครขอนแก่นได้รู้จักของดีในบ้านศรีฐานเพิ่มมากขึ้นจากที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากคนภายนอก แต่วันนี้ผู้ที่จะแนะนำบอกเล่า เป็นคนในชุมชนเอง
กลุ่มนี้เด็กๆจดกันอย่างขยันขันแข็ง ตั้งใจฟังชาวบ้านผู้มาถ่ายทอดความรู้เป็นอย่างดี เด็กๆตื่นเต้นและสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อนอาจเพราะเด็กๆเหล่านี้ เกิดไม่ทันอุปกรณ์ของดีเหล่านี้ วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้เรียนรู้วิธีใช้อุปกรณ์ในสมัยก่อน ประโยชน์และได้รู้จักว่าอุปกรณ์การประกอบอาชีพของคนสมัยก่อนมีอะไรบ้าง
เวลาประมาณ 15.30 น. เป็นเวลาที่จะรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ ลงพื้นที่ทั้งวันในวันแรกมาพูดถึงปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น ในวันนี้ที่แต่ละกลุ่มได้ประสบพบเจอ โดยนางสุมาลี สุวรรณกร เป็นผู้นำในการซักถามถึงปัญหาหรือสิ่งที่พบเจอในวันนี้ แต่ละกลุ่มเริ่มประจำที่ตามเก้าอี้ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ เวลานี้ลมเริ่มพัดแรง บรรยากาศเหมือนฝนจะตก ทำให้ทุกคนต้องรีบรวมตัวอย่างพร้อมเพรียงก่อนที่ฝนจะตกลงมาเสียก่อน
“การนำเสนอจะต้องมีภาพถ่ายคนที่เราสัมภาษณ์ มีสถานที่ที่อ้างอิงได้ กระบวนการคือกระตุ้นให้เด็กๆสนใจ สัมภาษณ์ ถาม เพราะอาจจะเป็นครั้งแรกที่เด็กได้มีส่วนร่วมในการสืบค้นข้อมูลร่วมกับชุมชน ”
ทั้งนี้กลุ่มสถานที่สำคัญนำทีมโดยนายบุญบาล อนุศรี บอกว่า เด็กๆมีความสนใจ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ และหอระฆัง เป็นอย่างมาก
นางวาสนา จตุภักดิ์
กลุ่มของดีชุมชน
กลุ่มของดีชุมชน นำทีมโดยนางวาสนาจตุภักดิ์ บอกว่า วันนี้อิ่ม อีกทั้งได้ของฝากมาด้วย อุปกรณ์การเดินทาง ของเล่นเด็ก เด็กสนใจมาก
ส่วนปัญหาคือจัดโซนยังไม่ลงตัวว่าจะไปอย่างไร เพราะสถานที่ที่จะไปเยอะมาก อาหารไม่บอกสูตร ลงลึกไม่ได้ จึงใช้วิธีการสังเกตแล้วนำมาเขียน
นายไพฑูรย์ เพิ่มศิรินิวาส
กลุ่มหนังสั้น
“กลุ่มหนังสั้น ช่วงครึ่งวันแรกให้เด็กๆได้เรียนรู้ทักษะโดยให้ข้อมูลว่าหนังสั้นการทำสื่อวีดีโอมีอะไรบ้างให้เด็กๆได้เลือกว่าอยากทำรูปแบบไหน สรุปกันว่าอยากทำเป็นรายการทีวี คิดชื่อรายการว่า พาทัวร์ทั่วศรีฐาน แต่ด้วยข้อจำกัดคือ ศรีฐานมีของดีเยอะมาก สถานที่เยอะมาก เราจึงเลือกที่เด่นที่สุดในการถ่ายทำ ในช่วงบ่ายเราก็คุยกันว่าเหมือนเป็นการฝึกซ้อม เพราะเด็กหลายๆคนก็เป็นมือใหม่เราจึงเก็บบริเวณแค่ในวัด ซึ่งก็มีหลายที่ มีพาทัวร์วัดไปไหว้ด้านหลังไปดูของโบราณด้วยของเล่นเครื่องจักรสานได้สัมภาษณ์ด้วย ”
“เด็กๆสนุกตอนแรกๆก็พิธีกรเกร็งมากถ่ายทำทีหลายเทคมากเราได้แบ่งหน้าที่ผู้กำกับ ตากล้องผู้ช่วย ทุกคนก็สนุกสนานเด็กได้เห็นรายการทีวีบ่อยๆก็นำเอามุขตลกสอดแทรกให้ดูน่าสนใจมากขึ้น ที่สำคัญคือเด็กได้ถ่ายทอดความรู้สึกและสิ่งที่อยากถ่ายออกมาจริงๆจากบ้านเราศรีฐาน ”
ผศ.ดร.ทรงวิทย์พิมพะกรรณ์
กลุ่มแผนที่เดินดิน
“ พื้นที่เราทั้งสี่ชุมชนเป็นพืนที่ค่อนข้างกว้าง มีรายละเอียดมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สถานที่สำคัญต่างๆเราก็พยายามที่จะเดินให้ได้มากที่สุด ในช่วงเวลาที่เราเดินเรามีเวลาอยู่แค่ 2 วันจริงๆแล้วคือวันกว่าๆเท่านั้น เราก็จะใช้วิธีการว่าให้เอาแผนที่ทางการเป็นตัวตั้งวันนี้เราจึงรวมแค่สองชุมชนคือศรีฐาน1 กับศรีฐาน4 โดยที่เอาชุมชนที่เราจะลงศรีฐาน2 กับศรีฐาน3 มารวมแล้วเราก็พยายามที่จะเดินดูแยกต่างๆ เนื่องจากว่าท่านเป็นคนที่รู้พื้นที่ท่านก็พาเดินไปดูโดยคุณแม่พัชรีพาเราไปดูจุดแรกคือตรงที่ขุดพบใบเสมาครั้งแรก ”
“เราพยายาม ไปดูไปคุย ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีคนอยู่บ้านเนื่องจากไปทำงาน คนส่วนหนึ่งก็เป็นคนนอกพื้นที่ไปสอบถามปัญหาก็จะมีค่อนข้างหลากหลาย อาชีพหลากหลายเราก็ได้ข้อมูลเยอะสนุกมากกับการลงพื้นที่ได้ไปพูดคุยกลุ่มที่ 1 ก็ไปเจอแผนที่ประมาณ 40 กว่าปี โดยกรมแผนที่ทหารได้ถ่ายเอาไว้ ถ้าเราไม่มีโอกาสเดินแบบนี้เราก็จะไม่เจออะไรหลายอย่างเราก็จะมองแบบผิวเผินเหมือนกับที่เราเคยรู้พอลงพื้นที่จริงเราก็จะรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ว่าบ้านเก่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง”
กิจกรรมวันแรกจบลงด้วยการพูดคุยถึงปัญหาที่เจอในวันแรกจากการลงพื้นที่ เวลานี้ลมพัดแรงราวกับพายุจะเข้า พวกเราเริ่มแยกย้ายกัน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะมาร่วมกิจกรรมในวันที่สองคือวันที่ 1 กรกฎาคม และพร้อมที่จะทำกิจกรรมที่แต่กลุ่มได้รับมอบหมายต่อ ยังมีอีกหลายที่ที่เราต้องไปสืบค้น เสาะหา ให้ได้มาซึ่งข้อมูลของบ้านเรา จากคนในชุมชนของเราเอง
