Spark U ปลุก ใจเมือง #อีสานม่วนสุข 5+1 (เฮ็ด-ฮัก-ฮัก)

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 7 สิงหาคม 66 / อ่าน : 444


Spark U ปลุก ใจเมือง #อีสานม่วนสุข 5+1 (เฮ็ด-ฮัก-ฮัก)

                

“กกบ่แหน่น ปลายดกหนากะตามส่าง ฮากบ่หยั่งฝังเลิ๊กพื้น บ่มีมั่นอยู่ได้โดน ดอกนา”

          ผญาอีสาน แปลความหมายว่า ต้นไม้แม้จะดูแข็งแรง ปลายแม้จะดกหนาก็ตาม หากรากไม่หยั่งฝังลึกลงไปในดิน ไม่มีวันที่จะยืนต้นได้อย่างคงทน เช่นกันหากเราต้องการ สร้างบ้านแปงเมือง หรือทำบ้านเมืองเราให้น่าอยู่ ถ้าเราไม่ร่วมมือ ร่วมแรงกันทำ ไม่มีทางที่จะทำสำเร็จ

เราต้องช่วยกันคิดทำ (เฮ็ด) Head

ช่วยกันดูแล (ฮัก) Hug

และทำทุกอย่างด้วยหัวใจ (ฮัก)  Heart เพื่อให้ฐานรากแน่นหนาแล้วจะได้รับดอกผลที่สวยงาม 

Spark U อีสานม่วนสุข 5+1 มีการทำงานในพื้นที่ภาคอีสานมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นโครงการที่ต่อยอดเพื่อสร้างความ ร่วมมือและการรวมตัวของภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านการพัฒนาชุมชน กลุ่มสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มสื่อศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มคนทำงานพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ กลุ่มองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชน โดยมีเป้าหมายแรกเริ่มคือ การสร้างพื้นที่รูปธรรมที่เป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่กลางในชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของคน อีสานทุกเพศทุกวัยผ่านกระบวน การทำงานอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่นในการฟื้นฟู พัฒนา และออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีอยู่ในชุมชน ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ปฏิบัติการ ปลุก - ใจ - เมือง #อีสานม่วนสุข 5+1 “เฮ็ด ฮัก ฮัก Head Hug Heart” หนึ่งในสื่อสร้างสรรค์ที่เราตั้งใจเปิดตัวขึ้นเพื่อเป็นประตูสู่พื้นที่อีสาน บ้านเฮา จุดประกาย ปลุก เปลี่ยนเมือง เชื่อมร้อยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนภูมิปัญญาในวิถีสุขภาวะ ระหว่างพื้นที่นำร่อง อาทิ เทศบาลตำบลท่าพระ อำเภอเมือง ชุมชนสาวะถี และเทศบาลนครขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น, บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง บ้านห้วยม่วง บ้านอุมุง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และอำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อนำไปสู่สังคมในวงกว้างได้เห็น ได้รู้ และร่วมสร้างความเข้าใจในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์และการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม จนนำไปสู่ความเป็นชุมชนที่น่าอยู่ ปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นชุมชนแห่งคุณค่าของพหุวัฒนธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งความสุข รายได้จากทรัพยากรที่มีในพื้นที่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครื่อข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน บอกว่า ปีที่ผ่านมา Spark U อีสานม่วนสุข 5+1 เกิดขึ้นภายใต้ชื่องานว่า “ฮ่วม เฮ็ด” โดยฮ่วม คือ การมาทำร่วมกัน มาประสานกันความร่วมมือกัน เฮ็ด คือ การทำ ซึ่งปีที่ที่ผ่านมาทั้ง 5 พื้นที่นั้นได้เริ่มต้นทำแล้ว ก็คือการร่วมมือกัน ทำงานด้วยกัน และทำออกมาสำเร็จ จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน มาปีนี้จึงเป็นการต่อยอดจากปีที่แล้วจึงออกมาเป็นงานที่ชื่อว่า “เฮ็ด ฮัก ฮัก” โดย เฮ็ด ก็คือหัวที่ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ฮัก ก็คือโอบกอดกัน ทำด้วยกับจับมือเดินไปด้วยกัน เพราะปีนี้เจอวิกฤตหลายอย่าง ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และบางพื้นที่เครือข่ายเจอกับน้ำท่วม ก็เลยอยากจับมือประสานมือเดินไปด้วยกัน ส่วนฮัก ตัวสุดท้าย จริงๆ มาจากคำว่า ฮาร์ด ที่แปลว่าหัวใจ แต่พอเป็นภาษาอีสานมันจะเป็นความหมายที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จึงเปลี่ยนมาเป็นฮัก ที่ทำด้วยใจ จริงใจ เพื่อให้งานสำเร็จได้

