รุ่งอรุณของการศึกษา

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 20 เมษายน 60 / อ่าน : 1,420


มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560
 
      ยายของหลานเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งสอนหลานซึ่งอยู่ชั้น ป.1 เรื่องศีลห้า เป็นข้อห้ามไม่ให้ทำอะไรบ้าง หลานตัวเล็กแย้งว่า ศีลไม่ได้เป็นข้อห้ามนะ ครูบอกว่า  "ศีลเป็นข้อแนะนำ" จึงอธิบายกลับไปว่า จริงแล้วศีลเป็นบทศึกษาว่าด้วยการ "เว้นจาก" ดังคำกล่าวอาราธนาท้ายศีลทุกข้อที่ว่า  "...เวรมณีสิกขาปะทังสมาทิยามิ" แปลว่า "ข้อน้อมรับบทอันพึงศึกษาว่าด้วยการเว้นจาก..." ดังศัพท์ สมาทิยามิ คือน้อมรับ สิกขา คือศึกษา ปะทัง คือบท เวรมณี คือเว้นจาก  เพราะฉะนั้น ศีลเป็นบทพึงศึกษาว่าด้วยการเว้นจากการประทุษร้ายทางกาย วาจา ใจ นั่นเอง ดังศีลห้านั้น ศีลไม่ใช่ข้อห้าม หากเป็นดังข้อแนะนำตามที่หลานว่านั้นถูกแล้ว

      คือแนะนำให้เข้าใจถึงบทอันพึงศึกษาว่าด้วยการเว้นจากการประทุษร้ายทางกายวาจาใจห้าข้อนั้น ว่าแต่หลานและครูของหลานอยู่โรงเรียนอะไรนั่น          คำตอบคือ โรงเรียนรุ่งอรุณ  ฟังแล้วอยากไปกราบครูที่โรงเรียนรุ่งอรุณทันทีวันหนึ่งมีโอกาสไปโรงเรียนรุ่งอรุณที่ฝั่งธนฯ เข้าทางซอยวัดยายร่ม ถนนสายธนบุรีปากท่อ ถึงทุ่งครุก็ได้เห็นความร่มรื่นของต้นไม้ และบึงน้ำ สนามและอาคารที่เหมือนลานบ้าน กระท่อมไม้ที่เดินติดต่อถึงกันได้หมด เหมือนหมู่บ้านชนบทอันปรากฏอย่างมีชีวิตชีวาอยู่ในปัจจุบัน  ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวสัมโมทนียกถาถึงโรงเรียนรุ่งอรุณในความหมายของชื่อว่า

     "พระพุทธเจ้าตรัสว่า ก่อนอาทิตย์อุทัยจะมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน ฉันใด ชีวิตที่ดีที่จะดำเนินไปได้ในมรรคามีองค์ 8 ประการนี้ ก็มีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อนฉันนั้น" รุ่งอรุณในความหมายทางธรรม คือก่อนอาทิตย์อุทัย ก่อนปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปดนั้นคือ ธรรมข้อ "ฉันทะ" ท่านเจ้าคุณสมเด็จ กล่าวว่า  "แสงอรุณข้อที่อาตมาอยากจะขอย้ำในวันนี้คือ เรื่องแรงจูงใจดีงามถูกต้อง และเข้มแข็ง ที่ท่านเรียกว่า 'ฉันทะ' น่าแปลกยิ่งนักที่เมืองไทยไม่ค่อยรู้จักแรงจูงใจที่เรียกว่าฉันทะนี้ แล้วก็แทบจะไม่นำมาใช้กัน จึงอยากจะย้ำอย่างยิ่ง ถ้าฉันทะไม่มา เมืองไทยจะพัฒนาไปไม่รอด"

       ฉันทะ คือรุ่งอรุณของการศึกษาก็เช่นกัน ถ้าสถาบันการศึกษาและครูบาอาจารย์ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้ในทางธรรมของฉันทะ รุ่งอรุณของการศึกษาก็ยากจะมีมา ที่สุดก็จะเป็นดังวาทะที่ว่าทุกวันนี้คือ  ตาบอดคลำช้าง  "ฉันทะ" แปลว่า ความอยาก ความปรารถนา คนไทยได้ยินคำว่า 'อยาก' แล้วไม่ชอบ นึกว่าเป็นชาวพุทธ ท่านสอนไม่ให้อยากอะไรอย่างนี้ แต่นี่ตรงข้ามเลย ท่านสอนว่า ต้องอยากหรือต้องมีความอยาก

