คอลัมน์ เจิมศักดิ์ ขอคิดด้วยฅน: หม่อมราชวงศ์ ดร.อคิน รพีพัฒน์ บุคคลต้นแบบ 'ครู'ต้นแบบของผม - แนวหน้า

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 13 พฤษภาคม 60 / อ่าน : 1,847


คอลัมน์ เจิมศักดิ์ ขอคิดด้วยฅน: หม่อมราชวงศ์ ดร.อคิน รพีพัฒน์ บุคคลต้นแบบ 'ครู'ต้นแบบของผม 

 
          ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
          ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
          ผ่านพ้นวันครูแห่งชาติ 16 ม.ค.มาไม่กี่วัน
          วันที่ 22 ม.ค. เป็นวันคล้ายวันเกิด ครบ 84 ปี ของหม่อมราชวงศ์ ดร.อคิน รพีพัฒน์ บุคคลที่ผมถือเป็น “ครูต้นแบบ” ผู้มีคุณูปการต่อวงวิชาการสังคมไทยอย่างยิ่ง
          สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เชิญให้ผมเขียนบทความถึง “ครูอคิน” เพื่อจัดทำเป็นหนังสือพิเศษเนื่องในโอกาส 7 รอบ 84 ปี ผมจึงเก็บนำบางส่วนมาเล่าให้ฟังก่อน
          1.หลังจากที่ผมลาการสอนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย STANFORD ประเทศสหรัฐอเมริกา จบกลับมาเมื่อปลายปี 2520 สอนหนังสือและทำวิจัยที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นับว่าเป็นโชคของผมที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานกับอาจารย์อคิน
          ผมเป็นเด็กบ้านนอก เติบโตมาในครอบครัวแวดวงของการค้าขายทำธุรกิจเล็กน้อยในตลาดบ้านนอก โชคดีได้ทุนการศึกษาเรียนต่อถึงระดับปริญญาเอก และได้เรียนจบอย่างรวดเร็ว ความรู้จึงมุ่งอยู่เฉพาะเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของสังคมด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่สามารถแจงนับได้เป็นส่วนใหญ่
          เป็นความโชคดีของผมที่ได้ร่วมงานและเรียนรู้จากบุคคล 3 ท่าน คือ อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ อาจารย์อัมมาร สยามวาลา และอาจารย์เสน่ห์ จามริก สำรวจความรู้สึกและสำนึกของผม พบว่าท่านทั้งสามเป็น “ครู” ต้นแบบในชีวิตการทำงานของผม
          โดยเฉพาะอาจารย์ อคิน รพีพัฒน์ เป็น “ครู” ต้นแบบ ที่ผมได้ร่วมงานทำงานวิจัยในชนบท ฝึกอบรมนักพัฒนาผู้ทำงานกับชาวชนบท และร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาชนบท ผมจึงมีโอกาสที่จะซึมซับ เรียนรู้ และดำเนินรอยตาม
          2.ความรู้สึกแรกที่ได้ร่วมงานกับอาจารย์อคิน รพีพัฒน์
          ความที่การศึกษาในระบบของผมอยู่ในแวดวงเศรษฐศาสตร์ และพื้นฐานชีวิตอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น ผมจึงให้ความสำคัญกับข้อมูลที่แจงนับได้ ความเป็นไปตามระบบและให้น้ำหนักกับองค์กรและสถาบัน เมื่อแรกทำงานกับอาจารย์อคิน ผมจึงรู้สึกอึดอัด ไม่เข้าใจว่าเมื่อเราคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านชนบท ทำไมอาจารย์อคินจึงช่างสังเกต ทั้งวิธีการนั่ง สถานที่นั่งของชาวบ้าน ลักษณะการพูด สายตาของชาวบ้านในการพูดหรือประกอบในอิริยาบทต่างๆ การแต่งกาย การยิ้ม แววตาและอื่นๆ ซึ่งต่อมาจึงเข้าใจและเรียนรู้ความสำคัญของข้อมูลเชิงคุณภาพ ที่สามารถเข้าใจและวิเคราะห์ถึงพฤติกรรม เพื่อประกอบกับข้อมูลที่ได้รับอย่างเปิดเผยได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
          ในการทำงานในหน่วยงานที่อาจารย์อคินเป็นผู้บริหารระดับผู้อำนวยการ เมื่อมีคนในหน่วยงานมาถามว่าเรื่องนี้จะตัดสินใจอย่างไรดี อาจารย์อคินมักจะถามกลับว่าควรจะเป็นอย่างไรได้บ้าง และถามคนอื่นๆ ด้วย จากนั้นจึงร่วมตัดสินใจบอกว่าก็เอาอย่างที่คุณช่วยกันคิดมานั่นแหละ
          แม้จะสนทนากับชาวบ้าน ชาวชนบท เมื่ออาจารย์อคินถูกถามความเห็น อาจารย์อคินมักจะถามกลับหรือถามคนอื่นๆ ที่นั่งอยู่ด้วยว่าควรจะเป็นอย่างไร จะทำกันอย่างไรดี ไม่โดดลงไปออกความเห็น สั่งการ บอกกล่าวทันที อดจะแอบคิดในตอนแรกๆไม่ได้ว่าอย่างนี้ใครก็เป็นผู้อำนวยการได้
