คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์: ภิกขุคือผู้ขอ

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 26 มิถุนายน 60 / อ่าน : 1,914


 

โดย เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

 

          แทบทุกเมืองในพม่าจะมีทั้งพระและแม่ชีพร้อมสามเณรและสามเณรี น่าเอ็นดูตรงสามเณรและสามเณรีตัวน้อยๆ ยังไม่สิบขวบก็มี เดินเรียงแถวบิณฑบาตกันตลอดเวลาทั้งเช้าสายบ่ายเย็น

           ตอนเช้านั้นรับบาตรอาหาร ตอนบ่ายรับบาตรอาหารแห้ง เช่น ข้าวสารและปัจจัยอื่น มีเงิน เป็นต้น รับบาตรแล้วก็จะสวดมนต์ให้พรเสียงแจ้วๆ ได้ยินอยู่เกือบตลอดเวลา

           บางเมือง เช่น เมืองปิ่นอูหวิ่น มีขอทานเดินขอทานขวักไขว่อยู่กับขบวนแถวพระเณรเหล่านี้

           ทำให้ประจักษ์ชัดถึงความหมายของคำว่า "ภิกขุ" คือ "ผู้ขอ" ภิกขุเป็นศัพท์บาลี สันสกฤตเรียกภิกษุ ดังเรารู้ว่าหมายถึงพระนั่นเอง

           ผู้รู้ท่านอธิบายว่า คำภิกขุหรือภิกษุมีรากศัพท์จาก ภิกขะหรือภิกษะ แปลว่า ขอแบ่ง คือการขออาหาร เลยได้รู้ไปถึงคำภิกขาจารคือการเที่ยวขออาหาร

           สรุป ภิกขุคือผู้ยังชีพด้วยการขอ

แต่ผู้ยังชีพด้วยการขอที่ไม่ใช่ภิกขุหรือภิกษุก็ยังมีอยู่ด้วย คือขอทาน เป็นต้น

 

          ยังมีอีกคำคือ "ภิกขเว" ซึ่งหมายถึง "ภิกษุทั้งหลาย" มักเป็นคำตรัสของพระพุทธองค์เมื่อกล่าวแก่พระภิกษุโดยทั่วไป การเดินบิณบาตของพระเณรและสามเณรีในพม่าจึงเท่ากับเป็นการสืบทอดพระจริยวัตรของพระผู้ยังชีพด้วยการขออันเป็นกิจของภิกขุโดยแท้

           น่าสังเกตคือ ในอินเดีย เนปาล และในประเทศอื่น เช่น ศรีลังกา ลาว เขมร จีน แม้ไทยเราเองก็หาได้มีจริยวัตรเช่นภิกขุในพม่าไม่

           เป็นได้ว่าประเทศอื่นนั้นนับถือและจำแนกจริยวัตรของพระภิกษุไว้เป็นพิเศษจำเพาะ เช่น ออกบิณฑบาตช่วงเช้าเท่านั้น เป็นต้น

           ต่างกับในพม่าที่พระเณรยังดำรงจริยวัตรผู้ขอตลอดเวลา ตัดค่านิยมวัฒนธรรมทางชนชั้น เรื่องยาจกขอทานออก ต้องถือว่า พม่านับถือพระพุทธศาสนาเป็นชีวิต คือถือเป็นวิถีชีวิตอยู่ในครรลองของสังคมนั่นเที่ยวเป็นขนบครรลองที่มิอาจล่วงละเมิดด้วย

          มีอยู่คืนหนึ่งที่มัณฑะเลย์ นักท่องเที่ยวฝรั่งถูกจับเหตุเพราะไปถอดปลั๊กลำโพงกระจายเสียงพระสวดมนต์ในวัดข้างโรงแรมที่พัก อ้างว่าหนวกหูรบกวนเวลาหลับนอนเขา

           ก็เลยต้องไปนอนตะราง อีกเรื่องคือ เล่าว่าในพม่านั้น คนนับถือพุทธจะไปแต่งงานกับคนต่างศาสนาไม่ได้ ส่วนคนต่างศาสนาแต่งกับผู้นับถือพุทธได้ โดยต้องเปลี่ยนเป็นนับถือพุทธด้วยกัน

