โกงศรัทธาประชาชน

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 20 เมษายน 60 / อ่าน : 1,401


มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560
 
 
     "การทำความผิดในวิหารนั้น มิอาจเป็นข้ออ้างให้พ้นบาปได้" นี่ดูเหมือนจะเป็นคำกล่าวของวาสุเทพ กฤษณะ ในเรื่อง "มหาภารตะ" เมื่อวิจารณ์ถึงความผิดของทุรโยชผู้ทรราช ซึ่งแก้แค้นเหล่าห้าพี่น้องแห่งปานฑพกับมเหสี คือนางเทราปตีด้วยเกมพนันโกงจนถึงจัดเปลื้องผ้านางเทราปตีกลางท้องพระโรงโดยลุแก่อำนาจทรราชนั้น  อำนาจทรราชนั้นแล คือความผิดในวิหาร  หมายถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดนั้นมิอาจอ้างเอายศศักดิ์ ตำแหน่งแห่งหนอันสูงศักดิ์และศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเกราะกำบังใดๆ ได้เลย

     โดยเฉพาะการละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งในกรณีนี้คือการใช้อำนาจของทุรโยชจัดการเปลื้องผ้านางเทราปตี  หากจะแทนคำวิหารเป็นโบสถ์ก็ย่อมได้ และย่อมจะเห็นตัวอย่างได้ชัดขึ้นด้วย  โดยเฉพาะการทำความผิดของคนห่มผ้าเหลือง ห่มผ้าเหลืองที่ไม่ใช่พระ หากทำตัวเป็นพระ และคนเชื่อคว่าเป็นพระ นี่ก็เป็นความผิดฉกรรจ์ขั้นต้นแล้ว คือ เป็นพระปลอม

     ความผิดฉกรรจ์ขั้นต้นคือ "โกงศรัทธาประชาชน" ยิ่งพระปลอม ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง จะด้วยการโกงเงินหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยประการใดก็ดี ก็ยิ่งชั่วหนักเข้าไปอีก  นี่แหละคือ โบสถ์วิหารมิอาจปกป้องการทำความผิดของผู้กระทำภายในหรือในนามของสำนักนั้นได้เลย  การปลงอาบัติในโบสถ์นั้น มิอาจปลงหรือใช้ได้กับอาบัติขั้นปาราชิก  อาบัติขั้นนี้ต้องสึกสถานเดียว ผิดกฎหมายบ้านเมืองก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมายด้วย

     เคยยกตัวอย่างเรื่อง "สมภารเซ้งโบสถ์" ไดัเมื่อสมัยที่นักธุรกิจการเมืองเข้ามาลงทุนขายประเทศในสมัยหนึ่งนั้นว่า เหมือนเราจ้างผู้จัดการมาดูแลร้านค้าเรา แต่ผู้จัดการเข้ามาจัดการไปในทางที่นอกจากนำสินค้าของตนเข้าขายเป็นหลักแล้วยังคิดทำการในทีท่าว่าจะเซ้งร้านเป็นส่วนตัวอีกด้วย นี่แหละ "สมภารเซ้งโบสถ์" ด้วยการถือเอาศรัทธาของญาติโยมมาฉ้อฉลเป็นประโยชน์ตนโดยมิชอบ ศรัทธาในพุทธศาสนิกชนเรานี่เองก็พิกลพิการด้วยเช่นกัน โดยเรามักถือศรัทธาเป็นหลักคือ ถือเอา "ความเชื่อ" เป็นใหญ่

     เชื่อว่าเขาดี เขามีบุญ เขารวย เขาเด่นดัง เขามียศศักดิ์อัครฐาน บารมี ฯลฯ เมื่อเชื่อแล้วก็เชื่อเลย ยิ่งบวชเป็นพระห่มเหลืองยิ่งเชื่อใหญ่เชื่อเลย หารู้ไม่ว่า ในพระไตรปิฎกเองยังเอ่ยถึงนักบวชผู้ทุศีลจำพวกหนึ่งว่าเป็นพวก "ดาบที่หมกอยู่ในจีวร"