          ถ้าคิดอย่างตื้นๆ ก็มองได้ว่าอาจารย์อคินไม่แน่จริง ไม่รู้ ไม่กล้า ไม่มีความมั่นใจ แต่ถ้าคิดวิเคราะห์ให้ลึกจะพบว่า นั่นคือการเปิดโอกาสและใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ที่เปิดโอกาสให้คนอื่นรับรู้ปัญหา ร่วมระดมความเห็นและร่วมตัดสินใจ โดยที่อาจารย์อคินก็มีส่วนร่วมคิดร่วมตัดสินใจอยู่ด้วย การให้โอกาสผู้ร่วมงาน/ชาวบ้านได้รับรู้ปัญหา การตั้งโจทย์คำถามที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการของการหาคำตอบ และความคิดการกระทำหลังจากนั้นอาจจะถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของมากกว่าและทุกคนก็พร้อมจะปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการกำหนดมากขึ้น
          3.ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย
          อาจารย์อคินได้รับฉายาว่า “เจ้าชาวบ้าน” เป็นนักมานุษยวิทยาที่รู้เรื่องระบบอุปถัมภ์ดีที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย ได้ช่วยให้ผมเข้าใจโครงสร้างของสังคมไทยดีมากขึ้น
          ทำไมคนไทยจึงหวังพึ่งพาและฝากความสำเร็จ ความก้าวหน้าในชีวิตของตนไว้กับ “นาย” ผู้มีอำนาจ มีทรัพยากรมากกว่า
          ทำไมคนไทยจึงไม่นิยมรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ และเกิดพลังต่อรองของคนในระดับชั้นเดียวกัน แต่ชอบรวมตัวกับคน
          ต่างสถานภาพกัน ที่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่าง “นาย” กับ “ผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์”
          ทำไมระบบบุญคุณ จึงทำงานในสังคมไทยโดยเฉพาะกับคนที่ต่างสถานภาพกัน เพื่อใช้บุญคุณเป็นเครื่องผูกมัดแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของคนต่างสถานะกันในเวลาที่ต่างกัน
          ทำไมหากจะเข้าใจระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ต้องดูสังคมของผู้ที่อยู่ในเครื่องแบบ ทั้งจากทหาร ตำรวจ ข้าราชการทั่วไป ที่มีความเข้มข้นมากจึงเข้าใจสังคมทั่วไปได้ไม่ยาก
          ทำไมระบบอุปถัมภ์จึงทำงานอย่างสำคัญในพรรคการเมืองของไทย



          การเกิดมุ้งใหญ่ มุ้งเล็ก ในพรรคการเมืองสะท้อนระบบอุปถัมภ์อย่างไร การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นผู้อุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่นมีบทบาทเป็นหัวคะแนนที่สำคัญอย่างไร และเงินเข้ามามีบทบาทอย่างไรในระบบอุปถัมภ์ของการเลือกตั้ง
          ทำไมนักการเมืองผู้หวังจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จึงเลือกที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของแผ่นดิน และเขามีวิธีสร้างตัวให้เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ได้อย่างไร
          เหล่านี้ คือ ตัวอย่างของความเข้าใจในระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทยที่ได้นำมาใช้วิเคราะห์เหตุการณ์ อธิบายความเป็นไปที่เกิดและจะเกิดขึ้นของการทำรายการโทรทัศน์ วิทยุ ที่ต้องต้องการวิเคราะห์เจาะลึก ซึ่งเป็นการใช้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม
          ยิ่งกว่านั้น การเรียนการสอน การฝึกอบรมที่ผมดำเนินการและเป็นวิทยากร ก็ได้รับความรู้พื้นฐานซึมซับจากอาจารย์อคิน
          “ครูต้นแบบ” ในเรื่องของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย
          4.ประจักษ์พยานของ “ครูต้นแบบ”
          อิทธิพลทางความความคิดและวัตรปฏิบัติของอาจารย์อคิน ได้ซึมซับในแนวคิดและแนวปฏิบัติในการเรียนการสอน การฝึกอบรม การศึกษาวิจัย การให้คำปรึกษา การออกแบบและดำเนินรายการโทรทัศน์รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา ฯลฯ ที่พอจะหยั่งรู้ได้ ดังต่อไปนี้
          4.1 การเรียนการสอนและการฝึกอบรม
          ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้เรียนและผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่างเป็นผู้ที่มีความคิด ความรู้ และประสบการณ์ ซึ่งแต่ละคนจะมีความรู้ความคิดประสบการณ์แตกต่างไม่สมบูรณ์ แม้ตัวผู้สอนเองก็เช่นกัน จึงได้หลีกเลี่ยงที่จะใช้วิธีบรรยาย (Lecture) ที่อาจารย์จะเป็นผู้รู้ผู้บอกให้คนอื่นฟัง แต่จะใช้วิธีเป็นผู้อำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนและร่วมกันแสวงหาความรู้ การเตรียมกระบวนการของกิจกรรม การตั้งโจทย์และประเด็นของความรู้ การออกแบบกิจกรรมพร้อมทั้งวัสดุ อุปกรณ์ องค์ความรู้ที่จะได้จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการศึกษาดูงานจากหน่วยหรือองค์กรที่อยู่ในภาคปฏิบัติจริง ก็ให้ผู้เรียน ผู้ฝึกอบรมร่วมกันตั้งโจทย์และประเด็นความรู้ที่จะได้รับ พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มเพื่อไปเรียนรู้ สัมภาษณ์ แล้วกลับมาแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งร่วมบันทึกความรู้ในรายงาน
          ผลของการปฏิบัติที่ได้ยึดหลักการมีส่วนร่วม และความเชื่อในความคิดความรู้ของผู้เข้าร่วม ตามที่ได้ซึมซับจากอาจารย์อคิน ทำให้ผลการประเมินการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ผู้เรียนร่วมประเมิน และผลการประเมินของการฝึกอบรมในโครงการต่างๆ ได้ผลการประเมินในระดับสูงสุดของกลุ่มอาจารย์ หรือวิทยากรที่สอนดีที่สุดตลอดมา
          4.2 การจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุ
          รายการ “เวทีชาวบ้าน” จากความรู้และข้อมูลที่ได้เรียนรู้ระหว่างทำงานในชนบทร่วมกับอาจารย์อคิน ทำให้ได้รับรู้ความจริงว่าชาวบ้านในชนบทมีผู้ที่มีความรู้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป บางพื้นที่บางแหล่งมีปราชญ์ชาวบ้านรู้ และประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันออกไป
          เมื่อมีโอกาสได้ออกแบบจัดทำและดำเนินรายการโทรทัศน์ จึงได้กำหนดรายการ “เกษตรสนทนา” หรือ “เวทีชาวบ้าน” ในปี 2533 เป็นรายการแรกของประเทศไทยที่นำรถถ่ายทำทีวีออกถ่ายทำในชนบท ซึ่งก่อนหน้าโทรทัศน์จะเป็นเครื่องมือและเป็นแหล่งของผู้มีอำนาจ หรือบุคคลระดับสูงเท่านั้นที่ได้มีโอกาสปรากฏตัวพูดให้คนอื่นฟัง เมื่อได้กำหนดถ่ายทำ (Outdoor Broadcasting) ในหมู่บ้านชนบท ทีมงานพร้อมกล้อง 3 ตัว เครื่องมือทั้งเสียงและการตัดต่อภาพลงหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล (ซึ่งบางครั้งต้องนำเครื่องปั่นไฟไปด้วย) จึงได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ ภูมิปัญญาของชาวบ้านจากมุมหนึ่งไปมุมอื่นๆ ของประเทศ
          ความรู้ที่แพร่กระจายจากรายการทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดูงานของชาวบ้านมากขึ้น อาจารย์ประเวศ วะสี จึงได้กล่าวชื่นชมว่ารายการโทรทัศน์เช่นนี้ที่ได้ถ่ายทอดความดี ความสำเร็จของชาวบ้านให้ชาวบ้านได้เห็นหมู่บ้าน ชุมชน ของตนเอง จะเกิดพลังให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจที่จะพึ่งตนเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รายการเวทีชาวบ้านเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชาติชาย และมาดับลงยุติลงในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังจากทำหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลา 20 ปี
          รายการ “มองต่างมุม” จากความเชื่อที่ว่าแต่ละคนมีความรู้ ความคิด ซึ่งอาจจะแตกต่างกัน ทั้งข้อเท็จจริงและความเห็น จากสิ่งแวดล้อมพื้นฐานของสังคมที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเปิดโอกาสให้แต่ละคนแสดงออกมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกัน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรายการและกำหนดความเห็นออกทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ
          “มองต่างมุม” จึงเป็นรายการแรกของไทยที่สัญจรไปในจังหวัดและอำเภอต่างๆ เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ตั้งกระทู้ถามความเห็นที่มีต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในสัปดาห์นั้น และเชิญให้วิทยากรมองต่างมุมกัน จำนวน 3-4 คน แล้วจึงเปิดโอกาสให้ชาวบ้านผู้ตั้งกระทู้ถามและผู้เข้าร่วมทั่วไปได้มีโอกาสแสดงความเห็น