เสียงแผ่นดินสื่อสารสุขไทเลย

เมืองเลยฉันรักเธอ”

ปริพนธ์ วัฒนขำ หรือพี่ไฝ หัวหน้าโครงการสปาร์คยู “เสียงแผ่นดิน  สื่อสารสุขไทเลย” บอกว่า โครงการเสียงแผ่นดินสื่อสารสุขไทเลยในพื้นที่ จังหวัดเลย ได้นำเสนอผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเหมืองแร่ในพื้นที่ 3 แห่งประกอบด้วยเหมืองทองแดงในพื้นที่ อำเภอเมือง เหมืองทองคำในพื้นที่อำเภอวังสะพุง และเหมืองเหล็กในพื้นที่อำเภอเชียงคานหลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่าเมืองที่ร่ำรวยด้วยธรรมชาติจะมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่บ้านนาหนองบง เป็นพื้นที่ที่สามารถต่อต้านเหมืองแร่ออกไปได้สำเร็จแแต่ไร่ นาข้าว พื้นที่ไร่สวน พืชผักที่ปลูกไว้ไม่สามารถรับประทานได้  เนื่องจากผลกระทบสารพิษที่ไหลมากับน้ำทำให้น้ำในไร่นามีสีน้ำตาลเหลือง คนในชุมชนไม่กล้านำข้าวที่ปลูกไว้มารับประทาน ที่บ้านอุมุง เป็นแหล่งผลิตผลไม้ส่งออกของจังหวัดเลยอย่างกล้วย มะม่วง และผลไม้ต่าง ๆ แต่ได้รับผลกระทบด้านเสียงรบกวนจากการสร้างเหมืองแร่  และได้รับผลกระทบจากการพบโลหะหนัก และแร่ขนาดใหญ่ในแหล่งน้ำในหมู่บ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภค บริโภคได้ และที่บ้านห้วยม่วง เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านอารยธรรมเก่าแก่ มีทะเลหมอกสวยงาม ถ้ำภูเขา  และป่าไม้ที่อุดมไปด้วยแหล่งอาหารอย่าง เห็ดดิน เห็ดป่า แต่ขณะนี้บ้านห้วยม่วง เป็นหมู่บ้านที่นายทุนเข้ามาสำรวจขุดเจาะ ทำเหมืองแร่ แต่ชาวบ้านไม่อยากทำเพราะหวั่นผลกระทบ

“การทำงาน 3 ปีที่ผ่านมา มีการชวนเด็กเยาวชนลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล และเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุนชนทั้ง 3 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของสารพิษที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้แก่ ชุมชนบ้านห้วยม่วง อำเภอเมือง ชุมชนบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง และชุมชนบ้านอุมุง อำเภอเชียงคาน เพื่อให้เยาวชนนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาสะท้อนผ่านรูปแบบของหนังสั้น ภาพยนตร์และภาพถ่าย นำเสนอมุมมองสะเทือนใจ และมุมมองความทุกข์ของคนในชุมชน ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของบ้านเกิดเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะเพื่อสื่อสารให้คนไทเลยได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยกัน โดยภายหลังการลงเรียนรู้พื้นที่ได้นำเสนอข้อมูลให้คนเมืองเลยได้รับรู้ ณ ถนนคนเดิน ตลาดเลาะเลย เพื่อหวังว่าเสียงเล็กๆ ของพวกเขาจะทะลุถึงหัวใจคนฟังบ้าง”

