สื่อสร้างสรรค์..ต้นแบบวิถีใหม่ กระตุ้น"อย่าปล่อย"ให้เด็กอ้วน

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 18 ตุลาคม 66 / อ่าน : 655


สื่อสร้างสรรค์..ต้นแบบวิถีใหม่ กระตุ้น"อย่าปล่อย"ให้เด็กอ้วน

.............................................

ข่าวจาก ไทยโพสต์

.............................................

รายงาน World Obesity Federation ปี 2565 พบว่าทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วน ประมาณ 800 ล้านคน จำนวนนี้มี 39 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกประมาณ 340 ล้านคน เป็นเด็กและวัยรุ่น อายุ 5-19 ปี

ขณะที่รายงาน Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564 และปี 2565 พบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.7 โดยพบว่าเด็กวัยรุ่น อายุ 15-18 ปี ร้อยละ 13.1 อ้วนเกินค่าเป้าหมายที่กำหนด จากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น ไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงเกินไป ขณะที่กลยุทธ์ทางการตลาดมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและการกินของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อและใช้จ่ายด้วยตัวเองได้

โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน  The New normal ลดหวาน มัน เค็ม  เพิ่มผักและผลไม้ ..จึงยังต้องขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ปัญหา "โรคอ้วน" อย่างต่อเนื่อง และหาทางเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเตือนสร้างสุขภาวะของเยาวชนไทยซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ โดยในปีนี้เป็นการส่งเสริมการทำสื่อสร้างสรรค์ลดอ้วนโรงเรียนในพื้นที่ กทม. เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายต่อยอดไปทั่วประเทศต่อไป  โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดถึง 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

ล่าสุด..เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2565 ที่ Lido Connect แหล่งรวมของเด็กและเยาวชน ใจกลางกรุงเทพมหานคร แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, สำนักโภชนาการ,  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข,  สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ, เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน, เครือข่ายคนไทยไร้พุง และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน The New normal ลดหวาน มัน เค็ม  เพิ่มผักและผลไม้ ซึ่งถือเป็นปีที่ 4

“โรคอ้วน” หรือภาวะโภชนาการเกินในเด็กวัยเรียน เป็นปัจจัยเสี่ยงและปัญหาสาธารณสุขที่ต้องร่วมแก้ไข เพราะเด็กที่เป็นโรคอ้วนตั้งแต่อายุน้อย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ 1 ใน 4 คน มีโอกาสเป็นโรคอ้วน และหากเด็กอ้วนไปถึงวัยรุ่น มีความเสี่ยงสูงที่ 3 ใน 4 คน จะป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ส่วนเด็กที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอตามเกณฑ์โภชนาการ จะเสี่ยงเกิดภาวะ “ทุพโภชนาการ” น้ำหนักน้อย เตี้ย ผอม แคระแกร็น ส่งผลกระทบต่อร่างกายและพัฒนาการ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ ไม่มีกิจกรรมทางกาย กินอาหารหวาน มัน เค็ม ดังนั้น สสส.จึงเร่งผลักดัน สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs โดยมุ่งพัฒนา “นักสื่อสารสุขภาวะ” ในระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชน ผ่านการให้ความรู้ในสื่อต่างๆ  ทุกแพลตฟอร์ม" นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงสาระสำคัญของการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการรณรงค์อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน

สสส.ทำงานมาแล้ว 21 ปี นำศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตสุขภาวะมาดูแลคนไทยอย่างต่อเนื่อง ลดการเกิดโรค NCDs มะเร็ง หัวใจ หลอดเลือดเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้เด็กวัย 20-30 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นต้องให้ความรอบรู้เรื่องสุขภาพเข้าไปถึงเยาวชน การจุดประกายนวัตกรรมด้วยการทำงานร่วมกับนักเรียนร่วมคิดร่วมกันทำทุกภาคส่วน ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวเป็น Influencer ได้ในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อกระจายสื่อสารออกไป สร้างนักสื่อสารสุขภาวะ

“สื่อถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการนำมาสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะภายใต้สื่อยุคดิจิทัลที่มีช่องทางสื่อที่หลากหลาย สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ แรงบันดาลใจ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการพัฒนาครูและนักเรียน สู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ร่วมสื่อสารประเด็นสุขภาพผ่านการพัฒนากระบวนการสื่อสาร และกิจกรรมสร้างสรรค์ในโรงเรียน โดยการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และผู้ปกครอง สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะในโรงเรียน เพื่อช่วยลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นอีกเป้าหมายที่สามารถร่วมเป็นพลังขับเคลื่อน และเป็นโรงเรียนต้นแบบเรื่องการป้องกันเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ จนขยายผลไปทั่วประเทศได้” นางเบญจมาภรณ์กล่าว

ในขณะที่ นายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ตอกย้ำว่า หากปล่อยให้เด็กอ้วนเกิดขึ้นโดยไม่ควบคุม จะทำให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 80 ปัญหาเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารไม่มีประโยชน์ การให้ความรู้และความเข้าใจกับเด็ก ผู้ปกครอง เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาพบว่าการสื่อสารเรื่องนี้ยังใช้สื่อแบบเดิม ไม่ทันสมัย ไม่เข้าถึงเด็กได้ลึกพอ ครั้งนี้จึงมีนักโฆษณา ครีเอทีฟมืออาชีพ ให้คำปรึกษากับครูตลอดโครงการ โดยให้เด็กได้ลงมาเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อด้วยตัวเองด้วย คาดว่าเมื่อทำต่อเนื่องจะทำให้เข้าใจโภชนาการทางอาหารเพิ่มขึ้น จะทำให้โรคอ้วนและขาดสารอาหารมีแนวโน้มลดลง