เช้าวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2560 วันนี้ทุกกลุ่มรวมตัวกันที่วัดจอมศรีเช่นเคย ในเวลาประมาณ 08.30 น. เพื่อเตรียมพร้อมกับการลงพื้นที่ตามหัวข้อที่ตนเองได้รับมอบหมายต่อจากเมื่อวาน วันนี้เด็กๆใส่เสื้อยืดสีดำ สกรีนตัวหนังสือ “ สืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐาน ” อย่างพร้อมเพรียง เมื่อเห็นผู้นำแต่ละกลุ่มแล้ว เด็กๆได้แยกย้ายตามกลุ่มของตนเองที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี
การลงพื้นที่เพียงหนึ่งวันทำให้เด็กๆภายในกลุ่มสนิทกันมากขึ้น รวมไปถึงผู้นำชุมชน ชาวบ้านชุมชนศรีฐานที่สนิทกับเด็กๆและคนในพื้นที่มากขึ้น จากการลงพื้นที่สร้างความแน่นแฟ้นในชุมชนได้อย่างมาก เพราะนอกจากการเดินสำรวจ ภายในชุมชนศรีฐานแล้ว ถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมาก ที่ได้พบปะ พูดคุยสัมภาษณ์ ถามไถ่ คนในชุมชน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีนอกจากจะได้เรียนรู้ชุมชนของตนเองแล้ว ยังได้สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นอีกด้วย
เวลาประมาณ 09.30 น. แต่ละกลุ่มเริ่มเคลื่อนตัวจากบริเวณวัดจอมศรีไปตามจุดที่แต่ละกลุ่มได้วางแผนไว้ ยกตัวอย่างวันนี้ ในช่วงเช้าเราตามติดกลุ่มแผนที่เดินดิน โดยในวันนี้ได้แบ่งกลุ่มออกเป็นสองกลุ่มย่อยเพื่อไปสถานที่ในแต่ละโซน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการลงสำรวจพื้นที่มากยิ่งขึ้น เราเดินออกจากวัดจอมศรี เดินเลี้ยวลงไปด้านขวามือ ทักทายตามบ้านต่างๆที่มีคนอยู่ หลายบ้านวันนี้มีคนอยู่บ้านเนื่องจากวันนี้เป็นวันเสาร์ นั่นหมายถึงวันหยุด หลายบ้านต้อนรับเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมโบกมือทักทาย ไหว้ เป็นระยะ วันนี้เด็กๆได้ทำหน้าที่ทั้งถ่ายภาพบ้านแต่ละหลัง ที่เป็นบ้านเก่า และเป็นจุดสำคัญที่น่าสนใจตลอดเส้นทาง
บ้างก็จดบันทึกบ้านเลขที่ ทั้งที่มีคนอยู่บ้านและไม่มีคนอยู่บ้านเพื่อให้แผนที่เดินดินมีพิกัดออกมาละเอียดที่สุด และสมบูรณ์แบบที่สุด การเดินสำรวจชุมชนศรีฐานในครั้งนี้ทุกตรอกซอกซอย ทำให้ได้เห็นกิจกรรมเล็กๆที่สร้างรายได้ให้กับบางบ้าน ที่หลายคนในชุมชนอาจจะยังไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ร้านเย็บผ้า ที่เป็นร้านเล็กๆซึ่งอาจมีแค่เพื่อนบ้านใกล้เคียงไม่กี่หลังรู้จักเท่านั้น
การเดินสำรวจของกลุ่มแผนที่เดินดินครั้งนี้จึงทำให้เห็นเสน่ห์ของชุมชนศรีฐานรวมไปถึงสิ่งที่การนั่งรถหรือขับรถผ่านไม่มีทางได้เห็น แม้อากาศจะร้อน แต่เด็กๆทุกคนในกลุ่มก็ตั้งใจจดบันทึกกันคนละไม้คนมือ เดินสำรวจอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำให้ชาวบ้านชาวชุมชนศรีฐานในกลุ่มหายเหนื่อยตามไปด้วย กลับกลายเป็นความสนุกสนานเข้ามาแทน
หลังรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อยทุกกลุ่มแยกย้ายตามจุดที่ตนเองวางแผนไว้ สำหรับช่วงบ่ายวันนี้เราเดินทางติดตามกลุ่มหนังสั้น เพื่อดูว่า พวกเขามีวิธีการถ่ายทำรายการทีวีของพวกเขาอย่างไร น่าตื่นเต้นมากเลยทีเดียว เพราะเด็กๆในกลุ่มนี้หลายคนถือเป็นครั้งแรกของพวกเขาที่จะได้ทำรายการทีวีในแบบของตนเอง และนำเสนอชุมชนของตนเองให้คนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น
เราตามน้องๆไปที่โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ถ่ายทำรายการทีวีในวันนี้ ภายในโรงเรียนแห่งนี้มีบ่อพญานาคประจำโรงเรียนที่ถือเป็นสถานที่สำคัญอีกที่ ที่พวกเขาต้องนำเข้าไปเสนอให้ทุกคนรับรู้ในรายการทีวีด้วย เวลานี้น้องๆกระตือรือร้นที่จะถ่ายทำรายการทีวีของพวกเขาเอง และวันนี้เป็นการถ่ายทำฉากปิดของรายการทีวีของพวกเขาอีกด้วย
ครูเอ๋ ครูพิเศษของพวกเขาในวันนี้เดินทางมาถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานเพื่อถ่ายทำฉากที่เหลือในรายการทีวี ทุกฝ่ายถูกแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ผู้กำกับ ช่างภาพ นักแสดง ผู้ช่วยผู้กำกับ ตอนนี้เด็กๆคล่องแคล่วกับหน้าที่ที่ได้รับเป็นอย่างมาก พวกเขาถ่ายทำฉากจบจนสำเร็จโดยไม่มีท่าทีว่าจะเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย แต่กลับได้เห็นความสนุกสนานผ่านแววตาของพวกเขา เยาวชนที่แฝงไปด้วยพลังแห่งความสามัคคี
เวลาประมาณ 15.30 น. วันนี้ทุกกลุ่มรวมตัวกันที่ห้องประชุมโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานเพื่อประชุมถึงปัญหา อุปสรรค สิ่งที่พบเจอมาในวันนี้ และการเตรียมความพร้อมนำเสนอข้อมูลที่สำรวจมาทั้งสองวันในวันพรุ่งนี้ เมื่อทุกกลุ่มพร้อมแล้ว การประชุมจึงเริ่มขึ้น
