คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์: ปฏิรูปงานศิลปวัฒนธรรม

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 26 มิถุนายน 60 / อ่าน : 2,269


โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 

          "...แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อย เพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ

          "บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้

          "เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล

          "ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม

          "แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมืองการปกครองที่ยังไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย

          "ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

          "หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล...ฯ"

          ข้อความที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "คำปรารภ" ส่วนต้นจากทั้งหมดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560

          เป็นคำปรารภที่มีใจความสำคัญชวนให้คิดคำนึงถึงที่มา-ที่ไป และที่เป็นอยู่ของสถานการณ์บ้านเมืองเราในปัจจุบันได้ดียิ่ง

          พิเศษของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือเรื่องงาน "ศิลปวัฒนธรรม" ที่นอกจากยกสาระสำคัญของเรื่องนี้จากรัฐธรรมนูญฉบับร่างของ สปช. ที่ล้มไปก่อนนี้มาประมวลไว้ในฉบับนี้แล้ว

          รัฐธรรมนูญฉฐับนี้ยังเพิ่มหมวดใหม่คือ "หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ" อันไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา

          และงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญก็เป็นมาตราที่อยู่ในหมวดนี้ด้วย

          นั่นคือ

          หมวด 5 หน้าที่ของรัฐที่ว่าสำคัญ ก็คือ มีคำว่า

          "รัฐต้อง" กำกับไว้ทุกมาตรา ซึ่งมีทั้งหมด 13 มาตรา คือตั้งแต่มาตรา 51-63 อันมีเรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การสื่อสาร สิทธิของผู้บริโภค การทุจริต ฯ สำคัญคือ งานด้านศิลปวัฒนธรรมดังที่ว่าประมวลสาระสำคัญมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ สปช. นั้นคือมาตรา 57

          มาตรา 57 รัฐต้อง

          (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

          หมายความว่า ต่อไปนี้ ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนสามารถรวมตัวกันแสวงหาและร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีเด่นเกี่ยวกับงานศิลปวัฒนธรรมได้หลากหลายรูปแบบ

          พิเศษสุดคือสามารถ "จัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง..." เช่น "ลานวัฒนธรรม" "เวทีศิลปวัฒนธรรม" โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสามภาคส่วน คือ ราชการ เอกชน (ธุรกิจ) ประชาสังคม โดยเฉพาะ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

          ดังกำหนดในมาตรา 57 นั้น

          หมวด 5 หน้าที่ของรัฐนี้นอกจากมีคำว่า "รัฐต้อง" กำหนดไว้แล้ว ยังมีมาตราต้นหมวดคือ มาตรา 51 กำกับไว้อย่างสำคัญสำทับไว้ด้วยคือ

          มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

          นี่เป็นมาตรการบังคับให้ "รัฐต้อง"

          ขยายความมาตรา 57 ดังยกตัวอย่างว่าต่อไปนี้ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนสามารถรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมด้านงานศิลปวัฒนธรรมได้ตามมาตรา 57 นั้น ก็ด้วยยังมีรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ คือ

          หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

          มาตรา 42 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น

          การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการป้องกัน หรือขจัดการกีดกัน หรือการผูกขาด

          เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะรวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมดังเปิดลานวัฒนธรรมที่กล่าวในมาตรา 57 แล้ว รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้เป็น "หน้าที่" อีกด้วย ดัง

          หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย

          มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (8) ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม

          พอจะมองเห็นภาพการบริหารจัดการงานศิลปวัฒนธรรม ด้วยการ "สานพลัง" คือการมี "ส่วนร่วม" อย่างมีดุลยภาพของสามภาคส่วนคือ ราชการ เอกชน ประชาสังคม จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว

          เหลือเพียงแต่การปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น

 

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]