     "หลักนี้ท่านว่าไว้ชัด 'ปตฺถนา' แปลว่า ความปรารถนา คือความอยาก มี 2 อย่างคือ  1. ตัณหา ปัตถนา ความอยากความปรารถนาด้วยตัณหา 2. ฉันท ปัตถนา ความอยากความปรารถนาด้วยฉันทะ บอกไว้ด้วยเพื่อกันความสับสนว่าตัณหาปัตถนาอยากด้วยตัณหา ท่านเรียกให้สั้นเป็นคำเดียวว่า 'ตัณหา' ส่วนฉันท ปัตถนา อยากด้วยฉันทะ ท่านก็เรียกสั้นๆ คำเดียวว่า 'ฉันทะ' "ตัณหาเป็นความอยากเพื่ออัตตา คือเพื่อตัวตน (ตัวกู) แต่ฉันทะ เป็นความอยากเพื่อสภาวะ คือเพื่อความเต็มเปี่ยม ดีงาม สมบูรณ์ ตามสภาวะที่พึงเป็นของสิ่งนั้นๆ เอง" ท่านเจ้าคุณสมเด็จ ยังขยายความฉันทะให้กว้างและลึก จากรู้สู่ปฏิบัติอีกว่า  "ความอยากให้มันดี เรียกว่า ฉันทะ การที่จะมีฉันทะได้ เราก็ต้องมีปัญญารู้ว่าอะไรอย่างไรดี แล้วก็อยากให้มันดีอย่างนั้น แต่แค่อยากให้มันดี ยังไม่พอ ตัวฉันทะที่แท้อยู่ที่อยากทำให้มันดี ตรงนี้จึงจะเป็นตัวฉันทะ"

     ถอดความจากวาทะของท่านเจ้าคุณสมเด็จ ก็คือ ฉันทะมีสามขั้นตอน  อยากรู้สิ่งดี อยากเห็นสิ่งดีหรืออยากให้มันดี อยากทำให้มันดี ความอยากสามขั้นตอนนี้แหละเป็นฉันทะ  ท่านอธิบายว่า"อันนี้อาศัยปัญญาคือความรู้ พอเรามีปัญญารู้ว่าอันนี้ควรจะเป็นอย่างนี้ สภาวะที่ถูกที่ควร ที่เต็มเปี่ยม ที่สมบูรณ์ของมัน พึงเป็นอย่างนี้ เราก็อยากให้มันเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นอย่างนั้น เรียกง่ายๆ ว่า อยากให้มันดี" ดังนั้น

     "หน้าที่ของครูอาจารย์คือ จะต้องปลูกฉันทะ ทำให้นักเรียนเกิดมีฉันทะนี้ขึ้น ให้เด็กเกิดมีความอยาก ทำให้มันดีสมหรือเต็มสภาวะของมัน เช่นว่า ตามสภาวะของมันที่เป็นต้นไม้ ต้นไม้ก็ควรจะมีใบเขียวขจี มีดอกสดสวย มีผลอิ่มงาม นี่คือสภาวะของมัน ที่มันควรจะเป็น คนมีฉันทะก็ดูว่าต้นไม้นี้งามสมบูรณ์ดีหรือยัง ถ้ายัง ก็อยากทำให้มันสมบูรณ์เต็มสภาวะของมัน เอาละสิ ทีนี้ก็อยากทำให้มันดี ทำให้มันสมบูรณ์ ก็เอาน้ำมารด มาตัดแต่ง ดูแล เวลาที่ทำอย่างนั้น ก็ทำด้วยความอยากที่เป็นฉันทะ ก็จึงมีความสุขตลอดเวลา ฉะนั้น งานการก็เป็นความสุขไปหมด"

      "...ฉันทะตัวนี้ นอกจากมีฐานะเป็นรุ่งอรุณของการศึกษาแล้ว พระพุทธเจ้ายังตรัสย้ำไว้ด้วยว่า 'ฉันฺทะ มูลกา สพฺเพ ธมฺมา' ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล คือเป็นรากเหง้า เป็นต้นตอ เป็นต้นทางที่จะเดินหน้าต่อไปก่อนที่จะดำเนินชีวิตที่ดีได้ ต้องเริ่มด้วยมีฉันทะ"         
สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า    เมื่อแสงอรุณมาแล้ว อาทิตย์ก็จะอุทัย
 
 
 
 
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560


ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]