ปัญหา "โรคอ้วน" ในวัยรุ่น รู้ไว้... ไม่โยโย่

หมวดหมู่ กิจกรรมล่าสุด , โดย : admin , 21 เมษายน 60 / อ่าน : 2,612


ปัญหา "โรคอ้วน" ในวัยรุ่น รู้ไว้... ไม่โยโย่

 
 

      โรคอ้วนนับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในปัจจุบัน สาเหตุของโรคอ้วนเกิดจากความไม่สมดุลของการได้รับพลังงานจากการกินอาหารในแต่ละวัน กับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนที่สำคัญได้แก่ การบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น อาหารมัน อาหารทอด อาหารกินด่วน เป็นต้น และการมีพฤติกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ออกกำลังกาย ปัญหาเรื่องโรคอ้วนในวัยรุ่นมีความสำคัญเนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ที่กระตุ้นให้กินอาหารมากขึ้น

 

ในยุคปัจจุบัน เมื่อวัยรุ่นสามารถ เข้าถึงอาหารกินด่วนต่าง ๆ ได้มากขึ้น ประกอบกับวิถีชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้พบโรคอ้วนในวัยรุ่นมากขึ้น หากไม่ได้รับคำแนะนำและการดูแลที่ถูกต้อง วัยรุ่นที่อ้วนเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนและมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประชากรไทย

 
     วัยรุ่นเป็นวัยรักสวยรักงาม จึงมีวัยรุ่นที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือ โรคอ้วนบางส่วนบริโภคยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดเพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนัก แต่พบปัญหาคือเมื่อหยุดบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ กลับมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม หรือที่เรียกว่า อาการโยโย่ ทั้งนี้ เนื่องจากวิธีการควบคุมน้ำหนักตัวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินอาหารและการออกกำลังกาย หรือการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น หากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว แต่ไม่มีการปรับพฤติกรรมควบคู่ไปด้วย เมื่อหยุดใช้ก็จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเท่าเดิมหรืออาจมากกว่าเดิมได้
 

     ยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมน้ำหนักมีหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำให้น้ำหนักไม่ขึ้น แม้กินอาหารมากแต่ไม่ออกกำลังกาย ผลิตภัณฑ์ที่กดระบบประสาท ช่วยให้ไม่มีความรู้สึกหิว ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไฟเบอร์ที่ให้กินก่อนอาหารเพื่อให้อิ่ม ผลิตภัณฑ์ที่ลดการ ดูดซึมไขมัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ยา ไซบูทรามีน มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการเต้นของหัวใจผิดปกติจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และถูกห้ามจำหน่ายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ยาในกลุ่มที่ลดการดูดซึมไขมันจากอาหารเข้าสู่ร่างกายอาศัยหลักการทำงานที่ช่วยในการยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการดูดซึมไขมันจากอาหารในลำไส้ ก็ยังสามารถดักจับไขมันได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และไม่ได้หมายความว่าถ้ากินยาตัวนี้แล้วจะสามารถกินไขมันได้มากขึ้น เพราะถ้าหากยิ่งทานมากขึ้น ส่วนที่อยู่นอกเหนือจากการถูกยับยั้งก็จะเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อน้ำหนักตัวด้วยเช่นกัน การใช้ยาประเภทนี้อาจมีผลข้างเคียงคืออาการท้องเสีย และการขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน

 

     ในวัยรุ่นที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วนอาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบอวัยวะต่างๆ  เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันเกาะตับ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ เป็นต้น ดังนั้น วัยรุ่นที่มีโรคอ้วนควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจหาภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ เพื่อรับคำแนะนำและรักษาอย่างถูกต้อง วัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วน แนะนำให้กินอาหารครบ 3 มื้อ แต่หลีกเลี่ยงอาหารมัน เค็ม อาหารที่มีพลังงานสูงต่าง ๆ ให้ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว แป้ง เป็นต้น แต่เพิ่มการกินผักใบเขียวและผลไม้ หลีกเลี่ยงขนมจุบจิบ เครื่องดื่มรสหวาน และเพิ่มกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย

 

     การป้องกันโรคอ้วนสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ทารกแรกเกิดควรได้รับนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสมจนถึงอายุ 2 ขวบ หรือมาก กว่า เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารก และทำให้ทารกไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน พบว่าทารกที่ได้รับนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเบาหวานน้อยกว่าทารกที่ได้รับนมผง เมื่อถึงวัยเริ่มกินอาหาร ควรให้ทารกได้รับอาหารรสธรรมชาติ ไม่หวาน ไม่เค็ม ไม่มันจนเกินไป ฝึกให้เด็กกินผักผลไม้จนเป็นนิสัย หลีกเลี่ยงขนมที่มีไขมันสูง ขนมหวาน เครื่องดื่มรสหวาน การกินขนมจุบจิบ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ เช่น การดูโทรทัศน์ เล่นเกม เป็นต้น แต่ควรส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเล่นกิจกรรมต่าง ๆ และเคลื่อนไหวตามวัย ซึ่ง สิ่งเหล่านี้ เป็นการปลูกฝังสุขลักษณะนิสัยที่ดีตั้งแต่เล็ก เพื่อให้ เด็ก ๆ เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ข้อมูลจาก: ผศ.พญ.อรพร ดำรงวงศ์ศิริ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]