ผนึกพลังเยาวชน'ปลุกใจเมือง' สร้างแหล่งเรียนรู้ ขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ (spark U) - มติชน

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 27 กรกฎาคม 60 / อ่าน : 2,187


ผนึกพลังเยาวชน'ปลุกใจเมือง' สร้างแหล่งเรียนรู้ ขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ


"พื้นที่สร้างสรรค์" เป็นเรื่องสำคัญของสังคม โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน
          แต่พื้นที่ดังกล่าวในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะพื้นที่สร้างสรรค์ในระดับชุมชน ประกอบกับเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ดึงความสนใจของเด็กและเยาวชนไป ส่งผลให้ชุมชนขาดการเชื่อมโยงระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
          ด้วยเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ร่วมปฏิบัติการเปลี่ยนเมืองด้วยสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ภายใต้โครงการ "Spark U : ปลุกใจเมือง" โดยมีภาคีเครือข่าย 3 ภูมิภาค ร่วมสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบที่เอื้อต่อสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่นๆ ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเป็นสังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน
          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กและเยาวชนปัจจุบันมีแนวโน้มใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จนบางคนมีภาวะติดสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาวะในทุกมิติ จึงต้องสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ใจ อารมณ์ สังคม และปัญญา ให้เด็กเยาวชนเป็นพลเมืองตื่นรู้ และนักสื่อสารสุขภาวะที่มีความรับผิดชอบและสำนึกต่อส่วนรวม
          นพ.ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. บอกว่า โครงการนี้มุ่งหมายให้เด็กและเยาวชนที่เป็นพลังของคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาแก้ปัญหาชุมชน ภายใต้สังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยดำเนินการภายใต้แนวคิด 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิปัญญาดี เปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชน ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยหลักการแล้วเราพยายามสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจตื่นรู้ปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมแล้วมาช่วยกันทำงาน รวมถึงการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะได้อย่างมีพลังและเป็นต้นแบบของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะกระจายออกไปครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาค
          ซึ่งปฏิบัติการ "ปลุกใจเมือง" ขับเคลื่อนไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยแต่ละพื้นที่มีผู้ให้การสนับสนุน เป็นพี่เลี้ยงจุดประกายการมีส่วนร่วมของเด็กจำนวนมาก
          ดังเช่น  สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการในภาคเหนือ ซึ่งได้เลือกพื้นที่ จ.เชียงใหม่
          สุดใจเล่าว่า ถ้าวิเคราะห์ผลสำเร็จจะเห็นว่าครอบคลุมตั้งแต่การสปาร์กพื้นที่ทางกายภาพ แม้กระทั่งชุมชนเล็กก็มีการออกแบบที่น่าสนใจให้คนเล็กคนน้อยในพื้นที่มีส่วนร่วม ช่วยกันทำให้เมืองมีความน่าสนใจ อย่างโครงการ "เตวแอ่วเวียง" เป็นโครงการจุดประกายหัวใจชาวชุมชนให้ลุกขึ้นปรับภูมิทัศน์ ปิดถนน เดินชมวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ดำรงอยู่อย่างงดงาม จนก่อเกิดกิจกรรมดีๆ ตามมามากมาย ซึ่งเด็กเล็กก็มีส่วนร่วมอย่างเช่นการเก็บขยะ ส่วนวัยรุ่นก็มาร่วมในการออกแบบ เป็นต้น
          "ข้อโดดเด่นอีกเรื่องคือ พื้นที่ทางความคิด ที่มีการชวนคิด ชวนคุย มีการเปิดเวทีเสวนาเยอะมาก ทำให้หลายพื้นที่เกิดแผนแม่บทไปกระตุ้นให้เกิดพื้นที่นโยบาย เช่น การรวมตัวเพื่อฟื้นฟูฝายพญาคำ ให้เกิดภูมิปัญญาการจัดการน้ำ ใน 8 ตำบลร่วมกัน โดยกลุ่มเด็กนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นวิชาท้องถิ่นอีกด้วย" สุดใจยกตัวอย่างกิจกรรมสปาร์กยูที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ
          ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมี เข็มพร วิรุณราพันธ์ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เป็นผู้ขับเคลื่อน ระบุว่า ภาคใต้มีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง มีการระดมความคิดความเห็นจากเครือข่ายที่มีอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งมองว่าสปาร์กยูครั้งนี้ไม่การสปาร์กวาบ ขึ้นมาแล้วจบไป แต่จะต้องมีความต่อเนื่อง เป็นตัวจุดประกายและมีพลังคงอยู่ต่อไป ซึ่งตรงนี้นำมาสู่ความคิดว่าความหวังของภาคใต้ ที่จะทำให้เกิดความสุขนี้คืออะไร ซึ่งคำถามก็ลงมาที่ "เยาวชน"
          "สปาร์กยูครั้งนี้ จึงเป็นการออกแบบกระบวนการและเดินเรื่องทั้งหมดมาจากเยาวชน ซึ่งมีการดำเนินการหลายกลุ่ม โดยให้เยาวชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาคใต้ผ่าน 3 ห้องเรียน หัวใจเมืองใต้ ได้แก่ ห้องเรียนฐานทรัพยากรพื้นที่ภาคใต้ ห้องเรียนภูมิปัญญา นวัตกรรม และห้องเรียนอัตลักษณ์ พหุวัฒนธรรม เน้นให้เยาวชนเรียนรู้จากการลงพื้นที่ ลงมือปฏิบัติจริง และแลกเปลี่ยนความรู้กันข้ามพื้นที่ และในกระบวนการเรียนรู้นี้จะดึงคนหลากหลายทั้ง ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ คนในพื้นที่เข้ามาร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนด้วย" เข็มพรอธิบายและว่า สุดท้ายเยาวชนจะมาร่วมกันออกแบบว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จะนำมาสู่การสื่อสารสังคม และสปาร์กให้ผู้ใหญ่หรือหน่วยงานต่างๆ ในสังคมได้เรียนรู้ตรงนี้ต่อไป

