คอลัมน์ คึกฤทธิ์วินิจฉัย: การฟื้นฟูวรรณกรรมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ - สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 8 สิงหาคม 60 / อ่าน : 2,683


เรื่องราวในหัวข้อวันนี้ ข้าพเจ้านำมาจากคำอภิปรายเรื่อง "จุดประทีปวรรณกรรมไทยในศตวรรษที่สามของกรุงรัตนโกสินทร์" งานอภิปรายพิเศษครั้งนั้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2527 ผู้อภิปรายคือ ร.ม.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ,รศ.นิตยา มาศะวิสุทธิ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, วาณิช จรุงกิจอนันต์ โดยมี ศ.คุณหญิง จินตนา ยศสุนทร เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

          คำอภิปรายครั้งนั้น นิตนสาร "ถนนหนังสือ" คัดจำเพาะคำอภิปรายของ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์  ปราโมช ท่านเดียวมาพิมพ์เป็นรายงานพิเศษ ดังต่อไปนี้

          "ขอเรียนไว้ก่อนว่าเฉพาะผมเพียงคนเดียวเห็นจะจุดไม่ได้และปัญหาที่จะต้องพิจารณากันอย่างจริงจังก็คือว่า

          เราพูดกันว่าจุดประทีปแห่งวรรณกรรมไทย เราจะต้องดูกันให้แน่ว่าวรรณกรรมไทยนั้นดับไปหรือเปล่า ถ้ามันยังไม่ดับก็ไม่รู้จะไปจุดตรงไหนครับ

 

 

          ทีนี้ผมขออ้างถึงสมมติฐานของธนาคารกรุงเทพสำหรับการปาฐกถาและการอภิปรายครั้งนี้เสียก่อน

          คือว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองในปัจจุบันทำให้การสร้างสรรค์งานทางศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมต้องประสบอุปสรรคไม่พัฒนาไปเท่าที่ควร

          และการสนับสนุนจากภาครัฐบาล ภาคเอกชนไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าในวงวรรณกรรมไทยยุคใหม่

          ได้อ้างถึงด้วยว่าในสมัยก่อนนั้นมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานให้คนคว้าได้มากโดยเฉพาะเรื่องวรรณกรรมศิลปวัฒนธรรม

          โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงให้การอุปถัมภ์ในงานด้านนี้อย่างเต็มที่

          คือฟังคล้ายๆ กับว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเรามีวรรณกรรมมากกว่าปัจจุบัน เรามีหนังสืออ่านมากกว่าปัจจุบันซึ่งไม่จริงหรอกครับ

          สมัยนี้เรามีมากกว่า

          ผมอยากจะขอเรียกว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ที่องค์พระมหากษัตริย์และทางราชการเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องวรรณคดี วรรณกรรม เรื่อแงต่งหนังสือนั้น มันเป็นเพราะมีความจำเป็นบังคับ

          มันเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูประเทศซึ่งถูกพม่าเข้ามาทำลายยับเยินเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา อย่างที่ท่านกรรมการท่านว่าวรรณกรรมของไทยมันมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย คือศิลาจารึกและอื่นๆซึ่งผมเชื่อว่าต้องมีมากมายเหลือเกินจนถึงวันที่กรุงศรีอยุธยาต้องแตกสลายลง

          วัฒนธรรมสมัยนั้นคงเหมือนกับในปัจจุบัน ทุกอย่างอยู่ที่เมืองหลวง ไม่กระจัดกระจายออกไปในชนบทเท่าที่ควร

          ด้วยเหตุนี้ เมื่อกรุงศรีอยุธยาทำลายลง ทุกอย่างที่เป็นสมบัติของเราก็ถูกทำลายหมด รวมทั้งวรรณคดีและหนังสือต่างๆ ที่เก็บเอาไว้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ยิ่งถูกไฟไหม้แล้วเป็นอันหมดกัน

