คอลัมน์ มุมศึกษาหาความสุข: "เด็กบันดาลใจ"สู่ "Spark U: ปลุก ใจ เมือง" (ประกวดสื่อ) - สยามรัฐ

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 27 กรกฎาคม 60 / อ่าน : 2,473


 "เด็กบันดาลใจ"สู่ "Spark U: ปลุก ใจ เมือง"

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับภาคีเครือข่ายภายใต้ แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ได้แก่ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.)แผนงานสื่อศิปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพและแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกันดำเนินโครงการ "Spark U: ปลุกใจเมือง" ใน 3 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ เพื่อถ่ายทอดพื้นที่สร้างสรรค์ ต้นแบบที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่นๆ ให้มาร่วมขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคมจิตใจและปัญญานั่นหมายถึงสุขภาวะที่ยั่งยืน
          เกิดมาจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ "เด็กบันดาลใจ" เมื่อ 2 ปีที่แล้วขยายผลแนวคิด "สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์" ไปทั่วประเทศ
          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองว่า "Spark U: ปลุก ใจ เมือง" จะช่วยให้เยาวชนในประเทศไทยที่เสพติดการใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน และยังมีแนวโน้มไปในทางที่มากขึ้นเรื่อยๆ หันมาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น การหมกมุ่นอยู่กับหน้าจอนานๆ นั้นส่งผลทั้งทางด้านอารมณ์ ด้านพัฒนาตนเอง ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนเหล่านี้เกิดความตระหนักถึงการเรียนรู้ที่จะใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ให้เป็นภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อการนำมาปรับใช้กับท้องถิ่นของตนเองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
          "ก่อนหน้านี้  สสส.ได้มีโครงการ มหกรรมสื่อพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตอน "เด็กบันดาลใจ"โดยใช้ยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะอย่างจริงจังมายาวนานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น การให้เด็กบอกถึงข้อดีในชุมชนของตนเองและได้ทำสิ่งที่ดีให้กับชุมชนในเรื่องใดบ้าง สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจแรกเริ่มที่ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและพัฒนาต่อยอดจาก 1 คนเป็น 2 คน รวมตัวผนึกกันไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าการขับเคลื่อนเป็นไปอย่างต่อเนื่องนี้เอง สสส.อยากให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ กับพื้นที่ชุมชนสถานที่สำคัญในภูมิภาคของตนเอง แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ใหญ่ เยาวชนและคนในพื้นที่ทำงานอย่างจริงจังจึงจะสำเร็จ" ผู้จัดการ สสส. กล่าวด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า การจัดโครงการครั้งนี้ สสส.ใช้ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี หมายถึงการตื่นรู้และมีส่วนร่วมในพื้นที่เป็นการดึงพลังเชิงบวกของเด็ก เยาวชน ครอบครัวมาร่วมขับเคลื่อน
          โดยใช้สื่อ หนังสือและพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ และมองเห็นความเป็นเอกลักษณ์ ในพื้นที่ของตนเอง ได้ศึกษาหาความรู้จากสื่อที่ดี นำมาพัฒนาพื้นที่ของตนเองจนสำเร็จ
          "สสส.มีภาคีเครือข่ายต้นแบบศูนย์กลางขับเคลื่อนงานในแต่ละภาค เช่น ภาคเหนือนำโดยจังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้นำโดยจังหวัดสงขลา ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำโดยจังหวัดขอนแก่นซึ่งจังหวัดเหล่านี้ได้สร้างพื้ นที่ต้นแบบของตนเองเพื่อนำร่องเป็นแบบอย่างให้จังหวัดในภูมิภาคมาศึกษาดูงาน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในชุมชนของตนเอง โดยจะแทรกซึมลงไปในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเกิดพัฒนาจากชุมชนและสู่จังหวัดไปจนถึงระดับภูมิภาค" ดร. นพ.ไพโรจน์  กล่าวอีกท่านหนึ่งนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า แผนงานฯ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นแกนกลางของทางภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโครงการที่สสส.ร่วมขับเคลื่อนนี้เป็นการจุดประกายหัวใจคนในพื้นที่จนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์  เข้าไปกระตุ้นคน ชุมชน และความคิด
          โดยร่วมกันนำบทเรียนความรู้ มาใช้ในพื้นที่จริงเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่นโครงการปลุกเมืองฝายพญาคำ โดยฝายนี้ได้ทำเป็นคลองขุด ส่งน้ำที่ได้จากการปิดกั้นทางน้ำในพื้นที่ซึ่งมีระดับสูงด้วยฝายหรือเขื่อนทดน้ำ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยล้านนาที่ดัดแปลงใช้ประโยชน์จากลักษณะกายภาพของลำน้ำ และที่ราบในภาคเหนือที่มีความลาดเทมาก เราเรียกว่าระบบเหมืองฝาย
          "ก่อนหน้านี้เหมืองฝาย เคยเป็นฝายโบราณที่สุดในภาคเหนือที่ถูกทอดทิ้งมานาน เราช่วยกันพัฒนาดูแล จนทำให้เกิดห้องสมุดมีชีวิต เด็กๆ เกิดแหล่งเรียนรู้เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นประชาชนในพื้นที่ก็ดำรงอยู่ได้ ด้วยการบริหารจัดการจากชุมชนท้องถิ่นโดยแท้ทำให้เห็นถึงกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำขอประชาชนที่มีประสิทธิภาพในอดีตแล้วนำมาประยุกต์ใช้จนถึงปัจจุบันโดยแท้จริง" นางสุดใจ กล่าว
          สุดท้ายนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศตัวแทนภาคเหนือ เล่าว่า สสส.เข้ามาช่วยสนับสนุน ปลุกคนที่ทำงานในแต่ละภาคส่วนให้มาร่วมมือขับเคลื่อนโครงการนี้ เป็นตัวจุดประกายและเป็นสื่อกลางที่ช่วยสื่อสารและนำบุคคลที่มีความรู้เข้ามาช่วยทำให้ประชาชนสนใจและอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของตนเอง ทำให้เยาวชนในพื้นที่ได้เข้ามาศึกษาจนเกิดความรักความหวงแหนในพื้นที่ของตนเองเกิดความคิดระดมสมองช่วยกันสร้างและดูแลฝาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เยาวชนชาวบ้านตื่นขึ้นมาในทุกเช้า เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต่อไปในพื้นที่อื่นๆ



     บรรยายใต้ภาพ 
          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
          ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
          สุดใจ พรหมเกิด
          ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]