คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เขมรลออองค์

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 25 กรกฎาคม 60 / อ่าน : 1,972


โดย  เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

 

          ไปเขียนแผ่นดินเมืองขะแมร์หรือเขมรมาเมื่อระหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นครั้งที่สอง คราวนี้ไปที่พนมเปญกับที่เมืองตาแก้ว พร้อมด้วยคณะทำงานเดิม บริการเดินทางสะดวกสบายของสายการบินแอร์เอเชีย ใช้เวลาราวชั่วโมงเศษๆ จากดอนเมืองถึงพนมเปญเช้าตรู่

          ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญให้เกียรติเลี้ยงอาหารกลางวันที่สถานทูตไทยพร้อมเจ้าหน้าที่ ท่านเอกอัครราชทูตคือท่านณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร และศรีภรรยาคือ คุณวราลักษณ์

          โครงการของคณะเราคือเขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับอุปถัมภ์โครงการโดยสองกระทรวงคือ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

          เป็นโครงการที่ดำเนินต่อเนื่องมาก่อนจะมีประชาคมอาเซียน เริ่มแต่เขียนแผ่นดินไทย แผ่นดินลาว แผ่นดินเวียดนาม แผ่นดินมาเลเซีย แผ่นดินเมียนมา และขณะนี้คือแผ่นดินกัมพูชาหรือขะแมร์หรือเขมรวันนี้

          ตั้งใจจะเขียนแผ่นดินอาเซียนหรืออุษาคเนย์ทั้งสิบประเทศตามวาระและโอกาสอำนวย

          ขอแทรกชื่อกลุ่มประชาคมอาเซียนเพื่อจำง่ายๆ ดังนี้คือ มาเลย์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ไทย

          ฟิลิปปินส์ อินโด สิงคโปร์ บรูไน

          หกประเทศแรก เป็นแผ่นดินใหญ่ คือ สุวรรณภูมิ

          สี่ประเทศหลัง เป็นเกาะ คือ สุวรรณทวีป

          ที่ว่าตั้งใจจะเขียนแผ่นดินทั้งสิบประเทศตามวาระโอกาสก็เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้

          เช่น บางประเทศเอื้อให้เขียนได้หมดจากเหนือจรดใต้ เช่น ไทย ลาว เวียดนาม

          บางประเทศ เช่น เมียนมาหรือพม่านั้นบางช่วงสถานการณ์ไม่อำนวยให้สามารถไปได้ทั่ว จึงไปได้แค่ครึ่งประเทศ ที่เหลือคงต้องรอโอกาส ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกหลายประการ

          เงื่อนไขสำคัญคือความร่วมมือจากผู้อุปถัมภ์โครงการทั้งภาครัฐและเอกชน

          ที่จริงประชาคมอาเซียนควรมีโครงการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมให้หลากหลายเพื่อความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างประชาคมกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะงานศิลปะที่สร้างสรรค์ผ่านศิลปินของแต่ละประเทศ

          ด้วยมีแต่งานศิลปะเท่านั้นที่เข้าถึงจิตใจของคนได้ดีที่สุด

          หลักการสำคัญของประชาคมอาเซียน หนึ่งนั้นคือ ความมั่นคงทางสังคม คือด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งดูจะมีอยู่น้อยนัก

          นี่ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่โครงการเขียนแผ่นดินยังต้องดำเนินไปแบบ "เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง"

          แล้วเราก็ "เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง" อยู่ที่เมืองขะแมร์ช่วงฝนกระหน่ำฉ่ำฟ้าตลอดสี่วันนี้

          พนมเพ็ญก็คือภูเขาที่ชื่อเพ็ญ พนมคือภูเขา ตั้งอยู่กลางเมือง ตำนานว่า นางเพ็ญเป็นผู้มาสร้างวัดอยู่บนภูเขานี้ จึงชื่อว่าวัดนางเพ็ญ หรือวัดพนมเพ็ญ มีรูปปั้นเป็นอนุสาวรีย์อยู่หน้าวัดและหลังโบสถ์บนยอดดอยนั้นเอง

          สิ้นยุคเมืองพระนครก็ย้ายเมืองหลวงจากเสียมเรียบมาที่พนมเพ็ญแห่งนี้โดยใช้ชื่อวัดพนมเพ็ญเป็นชื่อเมือง ดั่งเป็นภูมินามมงคล

