คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เก้าสิบเก้าปี 'อิงอร'

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 25 กรกฎาคม 60 / อ่าน : 4,541


โดย  เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์


          รุ่นเราที่สนิทชิดเชื้อกันเรียก "อิงอร" ว่า "คุณอาว์อิงอร" เพราะอิงอรให้ความเป็นกันเองเหมือนญาติอย่างเป็น อาว์จริงๆ ของพวกเราจนพลอยเรียก "คุณอาว์อิงอร" ได้สนิทปาก

          โดยส่วนตัวนั้น คุณอาว์อิงอรเรียกเราว่า "พราหมณ์" และเราก็เรียกคุณอาว์อิงอรว่า "ปุโรหิต" เป็นที่รับรู้กันระหว่างเรา

          ชื่อจริงของอิงอรคือ ศักดิ์เกษม หุตาคม เกิดวันที่ 17 พฤษภาคม 2461 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2529 อายุ 68 ปี

          งานประพันธ์ในนามปากกา "อิงอร" นั้น มีทั้งนวนิยายและบทเพลงที่เป็นอมตะ ด้านนวนิยาย เช่น เรื่องนิทรา-สายัณห์ ดรรชนีนาง ฯลฯ ผลงานเพลง เช่น รักเธอเสมอ ดรรชนีไฉไล หนาวตัก เดือนต่ำดาวตก ฯลฯ

          ฉายาของอิงอรคือ "ปากกาจุ่มน้ำผึ้ง" ด้วยสำนวนหวานหยาดเยิ้มประทับใจผู้อ่านยิ่งนัก

          สำนวน "ปากกาจุ่มน้ำผึ้ง" นี้ ชาวชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์นำมานิยามให้กับ คุณทวีสุข ทองถาวร ว่า

          ทวีสุขทองถาวรนักกลอนหนุ่ม

          ปากกาจุ่มน้ำผึ้งแล้วจึงเขียน

          งานประพันธ์หลายเรื่องกลายเป็นบทละครทั้งเวทีและภาพยนตร์ประทับใจของยุคสมัยเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ โดยมีทีมงานร่วมสร้างสรรค์ฝีมือชั้นเทพอมตะร่วมสมัยหลายคน เช่น สมาน กาญจนะผลิน ส.อาสนจินดา ฯลฯ

          ทั้งเรื่องและเพลงร้องรวมทั้งการแสดงที่ขึ้นถึงความเป็นศิลปะนั้นได้เสกภาพฝันให้กลายเป็นจริงจนสะกดสังคมให้เกิดรสนิยมร่วมสมัย ที่เรียกว่ายุค "โรแมนติก" อย่างมีนัยยะสำคัญทางสังคมเอาเลยทีเดียว

          คุณอาว์อิงอรเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยวัยมัธยมเรียนอยู่โรงเรียนมหาวชิราวุธที่สงขลานั้น ครั้งหนึ่งในชุดลูกเสือมีภาระต้องไปเข้าแถวรายล้อมหาดสมิหลา ทำหน้าที่ดังกองเฝ้าพิทักษ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระดำเนินเล่นบนหาดทราย ชายทะเลระหว่างทิวสนกับทะเล เป็นภาพประทับใจติดอยู่ในความทรงจำจนนำมาเป็นความบันดาลใจแต่งนิยายเรื่องดรรชนีนาง และนิทรา-สายัณห์ อันลือลั่นนั้น

          นี่เป็นอัจฉริยะของศิลปินโดยแท้ คือเก็บเอาภาพประทับใจมาสร้างสรรค์งานศิลปะและนำเสนอต่อประชาชนจนกลายเป็นงานอมตะแห่งยุคสมัยได้จริง

          โดยเฉพาะภาพประทับใจที่เป็นแรงบันดาลใจจากปากคำของคุณอาว์อิงอรโดยตรงนี้มีค่ายิ่งนัก สมควรจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยอย่างมีชีวิตชีวาได้เลย

          เพลงเดือนต่ำดาวตก จากทำนองเพลงพม่าแปลงนี้ก็ไพเราะนัก ลองฟังดู

          เดือนต่ำดาวตกวิหคร้อง คล้ายเสียงน้องครวญคร่ำ พร่ำเฉลย สารภีโชยกลิ่นเรณูเชย เหมือนพี่เคยจูบเกศแก้วกานดา หอมระรวยรวยชื่นระรื่นจิต ถวิลคิดครั้งเมื่อขนิษฐา สละศักดิ์ฐานันดรดวงดอกฟ้า ต้องหนีหน้าวงศ์ญาติมาด้วยกัน ณ เวิ้งอ่าวชายฝั่ง ณ ที่นี้ น้องช่วยพี่สร้างห้องหอสวรรค์ กระท่อมน้อยคอยเตือนเพื่อนผูกพัน ระลึกวันฝันสวาทอนาถรัก ฯ

          ทั้งละครและเพลง รวมทั้งที่มาที่ไปดังคำบอกเล่าของคุณอาว์อิงอรจึงเป็น "บันทึกแห่งยุคสมัย" อันล้ำค่ายิ่ง

          คุณอาว์อิงอรเป็นคนสงขลา เล่าว่าเกิดที่เกาะยอ ครั้งหนึ่งคุณอาว์อิงอรเลี้ยงข้าวยำที่บ้านกรุงเทพฯ โดยมีข้าวตัง   เป็นแผ่นกรอบ คุณอาว์เอามือบีบข้าวตังโรยหน้าบนจานข้าวยำให้แล้วว่า

          "ข้าวยำบ้านอาว์กินกันอย่างนี้ พราหมณ์ลองกินดูสิ"

          "อร่อยจริงครับปุโรหิต"

          จำได้ถึงรสข้าวยำตำรับเกาะยอของคุณอาว์อิงอรไม่ลืมจนวันนี้ กินข้าวยำทีไรก็จะนึกถึงข้าวตังทุกทีไป ไม่รู้ชาวสงขลายังกินอยู่หม่าย...

          อีกครั้งเคยนั่งรถไฟไปด้วยกัน คุณอาว์อิงอรเข้าห้องน้ำแล้ว กลับมาบอกว่า

          "พราหมณ์ไปดูวัตถุโบราณที่รถไฟเขาอนุรักษ์ไว้แน่ะ"

          ห้องส้วมประจำตู้รถทุกขบวนนั่นเองที่คุณอาว์ปุโรหิตกล่าวถึงว่าเป็นวัตถุโบราณ

          นี่ก็ผ่านวันเกิดคุณอาว์อิงอรมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่แล้ว ครบ 99 ปีย่างร้อยปีเป็นศรีศตวรรษพอดี

          น่าที่ชาวสงขลาหรือเมืองสงขลาจะได้ร่วมรำลึกถึงเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวสงขลา ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมจากความประทับใจในความเป็นลูกเมืองสงขลาด้วยประสบการณ์เลิศล้ำที่ยังไม่เคยมีใครพูดถึง และสร้างสรรค์ผลงานล้ำเลิศฝากยุคสมัยได้ถึงปานนี้

          ที่ควรมีคืออนุสรณ์สถานของอิงอรโดยรวบรวมผลงานทั้งหมดของท่าน ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และบทเพลงอันเป็นดั่งคีตกวีไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษากัน

          นี่คืองานปฏิรูปศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมสาขาวรรณกรรมที่สำคัญยิ่ง ซึ่งนี่คือหนึ่งใน

          ภูมิเมืองสงขลา.

 





ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]