ปริศนาธรรมแห่งองค์พระปฐมเจดีย์

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 20 เมษายน 60 / อ่าน : 2,170


 มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560
                                                          
                                                           เยธัมมา เหตุ ปภะวา สิ่งใดเกิดแต่เหตุ 
 
                                                      เตสัง เหตุม ตถาคะโต ตถาคตตรัสเหตุนั้น
        
                                                เตสัญจะ โย นิโรโธ จะพร้อมความดับซึ่งเหตุนั้นด้วย
          
                                                 เอวัง วาที มหาสะมะโณฯ มหาสมณะ กล่าวเท่านี้ฯ
 
 
     นี้เป็นคาถาพระอัสสชิ เล่าว่า เมื่อมีผู้หนึ่งถามท่านพระ อัสสชิว่า ศาสดาของท่านกล่าวหลักธรรมใดที่เป็นหัวใจ ของคำสอนในศาสนาของท่าน
 
     พระอัสสชิจึงกล่าววาทะนี้ ที่เรียกขานกันต่อมาว่าเป็น "คาถาพระอัสสชิ"
 
     คาถาพระอัสสชิจารึกอยู่ใต้ฐานองค์พระเจดีย์นครปฐม คือพระปฐมเจดีย์ ศรีสง่าแห่งจังหวัดนครปฐม
 
     จารึกนี้เป็นอักษรปัลวะแห่งอินเดียใต้ กล่าวกันว่าเป็นต้นเค้าของอักษรไทย ลาว เขมร พม่า นี่เอง
 
     นัยยะสำคัญของคาถาพระอัสสชิคือปริศนาธรรมที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาโดยแท้
 
     ถือเป็นบรรทัดฐานตัดสินหลักธรรมในพุทธศาสนาและในทุกศาสนาได้ทั้งหมดทั้งสิ้นได้จริง ไม่ยกเว้น "ลัทธิธรรมกาย" ที่ท้าทายสัจธรรมอยู่เวลานี้
 
     น่าสนใจคือ องค์พระปฐมเจดีย์ ที่มีตำนานว่าพระโทณะและพระอุตระ เถระผู้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ โดยเฉพาะที่ประเทศไทย ที่นครปฐม
 
     ตามประวัติว่าองค์พระปฐมเจดีย์สร้างราว พ.ศ.350 ซึ่งก็คือหลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานราวสามร้อยกว่าปีนั่นเอง น่าสังเกตคือ ร่วมสมัยกับองค์พระเจดีย์ชเวดากองที่พม่าหรือเมียนมาด้วย
 
     ตรงนี้ฝากท่านนักประวัติศาสตร์โบราณคดีช่วยคิดต่อละกันประเด็นที่อยากกล่าวถึงคือ ความสำคัญของความเป็นองค์พระปฐมเจดีย์ในแง่ของแก่นธรรมที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา  ตรงนี้มีตำนาน ตำนานแห่งองค์พระปฐมเจดีย์ก็คือเรื่อง "พญากง พญาพาน" ที่ผูกพันระหว่างสองเมืองคือ นครปฐมกับเมืองกาญจน์
 
     ดังรู้กันคือพญากงแห่งเมืองนครปฐมได้บุตรซึ่งถูกทำให้ต้องลอยแพจนยายหอมเก็บได้เด็กน้อยที่มีแผลพานโขกศีรษะจึงชื่อพญาพาน ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองกาญจน์ยกทัพมาตีนครปฐมโดยไม่รู้ว่าเจ้าเมืองนครปฐมคือพญากงเป็นพ่อ ชนะศึกฆ่าบิดาแล้วได้มเหสีคือแม่ตน จนได้รู้ถึงบาปกรรมนี้จึงฆ่ายายหอมด้วยเหตุไม่บอกความจริง
 
     พญาพานได้สำนึกผิดจึงสร้างพระปฐมเจดีย์ล้างบาปที่ฆ่าบิดา แล้วสร้างพระประโทณเจดีย์ล้างบาปที่ฆ่ายายหอม  เรารู้ตามๆ กันมาดังนี้
 
