เยาวชนอีสานปลุกใจเมือง

หมวดหมู่ อีสาน , โดย : Northeast60-0006 , 29 สิงหาคม 60 / อ่าน : 2,326



เสวนาถอดบทเรียนเยาวชนจากโครงการปลุกใจเมือง ในงานแสดงนิทรรศการปลุกใจเมืองภาคอีสาน ภายในงานมหกรรมหนังสือภาคอีสาน ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา

 

 

 “เยาวชนปลุกใจเมือง” อย่างไร ?

คำถามที่ถูกส่งมาว่า เยาวชนได้รับประโยชน์อะไร ? จากการเข้าร่วมโครงการปลุกใจเมืองครั้งนี้ คำตอบที่ได้ จะต้องถามจากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้น จึงจะรู้ความจริง

ภานุพงศ์ อุดม ตัวแทนจากชุมชนสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น  บอกว่า ได้แก้ปัญหาเรื่องขยะ ชุมชนสาวะถีนั้นเป็นชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยมีสิมวัดไชยศรีเป็นจุดสนใจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา พอนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว ถ้าชุมชนเราไม่สะอาดก็จะเสียชื่อเสียง เราเลยคิดที่จะทำเรื่องนี้ขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนชุมชนให้สะอาดและดูสวยงาม

            “ตอนแรกที่ทำก็ยาก เราใช้วิธีดึงเด็กมัธยมเข้ามาช่วยในเรื่องการคัดแยกขยะ การเก็บขยะ แต่ช่วงแรกน้อง ๆ ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าไหร่ เพราะเด็กมัธยมขี้เกียจ ไม่ค่อยจะมาเก็บขยะช่วยกัน พอทำไปนานเข้าน้องก็เริ่มสนใจ เรียกว่าเราเริ่มปลุกจิตสำนึกให้น้อง น้องก็เริ่มที่จะมาร่วมมือทำมากขึ้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เราเริ่มต้นจากโรงเรียนก่อน พอเราผ่านจุดของโรงเรียนแล้วเราก็จะไปเริ่มที่ชุมชนโดยเอาชุมชนสาวะถีเป็นตัวแกนหลัก”ภานุพงศ์ ขยายความ

            และเมื่อถูกถามว่า ผู้ใหญ่ในชุมชนสาวะถีได้ร่วมด้วยไหม ?  คำตอบคือ ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะเทศบาลจะทำเป็นระบบเงินออม เป็นการนำขยะของแต่ละบ้าน แต่ละครัวเรือนมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน แล้วก็ให้ทำเป็นโครงการขยะแลกเงิน ธนาคารขยะ เป็นเงินออมในบัญชีของแต่ละบ้าน เพื่อเอาไว้ช่วยเหลือครอบครัวในอนาคต

            “ตอนแรกที่ทำเพื่อน ๆ น้อง ๆ ก็มีต่อต้านเหมือนกัน อย่างบางห้องเรียนที่มีผู้ชายมากก็ไม่อยากจะร่วมมือ พอเราจะติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะ เขามาเห็นก็มองข้าม ไม่สนใจ ไม่อยากร่วม แต่เดี๋ยวนี้เขาสนใจทำแล้ว”ภานุพงศ์ เสริมอีก เพราะสิ่งที่เขาทำได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

            จีรนันท์ ชุ่มทอง ตัวแทนชาวชุมชนศรีฐาน เทศบาลนครขอนแก่น บอกถึงสิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้ว่า ชาวชุมชนศรีฐาน ได้ทำโครงการ “สืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐาน”เพราะชุมชนนี้เป็นชุมชนดั้งเดิม ตั้งแต่สมัยทวารวดี  มีสิ่งของโบราณมากมาย ทั้งใบเสมา เครื่องปั้นดินเผา รวมถึงต้นไม้อายุหลายร้อยปีอย่างต้นคิงคาว หรือชาวบ้านเพี้ยนเสียงว่าเป็นต้นค้างคาว ซึ่งใช้เป็นยารักษาโรคขาดสารอาหาร รวมถึงที่วัดแห่งนี้ยังมีหอระฆังที่ใช้เป็นจุดชมวิวได้

            “ตอนแรกที่มีโครงการนี้ แค่ได้ยินชื่อหนูก็สนใจ อยากจะทำ อยากจะร่วมมือ เพราะก่อนหน้านี้พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็เคยเล่าให้ฟัง ตัวหนูเองไม่ได้เป็นคนศรีฐานตั้งแต่กำเนิด แต่พอได้มาร่วมทำโครงการก็สนใจ และดีใจที่แผ่นดินที่เราอยู่มีประวัติความเป็นมามากมาย นอกจากนั้นยังได้สืบค้นหาของดีของชุมชนอีกหลายอย่าง ทำให้รู้แล้วว่าหากมาชุมชนศรีฐานเราจะต้องไปกินอาหารที่ไหน ซื้อของฝากที่ไหน”

เธอยังเสริมอีกว่า พอได้บอกเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อน ๆ ฟัง เพื่อนก็อยากมาร่วมโครงการด้วย แต่ศรีฐานมี 4 ชุมชน เพราะฉะนั้นก็จะต้องใช้ความพยายามในการกระจายข้อมูลเพื่อดึงเด็กเยาวชนคนอื่นเข้าร่วมกิจกรรมด้วย


            นิเทศศาสตร์  อัพภัยชา ตัวแทนเยาวชนคนท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น บอกว่า ท่าพระทำโครงการขอสถานีท่าพระ เพื่อนำมาสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน และเปิดตลาดร้อยปีท่าพระ ซึ่งใช้ถนนหน้าสถานีรถไฟท่าพระ ซึ่งเคยเป็นถนนสายเศรษฐกิจของเมืองเป็นพื้นที่ส่วนกลางและเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของคนในท่าพระ

