คอลัมน์ เป็นเรื่องเป็นราว: 'สื่อ'เป็น'โรงเรียน'หรือ'ปัญหา'ของสังคม - ไทยโพสต์

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 13 พฤษภาคม 60 / อ่าน : 1,600


คอลัมน์ เป็นเรื่องเป็นราว: 'สื่อ'เป็น'โรงเรียน'หรือ'ปัญหา'ของสังคม 

 
          จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
          ([email protected])
          สื่อในปัจจุบันเป็นรูปแบบของ Multi Platform ที่มีความหลากหลายในการนำเสนอ ไม่มีข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ สื่อคือองค์ความรู้ของสังคม มีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏตามบทบาทที่เป็น ในขณะเดียวกันสื่อก็เป็นอุณหภูมิของสังคมที่พร้อมจะสร้างหรือทำลายสังคมได้ในเวลาเดียวกัน เพราะสังคมไทยมีทั้งความเชื่อจากคนที่มีพื้นฐานไม่แน่น พร้อมจะเชื่อฟังทุกอย่างตามกระแสโดยขาดการไตร่ตรอง และมีการปะทะกันทางความคิดของกลุ่มที่มีความคิดอ่าน มีการศึกษา ทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคม ในขณะที่การดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่จะมีวิถีชีวิตที่เรียกว่า กลางวันเดินห้าง กลางคืนเฝ้าจอ แล้วก็รอถูกหวย โจทย์ก็คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ส่งสารคือนักสื่อสารมวลชนเป็นนักการสื่อสารที่สร้างสรรค์ในการถ่ายทอดสารให้พลเมืองทั้งหลายเป็น คือสอนให้คนรู้วิธีที่จะรับสารโดยการเลือกอ่าน เลือกดู เลือกฟัง นำมาสู่กระบวนการทางความคิด วิเคราะห์และหาคำตอบอย่างใคร่ครวญ
          สื่อในปัจจุบันไม่ค่อยสนใจคำว่า "จริยธรรม" เท่าที่ควร เรียนจบก็เก็บไว้บนหิ้งแต่ไม่เคยวางไว้ในใจ เมื่อขาดจริยธรรมในบางครั้งทำให้เกิดสื่อมีพิษซึ่งเปรียบเสมือนพาหะนำโรคทางจิตเวชไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเภท จนนำไปสู่ความรุนแรงหรือการฆ่าตัวตาย หลายครั้งที่สื่อละเมิดสิทธิส่วนบุคคล มุ่งแต่จะใช้ความรวดเร็วและสร้างจุดขายเพื่อสร้าง rating และผลประโยชน์ทางการตลาดเพื่อความอยู่รอด ตัวอย่างที่เห็นกันบ่อยคือ การนำเสนอข่าวที่มีความรุนแรง โดยนำเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ หรือผู้กระทำความผิดมาแถลงข่าวโดยการคลุมหน้าที่เรียกกันว่า "เด็กคลุมโม่ง" สื่อใช้การนำเสนอแบบฉับไว ใช้การสัมภาษณ์แบบล้วงลึก โดยไม่สนใจว่าการคลุมโม่ง หรือคำถามที่ถามไปจะมีผลกับเด็กแค่ไหน เป็นการลุกล้ำหรือละเมิดสิทธิเด็กตามกฎหมายหรือไม่ และเมื่อนำเสนอข่าวออกไปมีผลกระทบตามมาทางด้านจิตใจและการดำเนินชีวิตของเด็กต่อไปในอนาคตอย่างไร ในขณะเดียวกันตำรวจเจ้าของคดีก็ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน เพราะการที่นำการแถลงคดีออกสื่อก็คือการแถลงผลงานของตนเพื่อการเลื่อนขั้นในอนาคตนั่นเอง ยิ่งดังยิ่งดี ยิ่งเด่นยิ่งเป็นที่จดจำ
          ในการออกสื่อแต่ละครั้งจะเป็นการนำเสนอข่าวด้านที่คิดว่าสังคมอยากฟังมากกว่าจะขุดคุ้ยหาความเป็นจริง จากข้อมูลของ "เด็กคลุมโม่ง" ที่นำเสนอโดยคุณปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง ซึ่งทำการสัมภาษณ์ความในใจของเด็กในหลายๆ คดีที่เป็นข่าวดัง เด็กกล่าวว่า "การขึ้นหน้าหนึ่ง การคลุมโม่ง การถูกทำข่าวอย่างครึกโครม หลังผมก่อคดีและสังคมคิดว่าได้ประโยชน์จากข่าวของผมนั้น ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ สังคมกำลังมอบวุฒิบัตรให้ผมนะครับ และหลังจากนั้นผมจะเป็นคนร้าย คนมืดที่สมบูรณ์และยากที่จะกลับคืนได้ ผู้ใหญ่ที่ทำงานผิดกฎหมายเขาชอบวัยรุ่นที่ขึ้นข่าวหน้าหนึ่ง เพื่อนผมตอนนี้อยู่ซุ้มมือปืน ค้าอาวุธสงคราม ถ้าผมไม่ได้มาอยู่บ้านกาญจนาภิเษก ผมคงไปกับพวกมันด้วย ถนนสายนี้เข้าง่ายแต่ออกยาก และการให้วุฒิบัตรผมก็ยิ่งทำให้ผมออกมายากยิ่งขึ้น!!!!" ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะขจัดสื่อมีพิษและทำสื่อที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมอย่างแท้จริง ท้ายนี้ขอฝากแนวทางในการสัมภาษณ์เด็กขององค์การยูนิเซฟเพื่อให้เกิดการสัมภาษณ์แบบสร้างสรรค์และไม่ละเมิดสิทธิของเด็กอีกต่อไป http://www.unicef.org/esaro/5440_guidelines_interview.html



ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559


ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]