ปัญหาและอุปสรรค กลุ่มของดีชุมชน
“เนื่องจากว่ากลุ่มของเราต้องมีการแสดงให้ดูด้วย มีทำให้ชิมด้วย โดยตั้งเอาไว้สถานที่ละครึ่งชั่วโมงอาจจะเลยเวลาบ้างวันนี้ยังมีสถานที่บางที่ที่ยังไปไม่ครบ ช่วงบ่ายเด็กๆคงจะเหนื่อยกันพอถึงตอนเช้าก็กระตือรือร้น เด็กๆมีบทบาทในการถาม พยายามกระตุ้นให้เด็กถาม ให้เขาถามเองโดยมีพี่เลี้ยงเป็นแม่แบบให้เด็กได้บันทึกข้อมูล เขียน ถ่ายรูป โดยในวันพรุ่งนี้จะนำเสนอด้วยแผนผังความคิด”นางวาสนากล่าว
กลุ่มแผนที่เดินดิน
ตัวแทนเด็กและเยาวชน บอกว่าวันนี้ไปที่หนองบอน ที่ได้ชื่อว่าหนองบอนเพราะมีต้นบอนเยอะมาก
และไปที่ศาลเจ้าปู่ยาครูจัดเพิ่มเติมจากเมื่อวาน ถือว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และได้ซึมซับบรรยากาศด้วย
กลุ่มสถานที่สำคัญ
นายบุญบาล อนุศรี บอกว่า วันนี้พาลูกๆไปดูที่บึงหนองบอนที่มีการปรับวิวทิวทัศน์
กลุ่มประวัติศาสตร์ชุมชน
“ได้วางและออกแบบเบื้องต้นก่อนที่จะเริ่มดำเนินการด้วยซ้ำ เรามีประวัติศาสตร์เดิมอยู่แล้ว เราได้สัมภาษณ์เพิ่มเติมจำนวน 5 ท่านมีการถ่ายภาพถ่ายวีดีโอซึ่งแต่ละ 5 คนนี้มีความแตกต่างกัน จะให้เด็กนักเรียนของเราบอกว่าคุณพ่อคุณแม่คนนี้ท่านเล่าถึงเรื่องราวเป็นอย่างไร โดยภาพประกอบเป็นวีดีโอการถ่ายทำ แต่เราไม่สามารถลงพื้นที่จริงได้เพราแต่ละพื้นที่อยู่ไกลกัน เราสามารถลงพื้นที่ได้แต่ไม่ครบจำนวนคน พรุ่งนี้กิจกรรมของเราคือตอนเช้าจะนำเนื้อหาที่สัมภาษณ์มาทั้ง 5 คนมาเรียบเรียงเพื่อเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์เดิมที่มีการสืบค้นมาก่อนแล้วให้นำเสนอซึ่งสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือสิ่งที่เราได้จากชุมชนเป็นอย่างไรและสิ่งที่สืบค้นมาก่อนเป็นรูปแบบไหนสิ่งสำคัญคือ จากบทสัมภาษณ์ของแต่ละคนจะให้เด็กชี้เสนอแนะว่า ประวัติศาสตร์ของเราพ่อแม่เราเริ่มต้นมาอย่างไร” นายกิตติทัต กล่าว
กลุ่มแผนที่เดินดิน
ผศ.ดร.ทรงวิทย์พิมพะกรรณ์ บอกว่า กลุ่มแผนที่เดินดินจะเป็นกลุ่มที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่และเรื่องราวทั้งหมด ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก 3 กลุ่มนี้เพื่อที่จะนำข้อมูลมาเสริมลงในตำแหน่งต่างๆที่อยู่ในชุมชน เพราะทั้งสองกลุ่มไปลงชุมชนมาก็จะมีข้อมูลอยู่ระดับหนึ่งแต่ไม่ครอบคลุมทุกเรื่อง โดยเฉพาะรายละเอียดเรื่องประวัติชุมชนของดี สถานที่จะอยู่ที่สามกลุ่มนี้
ในช่วงเช้าของพรุ่งนี้จะขอตัวแทนที่มีข้อมูลมาลงพิกัด เรื่องราวจะขอมาด้วยพอสังเขปถ้าเป็นไปได้ ทำแผนที่รวมของสี่ชุมชน ตำแหน่ง พิกัดต่างๆจะระบุตำแหน่งสำคัญจองพื้นที่ต่างๆจะเขียนออกมาเป็นแผนที่โดยเป็นลายเส้นของเด็กๆมาช่วยกัน
วันนี้ไปวิเคราะห์ข้อมูลให้เรียบร้อยเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องที่สุด อาจจะไปวางแผนเรื่องการนำเสนอ ใช้เวลาในการนำเสนอไม่เกิน 20 นาที พื้นที่ถ้าเราได้มีกระบวนการเรียนรู้ให้ทุกคนได้เข้ามามีโอกาสเรียนรู้จะเป็นประโยชน์มากๆถ้าเราไม่จัดกระบวนการแบบนี้ก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมันก็คงเป็นพื้นที่ทั่วๆไปเหมือนหลายๆชุมชนซึ่งเป็นเรื่องที่เสียโอกาสมาก เพราะเรามีประวัติศาสตร์เก่าแก่เรามีหลายๆอย่างที่เราอาจจะมองข้ามทุกที่สามารถเรียนรู้ได้อยู่ที่เราจะสนใจหรือไม่เท่านั้นเอง
เด็กๆในกลุ่มแผนที่เดินดินได้มีโอกาสเดินสำรวจซึมซับค่อยๆเดินไปจะได้เห็นอะไรต่างๆที่ไม่เคยเห็นเพราะปกตินั่งรถขับรถผ่านดูอย่างเดียวไม่พอต้องคุยต้องสัมภาษณ์สอบถามต้องสังเกต บางอย่างเป็นเชิงสัญลักษณ์ถ้าเราไม่สอบถามไม่สังเกตดีๆเราก็จะไม่เห็นมีความหมายซ่อนอยู่ในนั้น เป็นสาระที่เราได้เรียนรู้ตลอดสองวัน พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันสรุป วิเคราะห์ไปด้วยในขณะที่เดิน พรุ่งนี้ก็สรุปเป็นการนำเสนอเป็นการทดลอง แต่เราจะนำเสนอจริงๆวันที่ 14 กรกฎาคม 2560
เราจะจัดเป็นมหกรรมที่เปิดโอกาสให้ทั้งชุมชนทั้งคนในคนนอกได้เข้ามาดูกับเราเพราะฉะนั้นเราต้องทำออกมาให้น่าสนใจ เราต้องมีสีสันด้วย มีของจริงมาโชว์ เช่น มาขายมาสาธิต ได้ดูได้ชิมได้เห็นได้ความรู้ถ้ามาขายอย่างเดียวไม่ถือว่าก่อให้เกิดมิติความรู้ต้องมีกระบวนการสิ่งที่ยากกว่าการจัดบูททั่วไปคือเราต้องเก็บขั้นตอนกระบวนการความรู้ถึงจะเกิด
กิจกรรมวันที่สองจบลงไปด้วยบรรยากาศของความเตรียมพร้อมที่ทุกคนตั้งใจเป็นอย่างมากให้ข้อมูลที่ตนเองลงพื้นที่สำรวจมา ออกมาให้ดีที่สุด และหวังที่จะเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้มากที่สุด