           เรื่องนี้เท็จจริงไม่ประจักษ์ เชิญท่านผู้รู้ไขความละกัน ความเคร่งและคลี่คลายจนกลายเป็นครรลองของสังคมนี้น่าสนใจ ด้วยพม่านั้นดูจะเป็นประเทศต้นๆ ที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปจากอินเดีย สมัยต้นพุทธกาลเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งเสริมและเริ่มส่งสมณทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังตะวันออก ดังเรียก "สุวรรณภูมิ" อันมีพระโสณะและพระอุตระ เป็นเหตุให้สร้างมหาเจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง จนถึงพระปฐมเจดีย์ในไทยเรานั้นด้วย

           กระทั่งที่สุดเรียกรวมประเทศทางตะวันออกย่านอุษาคเนย์ทั้งหมดที่เราเรียกว่า "อาเซียน" นี้เองว่าเป็น "สุวรรณภูมิ"

          แถบแผ่นดินใหญ่เรียกสุวรรณภูมิ

แถบที่เป็นเกาะเรียกสุวรรณทวีปา

จำเพาะพม่านั้นมีชนชาติมอญเป็นใหญ่ ทั้งดูจะเป็นต้นจํทิศต้นทางของสุวรรณภูมิเอาเลยด้วยซ้ำ เห็นได้จากอารยธรรมมอญที่แผ่อิทธิพลจากพม่ามาไทยไปจรดเขมร ดังภาษาตระกูลมอญเขมร เป็นต้น

           สำคัญคือ องค์เจดีย์ ก่ออิฐตั้งแต่ชเวดากอง พุกาม จนยุคทวารวดีล้วนก่อด้วยอิฐทั้งสิ้น ดังเราเรียก "อิฐมอญ" นั้น

           เนื่องเพราะประวัติศาสตร์พม่าเริ่มอาณาจักรพุกามสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ที่ไทยเรียกพระเจ้าอนิรุธ ทรงตีเมืองสะเทิม เมืองหลวงใหญ่ของอาณาจักรมอญแล้วกวาดต้อนช่างและชาวมอญมาสร้างเจดีย์ ชเวสิกอง เป็นปฐมชัยของพระองค์ดังชื่อ ชเวสิกองนั้น พุกามกลายเป็นทุ่งเจดีย์ว่ามีกว่าสี่พันองค์

           ถิ่นพุกามแต่เดิมว่าเป็นที่อยู่ของชนเผ่า "พยู" ชื่อ "พุกาม" ก็คือ "พยู+คาม" แปลว่า ถิ่นหรือย่านของชาวพยู

           พระเจ้าอโนรธามังช่อก็ว่าเป็นชนเผ่า "พม่า" ซึ่งว่าสืบเชื้อมาจากคำว่า "พรหม" หรือ "พรหมมา"

           เหล่านี้ล้วนมีอารยธรรมมอญเป็นพื้นด้วยกันสิ้น อารยธรรมมอญที่มีวิถีชีวิตตอนกลายเป็นครรลองของสังคมนี้คืออิทธิพลของพระพุทธศาสนา เป็นแก่นแกนดังยอดเจดีย์พุ่งปลายไปที่ ลูกแก้วหรือเม็ดน้ำค้างนั้น

           แจ่มกระจ่างดังให้เห็นภัยในสังสารวัฏหรือวัฏสังสาร สมคำว่า

ฐานบัว คือ ฐานบัทม์

ประนมหัตถ์เป็นบาทฐาน

คือบัวอันเบิกบานจากแผ่นพื้นพสุธา

  ประทับทรงเป็นองค์ระฆัง

อันสั่งสมพระบุญญา

บารมีแห่งมิ่งมหา

คุณานุคุณ ของแผ่นดิน

  เชิดชั้นเป็นบัลลังก์

จตุรังคศาสตร์ศิลป์

สั่งสม สืบสานสิ้น

ให้ศึกษา และสร้างสรรค์

  เกลียวกรอง เป็นปล้องไฉน

ขมวดธรรมที่สำคัญ

กลมเกลียวขึ้นเคี่ยวคั้น

ถึงแก่นแท้ พระสัจธรรม

  ปลีปลาบ ประทับทรง

เม็ดน้ำค้าง กระจ่างประจำ

บรรเจิด และเลิศล้ำ

คือองค์คุณ พระเจดีย์ ฯ

"ภิกขุ" ในอีกความหมายคือ "ผู้เห็นภัย" จากคำ ภิกขะ (ภย+อิกขะ)

ดังนี้แล

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]