ดนตรีพื้นบ้านสานสายใยรักสู่ชุมชน

หมวดหมู่ เหนือ , โดย : admin , 5 สิงหาคม 59 / อ่าน : 2,822


“สมานไมตรี สืบทอดวิถีชุมชนด้วยดนตรีพื้นบ้าน” โปงลางบรรเลงดนตรีศิลปะพื้นบ้านลูกอีสานที่สะท้อนความหวังของชุมชนอำเภอโพธิ์ศรีให้กลับมารวมเป็นหนึ่งอีกครั้ง หนึ่งในโครงการเยาวชนฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน สถาบันนิเวศชุมชน อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน ที่จัดขึ้นโดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 


                   แม่น้ำมูล เป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของผู้คนในแดนอีสานมาเนิ่นนาน ปลาในแม่น้ำไม่เพียงเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ยังเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ให้คนในหมู่บ้านได้ใช้สอยกัน จนกระทั่งมาถึงปี 2537 เขื่อนปากมูลก่อสร้างแล้วเสร็จ ขวางกั้นลำน้ำมูลออกจากลำน้ำโขงเพื่อให้รัฐบาลใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า บ้างก็เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบอกให้รู้ว่าสายธารชีวิตของผู้คนที่ดำเนินมานับร้อยนับพันปีได้ขาดสะบั้นลงพร้อมกับสายน้ำที่ผันเปลี่ยน ที่สำคัญไปกว่านั้นเขื่อนยังแบ่งคนบ้านเดียวกัน ออกเป็นสองฝ่าย มองหน้ากันไม่ติด เพราะการต่อสู้ที่ดำเนินมานานหลายปี วัฒนธรรมพื้นบ้านหลายอย่างถูกลบหายไป  เสียงดนตรีเคยบรรเลงทุกเย็นก็ไม่ดังอีกต่อไป

                   บ้านค้อใต้ อยู่ในตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในชุมชนที่เคยเลี้ยงปลาจากสายน้ำมูล วัฒนธรรมหลายอย่างที่นี่สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ของคนจากคนกับน้ำ ได้ถูกขนานนามว่า “หมู่บ้านพรานปลา” พี่ริน ภารดี วิจิตรโองการ ผู้อำนวยการสถาบันนิเวศชุมชน เล่าว่า ถ้าจะเริ่มแก้ปัญหาจากผู้นำชุมชนจึงเลือกชุมชนบ้านค้อใต้เพราะมองว่าแกนนำของชุมชนนี้เป็นทั้งผู้นำที่เป็นทางการที่จะส่งผลต่อนโยบายเชิงวิชาการได้ และยังเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนโดยตรง

          พ่อทองปน ชัยคำ ผู้อาวุโสแห่งบ้านค้อใต้ ทั้งปราชญ์ชาวบ้านและแกนนำคนสำคัญที่ประสานความเข้าใจให้กับคนในชุมชน เมื่อพี่ริน ได้เข้ามาพูดคุยถึงเรื่องการพลิกฟื้นหมู่บ้าน ก็ได้รับความร่วมมือจากพ่อทองปน แม้จะล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี พ่อทองปนยังบอกอีกว่า “ถ้าไม่มีวัฒนธรรม แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้ถึงจะยังมีคนอยู่มันก็ไม่มีค่า” ในช่วงที่ต่อสู้หลายคนคิดว่า เด็กอาจจะไม่ถูกผลกระทบจากผู้ใหญ่มาก แต่พอเด็กๆ มีกิจกรรม เช่นแสดงละคร จึงได้เห็นว่าเด็กสื่อพฤติกรรมความขัดแย้งออกมา ด้วยการเอาเรื่องของผู้ใหญ่ที่ทะเลาะกันออกมาเล่า ด้วยเหตุนี้เองการผสมผสานระหว่างการทำงานเยาวชนกับงานวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น โดยมีแนวคิดให้เด็กๆ เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรม พร้อมกับเป็นตัวเชื่อมร้อยชุมชนเข้าด้วยกัน

      “กลุ่มเด็กทานตะวัน” จึงถือกำเนิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2544 มีสมาชิกเพียง 7-8 คนและเป็นลูกหลานของชาวค้อใต้ทั้งหมดมาเข้าโครงการเยาวชนฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในนามของยุทธศาสตร์ สื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนบ้านค้อใต้ โดยได้เลือกเอาหมอลำและโปงลางมาอบรมแก่เด็กๆ เพราะดนตรีพื้นบ้านนี้อยู่ในตำบลค้อใต้มานาน สมัยก่อนมีการหัดหมอลำในบ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายคนมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิชอบ ทำให้การละเล่นเหล่านี้ค่อยๆ หายไป ผ่านมา 8 ปี เด็กๆ เริ่มเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว พี่รินและพ่อทองปนผู้ใหญ่ที่เห็นการพัฒนาของเยาวชนเห็นว่าสามารถสร้างรายได้ให้พวกเขาได้จริง แต่ถ้าหากคิดเพียงเพื่อหาเงินก็จะให้ให้ศิลปะขาดความลึกซึ้ง

          เมื่อเวลาผ่านไป เด็กๆ เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น จาก 10 กว่าคน เพิ่มเป็นกว่า 60 คน แต่ก็พบอุปสรรค คือ เครื่องดนตรีไม่พอเราได้งบประมาณส่วนหนึ่งมาจาก อบต. เป็นงบประมาณที่ส่งเสริมด้านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นแต่ก็ซื้อเครื่องดนตรีได้ไม่ทั้งหมด  โดยเฉพาะไหที่มีราคาแพงมาก และทำขึ้นเองไม่ได้ ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนบ้านค้อใต้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน และยังมีกลุ่มจากเพื่อนบ้านสะพือใต้เข้ามาร่วมฝึกซ้อมในจำนวนที่ไม่แพ้กัน

    การสร้างกิจกรรมให้เยาวชนอย่างต่อเนื่องยังทำให้เยาวชนเกิดความผูกพันกับชุมชน และที่เห็นได้ชัดเจนคือเกิดความร่วมไม้ร่วมมือขึ้นในชุมชนบ้านคอใต้แม้คนที่เคยแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ก็หันหน้ามาคุยกันเพราะเห็นลูกหลานเป็นที่ตั้ง พี่รินยังทิ้งท้ายอีกว่า กว่า 10 ปีของการทำงานยังไม่เคยพบองค์กรที่ให้ทุนเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมอย่างจริงจัง แต่ สสส. เป็นองค์กรแรกที่ให้กาสนับสนุนในด้านนี้โดยตรง “คนทำงานจะภูมิใจที่เจ้าของงบประมาณมองเห็นคนข้างล่าง งบประมาณของ สสส. จะเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยเราได้อีกเยอะ”



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]