"การพัฒนามาตรการปกป้องกันการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก จึงควรยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พ่อแม่ คนเลี้ยงดู และพัฒนากฎหมายคุ้มครอง ภายใต้การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และนำไปปฏิบัติได้จริง" อุปนายกสมาคมโภชนาการฯ ยืนยัน

ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการมีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาพในเด็กประถมและมัธยมศึกษา เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้ครู ผู้ปกครอง พัฒนาสื่อและกิจกรรม ด้วยการออกแบบ ผลิต และจัดกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์สังคมเชิงรุก ผ่านการเปิดโจทย์ เปิดประเด็น ให้เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษาได้รับสื่อสร้างสรรค์ พร้อมพัฒนาความรู้เนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโรงเรียน โดยทุกคนต้องปรับพฤติกรรมใหม่ช่วงโควิด-19 ผ่านการเรียนระบบ 5 ON คือ Online, On Air, On Hand, On Site และ On School Line

ถึงแม้ว่าปีนี้จะต้องทำรูปแบบ The New normal แต่พบว่า 23 โรงเรียนต้นแบบสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมออกมาได้น่าสนใจ และเพื่อเป็นกำลังใจ จึงคัดเลือกโครงการที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ และเป้าหมายเป็นรูปธรรม สู่การเรียนการสอนได้จริงขึ้นมา โดยเน้นการเสริมพลังและสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู และสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลสุดยอดโรงเรียนสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมรณรงค์ลดน้ำหนัก ส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ด้วยการรับรางวัลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“สุดยอดผลงานที่ได้จะเป็นต้นแบบสื่อที่ดี ที่ใช้ขยายผลกับกลุ่มเป้าหมายข้างเคียง ระหว่างกลุ่มเพื่อนของเด็ก ครอบครัว ครู หลักสูตร นโยบายของโรงเรียน ร้านค้ารอบสถานศึกษา เพื่อผลักดันให้โรงเรียนที่ได้รางวัลเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่นๆ ยกระดับขยายพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้หลักสูตรต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผ่านการอบรมผู้บริหาร ครู และนักเรียนแกนนำ รูปแบบ Train for The Trainer เน้นกลุ่มนักเรียน ป.4-6 ใน 4 ภูมิภาค สร้างนักสื่อสารสุขภาวะ ที่พัฒนาสื่อเป็นนวัตกรรมให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ ลดปัญหาโภชนาการระยะยาว สามารถติดตามประกาศของโครงการได้ที่ www.artculture4health.com” นายดนัยกล่าว.

***

โรงเรียนต้นแบบ..อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน

รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน 0 โรงเรียนวัดปากบ่อ ...ธีม : หุ่นดีดีรอพี่ที่ท่าน้ำ คลองพระโขนง ตอนภาคีผีนานาชาติ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 0 โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม... ธีม : ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงแห่งสุขภาพ “Army Healthy Operation Center (AHOC)

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 0 โรงเรียนวัดอินทราวาส ...ธีม : Watin Country Fit & Firm Farm

รางวัลชมเชย 0 โรงเรียนวัดบางบอน (พิมพ์ จัน แต้อุปถัมภ์) ...ธีม : แม่ไม้ไทยพิชิตพุง

รางวัลชมเชย 0 โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม ...ธีม : กองทัพวัดจันทร์ท้ารบสยบพุง

รางวัลกิจกรรมต่อยอดดีเด่น 0 โรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์

รางวัลเมนูดีเด่น 0 โรงเรียนวัดแสมดำ

รางวัลบูรณาการสู่ความยั่งยืนดีเด่น 0 โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์

รางวัลเพลงการออกกำลังกายดีเด่น 0  โรงเรียนศิริวังวิทยาคาร

***

จากใจ..ผู้คว้าถ้วยรางวัลพระราชทาน

ด.ญ.ศศิวรรณ สวยพริ้ง “ผีนางรำ” อายุ 14 ปี ชั้นมัธยมปีที่ 3 รร.วัดปากบ่อ รางวัลถ้วยพระราชทาน : โรงเรียนวัดปากบ่อ ธีม : หุ่นดีดีรอพี่ที่ท่าน้ำ คลองพระโขนง ตอนภาคีผีนานาชาติ

“เนื่องจาก รร.ปากบ่ออยู่แถวคลองพระโขนง มีเรื่องผีแม่นาคอยู่แล้ว หนูเป็นผีนางรำ เรามีนักเรียนแกนนำกว่า 10 คน สร้างทีมผีนานาชาติ เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวเป็นทีมผีก็มีอยู่แล้วที่โรงเรียน เป็นการลงทุนให้น้อยที่สุด มีครูวจี อนุภัค เป็นครูฝึกเพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรม เรามีนวัตกรรมเพลงประกอบนำผีๆ มาออกกำลังกายทุกเช้า มีสายสิญจน์เปลี่ยนไขมัน เด็กๆ ก็สนุกสนานกัน เด็กสนใจที่จะอ่านฉลากโภชนาการก่อนบริโภค เรามั่นใจว่าทีมต้องได้ที่ 1 เป็น รร.ส่งเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะกิจกรรมดำเนินการจริงเห็นผลด้านพฤติกรรมลดความอ้วนได้จริง กลุ่มเด็กอ้วนมี 16 คน มีน้ำหนักเกินกว่า 80 กก. น้ำหนักลดลงได้ทั้งหมด แม้แต่หนูน้ำหนักเดิม 54 กก. ลดลงมาเหลือ 52 กก. น้ำหนักสมส่วนแล้ว ขณะนี้สร้างเครือข่าย รร.ออกไปอีก 3 แห่ง”.

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]