คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์: รจนาศิลาทราย

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 26 มิถุนายน 60 / อ่าน : 1,840


 

โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 


          หินที่นำมาแกะสลักลวดลายนี้เป็นหินทรายหรือศิลาทราย ซึ่งละเอียดกว่าศิลาแลงอันเหมาะจะเป็นหินใช้ตั้งแท่นตั้งฐาน

          ลวดลายจำหลักนี้ต้องเรียกว่า "สลักเสลา" ด้วยทั้ง "คมชัด" และ "อ่อนช้อย" อะไรจะปานนั้น

          เหมือนงานปูปั้นนั่นเทียว หากงานสลักเสลาบนศิลาทรายนี้ วิจิตรตระการกว่างานปูนปั้นเป็นร้อยเท่าพันทวี

          จะเห็นเด่นชัดที่ปราสาทบันทายศรี หนึ่งในปราสาทหินที่เก่าแก่และสวยงามที่สุดในยุคต้นๆ ของเขมรนั่น

          เป็นดั่งหอธรรมย่อมๆ ที่อวดลวดลายในระดับสายตาได้กระจะกระจ่างยิ่ง ลวดลายนั้นวิจิตรบรรจงเหมือนจะควักคัดปาดป้ายประจงเจียนเขียนรูปลงลายสลับซับซ้อนปานเนรมิต...ทำได้ไงนี่

          ถ้าเป็นยุคโลกดิจิตอลวันนี้ละเลิกเลยคือเลิกงุนงงสงสัยไปเลย แต่นี่เป็นสองพันปีมาแล้วนะ..ทำได้ไงๆ

          อีกที่คือปราสาทบายน ตรงแผ่นเสาหินทางขึ้นปราสาทรูปเทพอัปสรฟ้อน ซึ่งร่ายรำอยู่บนฐานดอกบัว นี่ก็พลิ้วไหวอย่างมีชีวิตชีวา บางภาพเหมือนแทบจะแตะบาทอยู่บนดอกบัวชั่วพลิกปลายเท้า

          ทั้งเอวองค์บงกชบาทนวยนาดกร กลมกลืนกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน

          เป็นองค์เอกภาพของความงามความเบาสบายโดยแท้...นี่ก็ทำได้ไง

          นี่คือประจักษ์พยานแห่งอารยสมัยของมนุษยชาติบนแผ่นดินถิ่นนี้ที่ยังดำรงอยู่

          เมื่อสิ้นสมัยนครวัด พระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดจึงมาสร้างนครธม เริ่มที่ปราสาทบายนแห่งนี้

          ก่อนหน้านี้ก็มีปราสาทบาปวนตั้งอยู่ไม่ไกลกัน หากปราสาทบายนมีเอกลักษณ์พิเศษคือสลักเป็นพระพักตร์โพธิสัตว์ คือพระอวโลกิเตศวรทั้งสี่ทิศของทุกองค์ปรางค์

          พระอวโลกิเตศวรคือสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่ยังอาศัยเค้า "อวตาร" ของฮินดู หมายถึงการแบ่งภาคมาช่วยโลก พุทธฝ่ายมหายานเรียกเป็นพระโพธิสัตว์ คือพระผู้มุ่งมาโปรดสัตว์ช่วยเหลือผู้คนให้ข้ามพ้นจากกองกิเลสกองทุกข์เป็นเป้าหมาย

          เพราะฉะนั้น ปราสาทหินทั้งมวลจึงเป็นดังสถานสถิตเทพสถิตธรรมที่สำคัญ อันจำลองมาจากหลักคิดหลักปัญญาที่เป็นปรัชญาชีวิตของศาสดานักคิดนั่นเอง

          คติพราหมณ์ พุทธนี่แหละสำคัญ หลักคือ พราหมณ์อธบิยสัจธรรมของสรรพสิ่ง คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

          พุทธ ต่อยอดนำหลักสัจธรรมนี้มาใช้เพื่อ "ดับทุกข์" ที่ในใจคนเป็นสำคัญ

          พราหมณ์เรียกสัจธรรม พุทธเรียกอริยสัจ (ธรรม) แง่เงื่อนตรงนี้แหละที่พุทธกับพราหมณ์แทบจะเป็นครรลองเดียวกัน ดังทุกวันนี้ที่คนดูจะยังแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร แถมนับถือผีเข้ามาปะปนด้วย เลยยิ่งกลายเป็น "ยำใหญ่" ใส่สารพัด

          ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยว่า ไสยะนั้นมีแต่พิธีการ พุทธนั้นมีแต่วิธีการ คือวิธีการเพื่อความดับทุกข์เท่านั้น ต่างจากนี้ย่อมไม่ใช่พุทธแท้

          ดูเขมรแล้ว "ถกเขมร" ก็จะได้เห็นสัจธรรมว่าอารยธรรมของเขมรนั้นยิ่งใหญ่ตรงที่ได้จำหลักหลักคิดสำคัญของทั้งพราหมณ์และพุทธไว้อย่างยิ่งยงนัก

          คือจำหลักเรื่องละเอียดอ่อนที่สุดเป็นนามธรรมไว้ด้วยสิ่งที่แข็งแกร่งที่สุด คือปราสาทหินไว้เป็นรูปธรรม

          และทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้รับการยอมรับจากธรรมชาติอย่างถึงที่สุด ที่ปราสาทตาพรหม ปราสาทตาพรหมที่มีต้นสำโรงยักษ์แผ่รากและกิ่งก้านสาขาดังจะเป็นกรอบเป็นกำแพงสอดเลี้ยวเข้าประสานกับหินทรายศิลาแลงอันจำหลักสลักลายร่ายข้อคติธรรมความคิดด้วยรูปธรรมความจริงที่มีธรรมชาติเป็นแม่บทใหญ่กำกับอยู่นี้

          น่าชมพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์เหล่านี้ เขารักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ดียิ่ง แต่ละต้นนั้นประมาณได้หลายคนโอบ และตระหง่านขึ้นเสียดฟ้า ท้ายอดปราสาทให้เห็นทั้งความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและหัวใจคน

          บัญชรแห่งมหาปราสาทศิลาเก่าก่อนได้เบิกบัญชรให้เห็นกัมพูชาวันนี้เป็นภาพที่ทั้ง "คมชัด-อ่อนช้อย" เช่นกัน

          กัมพูชาวันนี้มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอารยธรรมปราสาทหิน ซึ่งคัดสรรรสนิยมนักท่องเที่ยวอยู่ในตัว และวันนี้นักท่องเที่ยวยอดฮิตก็คือจีน

          นางอัปสรจีนยืนเคียงเซลฟี่กับนาง อัปสรา อยู่แทบทุกปรางค์ปราสาท จนแทบไม่รู้ว่าใครจำหลักใครกันแล้ว

          เพื่อนเขมรครั้ง "ทุ่งสังหาร" ระบายความขื่นขมทุกเข็ญอันเป็นภาพที่ตัดกันกับวันนี้ว่า

          "ตอนนั้นผมยังเด็กเลย ถูกเกณฑ์ไปทำงานผ่านภาพสยดสยองคือ ทหารแดงเอาจอบฟาดพ่อแม่เด็กตายข้างทางริมทุ่ง ทิ้งลูกสามเดือนกลิ้งเกลือกกับกองเลือด ไม่มีใครกล้าช่วย เดินกลับตอนเย็นเด็กทารกนั้นตายแล้ว...ผมยังจำติดตาจนวันนี้...

          อย่าพูดเรื่องการเมืองเลยนะ...วันนี้เราเป็นประชาธิปไตยแล้ว"

          เขาแอบสะอื้น

          นาฏลีลา

          เยื้องยาตรยุรยาตร์

          บนบัวบาทพิลาศพิไล

          เผยอบาทจะคลาดไคล

          ขยับย้ายไม่ไคลคลา

          เอวองค์ละองค์อ่อน

          มธุรธรทุกท่วงท่า

          นาดกรฟ้อนลีลา

          ประจงจีบทิพย์พิมาน

          ผันพักตร์ประไพพริ้ม

          ละไมยิ้มในวิญญาณ

          ดอกดวงลดาดาล

          ก็เบิกบานตระการกรอง

          รจนาศิลาทราย

          ละลายหินทุกแห่งห้อง

          หยาดเย็นเป็นครรลอง

          เกิดมนุษย์ ทุกมนุษย์ ฯ

 

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]