          เพราะฉะนั้นปัญหาที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงสถาปนาขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ต้องทรงพิจารณาก็คือว่า ประเทศไทยเราสูญเสียทุกด้าน และในทางศิลปวัฒนธรรมตลอดจนวรรณกรรมนั้นสูญเสียมากเป็นอย่างยิ่ง ก็ทรงมาฟื้นฟูทั้ง ศิลปวัฒนะรรมและวรรณกรรม

          วรรณกรรมก็ทรงฟื้นฟูเท่าที่มีในกรอบ คือเรียกกันว่าเป็นหนังสือประจำพระนคร หรือหนังสือคู่บ้านคู่เมือง ที่รู้จักกันปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้แก่ เรื่องรามเกียรติ์ บทละครเรื่องอุณรุทเรื่องอิเหนาเล็ก อิเหนาใหญ่ แล้วก็เสภาขุนช้างขุนแผน และอาจมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่เราลืมกันแล้ว

          วรรณกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ปลายอยุธยามีเรื่องอะไรบ้าง ขอให้ไปอ่านบทนิพนธ์ของคุณสุวรรณ เรื่องอุณรุทร้อยเรื่องแล้วก็รู้กันหมดว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

          อย่างไรก็ตาม การที่ได้ทรงเอื้อเฟื้อหรือทรงสนพระราชหฤทัยเข้ามาเกี่ยวข้องครั้งนั้น เพราะต้องการรื้อฟื้นหรือฟื้นฟูสิ่งที่สูญไปแล้วให้กลับมามีอย่างเก่า

          เพราะฉะนั้นถึงรัชกาลที่หนึ่งก็ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ แล้วก็อิเหนาใหญ่

          ต่อมาถึงรัชกาลที่สอง ก็มีเรื่องอิเหนาเล็ก แล้วก็มีเรื่องรามเกียรติ์สำหรับเล่นบทละครได้

          ส่วนหนังสืออื่นที่เป็นร้อยแก้วก็ได้แก่ พงศาวดารจีนต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นคลาสสิก เป็นเรื่องที่ควรจะอ่าน เพราะทรงได้มอบให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน)เป็นประธานกรรมการแปลจากหนังสือจีนเรียบเรียงเป็นสำนวนไทยให้ไพเราะ

          สมัยนั้นกรรมการก็คงจะเป็นท่านที่มีความรู้ทางภาษาจีนหรือเป็นท่านซินแสจีนเองเข้ามาร่วม แต่ว่าสำนวนทั้งหมดเข้าใจว่าเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ท่านจะเป็นผุ้ขัดเกลาและเป็นผู้แต่งขึ้นให้เป็นสำนวนภาษาไทยที่ควรจะรู้ ควรจะเห็น จดจำไปใช้

          อย่าแปลสามก๊กนี่คงจะมีปัญหามาก ซินแสที่เป็นจีนแปลถึงตอนที่ยกทัพ ท่านก็อาจจะบอกว่า

          "เตียวหุยอีก็บอกว่า หน้านี้มังหน้าหนาว ขี่ม้าไปม้าก็ไม่มีหญ้ากิงม้าตายห่าหมก" (ฮา) หรืออะไรอย่างนี้ เจ้าพระยาพระคลัง(หน)น่าจะขัดเกลาสำนวนว่า

          "เตียวหุยได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่าฤดูนี้เป็นเทศกาลหน้าแล้งถ้าหากยกทัพไป ก็เห็นหญ้าไม่พอปากม้า" (เสียงหัวเราะ-ตบมือ) นี่ล่ะวรรณกรรมล่ะ มันสร้างขึ้นมาอย่างนี้

          ทีนี้สมัยนั้นผมเข้าใจว่าท่านทำกันเฉพาะท่านที่เห็นสมควรวรรณกรรมใหญ่ๆ สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่สองแล้ว พอถึงรัชกาลที่สาม ก็ไม่เห็นมีอะไรปรากฏ ก็มีประเภทเพลงยาว ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ก็จะหมดยุคกันไป"

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]