'ภูมิใจมากที่ได้เป็นครู'

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 20 เมษายน 60 / อ่าน : 2,052


มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560
 
     "...ความเรียงหัวข้อ 'รุ่งอรุณ : โรงเรียนของฉัน' ที่คุณครูได้ให้นักเรียนเขียนเนื่องในโอกาสวันภาษาไทย และมีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นทุนการศึกษาของแต่ละระดับชั้นด้วย  "งานเขียนของนักเรียนได้สะท้อนความเข้าใจที่นักเรียนมีต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนได้อย่างน่าปลื้มใจ ทำให้คุณครูมีกำลังใจขึ้นมากจากการที่รู้ว่าเด็กๆ ทุกคนได้ซึมซับ ได้ปฏิบัติและได้เข้าใจ จากการทำสิ่งต่างๆ ในโรงเรียน ที่ล้วนเป็นการหล่อหลอมให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจได้ในที่สุด และคุณครูก็ได้ทราบว่าเด็กๆ ทุกคนได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ..."  "เด็กๆ ทุกคนได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ"  ประโยคนี้เป็นดังบทสรุปของครูใหญ่ (ครูจิ๋ว) ระดับประถมของโรงเรียนรุ่งอรุณ

     "เด็กๆ ทุกคนได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ" ประโยคนี้เป็นดังบทสรุปของครูใหญ่ (ครูจิ๋ว) ระดับประถมของโรงเรียนรุ่งอรุณ เด็กชายเขตโสภณ โสภณ (โจโจ้) ชั้นป.5/4 เล่าด้วยข้อเขียนว่า "...ตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยประถมที่ผมได้เรียนโรงเรียนนี้ ทำให้ผมและเพื่อนๆ ได้ดูแลตนเองได้ อาจจะดูลำบากสำหรับเด็กอย่างพวกเรา แต่มันกลับกลายเป็นข้อได้เปรียบของโรงเรียนเรา เพราะเวลาอยู่ที่บ้าน ผมไม่จำเป็นต้องมีแม่บ้านหรือพี่เลี้ยง ผมสามารถดูแลตนเองได้ ตั้งแต่กิน นอน อาบน้ำ ล้างจ้าน ล้างห้องน้ำ ฯลฯ อีกสิ่งที่เป็นจุดเด่นของโรงเรียนคือ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกๆ เช้าเราจะมารวมตัวเพื่อสวดมนต์พร้อมกันทั้งโรงเรียนประถม มันคงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับผมและเพื่อนๆ หรืออีกหลายคนในโรงเรียน ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะการสวดมนต์ไม่ได้สนุกเหมือนการเล่นเกมอยู่ที่บ้าน แต่ตอนนี้ผมเริ่มชินและปรับตัวบ้างแล้ว เพราะทำให้ผมรู้สึกสงบมากขึ้น"

     เด็กหญิงชาริมา พึ่งอุทัยศรี (มิ้ม) ชั้น ป.6/1 ก็เขียนเล่าว่า "...โรงเรียนของฉันเป็นโรงเรียนที่ไม่ใหญ่มาก และมีต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ขึ้นอยู่เต็มไปหมด ในทุกเช้าฉันจะเห็นเด็กตัวเล็กๆ จนถึงพวกพี่ๆ มาช่วยกันเก็บขยะในโรงเรียน มันเป็นภาพที่ดูอบอุ่นและน่ารัก ทำให้เวลาที่ฉันเห็น ฉันก็รู้สึกดีไปด้วย..."         
     
     ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเคยกล่าวว่า "การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม" การเก็บขยะทุกเช้าของนักเรียนและครูในโรงเรียนรุ่งอรุณ ยืนยันความข้อนี้จากข้อเขียนของ "ครูเซียน"      "...ผมจำได้ดีว่าครั้งหนึ่งผมเคยร้องไห้เหมือนเด็กๆ จำได้ว่าตอนนั้น เป็นเช้าวันหนึ่งที่ผมเก็บขยะที่อยู่ในโรงเรียนประถมได้อย่างมากมาย ความรู้สึกท้อแท้เกิดขึ้น ถามตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้ว่าเราจะทำงานนี้ไปทำไม จะรณรงค์จิตสำนึกไปทำไม ไม่มีใครเหลียวแล น้ำตาก็ไหลออกมา ทุกข์ใจมาก และคิดว่าพอแล้ว แค่สอนหนังสืออย่างเดียวก็พอแล้ว