บรรยากาศการประชุมสรุปงานวันที่สอง
กิจกรรมวันที่สามเริ่มขึ้นโดยในช่วงเช้าแต่ละกลุ่มได้มาเตรียมความพร้อมภายในกลุ่มเกี่ยวกับรูปแบบการนำเสนอ แบ่งหน้าที่การนำเสนอ และเตรียมข้อมูลให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อนำเสนอในช่วงบ่าย
ในช่วงบ่าย กิจกรรมเริ่มขึ้นเวลา 13.00 น. ทุกกลุ่มนั่งประจำที่ ทั้งเด็กเยาวชนโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน ชาวบ้านชุมชนศรีฐาน ผู้นำชุมชน มากันมากมาย พร้อมรับชมรับฟังลูกหลานของตนเองนำเสนอเรื่องราวภายในชุมชนของตนเอง
น้องๆตัวแทนจากกลุ่มสถานที่สำคัญ
“วัดจอมศรี สร้างในปี พ.ศ.2379 โดยมีชาวบ้านในชุมชนศรีฐานเป็นผู้ช่วยในการก่อสร้างมีการค้นพบโบราณวัตถุในบริเวณวัดหลายชิ้นรวมไปถึงใบเสมา พระเครื่อง เครื่องปั้นดินเผา เศียรพระพุทธรูป ปัจจุบันวัดจอมศรีมีพระทั้งหมด 11 รูปทั้งพระไทยและพระจากประเทศลาวเข้ามาจำวัดเพื่อศึกษาต่อที่เมืองไทย”
“2.บริเวณด้านข้างกุฏิท่านเจ้าอาวาสยังเป็นที่ตั้งของศาลหลวงปู่ยาครูจัด ซึ่งชาวบ้านชุมชนศรีฐานมีความเชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขและผู้ชายในชุมชนศรีฐานที่จะไปเกณฑ์ทหารจะมาบนบาลศาลหลวงปู่ยาครูจัดและจะมักได้ใบดำ”
“3.ด้านข้างศาลหลวงปู่ยาครูจัด มีต้นไม้ชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียกต้น คิงคาวหรือต้นค้างคาวเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่อายุมากกว่า 100 ปีมีสรรพคุณทางยา 4.โบสถ์ สร้างราว พ.ศ.2510 แล้วเสร็จและทำการฉลองเมื่อปี พ.ศ.2528โดยการร่วมมือร่วมใจของประชาชนที่มีจิตศรัทธาและคนในชุมชน5.ศาลาการเปรียญ สร้างเมือง พ.ศ.2534 โดยมีกลุ่มพัฒนาคนขอนแก่นและชาวบ้านบ้านศรีฐานสร้างขึ้น”
“6.หอระฆัง สร้างเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2538แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2543หนองบอน หนองน้ำฝั่งทิศตะวันตกของชุมชนศรีฐานมีพื้นที่ทั้งหมด 8.5 ไร่เป็นหนองน้ำประจำหมู่บ้านมีคนในอดีตใช้น้ำจากหนองบอนในการดำเนินชีวิตประจำวันจากการสัมภาษณ์คุณยายโสดา วันดีได้ให้ข้อมูลว่าในอดีตชุมชนใช้ดินบริเวณหนองบอนไปทำเครื่องปั้นดินเผาและใช้ดินใต้น้ำเป็นเหยื่อในการล่อปลา ด้านข้างยังเป็นที่ตั้งของศาลปู่ประจักร เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านและในช่วงแรม 15 ค่ำเดือน 5 จะมีพิธีก่อกองทราย เพื่อเป็นการสักการะบูชาปู่ประจักร ปัจจุบันหนองบอนได้ถูกปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะของชุมชนศรีฐาน เพื่อเป็นที่พักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกันของชาวบ้าน”
“หนองยาว เป็นหนองน้ำฝั่งทิศใต้ของชุมชนศรีฐาน ชาวบ้านในอดีตใช้น้ำจากหนองยาวในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งในการอุปโภคบริโภครวมไปถึงยังเป็นทำมาหากินของชาวบ้านและชาวบ้านยังได้อาศัยน้ำจากหนองยาวในการทำนา ด้านซ้ายยังเป็นที่ตั้งของศาลหลวงปู่หนองยาวที่นับถือของชาวบ้านโดยจะมีพิธีบวงสรวงในช่วงเดือน 6 วันพุธ พุธไหนก็ได้ของเดือน 6 ”
“บ้านขุนพิจารณ์ หรือตาสิน อนุศรีพื้นเพเป็นชาวอุบลราชธานีแต่ได้อพยพถิ่นฐานมาตั้งบ้านใหม่ปัจจุบันคือ ชุมชนศรีฐาน 1 ไม่ทราบข้อมูลปีพ.ศ.ที่แน่ชัด แต่อยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขุนพิจารณ์หรือ นายสิน อนุศรีมีภรรยา 2 คนคือแม่ไข มีลูก 3 คน ประกอบ แม่ภา พ่อเคน แม่ทองในภายหลังแม่ไขได้เสียชีวิต ขุนพิจารณ์ได้แต่งงานใหม่กับนางกุย มีลูกด้วยกันทั้งหมด7คนประกอบด้วย แม่ปิ้ง แม่เฟื้อย แม่ปัด แม่เสา พ่อหิน พ่อขาง แม่หว่าง”
“บ่อพญานาคตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานทิศตะวันตกของชุมชนศรีฐาน 2 แต่เดิมเรียกว่าหนองอีเลิงสมัยโบราณชาวบ้านใช้น้ำในหนองอีเลิงในการดำรงชีวิตเพราะน้ำในหนองอีเลิงไม่เคยแห้งเนื่องจากบริเวณแห่งนี้เป็นตาน้ำและในบริเวณใกล้หนองอีเลิงยังมีบ่อพญานาคและศาลาพญานาคซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเพราะมีความเชื่อว่าบริเวณบ่อพญานาคบ่อนี้มีปู่พญานาคคอยปกปักรักษา”
“ทุกวันพระหรือวันสำคัญชาวบ้านครูนักเรียน จะนำดอกไม้ ธูปเทียนหรือเครื่องเซ่นไหว้มาไหว้ขอพระปู่พญานาคเป็นประจำสม่ำเสมอ ปัจจุบันหนองอีเลิงได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความสวยงามร่มรื่นสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดเล็กได้”