          “มองต่างมุม” ได้เปิดโลกทรรศน์ของสังคมให้ได้รับรู้และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ผ่านคำว่า “มองต่างมุม” ซึ่งทั้งแนวคิด เบื้องหลังของรายการและวิธีการดำเนินรายการได้รับอิทธิพลจากหลักการของการมีส่วนร่วม การยอมรับความรู้ของคนที่แตกต่างหลากหลาย ที่ส่วนหนึ่งได้ซึมซับจากการทำงานร่วมกับอาจารย์อคิน “ครูต้นแบบ”



ของผม
          เมื่อได้ถอดหลักการ แนวคิด มาเป็นการปฏิบัติในการทำสื่อโทรทัศน์ โดยในตอนเริ่มต้นได้รับแรงความคิดและการมีส่วนร่วมจากอาจารย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ผู้ร่วมเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ในขณะนั้น) และคุณปีเตอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น รายการ “มองต่างมุม” จึงโด่งดังเป็นที่โจษขานและยอมรับทั่วไป ได้มีโอกาสเป็นเวทีให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสมา “มองต่างมุม” เพื่อแสดงตัว ประชันความคิดกันในช่วงก่อนเลือกตั้งใหญ่ 3-4 ครั้ง
          รายการ “มองต่างมุม” เกิดหลังรายการเวทีชาวบ้าน 1 ปี แต่ก็ต้องถูกปิดจากผู้มีอิทธิพลในบ้านเมืองสมัยรัฐบาลบรรหาร จึงพูดได้ว่า “เกิดทีหลัง แต่ตายก่อน” เวทีชาวบ้าน
          รายการ “ขอคิดด้วยฅน” “ตามหา..แก่นธรรม” “เหรียญสองด้าน” “ลงเอยอย่างไร” “คลายปม” “มุมมองของเจิมศักดิ์” และ
          รายการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นต่างได้ซึมซับแนวคิดด้านการมีส่วนร่วม และการเคารพยอมรับความรู้ ความเห็นที่หลากหลายของชาวบ้านของอาจารย์อคินทั้งสิ้น
          4.3 การทำงานการเมืองในรัฐสภา
          ผมมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2543 อยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2549 ได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในปี 2557-2558
          ความรู้ความเข้าใจในระบบอุปถัมภ์ ที่ได้ซึมซับจากอาจารย์อคิน
          ทำให้เข้าใจความเป็นไป และการทำงานของรัฐสภา การทำงานของสมาชิกรัฐสภา และผู้มีอำนาจนอกรัฐสภามากขึ้น
          การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ที่เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ในการดำเนินกิจกรรม ในการรับประโยชน์ก็ได้ซึมซับจากแนวคิดของอาจารย์อคิน
          กระบวนการับฟังความเห็น ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแสดงความต้องการและความเห็นผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การร่างพระราชบัญญัติ และมีส่วนร่วมในการควบคุมตรวจสอบผู้แทนในรัฐสภา และในรัฐบาลจึงได้ถูกหยิบยกและผลักดันมากขึ้น ผมเองได้มีโอกาสได้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ของวุฒิสภา เป็นคนแรกของกรรมาธิการนี้
          และเมื่อทำงานในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ออกแบบและจัดกระบวนการรับฟังความเห็น และจัดกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกในรัฐสภา
          4.4 การเลี้ยงลูกและความสัมพันธ์ในครอบครัว
          แบบอย่างและอิทธิพลทางความคิดที่กล่าวข้างต้น ได้ซึมแทรกเข้าไปในความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และการเลี้ยงดูลูก ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของลูกในการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ แนวคิดเรื่อง “บุญคุณ” - การ “ทวงบุญคุณ” ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นพูดคุยในครอบครัว และหลีกเลี่ยง หรือใช้โดยจำกัดแต่เฉพาะในส่วนที่จะเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวโดยรวม
          84 ปี อาจารย์อคิน ครูต้นแบบ
          กิจกรรม พฤติกรรมที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ได้แรงบันดาลใจ การซึมซับ ความรู้ ความคิด จากการปฏิบัติตนและหลักการแนวคิดของ รองศาสตราจารย์ ร้อยตำรวจเอก ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ผู้ได้รับฉายาที่มีผู้มอบให้ว่า “เจ้าชาวบ้าน” บุคคลต้นแบบ “ครูต้นแบบ”
          ของผม


แนวหน้า ฉบับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]