“หนังตะลุง” สื่อพื้นบ้านสู่...การเรียนรู้ สู้ภัยเหล้าและบุหรี่

หมวดหมู่ ใต้ , โดย : admin , 4 กรกฎาคม 59 / อ่าน : 3,903


หากพูดถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เกี่ยวกับการร้อง เล่น ที่มีเสน่ห์ไม่แพ้ภาคไหนๆ คงต้องนึกถึง “หนังตะลุง” ศิลปะพื้นบ้านของภาคใต้ ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น  ด้วยการสอดแทรกเนื้อหาพิษภัยของเหล้าและบุหรี่เข้าไปผ่าน “หนังตะลุง”ของโครงการ “เยาวชนเรียนรู้บทกลอนหนังตะลุง” ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน ที่จัดขึ้นโดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

          หนังปักษ์ใต้หรือที่ใครหลายๆ คนรู้จักในชื่อของ “หนังตะลุง” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ เป็นการแสดงเงาบนจอผ่านรูปหนังตะลุง ด้วยการฉายไฟไปที่ฉาก เอารูปหนังปักบนต้นกล้วย ผู้ชมจะเห็นเงาของรูปหนัง มีนายหนัง (หัวหน้าคณะ) ทำหน้าที่เชิดหุ่นระหว่างการแสดงอาจมีบทสนทนาแทรกเป็นระยะๆ สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้มี ทับ กลอง ฉิ่ง และโหม่ง มักพบเห็นในงานพิธีต่างๆ เช่น งานฉลอง งานบุญ และงานศพ


          ส่วนองค์ประกอบพื้นฐานในการแสดงหนังตะลุงนั้น จะมีเครื่องดนตรี เนื้อเรื่อง กลอน และรูปหนังตะลุง โดยนายหนังจะเป็นคนให้เสียงพากษ์ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดความตลก ขำขัน แฝงข้อคิด หรือสภาพปัญหาของสังคมผ่านรูปหนัง เช่น อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย อ้ายยอดทอง ว่ากันว่าตัวตลกแต่ละตัวนั้นคือชาวบ้านที่เคยมีชีวิตอยู่จริง ว่ากันว่า ข้าราชการไปอบรมชาวบ้าน 10 ครั้ง ยังไม่ได้ผลเท่าดูหนังตะลุงเพียงครั้งเดียว เราจึงใช้หนังตะลุงเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ และด้วยความร่วมมือจากชุมชนสวนป่าห้วยพูด ตั้งอยู่ที่ ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ทีนี้มีคลื่นวิทยุชุมชน 105.75 Mhz ที่ออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ตอนล่างของจังหวัดพัทลุง ออกอากาศตั้งแต่ 08.00-20.00 น. ของทุกวัน มีเนื้อหารายการที่หลากหลาย เช่น เสียงจากเด็กเยาวชน ข่าวสารสุขภาพ ทางสถานีวิทยุได้เปิดรับสมัครเยาวชนให้มาเรียนรู้การเขียน และขับกลอนหนังตะลุงในหัวข้อการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ จึงเป็นเวทีแสดงความสามารถ


          นอกจากนี้ยังได้เปิดโลกทัศน์ของเยาวชนที่มีต่อเหล้าและบุหรี่ ทั้งยังได้สร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์หนังตะลุงให้แก่เยาวชนอีกด้วย  โดยการให้เด็กๆ ออกหาข้อมูลเพื่อมาเขียนกลอนหนังตะลุง และต้องไปสัมภาษณ์คนในครอบครัวตนเองว่ามีคนดื่มเหล้า สูบบุหรี่กี่คน เหตุผล และความถี่และเงินที่ใช้ไป ผลสำรวจพบว่า สาเหตุของการดื่มเหล้าส่วนใหญ่มาจากการที่เพื่อนชวน หาซื้อง่าย และชอบสนุก ส่วนความถี่นั้น นานๆ ดื่มทีอย่าในงานประเพณีต่างๆ ส่วนใหญ่สูบเป็นประจำ หรือสูบทุกวัน หลังจากที่เด็กๆ ได้ข้อมูลมาแล้ว ก็เข้าสู่กิจกรรมต่อไป คือ การวาดรูประบายสี สิ่งที่คิดและรู้สึกต่อการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ จากนั้นสรุปความคิดเห็น ทัศนคติเกี่ยวกับการดื่มเหล้าและบุหรี่ ให้ออกมาเป็นคำสั้นๆ กระชับ ภายใต้แผนกลอนของหนังตะลุง ซึ่งขั้นตอนนี้นายหนังจะสอนเรื่องการใช้คำที่มีสัมผัสนอก สัมผัสใน ฉันทลักษณ์ของกลอน 8 เพราะเป็นกลอนที่ใช้ในการแสดงหนังตะลุง และนี่เป็นตัวอย่างกลอนที่เด็กๆ แต่ง

                                      เห็นคนกินเหล้า           วันเข้าพรรษา 

                                      นอนหลับเหมือนหมา    คุณค่าไม่ดี 

                                                                             (ด.ญ.ฤดีรัตน์ ทองขำ)

          ผลของการเข้าร่วมกิจกรรม กล่าวได้ว่าเด็กทุกคนจากโครงการนี้ไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ และไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเหล้าและบุหรี่ นายหนังถามเด็กๆ ถึงเรื่องการสูบบุหรี่ เด็กคนหนึ่งรู้สึกอายที่จะบอกว่าพ่อตัวเองสูบบุหรี่ ความอายที่เกิดขึ้น บอกได้ว่า เด็กเกิดการแยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดี และให้คุณค่าต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ว่าไม่ถูกต้อง


ทุกวันนี้มีสื่อหลากหลายทั้งที่ดีควรค่าแก่การเรียนรู้ และสื่อยั่วยุที่ชักจูงเยาวชนเหล่านี้เข้าสู่อบายมุข วันนี้หนังตะลุงศิลปะพื้นบ้านได้เข้ามาสอนพวกเขาให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนมีอยู่ สักวันหนึ่งเยาวชนเหล่านี้อาจจะรู้ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ตัวเองมีต่อศิลปะพื้นบ้าน บ้านที่เกิดและเติบโตมา...อย่าให้สูญหายไปแล้วจึงเห็นคุณค่า


เรื่องโดย : ปาริฉัตร มุสิราช

ข้อมูลจาก : หนังสือสื่อพื้นบ้านสานสุข โดย ดวงแข บัวประโคน


 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]