 

ขณะที่ ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม ผู้ขับเคลื่อนโครงการในภาคอีสาน ระบุว่า ในระดับพื้นที่จริงๆ เรามีศักยภาพอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องหาจุดทดลองปฏิบัติการใหม่ โดยกระบวนการของเครือข่ายซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ โดยแบ่งกันดูแล ในส่วนของภาคอีสาน เราคำนึงถึงภาคีที่มีศักยภาพ มีการชี้เป้ามาที่ จ.ขอนแก่น แต่เราพยายามหาพื้นที่ใหม่ในการปฏิบัติการปลุกใจเมือง ก็มีการลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชน เทศบาล แกนนำเยาวชน และภาคีเครือข่าย จนได้พื้นที่ปฏิบัติการ 6 พื้นที่
          "อย่างชุมชนท่าพระ เป็นชุมชนโบราณ มีเอกลักษณ์ในเรื่องของพื้นที่สถานีรถไฟเก่า ที่กำลังจะถูกรื้อทิ้ง เพื่อทำรถไฟทางคู่ ก็มีการพูดคุยและปลุกใจคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการรักและหวงแหน แล้วรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับผู้ใหญ่ในชุมชน โดยย้ายสถานีรถไฟเก่ามาปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน"

 

          ดนัยอธิบายอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นใน จ.ขอนแก่น ก็มีการพูดคุยกันอีกว่าเครือข่ายภาคอีสาน 20 จังหวัด มีพื้นที่ไหนอยากทำอีกบ้าง ก็ได้รับผลตอบรับดี อย่างที่ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ซึ่งมีความแห้งแล้งและขาดพื้นที่สร้างสรรค์ ก็มีกลุ่มศิลปวัฒนธรรมร่วมกับชาวบ้านเอากระติ๊บข้าวเหนียวมาทำเป็นหุ่นกระบอกหุ่นมือ พัฒนาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน
          และทิ้งท้ายว่า โครงการนี้ทำให้เยาวชนเปลี่ยน ชุมชนเปลี่ยน ด้วยพื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยสื่อ ด้วยกิจกรรม ด้วยสิ่งที่เป็นนโยบายของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากจะเห็น นั่นคือการ ปลุกใจเมือง

 

          บรรยายใต้ภาพ 
          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
          บรรยากาศในงาน
          บรรยากาศการสัมมนา
          นิทรรศการกิจกรรมปลุกใจเมือง ภาคเหนือ-ภาคใต้
          หุ่นกระบอกหุ่นมือ แหล่งเรียนรู้ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม กิจกรรมปลุกใจเมือง ภาคอีสาน



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]