“ต้นมะขามใหญ่ที่อยู่บริเวณด้านข้างกำแพงวัดจอมศรีทางด้านทิศใต้อายุมากกว่า 100 ปีไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่าเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมีผู้ใดนำมาปลูกเป็นต้นไม้ต้นเดียวที่ขึ้นอยู่ตามถนนชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นต้นไม้คู่บ้านศรีฐานเพราะเคยมีชาวบ้านพยายามตัดอยู่หลายครั้งแต่คนที่ตัดต้องมีอันเป็นไปไปทุกรายปัจจุบันต้นมะขามดังกล่าวก็ยังคงอยู่บริเวณเดิมชาวชุมชนที่ใช้ถนนเส้นรอบกำแพงวัดทางด้านทิศใต้ก็จะยกมือไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลจนถึงทุกวันนี้”ตัวแทนเยาวชนกล่าว
น้องๆจากกลุ่มประวัติศาสตร์ชุมชน
“จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุชุมชนบ้านศรีฐานจำนวน 5 ท่านคือ 1. พ่อหนูฤทธิ์ ล่ามแขก พ่อขุนพิจารณ์มีบุตร ธิดา 10 คน คือ นางภา อนุศรี นายเคน อนุศรี นางทอง อนุศรี นางปัด อนุศรี นางเฟื้อย อนุศรี นางปัดอนุศรี นางสาวข้อหยุ่น นายหิน อนุศรี นายข่าง อนุศรี นางหว่าง นามวงศา สกุลเดิมมีสามนามสกุลคือ อนุศรี ข้อหยุ่น ล่ามแขก”
“ครอบครัวอื่นๆเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ 110 หลังคาเรือน ปัจจุบัน400 หลังคาเรือน คาดคะเนว่า บ้านศรีฐานตั้งมาประมาณ 200 ปี สมัยนั้นเมืองขอนแก่นมีร้านขายของอยู่ร้านเดียว สมมติฐานว่าบ้านศรีฐานตั้งหลังเมืองขอนแก่นเดิมอยู่ตำบลเมืองเก่าสภาพภูมิศาสตร์บ้านศรีฐาน มีพื้นที่ไม่สม่ำเสมอเป็นโนนสูงต่ำไม่ราบเรียบมีน้ำสำคัญ คือ หนองบอน หนองยาว”
“สภาพแวดล้อมเป็นทุ่งนาชาวบ้านใช้น้ำจากหนองยาวซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านอุปโภคบริโภคหลังจากนั้นชาวบ้านก็ไปหาบน้ำจากบ่อน้ำที่สนามบินมาไว้ดื่มซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลมากปัจจุบันน้ำยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่ข้างโรงเรียนสนามบินพื้นที่บ้านศรีฐานแต่เดิมปัจจุบันมีบ่อบริเวณเท่าเดิมไม่ได้ติดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดั้งเดิมทำมาหากินหาปูหาปลาอาชีพชาวบ้านศรีฐาน ส่วนมากจะมีอาชีพทำไร่ ทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย”
“การคมนาคมในสมัยก่อนไปมาลำบากไปไหนมาไหนเดินทางด้วยเท้าและเริ่มมีรถโดยสารรถเมล์ในปีพ.ศ. 2502 ด้านประเพณีวัฒนธรรมในวัดจอมศรีเป็นวัดประจำหมู่บ้านมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิม เคยเป็นที่เรียนหนังสือและประกอบพิธีทางศาสนา หากมีคนเสียชีวิตจะนำศพมาเผาที่วัดป่าไชยวัน ”
“การทำบุญ ประเพณีต่างๆในสมัยก่อนชาวบ้านได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต้องทำบุญตามฮีตสิบสองคลองสิบสี่ และยังมีบุญประเพณีที่สืบทอดกันมาและทำมาถึงปัจจุบันคือ บุญเลี้ยงตาปู่หนองยาวจะทำทุกๆปีในเดือน 6 วันพุธไหนก็ได้ของเดือน 6”
“การละเล่นของชาวบ้าน บ้านศรีฐานมีคณะกลองมีหมอลำกลอน หมอลำเขียน หมอลำสด ในสมัยก่อนวัดจะเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านได้มาพบเจอกัน สานกล่องข้าว ขนดินเข้าวัด ทำให้มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี ในเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านจะได้มีการละเล่นต่างๆในสมัยก่อน มีสะบ้า เสือกินวัว ม้าหลังโปก หนอนคู่ บักดี่”
“การปกครอง ผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าหมู่บ้านศรีฐาน เดิมขึ้นอยู่กับตำบลเมืองเก่า มีตำนานเป็นหัวหน้าตำบลบ้านศรีฐาน มีผู้ใหญ่บ้านจำนวน 1 คนคือ มีกำนันตำบลเมืองเก่า 3 คนต่อมาได้ขยายเขตเทศบาลเปลี่ยนเป็นตำบลเมืองมีประธานชุมชนเป็นหัวหน้า” ตัวแทนเยาวชนกล่าว
ตัวแทนน้องๆจากกลุ่มของดีศรีฐาน
“ของดีศรีฐานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตสิ่งมีชีวิตได้แก่ ปราชญ์ชาวบ้านและต้นไม้ ปราญช์ชาวบ้านคือ ผู้ที่ให้ความรู้เรื่องราวต่างๆจากการลงพื้นที่ ของดีเรามีหลายอย่าง สิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ แจ่วบอง เนื้อแดดเดียวสมุนไพร ไส้กรอก ส้มตำแม่ไร แหนมแม่สงัด ปิ้งปลาดุก ส้มหมู ส้มวัว ตำแหลกน้องจอย ก๋วยเตี๋ยวยายตุ่น พะโล้ ขนมครก แม่หมาย ส้มปลา แม่ละไม แจ่วบองแม่บัวซอน”
“ปราชญ์ชาวบ้าน มีหลายด้านได้แก่ด้านสุขภาพ หมอเอ็น 2 สามีภรรยา แม่นางกับพ่อสมานพ่อคำบ่าย ด้านวัฒนธรรมประเพณี ของดีศรีฐานมีประเพณีฮีตสิบสองคลองสิบสี่และมีปราชญ์ชาวบ้านด้านต้นไม้โบราณ”ตัวแทนเยาวชน กล่าว
ตัวแทนน้องๆจากกลุ่มแผนที่เดินดิน
“กลุ่มของพวกเราประกอบด้วย 1.ตัวแทนจากชุมชน คุณตา คุณยาย ครู นักเรียนจากโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน พี่ๆจากเทศบาลนครขอนแก่น อาจารย์ทรงวิทย์พิมพะกรรณ์ วิทยากรพิเศษ และพี่ปอยที่มาช่วยระบุตำแหน่งของแผนที่ ”