     น่าสนใจคือเรื่องพญากงพญาพานไปพ้องกับเทพนิยายกรีก ซึ่งเป็นที่มาของปมจิตวิทยาที่เรียกว่า "ปมอิดิปุส" หรือ "อิดิปัส"...ไม่รู้นะ
 
     ว่าอิดิปุสฆ่าพ่อเหมือนพญาพานฆ่าพ่อพญากงนั่นเลย ต่างแต่อิดิปุสสำนึกผิดแล้วควักลูกตาสองข้างออก ทำให้ตาบอด แต่พญาพานสร้างพระเจดีย์  ตรงนี้เป็นปริศนาธรรมทั้งอิดิปุสและพญาพานสำนึกผิดที่ฆ่าพ่อ เสมือนมีดวงตาแต่หาได้เห็นความจริงไม่
 
     อิดิปุสจึงล้างบาปด้วยการควักดวงตาของตนออกเพื่อประจานความบอดปัญญาของตนเอง
 
     พญาพานสร้างพระเจดีย์ล้างบาปตามคติศรัทธาในพุทธศาสนา  ปริศนาธรรมคือ พระเจดีย์นี้คือ"องค์พระปฐมเจดีย์" คำว่า "ปฐม" หมายถึง "เบื้องต้น" หลักธรรมที่เป็น "หัวใจ" ของพุทธศาสนานั้นคือ "อริยสัจสี่" มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ เป็นผล สมุทัย เป็นเหตุ นิโรธ เป็นผล มรรค เป็นเหต อริยสัจเป็นหลักการของตรรกะที่ว่าด้วยเหตุผล เพราะฉะนั้น ในส่วนของมรรค ที่เรารู้คือ มรรคมีองค์แปดนั้น เป็นหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงซึ่งความดับทุกข์
 
     หลักปฏิบัติโดยทั่วไปของการปฏิบัติธรรมมีขั้นตอนคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่หลักมรรคแปดลำดับจากปัญญา-ศีล-สมาธิ คือ เริ่มต้นด้วยปัญญา แทนที่จะลำดับปัญญาอยู่ท้ายสุด
 
     นี่คือปริศนาธรรม องค์ปฐมมรรค หรือมรรคแปด เริ่มด้วย สัมมาทิฏฐิ แปลว่า "ความเห็นชอบ"  ตรงข้ามสัมมาทิฏฐิ คือมิจฉาทิฏฐิ  หมายความว่า โดยหลักปฏิบัตินั้นต้องมี "สัมมาทิฏฐิ" เป็นองค์นำ ดุจเป็น "องค์ปฐมมรรค" นั่นเอง
 
     ผิดจากนี้ย่อมเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" คือ ทั้งศีล สมาธิ ถ้าไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" แล้วก็จะเป็นมิจฉาศีล มิจฉาสมาธิ ไปโดยทันที
 
     ดังกรณีธรรมกาย ที่เน้น "สมาธิ" ในลักษณะที่เป็น "มิจฉาสมาธิ" จนพาคนลงเหวไปทั้งขบวนอยู่เวลานี้ สัมมาทิฏฐิอันเป็นองค์ "ปฐมมรรค" จึงนอกจากยืนยันโดยนัยยะแห่งปริศนาธรรมจากตำนานเรื่อง "พญากงพญาพาน" ซึ่งพ้องเรื่องอิดิปุสจนกลายเป็นปมทางจิตวิทยาแล้ว สัมมาทิฏฐิก็ยังคงเป็น "องค์ปฐมมรรค" อันสำคัญสุด ในแง่ของการปฏิบัติเพื่อเข้าถึง "หัวใจ" ของพระพุทธศาสนาที่แท้ด้วย
 
     น่าสลดใจคือสังคมไทยปล่อยให้ "มิจฉาทิฏฐิ" มีบทบาทนำ "สัมมาทิฏฐิ" ในแทบจะทุกเรื่อง  เรามักแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งที่เรามีองค์พระปฐมเจดีย์โดดเด่นเป็นสง่า เป็นมิ่งขวัญ มีคาถาพระอัสสชิเป็นรากฐาน  แต่เราหาได้สนใจไม่
 
 
 
  มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560
 


ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]