คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์: อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 26 มิถุนายน 60 / อ่าน : 2,442


โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 

 

          "สุนทรภู่ครูฉัน เกิดวันจันทร์ปีม้า ยี่สิบหกมิถุนา เมื่อเวลาแปดโมง"   ใครแต่งไว้ไม่รู้ จำขึ้นใจทุกปีเมื่อถึง "วันสุนทรภู่" คือ 26 มิถุนายน ปีนี้ตรงกับวันจันทร์พอดี

          "อันหม่อมฉันนั้นที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร ฯ" เมื่อคราวครบสองร้อยปีสุนทรภู่ พ.ศ.2529 สถานทูตไทยในรัสเซียจัดฉลองที่กรุงมอสโก เชิญผู้เขียนกับคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ไปร่วมงาน ก็เลยอยากเปลี่ยนวรรคท้ายกลอนของท่านสุนทรภู่ที่ว่า "เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร" เป็นดังนี้

          "เขมรลาวลือตลอดถึงมอสโก" เพื่อเผยแผ่เป็นประจักษ์ถึงเกียรติที่ท่านได้รับเป็นสากลเมื่อท่านได้ล่วงลับแล้วถึงสองร้อยปี แม้จนบัดนี้ก็เถิด กระทรวงวัฒนธรรมไทยเราได้เทิดเกียรติท่านด้วยการมอบรางวัลสุนทรภู่แก่กวีกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ด้วยคิดว่าน่าจะคงมีอยู่นะผู้รู้ท่านว่า "กวีนิพนธ์นั้นเป็นมงกุฎวรรณ กรรม"

          กลอนสุนทรภู่นั้นเป็นเพชรน้ำเอกที่ประดับมงกุฏวรรณกรรมไทยอย่างเจิดจ้า แม้จนวันนี้และวันหน้า ถ้าจะอวดอะไรที่เป็นไทยๆ แก่ชาวโลกกัน

          แล้ว กาพย์กลอนไทยนี่แหละโอ่ภูมิแก่นานาอารยประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิเลยทีเดียว

          โดยเฉพาะกลอนสุนทรภู่ สุนทรภู่ได้พัฒนากลอนไทยอันมีมาแต่เดิมให้มีจังหวะจะโคนและเสียงกลอนให้ไพเราะอย่างมีมาตรฐาน

          น่าเสียดายที่ปัจจุบันความใส่ใจในเรื่องนี้ดูจะเสื่อมลงอย่างน่าใจหาย ส่วนหนึ่งมาจากหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

          อีกส่วนก็คือ คนอ่านหนังสือกันน้อยลง อย่าว่าแต่วรรณคดีเลย หนังสือธรรมดาก็ไม่อ่านกันแล้ว

          เหมือนคำที่ว่า "คนรู้หนังสือแต่ไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนไม่รู้หนังสือ"

          บ้านเราเวลานี้มีคนไม่รู้หนังสือ เพราะไม่อ่านหนังสือมากจนน่าตกใจ

          กระทรวงศึกษาฯ ต้องมีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์การศึกษา นอกจากอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังต้องอ่านหนังสือกี่เล่มอีกอย่างมีนัยยะสำคัญ ฝากเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาด้วยละกัน

          ที่ว่ากลอนสุนทรภู่เป็นเพชรน้ำเอกประดับมงกุฎวรรณกรรมไทยอย่างเจิดจ้านั้น    ขอแจกแจงดังนี้ กลอนแปดนั้นทั้งได้สะท้อนและสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของภาษาไทยอย่างครบถ้วนในเรื่องจังหวะและเสียงอักษร

          จังหวะคือกลุ่มคำและสัมผัส เช่น

          ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย

          ยังไม่เคยเชยชิดพิสมัย

          ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย

          จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

          พระจันทรจรสว่างกลางโพยม

          ไม่เทียมโฉมนางงามพี่พราหมณ์เอ๋ย

          แม้ได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย

          ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน ฯ

          กลุ่มคำก็คือ วรรคละแปดคำ และในแต่ละ

          วรรคยังจัดกลุ่มคำออกเป็นสามช่วง คือ

          ในเพลงปี-ว่าสาม-พี่พราหมณ์เอ๋ย

          สัมผัสคือเสียงสระที่ส่งรับกันสอดคล้องดัง

          เรียกว่า คล้องจอง เช่น

          ยังไม่เคย เชย ชิด พิสมัย

          ดังคำที่ขีดเส้นใต้ไว้นั้น นี่เรียกว่า "สัมผัสใน" คือในวรรค นอกวรรค หรือระหว่างวรรค จากกลอนนี้ก็คือคำ "เอ๋ย-เคย" "สมัย-มาลัย" เป็นต้น นี่เรียกสัมผัสนอก สอดรับคล้องจองกันไปตลอด

          การสอดรับคล้องจองนี่แหละคือ "กลอน"

          เสียงอักษรนี่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยทีเดียว คือมีเสียงตายตัวเพียงห้าเสียงเท่านั้น ดังนี้ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา อันกำหนดด้วยวรรณยุกต์ซึ่งจะแปรไปตามพื้นฐานอักษรสูงกลางต่ำอีกด้วย

          ห้าเสียงนี้เป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานของภาษาไทย ทั้งนี้ ไม่นับสำเนียงพื้นถิ่นที่ผันไปตามภูมิภาค เหนือ ใต้ ออก ตก กลาง นั้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้นพิเศษ

          มีสูตรจำเสียงคำท้ายวรรคกลอนดังนี้ คำท้ายวรรคแรกใช้ได้ทุกเสียง ดังกลอนข้างต้น คำ เอ๋ย (จัตวา) โพยม (กลาง) คำท้ายวรรคสอง ห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี คำท้ายวรรคสาม-สี่ ต้องใช้เสียงสามัญกับตรีเท่านั้น

          ลองเทียบกับกลอนข้างต้นดูเถิดจะเห็นมาตราเสียงตามสูตรนี้ไม่พลาดเลย

          นี้เป็นเอกลักษณ์จำเพาะที่มีอยู่ในภาษาไทยอันกำกับไว้ด้วยจังหวะกับเสียงเป็นสำคัญ จังหวะคือสัมผัสด้วยสระและกลุ่มคำ เสียงก็คือเสียงอักษรสามัญ เอก โท ตรี จัตวา ลงตัวและตายตัวนั้น

          กลอนแปดของท่านสุนทรภู่ที่ท่านแต่งมาทั้งชีวิต ด้วยชีวิตของท่านนี่แหละ

          คือเพชรน้ำเอกประดับมงกุฎวรรณกรรมของภาษาไทยโดยแท้

 

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]