“ขั้นตอนการดำเนินงานมีการประชุมหารือก่อนการทำงาน แบ่งกลุ่มการดำเนินงานเป็น 2 กลุ่ม
ลงมือปฏิบัติงานโดยมีแผนที่ทางการเป็นตัวนำทางสอบถามข้อมูลและจดบันทึกข้อมูลที่สอบถามได้
สรุปสิ่งที่เราได้รับและประชุมพูดคุยกันนำเสนอผลงาน”
“วันที่ 30 มิถุนายน2560 ได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนศรีฐาน 1 จุดแรกคือ ศูนย์วิจัยข้าวตั้งอยู่ทางทิศใต้หันหน้าไปทางทิศเหนือศูนย์วิจัยข้าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและเพื่อพัฒนาเมล็ดข้าวให้มีคุณภาพดีมากขึ้นจุดที่ 2 ต้นมะขามใหญ่จะอยู่ข้างกำแพงวัด ทางด้านทิศใต้จะเป็นต้นไม้ที่มีความเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี ”
“จุดที่ 3 คือ โรงพิมพ์ ชื่อสุชัยการพิมพ์ ทำมาประมาณ 10กว่าปีแล้วจุดที่ 4 บ้านบ่อน้ำมนต์คือ บ้านของพ่อสงวน ฉุยฉาย รักษาเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุเป็นแผลกระดูกร้าว ทำมา 40 ปีแล้วจุดที่ 5 คือบ้านของพ่อคำบ่าย สอนหลุย เป็นบ่อน้ำมนต์แต่จะรักษาเกี่ยวกับแผลน้ำร้อนลวกหรืออาการเจ็บคอจุดที่ 6บ้านร่มพร้าว ของพ่อสมพล จันยากร เป็นผู้ที่มีภาพถ่ายทางอากาศของชุมชนศรีฐานเมื่อ ค.ศ. 1976 ”
“จุดที่ 7 หนองยาวเป็นหนองเก่าแก่ที่ชาวบ้านได้ขุดพบสิ่งของโบราณเช่น ใบเสมาจุดที่ 8 คือ ศาลเจ้าปู่ แต่ก่อนได้นำใบมะพร้าวมาสานเป็นช้าง ม้า วัว ควาย เพื่อนำมาเป็นบริวารของศาลเจ้าปู่ในบุญเดือน 6 จะทำพิธีเทพทางใจเพื่อบวงสรวงจะประกอบด้วย เหล้า ไห ไก่”
“วันที่ 1 ก.ค. 2560 ได้สำรวจชุมชนศรีฐาน 1ต่อจากวันที่ 30มิถุนายน2560 ที่แรกที่เราไปสำรวจคือหนองบอนหลังจากที่สอบถามผู้รู้หนองบอนมีที่มาคือ มีต้นบอนเยอะมากจึงตั้งหนองนี้ว่าหนองบอนและยังมีศาลปู่ประจักรมีการจัดทำประเพณีในเดือน 5 หลังจากสงกรานต์ก็จะมาก่อเจดีย์ทรายและยังมีคูเมืองเก่าล้อมรอบเมืองไว้แต่บางที่ก็ขายไปบ้างแล้ว และที่ก้นของหนองบอนมีดินล่อปลามีลักษณะสีดำคล้ายๆดินร่วน เป็นดินที่อุดมสมบูรณ์”
“ที่ต่อมา คือบ้านหมอยาโบราณใช้วิธีการบดยา ผสมน้ำ รักษาอาการต่างๆที่ต่อไปคือบ้านของขุนพิจารณ์ มีความเชื่อว่าเป็นที่ที่มีหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่สองแต่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นบ้านเรือนที่ต่อมา บ้านเก่าเข้ามาอยู่ในปี พ.ศ. 2516 บ้านทำจากไม้จิตรซื้อมาในราคา 2,000 บาทเดินขึ้นไปทางประตูวัดทางขวามือจะมีร้านถ่ายเอกสารในร้านถ่ายเอกสารมีเครื่องเจาะกระดาษลักษณะใช้เท้าเหยียบซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นแล้ว”
“ข้อมูลทางพ่อยุ่นเกี่ยวกับชื่อบ้านศรีฐานว่ามาจากฐานที่มีสี่ขั้นเลยเรียกว่า สี่ฐาน แต่ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็นศรีฐานและคนสมัยก่อนยังไม่มีนามสกุลใช้ มีตายายผู้หนึ่งชื่อตาข้อ กับยายยุ่น ได้มาอยู่อาศัยเมื่อรัชกาลที่ 5 ประกาศใช้นามสกุลจึงนำชื่อของตาข้อและยายยุ่นมารวมกัน จึงได้นามสกุลพ่อยุ่นที่ได้ยินมาจนถึงปัจจุบัน และนามสกุลที่สองคือล่ามแขก”
“หลังจากนั้นเราก็เดินสำรวจต่อที่ศรีฐานสองที่แรกที่เราไปคือ โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานได้มีบ่อพญานาคที่1 มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่าผู้อำนวยการโรงเรียนจะได้ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ ก็ได้มาบนบาลได้ฝันเห็นพญานาคจะให้โชคปรากฏว่าเช้าวันรุ่งขึ้น ได้เป็นผู้อำนวยการจริงๆจึงศรัทธาและนำรูปปั้นพญานาคมาถวาย”
“บ่อพญานาคที่สองมีเหตุการณ์จริงว่ามีช่างรับเหมามาก่อสร้างอาคารเรียนชั้นอนุบาลและได้นำกระรอกมาประกอบอาหารหลังจากสร้างอาคารเสร็จช่างรับเหมาได้กลับไปทำงานที่จังหวัดอุดรธานีได้มีคนงานเกิดอุบัติเหตุบ้างล้มตายบ้างหัวหน้าช่างจึงไปบอกพระว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น จึงได้ตั้งศาลตรงนั้นชื่อว่าศาลแม่บัวตอง และแม่สีชมพู พอตั้งศาลเสร็จพระได้มองไปทางทิศตะวันออกบริเวณข้างกำแพงว่าจะมีบ่อพญานาคอีกบ่ออยู่ตรงนั้นจึงเป็นที่มาของบ่อพญานาคที่สอง”
“เราได้เดินเข้าไปในวันป่าไชยวัน วัดป่าไชยวันเป็นวัดที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้และข้างวัดมีวิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์ภิญโญเปิดสอนคอมพิวเตอร์ธุรกิจ บัญชี ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างกลโรงงาน เดินต่อมาอีกนิดจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยเด็ดเจ้าเก่า หัวมุมยังมีโรงแรมออร์คิดโฮเทลมีโรงพยาบาลราชพฤกษ์ เดินต่อมาข้างกันจะมีหอพักซีซันเพลส”
“ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 ก.ค. เราได้ไปสำรวจที่ศรีฐาน 3 จุดแรกที่เราไปสำรวจคือร้านนิดดอกไม้สดมีอายุประมาณ 8 ปี ผู้ขายเมื่อก่อนเป็นคุณครูสอนวิชาการงานอาชีพพอเกษียณอายุราชการก็นำมาต่อยอดโดยการมาเปิดร้านดอกไม้และรับทำบายศรีต่อมาเราเดินไปที่หมู่บ้านร่มเย็นตั้งอยู่ซอย 9 มีบ้านทั้งหมด 27 ครัวเรือน และเดินต่อไปที่สถานีวิทยุ ม.ก. ขอนแก่นตั้งอยู่ทางทิศเหนือก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 รวมแล้ว 56 ปี”
“สร้างมาเพื่อเผยแพร่วิธีการเกษตรในไทยจะมี 4 สถานี สถานีแรกตั้งอยู่ที่ จ. เชียงใหม่ สถานีที่สองตั้งอยู่ที่ จ. ขอนแก่น สถานีที่สามตั้งอยู่ที่กรุงเทพ ฯ สถานีสุดท้ายตั้งอยู่ที่ จ. สงขลา ต่อมาเป็นบ้านสปา เป็นธุรกิจส่วนตัวของลุงสายฝน ก่อตั้ง พ.ศ. 2548 จัดเป็นการนวดแผนไทยการนวดน้ำมันนวดสปา คิดเป็นชั่วโมงละ 200 บาทต่อมาเป็นโรงงานทำขนมจีนของพ่อบุญเทียน ล่ามแขก เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2537 รวม 23 ปี และสุดท้าย ก๋วยเตี๋ยวยายตุ่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 รวมแล้วมีอายุ 25 ปี ปัจจุบันมีลูกสาวสืบทอดอาชีพนี้ ”
“การลงสำรวจชุมชนศรีฐาน 1 บ้านยายเหี่ยน เป็นบ้านที่ขุดพบใบเสมาใบแรกจุดที่สองหอพักแม่บุญเติม พบเศษหม้อและกระดูกคนแปดศอก จุดที่สาม บ้านในสมัยโบราณ ปี พ.ศ. 2498 จุดที่สี่บ้านหมอเอ็น เป็นบ้านหมอเอ็นที่ทำไม้นวดเองจุดที่ห้า บ้านทำปลาร้าแม่มณีจุกที่หก บ้านทำเนื้อแดดเดียว แม่บุญช่วย จุดที่เจ็ดห้องพัก จุดที่ 8 ศูนย์ทดลองวิทยุ กสทช. จุดที่เก้า ร้านไข่มุกเช่าชุด จุดที่สิบ ร้านค้าชุมชน smlจุดที่ 11 สี่แยกตลาดบ้านศรีฐานจุดที่สิบสองที่เสี่ยงทาย ”
“ประโยชน์ของแผนที่เดินดิน จะเห็นได้ว่าแผนที่ของเรามีรายละเอียดมากกว่าแผนที่ทางกายภาพจะเห็นถึงความเป็นอยู่ต่างๆความสัมพันธ์ในชุมชน วิถีชีวิต การท่องเที่ยวและของดีต่างๆในชุมชนประโยชน์ที่ได้รับจากการทำแผนที่เดินดินได้รู้ว่ามีจุดสำคัญต่างๆอย่างไรบ้างในชุมชนและแต่ละจุดมีความสำคัญอย่างไร ”
“ มีกิจกรรมมีการใช้ประโยชน์อย่างไรและมีระบบความสัมพันธ์กันอย่างไรได้เกิดความเข้าใจที่เกี่ยวกับลักษณะของการใช้พื้นที่และระบบความสัมพันธ์ในพื้นที่เกิดความสนุกสนานและความภาคภูมิใจที่ได้รู้จักพื้นที่และเรื่องราวของพื้นที่ที่ตนเองอยู่และสิ่งสำคัญพวกเรามีความสนุกสนานในการลงพื้นที่ทำแผนที่เดินดินในครั้งนี้”ตัวแทนเยาวชน กล่าว
นอกจากนัน ผศ.ดร.ทรงวิทย์พิมพะกรรณ์ วิทยากร, ผู้นำทีมแผนที่เดินดิน บอกว่า “กลุ่มเราเป็นกลุ่มที่จะประมวลเรื่องราวต่างๆของชุมชนทั้งสามกลุ่มมาประมวลลงในแผนที่ในอนาคตเราจะทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศึกษาหาความรู้ก็ตามเราต้องรู้ตำแหน่งหรือมีจุดที่จะต้องไป กระบวนการของการทำแผนที่เดินดินนอกจากเรารู้กายภาพไม่เพียงพอเราต้องรู้ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆด้วยเพราะฉะนั้นเด็กหรือครูเองหรือคุณพ่อคุณแม่รวมถึงผมที่ลงชุมชนก็ได้ประโยชน์มากๆ”
“เรารู้ในสิ่งที่เราอาจจะมองแล้วไม่เห็นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่เองซึ่งเป็นคนในคนนอกคนที่มาอยู่ใหม่หรือคนที่อยู่ดั้งเดิม เกิดจากการที่ไปเห็นพูดคุยซักถาม สังเกต กระบวนการเรายังไม่สิ้นสุด เรามีกระบวนการค่อนข้างจำกัดในการนำเสนอ เด็กๆได้ความรู้เยอะจากทุกท่านที่ลงพื้นที่ด้วยกันและชาวบ้านที่ให้ข้อมูลเราวันที่ 14กรกฎาคม 2560 เราจะนำเสนออยู่สองแบบด้วยกัน คือเป็นแผนที่วาดมือโดยฝีมือของเด็กๆ และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศให้สมบูรณ์โดยออกเป็นกราฟิก” ผศ.ดร.ทรงวิทย์ กล่าว
ด้านนายธวัชชัย รื่นรมย์สิริ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น บอกว่า “ขอขอบพระคุณคณะทำงานทั้งหมดวันนี้งานของเราแค่ 20 % ถ้าบอกว่าเราเดินถึงไหนเราก็เดินออกมาจากหน้าบ้านเท่านั้นเอง เรานั่งอยู่ในบ้านแล้วกำลังเดินออกมาจากหน้าบ้านพอเดินออกมาหน้าบ้านเราก็ต้องเดินออกมากลางบ้านเพื่อประกาศให้คนอื่นรับทราบวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 เข้าใจว่าเราเชิญชุมชนในเขตเทศบาลนครมาทั้งหมด องค์กรต่างๆมหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์กรที่เกี่ยวกับงานวัฒนธรรม ศิลปากร วัฒนธรรมจังหวัด เพราะตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวการโปรโมทบ้านศรีฐาน แต่มันไม่ใช่ จริงแล้วๆเป็นการทำเพื่อคนศรีฐานจริงๆไม่รู้ว่าเขาจะมาเที่ยวบ้านเราหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรากำลังลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของตัวเราเองเรารู้จักตัวของเราเองเรารู้ว่าเรามีหน้าตาอย่างไร มีแขนขาอย่างไร มีเท้าอย่างไร มีมืออย่างไร”
