เปิดโลกตะคร้อ พืชล้ำค่าแห่งขุนเขา ต้นไม้ท้องถิ่น สรรพประโยชน์ ที่หลายคนมองข้าม

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : Admin Maethapon , 3 มกราคม 68 / อ่าน : 48


เปิดโลกตะคร้อ พืชล้ำค่าแห่งขุนเขา
ต้นไม้ท้องถิ่น สรรพประโยชน์ ที่หลายคนมองข้าม

        หากพูดถึงต้นไม้ที่มีคุณค่าด้านการรักษาโรค และมีประโยชน์ใช้สอย ตะคร้อคือหนึ่งในนั้น เพราะมนุษย์นำตะคร้อมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะรับประทาน สร้างที่อยู่อาศัย รักษาโรคภัย รวมไปถึงย้อมผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม เรียกได้ว่าตะคร้อต้นเดียว มีประโยชน์ครอบคลุมปัจจัย 4 เลยก็ว่าได้

        ตะคร้อ พันธุ์ไม้พื้นบ้านของไทย โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณประเทศ ไทย พม่า และลาว ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนของภูมิประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา รวมถึงในภูมิภาค อินโดจีน กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกบริเวณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป

        เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ ลำต้นกลมเป็นปุ่มปม และพูพอน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมดำ หรือ น้ำตาลแดง เนื้อไม้แข็งและเหนียว ใบ เป็นใบประกอบขนนก ปลายคู่ออกเรียงสลับบริเวณปลายกิ่ง ช่อใบมีก้านยาว และมีใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน 1-4 คู่ ใบมีลักษณะรูปรี หรือ รูปรีแกมขอบขนาน มีก้านใบย่อยสั้น ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กๆ ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายยอดหรือตามซอกใบ โดยช่อดอกเป็นพวงหางกระรอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยรูปทรงกลมมีขนาดเล็กไม่มีกลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ผล ออกเป็นพวง มีลักษณะทรงกลม ขนาด 2-3 เซนติเมตร มีปลายจะงอยแหลมแข็ง ผิวเปลือกเกลี้ยงเรียบหนา เปลือกร่อน ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกมีสีเขียวอมน้ำตาล หรือสีน้ำตาล มีเนื้อสีเหลืองใส เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ หุ้มเมล็ดอยู่มีรสเปรี้ยว และมีเมล็ดแข็งทรงกลมสีน้ำตาลดำ อยู่ 1-2 เมล็ด

        ประโยชน์ของต้นตะคร้อ ด้านอาหาร ส่วนผล นำมารับประทานจิ้มเกลือหรือนำมาซั้ว(ชื่อแกงชนิดหนึ่ง มักต้มผักหลายชนิดให้สุกก่อนแล้วจึงนำมาหั่นหรือฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงในหม้อต้มใหม่พร้อมกับเครื่องปรุงประสมปลาร้า เช่น ซั้วไก่ ซั้วกบ) ลูกที่หวานมากนำมากินกับข้าวได้ เปลือกผลส่วนก้น นำตำใส่เปลือก ผสมกับเนื้อ ด้านการรักษาโรค ใช้เปลือกนอก ขูดผสมเกลือ เป็นยารักษาสัตว์ เปลือกต้น แก้บิด ,ท้องร่วง ,มูกเลือด โดยนำมาตำแล้วรับประทาน สามารถรักษาบาดแผลสด จากของมีคมได้โดยการขูดเปลือกแล้วผสมกับยาดำ นำมาพอกแผล เนื้อผล เป็นยาระบาย ราก ใช้ถอนพิษ เช่น อยากหยุดเหล้า นำน้ำต้มรากมาผสมเหล้า และกินตอนเมา จะทำให้ไม่อยากกินอีก และด้านการใช้สอย เนื้อไม้ของต้นตะคร้อ สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้อีกด้วย เช่น นำมาทำฟืน ถ่าน ทำเฟอร์นิเจอร์ สร้างบ้าน มุงหลังคา หรือทำเป็นเชื้อเพลิง ฯ เปลือกต้นตะคร้อ เมื่อนำมาผสมกับเปลือกต้นก่อจะให้สีกากีใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้

        ทั้งนี้ ต้นตะคร้อนอกจากจะเป็นพืชพันธุ์ที่มีคุณค่ามากมายแล้ว ยังเป็นต้นไม้ที่ทำให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีการประยุกต์ใช้ส่วนต่างๆ ของต้นตะคร้อได้อย่างคุ้มค่าในทุกส่วนทุกด้าน จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งพันธุ์พืชที่มีสรรพประโยชน์โดยแท้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 
www.disthai.com
http://www.m-culture.in.th/
www.sanook.com

#แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ #สสส #วิสาหกิจเพื่อสังคม #SE #ตะคร้อ #หมากคร้อ #สมุนไพร #ต้นไม้ท้องถิ่น


ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ที่ 
Official Web : http://artculture4health.com/ 
Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h 
Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5 
Instagram : https://www.instagram.com/artculture.4health/ 
Twitter : https://twitter.com/art_culture4h 
Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]