ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ
ความเชื่อเรื่องผีหรือการบูชาผีนั้นสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของมนุษย์ซึ่งเป็นธรรมดาโลก จัดได้ว่าเป็นอีกมิติที่ถูกกำหนดขึ้นมาด้วยปัจจัยบางประการ บางอย่างเป็นไปเพื่อการสร้างบุญกุศลช่วยเหลือสนับสนุนความประสงค์ทางโลกเสมือนที่พึ่งทางใจ บางอย่างก็เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขผ่านพิธีกรรมความเชื่อที่ยึดถือกันมา และแสดงความเป็นชาติพันธุ์หรือความเป็นพวกพ้องเดียวกัน ผีที่นับถือของคนในแต่ละท้องที่นั้นจะแตกต่างกันออกไปเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น
หมู่บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ กะยัน กะยา กะยอ ปกาเกอะญอ และไทใหญ่ มีความผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติ รวมทั้งความเชื่อในเรื่องการเคารพธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงปรากฏประเพณี และพิธีกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบปีหรือแต่ละช่วงฤดูกาลที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ผีธรรมชาติ นับถือและบวงสรวงดวงวิญญาณตามคติดั้งเดิมของชนเผ่า คือ ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ
คำว่า ผีขุนน้ำ สามารถแยกความหมายได้คือ ผี หมายถึง วิญญาณหรือเทวะที่ศักดิ์สิทธิ์ ขุน หมายถึง ความเป็นใหญ่ ประธานหรืออารักษ์ น้ำ ก็คือห้วย แม่น้ำ ลำคลอง เหมือง ฝาย ดังนั้น ผีขุนน้ำ คือ เทวดาผู้พิทักษ์รักษาต้นน้ำลำธาร ป่าตอนใดเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำ ป่านั้น ๆ จะได้รับการพิทักษ์หวงแหนยิ่งกว่าป่าอื่น ๆ
ผีขุนน้ำเป็นผีพื้นบ้านที่กลุ่มชาติพันธุ์ในตอนเหนือของประเทศไทยให้ความเคารพยำเกรงมาก เนื่องจากแต่เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำการเกษตรกรรม ต้องอาศัยน้ำจากลำห้วย ลำธาร ลำคลองในการเกษตร บางปีฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็ทำให้ขาดแคลนน้ำ จึงเกิดความเชื่อ ว่ามีเทวดาอารักษ์บันดาลให้น้ำน้อยน้ำมากได้ และคิดว่าผู้มีอำนาจนั้นคือขุนน้ำต้นน้ำ ดังนั้น จึงมีการบวงสรวงขอให้ผีขุนน้ำได้เมตตาแก่ชาวบ้านผู้ทำการเกษตร เพื่อให้ชาวบ้านได้ผลผลิตที่ดีสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีความผาสุก (พระอธิการจรัล อภิินนฺโท และสยาม ราชวัตร, 2564)
เช่นเดียวกันกับชาวบ้านห้วยปูแกงมีความเชื่อว่าการเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นการขอขมา ขอพร เพื่อให้ปีถัดไปเป็นปีที่ดีของบุคคลและหมู่บ้าน เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ทำให้พืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ทำพิธีช่วงวันขึ้น 1 ค่ำจนถึง ขึ้น 15 ค่ำและไม่ทำพิธีในวันข้างแรม ผู้นำและผู้ทำพิธีจะนำชาวบ้านที่ต้องการไปสักการะและเลี้ยงผีขุนน้ำข้ามฟากไปยังดอยฝั่งตรงข้ามกับหมู่บ้าน ก่อนจะขึ้นเขาไปยังสถานที่ทำพิธีจะเป็นศาลเล็ก ๆ โดยในพิธีนี้จะสามารถเดินทางไปเข้าร่วมได้ทั้งชายและหญิง แต่ผู้หญิงจะรออยู่ได้เพียงบริเวณรอบนอก และห้ามบุคคลในครอบครัวของผู้หญิงที่มีประจำเดือนเข้าร่วมในพิธีเพราะเชื่อว่าเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องสักการะประกอบด้วยไข่ต้ม ผลไม้ธูป เทียน หรือของอย่างอื่นที่ต้องการนำไปไหว้ (รชพรรณ ฆารพันธ์ และธัชกร ป้อปาลี, 2565:29)
***ตามปฏิทินชุมชนของหมู่บ้านห้วยปูแกงจะจัดประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม อ้างอิงจากบทความวิจัย การจัดทำคลังข้อมูลชุมชนบ้านห้วยปูแกง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ของ รชพรรณ ฆารพันธ์ และธัชกร ป้อปาลี, 2565: 28***
นอกเหนือจากบ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยก็มีประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำเช่นกัน การประกอบพิธีอาจแตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น แต่คงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์เดียวกันคือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เกษตรกรเกิดกำลังใจในการทำการเกษตร แล้วยังช่วยปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของแหล่งต้นน้ำลำธารอีกด้วย
อ้างอิง
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2552). พิธีกรรมและประเพณี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
พระธีรพงศ์ ธีรปญฺโญ1, จรัส ลีกา, พระมหาประทีป อภิวฑฺฒโน และ พระมหาจิณกมล อภิรตโน (เป็นสุข). (2564). การรักษาป่าชุมชนด้วยแนวคิดผี พราหมณ์ พุทธ. วารสารบัณฑิตศึกษามหาจุฬาขอนแก่น, 8(4).
พระอธิการจรัล อภิินนฺโท และสยาม ราชวัตร (2564). การเลี้ยงผีขุนน้ำ : มิติิทางพระพุทธศาสนา. วารสารพุทธศิลปกรรม, 4(2), 93.
รชพรรณ ฆารพันธ์ และธัชกร ป้อปาลี. (2565). การจัดทำคลังข้อมูลชุมชนบ้านห้วยปูแกง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วารสารกระแสวัฒนธรรม, 23(44), 28-29.
สามารถ ใจเตี้ย. (2560). การจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำลี้ แนวคิดการปฏิบัติตามแผนนิเวศวัฒนธรรม. วารสารสิ่งแวดล้อม, 21, 47.
กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้. (ม.ป.ป). ประเพณีเลี้ยงผีขนน้ำ. สืบค้บค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2567 จาก https://anyflip.com/ifwtv/dncu
คลังความรู้ล้านนา. (2565). ผีในความเชื่อชาวล้านนา. สืบค้บค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567. จาก
https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/details/2768.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2566). คนไทยกับการบู๙ผี มองเรื่องผี ๆ ด้วยเลนส์นักคติชน มธ..สืบค้บค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567. จาก https://tu.ac.th/thammasat-201066-analyze-thai-people-and-ghost-worship.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น. (2564). “สืบชะตาแม่น้ำมางน้ำว้า” กุศโลบายในการดูแลแหล่งน้ำ. สืบค้บค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567 จาก https://vijaitongtin.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%9A%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%B2/.
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]