     
     ศรัทธาต้องคู่กับปัญญาท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเปรียบเหมือนคู่โคเทียมเกวียน ที่ต้องเดินคู่  ขนานไปด้วยกัน  ตัวหนึ่งคือศรัทธา ตัวหนึ่งคือปัญญา          ตัวใดตัวหนึ่งจะนำโด่งไปไม่ได้ เกวียนล่มแน่  ศรัทธานำปัญญา ก็จะกลายเป็นงมงาย คือเชื่อลูกเดียว กระทั่งเป็นงมงายไสยศาสตร์ดังเป็นกันมากในบ้านเราเวลานี้ ปัญญานำศรัทธาก็จะกลายเป็นพวกบ้าสุดโต่ง มีปัญญาพุ่งไปลูกเดียว ไม่เชื่อในอะไรทั้งนั้น จำพวกนี้เห็นได้ในหมู่ปัญญาชนคนชั้นกลางที่มักไม่ "อหังการคับฟ้า" ก็ "อัตตาคับกรง"นเมืองเราเวลานี้ก็เหมือนจะมีสภาพอย่างนี้บ้คือมีคนสองจำพวก หนึ่ง หนักข้างศรัทธาลูกเดียว สอง หนักข้างปัญญาลูกเดียว เกวียนคือสังคมนี้ทำท่าจะล่มถึงขั้น "เกวียนหัก" ก็เพราะความไม่เสมอกันของศรัทธากับปัญญานี้เป็นสำคัญประการหนึ่ง

     ยังมีวาทะเด็ดในมหาภารตะอีกประโยค เป็นทำนองว่า เมื่อไฟไหม้บ้าน คนเฝ้าประตูไม่แค่เฝ้ารักษาประตูอยู่เท่านั้น ตรงนี้เก็บไปคิดกันเองละกันว่าจะหมายถึงอะไรดีต่อสภาพการณ์ของบ้านเมืองเราเวลานี้าจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เปรียบเทียบรามเกียรติ์กับมหาอภารตะ ไว้น่าสนใจตอนหนึ่งในคำนำหนังสือ "มหาภารตยุทธ์" ว่า

     "...เป็นเรื่องธรรมยุทธ์ของชาวภารตประเทศทั้งคู่ เรื่องแรก แสดงการสู้รบระหว่างชาวอารยันที่ยกเข้ามายึดครองชมพูทวีป ด้วยการขับไล่ชาวพื้นเมืองเดิมที่ถูกกดลงเป็นมิลักขุ ยักษ์ รักษส ฯลฯ ออกไปจนถึงลังกาทวีป โดยที่ชาวพื้นเมืองเดิมที่เข้ามาสมัครเป็นพรรคพวกก็ได้รับเกียรติให้เป็นพญาวานร ทั้งนี้ โดยมีพื้นเพให้ได้สมพงศ์กับฝ่ายอารยันบ้าง เช่น มีบิดาเป็นเทวดา เป็นต้น ส่วนเรื่องหลัง เป็นการสู้รบกันระหว่างชาวอารยันด้วยกันเองหลังจากที่ยึดครองชมพูทวีปได้โดยตลอดแล้ว..."  ข้อคิดเรื่องศรัทธากับปัญญาก็ได้จากมหากาพย์สองเรื่องนี้

                                                                       อสรพิษ         
                                                          นัยแห่งพระจตุราริยสัจ         
                                                       เป็นวิถีญาณทัสน์ ปทัสฐาน         
                                                   คือความจริงสี่ประการเป็นหลักการ         
                                                    เป็นหลักวิจารณญาณ ประทานไว้

                                                      หลักมรรคมีองค์แปด ปฏิปทา         
                                                       ศีลสมาธิปัญญา มรรคาใหญ่         
                                                       แต่เริ่มด้วยปัญญา มาก่อนใด         
                                                        สัมมาทิฏฐิใช้ เป็นหลักนำ

                                                         สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ         
                                                        ต้องประกอบเป็นธัมโมปถัมถ์         
                                                 ความถูกต้องเป็นตาม ความชอบธรรม         
                                                          ศีลสมาธิค้ำ ด้วยสัมมา

                                                       ความเห็นผิด นั้นคือ มิจฉาทิฏฐิ         
                                                          ทั้งศีลทั้งสมาธิ ล้วนผีบ้า         
                                                          วิปริต บิดผัน บอดปัญญา         
                                                        ขายศรัทธา ค้าสวรรค์ ปั่นหัวคน

                                                    เปลี่ยนสัมมาเป็นมิจฉา เปลี่ยนตาเห็น         
                                                        กงจักรเป็นดอกบัว มืดมัวหม่น         
                                                          ง.งู คือ ง.เงิน ประเชิญชน         
                                                         อสรพิษรวมพล เข้าพ่นพิษ!
 
 
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560
 


ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]