“หลายท่านในอดีตที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้เขาสรุปได้อย่างหนึ่งว่า การที่คนหรือชุมชนหรือบ้านเมืองนั้นจะเจริญเติบโตและประสบความสำเร็จ มีความยั่งยืนสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรู้ตัวตนของตัวเอง หยั่งลงไปถึงรากลึกที่สุดของตัวเอง สร้างความภาคภูมิใจผ่านกระบวนการเหล่านั้น ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติแต่สิ่งที่จะเป็นแกนหลักยึดตัวของเราไว้เป็นเรื่องพื้นฐานรากฐานสิ่งที่เราจะดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุขคือรากฐาน เมื่อเราได้นั่งถกเถียงกันก็จะเห็นมุมมองเห็นวิธีคิดเห็นลำดับความคิดและความรู้สึกร่วมว่าสิ่งที่เรา ถกเถียงกันอยู่มันคืออะไรแล้วไปใช้ต่ออย่างไรในชีวิตประจำวัน ก้าวเดินออกจากบ้านความเป็นคนศรีฐานมีความรู้สึกอย่างไร ”
“ เหยียบดินแล้วรู้สึกแน่นไหม มีพื้นที่ที่เราได้ยืนอยู่แม้กระทั่งวันที่เราแย่ที่สุดในชีวิต เราก็ยังมีจุดยืนของเราอยู่ตรงนี้ ถึงแม้เราจะไม่ใช่คนที่นี่ แต่กระบวนการเหล่านี้จะหล่อหลอมเราให้รู้สึก คนที่เข้ามาใช้เข้ามาอยู่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับเราก็จะได้รับความรู้สึกแบบนี้ออกไปเรื่อยๆนั่นคือการต่อยอดคาดว่าวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 จะเป็นการบ้านใหญ่ ของจริง ทุกกลุ่มจะมีความเหลื่อมซ้อนของข้อมูลกันอยู่เพราะฉะนั้นทุกกลุ่มต้องมีการพูดคุยกันร่วมด้วย แต่ละกลุ่มอยากนำเสนออะไรที่เป็นแก่นเป็นแกนที่เราได้มาวิธีการนำเสนอทำอย่างไรให้คนข้างนอกมาดูแล้วอึ้ง มีความเข้าใจว่า มันเป็นอะไรหลังจากนี้ต่อไป”
“สิ่งสุดท้ายที่เราหวังคือเขาจะกลับมาดูเราอีก เขาจะไปเผยแพร่ให้เราไปต่อยอดให้เราเพิ่มเติม โดยที่เราเป็นตัวแสดงผมว่างานนี้โรงเรียนเป็นพระเอก นางเอกคือชุมชน คนนอกคือตัวประกอบ แต่สองตัวนี้ต้องเป็นคนเดินเรื่อง เทศบาลก็มีภารกิจเยอะแยะมากมายทุกท่านเสียสละเวลาสามวัน ศุกร์เสาอาทิตย์ อย่างที่อาจารย์ทรงวิทย์พูดไว้สามวันนี้ทำให้เห็นพลังบางอย่างของบ้านศรีฐาน อะไรที่เป็นข้อมูลที่ยังขัดแย้งกันอยู่ลองคุยดูเดี๋ยวมันจะมีวิธีกระบวนการและการจัดการที่ดีออกมาเป็นข้อมูล ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น ไม่มีใครเกิดทันหรอกการบันทึกหรือการพูดคุยหรือการให้ข้อมูลต่อๆกันมาก็เป็นเรื่องประสบการณ์ของคนที่รับข้อมูลนั้นๆเพียงแต่คนที่หยิบไปใช้จะหยิบไปใช้แบบไหน ”
“ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อการหยิบไปใช้นั้นใช้เพื่ออะไร ใช้เพื่อสร้างความมั่นใจ ใช้เพื่อลงไปถึงรากเหง้าที่เราภาคภูมิใจ ใช้เพื่อเป็นพื้นฐานให้เรายืนอยู่ในสังคมอย่างทรนงและมีตัวตนนั่นคือข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นการเรียนรู้ของเทศบาลที่จะขยับโครงการที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเพื่อหยิบออกมาสร้างให้สังคมตรงนี้เข็มแข็งและมีภูมิต้านทาน” นายธวัชชัย กล่าว
กิจกรรมโครงการสืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐาน ระยะเวลา 3 วันเต็ม ทำให้เห็นถึงศักยภาพของคนในชุมชนที่อยากจะสืบค้นข้อมูลของชุมชนตนเอง อยากจะถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับชุมชนให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ อยากอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าให้อยู่คู่ชุมชนตราบนานเท่านาน เห็นศักยภาพของเทศบาลนครขอนแก่นที่อำนวยความสะดวกและจัดกิจกรรมอย่างละเอียดทุกขั้นตอนจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ได้เห็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของเยาวชน น้องๆจากโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน ครูจากโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน ที่ร่วมสืบค้นข้อมูลกับนักเรียนอย่างเต็มที่ตลอดสามวัน และที่สำคัญเราจะได้ความร่วมแรงร่วมใจ ความสามัคคีของคนในชุมชนศรีฐาน ที่ต้องการให้ชุมชนศรีฐานเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ และกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เมื่อมาจังหวัดขอนแก่นจำเป็นต้องแวะ..
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]