คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ทุ่งสงสู่สงขลา

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 25 กรกฎาคม 60 / อ่าน : 2,333


โดย  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

          ช่วงวันที่ 5-9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไปร่วมงานวัฒนธรรมที่ทุ่งสง นครศรีฯ กับสงขลา นครใน

          สงขลา นครใน คือย่านเก่าของเมืองสงขลานั่นเอง

          ที่ว่างานวัฒนธรรมนี่ก็เป็นงาน "ต่อเนื่อง" มาตั้งแต่สมัย "สมัชชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ" ที่มี คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน ครั้งรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี กับอีกคณะกรรมการปฏิรูป มี คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จนได้วาทะสรุปที่ว่า

          ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

          ตลอดสามปีของวาระปฏิรูปช่วงนั้น คณะสมัชชาศิลปินเพื่อการปฏิรูป ซึ่งเราเป็นประธานได้ขยายพื้นที่นำร่องทั่วประเทศทั้งสี่ภาค

          จนมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีโอกาสทำงานด้านนี้ต่อ ซึ่งเน้นนำร่องเรื่อง "เปิดพื้นที่" จากฐานที่มีมาต่อเนื่อง

          งานวัฒนธรรมที่ทุ่งสง ดูจะเป็นงาน "ต่อเนื่อง" ทางวัฒนธรรมที่สมบูรณ์แบบทางโครงสร้างที่สุด

          โดยมี "ดุลยภาพ" ของ "สามภาคส่วน" เป็นหลัก คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) ภาคประชาสังคม

          ที่เลือกทุ่งสงเป็นพื้นที่ "นำร่อง" งานวัฒนธรรมของภาคใต้ก็เพราะทุ่งสงเป็นศูนย์กลางหรือ "ตัวร่วม" ของพื้นที่ภาคใต้ได้หมด สมเป็น "ชุมทาง" โดยแท้ คือสุดภาคใต้ตอนบนจากชุมพรลงมายังทุ่งสง ซึ่งจากทุ่งสงก็จะแยกลงใต้ฝั่งทะเลฟากออก-ตก คือฝั่งตะวันตกรวมหมดทั้งกระบี่ ตรัง พังงา ฝั่งตะวันออกก็ตั้งแต่นครศรีฯ พัทลุง สงขลา ยันยะลา ปัตตานี นราธิวาส

          ดังเส้นทางเศรษฐกิจเดิมมีรถไฟมาร่วมชุมทางทุ่งสงนี้

          ทุ่งสงจึงเหมาะเป็น "พื้นที่ทางวัฒนธรรม" อันแปรจากคุณค่าเป็นมูลค่าทางสร้างสรรค์ได้อย่างมีศักยภาพยิ่ง ด้วยเป็นศูนย์กลางทั้งเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สามารถประมวลหรือนำ "ทุนทางวัฒนธรรม" ทั้งหมดของภาคใต้มาแปรเป็น "มูลค่าทางเศรษฐกิจ" อย่างสร้างสรรค์ได้เต็มที่ นอกเหนือไปจากที่มีอยู่แล้วในแต่ละพื้นถิ่นของทุกจังหวัดภาคใต้นั้น

          คุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศ มนตรีทุ่งสง เป็นนายโรงผู้เข้มแข็งของ งานนี้

          เรื่อง "เปิดพื้นที่" งานศิลปวัฒนธรรมนี้กล่าวได้ว่าเป็นงาน "ต่อเนื่อง" ส่งผลมาบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้ในมาตรา 57

          มาตรา 57 รัฐต้อง

          (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

          งาน "เปิดพื้นที่" จึงเป็นงาน "นำร่อง" ด้านศิลปวัฒนธรรม ดังจะมีทุ่งสงและที่อื่นๆ เป็นตัวอย่างนำร่องในแต่ละภาคต่อไป

          พิเศษของทุ่งสงคือการนำ "คุณค่า" ทางวัฒนธรรมภาคใต้ซึ่งเป็น "ทุนวัฒนธรรม" อันมีอยู่อุดมสมบูรณ์ดังกล่าวมาแปรเป็น "มูลค่า" ทางเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ อย่างไร...ต้องตามดูกันต่อไป

          มาทุ่งสงครั้งนี้ก็เพื่อการณ์นี้ และต้องมากันอีกหลายๆ ครั้ง อย่าเพิ่งด่วนสรุปเลยนะ

          ที่สงขลานี้ก็เป็นอีก "พื้นที่" หนึ่ง เป็นเฉพาะถิ่น ด้วยเริ่มมีการเปิด "หอศิลป์สงขลา" ดังเมื่อก่อน จะลงใต้เที่ยว นี้ได้มีการเปิด "หอศิลป์เมืองกาญจน์" ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา

          หอศิลป์สงขลานั้นเป็นของเอกชน คือ คุณธีรพจน์ จรูญศรี ได้สร้างหอศิลป์ชื่อ ART MILL นำเอาโรงสีเก่ามาแปลงเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายรวมทั้งจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานศิลปวัฒนธรรมเท่าที่จะพึงทำได้ เช่นเดียวกับหอศิลป์เมืองกาญจน์นั้น หากหอศิลป์สงขลานี้เปิดมาก่อนตั้งแต่เดือนมีนาคมต้นปีที่ผ่านมานั้น

          ครั้งนี้จัดกิจกรรม "อ่านกวี" มีแสดงดนตรีของครูควน ทวนยก ครูปี่พื้นบ้านภาคใต้ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติ

          เป้าหมายของงานครั้งนี้คือ จะยกย่องบุคคลสำคัญของสงขลาท่านหนึ่งที่คนไทยรู้จักดี คือนักเขียนบรมครู นามปากกา "อิงอร" เจ้าของงานนวนิยายตรึงใจหลายเรื่อง เช่น นิทราสายัณห์ ดรรชนีนาง ธนูทอง ฯลฯ รวมทั้ง เพลงอมตะ เช่น เดือนต่ำดาวตก หนาวตัก รักเธอเสมอ ฯ ซึ่งครองใจทั้งเป็นละครเวทีและภาพยนตร์

          นามจริงของท่านคือ ศักดิ์เกษม หุตาคม หนังสือเล่มหนึ่งที่ยืนยันความเป็นคนสงขลาของท่านคือ "ดอกอ้อจากสงขลา"

          ผู้ประสานงานสำคัญคือ คุณสถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ พร้อมนักธุรกิจผู้รักงานศิลปวัฒนธรรมคนสำคัญของสงขลาอีกสองท่านคือ คุณกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธุ์ และ คุณสมชาย พิจิตรบรรจง

          รวมทั้งกวีใหญ่น้อยของสงขลามาร่วมอ่านกวีอย่างมีชีวิตชีวายิ่ง นำโดยกวีหมี่เป็ด คือ มนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์

          อิงอรเกิดวันที่ 17 พฤษภาคม 2461 ถึงแก่กรรมเมื่อ 21 ธันวาคม 2529 ครบสามสิบเอ็ดปีมรณกรรมเดือนธันวาคมปีนี้ และครบรอบร้อยปีพฤษภาคมปีหน้าพอดี

          ขอชื่นชมชาวสงขลาที่ยังระลึกถึงคน ดีของสงขลาผู้ถ่ายทอดจิตวิญญาณอย่าง ได้อารมณ์ของสงขลาในบทประพันธ์ บท เพลง และการแสดงไว้เป็นอมตะในนามของ "อิงอร"

          นี่เป็นอีก "พื้นที่" หนึ่งของงานศิลปวัฒนธรรม.




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]