โดยสถานีรถไฟ ทางการรถไฟได้เริ่มทำรถไฟทางคู่ ทำให้ต้องรื้อสถานีรถไฟเก่าออก โดยสถานีรถไฟเก่านี้อยู่คู่กับชาวท่าพระมานานกว่า 100 ปีแล้ว ทำให้ชาวชุมชนอยากเอามาเก็บไว้ให้ชาวชุมชนและเด็กเยาวชนได้เรียนรู้ ดีกว่าให้ทางการรถไฟรื้อทิ้งไป สถานีแห่งนี้เป็นที่ ๆ คนท่าพระ และคนผ่านทางได้ใช้มายาวนาน ซึ่งการขอสถานีรถไฟมาให้ชุมชนดูแลก็มีค่าใช้จ่ายคือค่าขนย้าย  จึงได้มีการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน เรี่ยไรเงิน บริจาคเงิน เด็กเยาวชนได้ไปช่วยในเรื่องการแสดงดนตรีเปิดหมวก ให้คนในชุมชนรู้ว่าจะมีการบริจาคเงินเพื่อเคลื่อนย้ายสถานีรถไฟ โดยจะนำสถานีรถไฟเก่าไปไว้ที่ข้างอาคารโรงยิมของเทศบาล เพื่อทำเป็นศูนย์เรียนรู้

ส่วนตลาดท่าพระร้อยปี เป็นตลาดถนนคนเดิน ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนในพื้นที่ตำบลท่าพระได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีการจำหน่ายอาหาร ทั้งอาหารปรุงสุก อาหารสดใหม่ และมีพื้นที่ให้เด็กเยาวชนได้แสดงออกร่วมกันทั้งการเล่นดนตรี แสดงความสามารถ และการโชว์ผลงานของนักเรียน นักศึกษา และการแสดงของประชาชนในพื้นที่ด้วย

“ผมดีใจนะครับที่เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนว่า ท่าพระของเราเก่าแก่แค่ไหน และเกิดความภูมิใจข้างในว่า บ้านฉันก็มีของดี บ้านฉันก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้เมืองอื่น”นิเทศศาสตร์ บอก


            ณัฐนันท์ สุรันนา ตัวแทนจาก อ.เชียงคาน จังหวัดเลย บอกว่า ตอนแรกมีพี่มาชวนไปอบรม ได้เข้าไปร่วมทำทำไปทำมาก็บอกให้ไปวางแผน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ของตนเป็นกลุ่มคน 3 วัย ที่มาของกลุ่มคน 3 วัยไทเชียงคาน ก็มีกลุ่มคนอยู่ 3 วัย  วัยแรกก็คือวัยเด็ก วัยที่สองคือวัยเยาวชน และวัยที่สามคือวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มนี้จะมีคน 3 วัย ให้ไปสำรวจพื้นที่ของเชียงคาน โดยแบ่งเป็น 3 โซน คือโซนถนนใหญ่ โซนส่วนกลาง และโซนริมแม่น้ำโขง

“กลุ่มผมได้ตามซอย ถนนกลาง โดยไปตามหาภูมิปัญญาของชาวบ้าน จุดไหนมีดีอะไร ทำอะไร และเป็นมาอย่างไร เข้าไปสอบถามแล้วจึงนำมาระดมความคิดกัน แล้วก็นำมาเขียนว่า ในจุดไหน มีอะไรที่ดี ตัวผมไม่เคยรู้ว่าที่เชียงคานมีอะไรบ้าง เด่น ๆ ก็จะมีการแสดงผีโขนน้ำ ถนนคนเดิน ภูทอกที่มีหมอกเยอะ  แก่งคุดคู้ แล้วก็ริมโขงสวย แต่พอไปเดินสืบค้นหาข้อมูลกลับพบว่ามีป่าชาวบ้านน่ารัก  มีอาหารแปลก ๆ อย่างข้าวปุ้นน้ำแจ่วไปเชียงคานต้องกิน และได้เห็นปัญหาว่าพื้นที่ของเรามีปัญหาอะไร โดยเฉพาะการจอดรถเลยเส้นขาวออกมา กีดขวางการจราจร ปัญหาขยะ เพราะนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะเกิดปัญหาขยะล้น ที่พักจะไม่ค่อยพอ

            น.ส.รัชนีกร จันทหาร  และ ด.ช.วิทวัฒน์ มะทิเปนา ตัวแทนจากจังหวัดมหาสารคาม บอกว่า โครงการนี้เป็นการกลับมามองตนเอง ทั้งในแง่ของผู้ทำงานและผู้ร่วมงาน จากการที่เด็ก ๆ ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาของชุมชนออกมาว่าปัญหาของชุมชนตนเองมีปัญหาอะไร น้อง ๆ ก็สะท้อนมาเรื่องการคอร์รัปชั่นที่เด็ก ๆ เห็น เราจึงใช้กระบวนการละครเข้าไปดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้ว่าสื่อที่เราจะเอาไปใช้เพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นจะได้ผลไหม? เราใช้ละครเพื่อเผยแพร่คุณธรรมแก่ผู้ชม หรือแม้แต่กระทั่งตัวของน้อง ๆ เองที่ได้อยู่ในกระบวนการ และได้คิดตามเนื้อเรื่องของละคร ว่าเราดีหรือยัง หรือต้องแก้ไขอะไร เพื่อกระตุ้นทางความคิดว่าเราเป็นแบบนั้นหรือเปล่า แล้วเราเคยทำเพื่อคนอื่นบ้างหรือเปล่า ให้เกิดการตั้งคำถาม เพื่อหวังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

 

 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]