          ครั้นสะกดด้วยภาษาอังกฤษ พนมเพ็ญ เป็น PHANOMPEN จึงกลายเป็นพนมเปญไปด้วยประการฉะนี้

          พนมเปญปัจจุบันน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง การคมนาคมก็คือกรุงเทพฯ น้อยๆ นี่เอง รถหรูหรา รถเร่อร่าสามล้อสองล้อขวักไขว่กันอย่างเป็นระเบียบแม้แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟและไร้ตำรวจจราจร ตรงนี้น่าจะต่างจากกรุงเทพฯ เรา

          ตื่นตายิ่งคือย่านเมืองใหม่ที่เรียกเกาะเพชร ซึ่งขยายที่ไปริมน้ำโดยถมพื้นจนเป็นทำเลกว้างใหญ่มีแม่น้ำชื่อ "มาซัก" ลิ้นไทยก็คือ "ป่าสัก" แม่น้ำนี้ไหลล้อมอ้อมเกาะเพชร มีสะพานข้าม และสะพานนี้เองที่เป็นข่าวเกิดอุบัติเหตุในงานเดือนสิบสอง คนตายนับร้อยเมื่อสักสองปีที่แล้ว

          พนมเพ็ญวันนี้เริ่มมีตึกระฟ้า อาคารเก่ากำลังถูกทุบเพื่อถอดรูปเป็นทรงใหม่ กำลังจำแลงบางทำเลเป็นอย่างย่านชองเอลิเซ่แบบปารีส เป็นยุโรปน้อย เป็นอะไรแบบว่า...สากลแหละนะ

          ทุนใหญ่ที่กำลังโถมเข้ามามีทั้งจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ต่างล้วนกำลังตบแต่งแปลงโฉมใหม่ให้พนมเปญได้เป็น "เขมรลออองค์" ดังชื่อเพลงไทยไพเราะนั้น

          แต่ดูเหมือนจะยังแต่งตัวไม่เสร็จดี พนมเปญวันนี้จึงรุงรังอยู่กับความหรูหราและเลิศหรูอย่างรุ่งริ่งชอบกล...เอ๊ะยังไง

          ต้นทุนมหาศาลของพนมเปญคือมหานทีที่ชาวขะแมร์เรียก "จตุมุข" คือการบรรจบกันของแม่น้ำสี่สาย ซึ่งที่จริงแค่สามสาย คือ น้ำโขง น้ำโตนเลสาบ และน้ำป่าสัก หากน้ำโขงมีสองส่วนคือตอนบนกับตอนล่าง จึงกลายเป็นสี่แพร่ง ดังชื่อจตุมุขนั้น

          สามน้ำที่บรรจบกันนี้เป็นน่านน้ำกว้างใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์นัก น้ำโขงนั้นเหมือนไหลมาจากฟากฟ้าป่าหิมพานต์ ต้นน้ำกำเนิดที่จีนและถิ่นหิมาลัย เปรียบเป็นมังกรไหลผ่านลาว ไทยและกัมพูชา เปรียบเป็นนาคล่วงเข้าเวียดนามออกมหาสมุทร แยกเป็นแม่น้ำอีกเก้าสาย เรียกมังกรเก้าหัว ตอนผ่านพนมเปญนี่แหละพิเศษตรงที่มาสบกับสายน้ำใหญ่ที่ไหลมาจากแหล่งน้ำใหญ่ชื่อโตนเลสาบ ซึ่งกว้างราวสี่สิบกิโลเมตร ยาวถึงราวหนึ่งร้อยเจ็ดสิบห้ากิโลเมตร เปรียบดัง "พระทอง" แห่งแผ่นดินได้พบพ้องกับ "นางนาค" คือน้ำโขง อันเป็นตำนานกำเนิดแห่งกัมพูชาดึกดำบรรพ์

          คำ "โตนเลสาบ" แปลว่า "บึงน้ำจืด" โตนเลแปลว่าบึงน้ำ สาบ หรือ ซ้าบ แปลว่าจืด

          เราหลงเข้าใจว่า โตนเล คือทะเล พลอยเรียกเป็นชื่อ "ทะเลสาบ" ว่าหมายถึงชื่อเฉพาะของทะเลน้ำจืดนั้น

          ที่แท้โตนเลไม่ใช่ทะเล แต่เป็นบึงน้ำ เขมรเรียกทะเลว่าสมุทร

          อ้อ อย่างนี้เอง.

 





ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]