     แต่แล้วก็เกิดความคิดบางอย่างที่ผุดขึ้นในใจ ที่ทำให้ใจกลับมามีพลังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหัวใจได้บอกกับผมว่า 'หน้าที่ของครูคือสร้างแรงบันดาลใจ...ฯ'          "...เช้าวันหนึ่ง ผมเกิดปัญหาในการเดินทางมาโรงเรียน ทำให้ผมมาไม่ทันเวลานัดหมายกับเด็กๆ ที่จะไปเก็บขยะด้วยกัน เมื่อผมมาโรงเรียน สิ่งที่ผมเห็นคือ เด็กเดินเก็บขยะกันเอง และที่สำคัญที่สุด มีพี่มัธยมศึกษา ชั้นปีที่ 1 เป็นนักเรียนที่เคย เก็บขยะกับผมมาก่อนในปี ที่แล้ว เป็นผู้นำและดูแลน้องๆ แทนผม ผมได้แต่ยืนงงและดีใจมากๆ ที่เห็นเด็กๆ กลับมาช่วยครู และที่สำคัญ ช่วยโดยครูไม่ได้ขอ สิ่งที่ผมพูดกับตัวเองตอนนั้นคือ ภูมิใจมากที่ได้เป็นครู และสำหรับผม นี่แหละ คือรางวัลชีวิตที่แท้จริงของชีวิตครู"  ใครจะนึก การ "เก็บขยะ" ก็เป็นการปฏิบัติธรรมที่ให้ผลเป็น "คุณธรรม" ได้จริง  สถานที่ก็สะอาด ใจก็สะอาด เก็บขยะที่รกออกไปจากสถานที่ ก็คือการเก็บขยะที่รกออกไปจากใจเรานี่เอง

     ดังนั้น การเก็บขยะก็เป็นกิจกรรมสร้างจิตสำนึกได้ทั้งวิชาโลกและวิชาธรรมพร้อมกันไป ขอเพียงมีสติรู้เพียรเพ่ง การศึกษาทั้งหลายมีหัวใจอยู่ตรงนี้ คือมีสติรู้เพียรเพ่ง สมกความหมายของคำว่า "ศึกษา" นั้นเอง คือศึกษามาจากศัพท์บาลีว่า "สิกขา" ประกอบด้วยศัพท์ สะ+อิกขะ สะ แปลว่า ตัวเอง อิกขะ แปลว่า ดู ความหมายของสิกขะ ก็คือ "ดูตัวเอง" หรือ "ดูตัวเองด้วยตัวเอง" เมื่อดูตัวก็รู้ตัว เมื่อรู้ตัวก็ช่วยตัวได้ ใช้ตัวเป็น ดังคำกลอนที่ผูกไว้ว่า  สิกขาคือรู้เรียนรู้เพียรเพ่ง  ดูตัวเองด้วยตัวเองเร่งฝึกฝน  เรียนรู้ตนจนตระหนักรู้จักตน  รู้ตั้งต้น ช่วยตัวได้ ใช้ตัวเป็น  สองวิชาสำคัญของการศึกษา ก็คือ วิชาชีพกับวิชาชีวิต ความรู้ที่พร่ำเรียน พร่ำสอนกันนั้นส่วนใหญ่มักเน้นแต่ความรู้ที่เป็นวิชาชีพ เช่น วิทย์ คณิต ฯลฯ

     ส่วนความรู้ในวิชาชีวิตนั้น เรามักไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร วิชาชีวิตก็คือ วิชาศิลปะทั้งปวงนั้นเอง ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ มีสถาบันอาศรมศิลป์ ทั้งศึกษา ส่งเสริมและสร้างสรรค์งานศิลปะทุกแขนง ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม คีตกรรม ฯลฯ แบบครบวงจร เด็กทุกระดับชั้นระดับวัยตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษา มีกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมทั้งสายวิชาชีพและวิชาชีวิต ตั้งแต่เก็บขยะ ปลูกผัก ทำนา เขียนรูป ปั้นดิน เล่นดนตรี ร้องเพลง อ่านกลอน เขียนหนังสือ เล่นกีฬา ฯ พร้อมกันไปกับเรียนภาคทฤษฎี สมคำพระบาลีว่า วิชาจรณะสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติ โดยแท้



 
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560
 


ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]