ด้านโครงการปลุก เปลี่ยนเมืองขอนแก่นไร้ขยะ ได้รวมพลังคนในชุมชนเทศบาลนครขอนแก่นทุกภาคส่วนให้รับรู้ปัญหาขยะล้นเมืองตระหนักรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนและเยาวชน จนเกิดปฏิญญาประชาชน 3 ข้อเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะโดยเริ่มต้นจากตัวของทุกคนเอง โดยสุมาลี สุวรรณกร บอกว่า โครงการนี้เกิดจากปัญหาขยะล้นเมือง เทศบาลนครขอนแก่นที่มีขยะวันละ 160 ตัน ต้องจ่ายเงินค่าจัดการขยะปีละ 21 ล้าน แม้จะมีโรงงานไฟฟ้าขยะ แต่ก็ไม่พอที่จะเผาขยะที่กองเป็นภูเขาให้หมดได้แถมยังมีปัญหาฝุ่นควันพิษ พีเอ็ม 2.5 ที่เมืองใหญ่ต้องเผชิญ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยมือของประชาชนรณรงค์คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การปลุกพลังเยาวชนให้เห็นปัญหาขยะและร่วมมือกันแก้ไข การจัดประกวดโรงเรียนเราต้องสะอาดประกวดครอบครัวลดโลกร้อน  รณรงค์ในหอพักอพาร์ทเม้นท์ให้ร่วมกันแยกขยะก่อนทิ้ง ขับเคลื่อนสังคม เยาวชน จากชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนเปิดเวทีรณรงค์  “ปลุกใจคนขอนแก่น”  ให้หันมาใช้ถุงผ้าถือตะกร้าไปตลาด ปลูกผักกินเองและลดการใช้พลาสติกและโฟม รวมถึงคัดแยกขยะก่อนทิ้ง สำรวจตลาด หลักๆ ในขอนแก่น ทั้งตลาดต้นตาล ถนนคนเดิน และตลาดเปิดท้ายขายของว่ามีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จึงเกิดเป็นข้อเสนอจากการทำประชาคมของชาวขอนแก่นในทุกภาคส่วน โดยได้เป็นปฏิญญาของพวกเราเพื่อแก้ปัญหาขยะด้วยการเริ่มต้นที่ตัวเราว่า 1.ประชาชนคนขอนแก่นจะคัดแยกขยะที่ต้นทางสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมส่งเสริมวัฒนธรรม “หยุดกินเหลือเพื่อชาติ” 2.หอพักอพาร์ทเม้นท์จะรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้เกิดการลดขยะ  จะร่วมกันเปลี่ยนขยะเป็นบุญเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ ลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.ตลาดจะสร้างเครือข่ายคัดแยกขยะจากผู้ให้ถึงผู้รับ  เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และรณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้กล่องโฟม และถุงพลาสติก ขึ้น

ส่วนโครงการสาวะถีวิถีสะอาด ในตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่ขับเคลื่อนแก้ปัญหาขยะในชุมชนซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาขยะทั้งในระดับครัวเรือน โรงเรียน วัด โดยเฉพาะตลาด  ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นกำเนิดของการนำขยะเข้ามาสู่บ้านเรือน ซึ่งนางมาลี เสาร์สิงห์ ผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า กิจกรรมตลาดนัดสาวะถีสู่วิถีสะอาด จึงเกิดขึ้นเพื่อชวนชาวชุมชนมานุ่งสิ่น นุ่งโสร่ง ถือตะกร้า ถือถุงผ้ามาตลาดในทุกวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ซึ่งหลังจากดำเนินโครงการ พบว่าชุมชนตื่นตัวและตระหนักเรื่องปัญหาขยะมากขึ้น มีการจัดการปัญหาขยะตั้งแต่ในครัวเรือนจนเป็นนิสัย แต่ละครัวเรือนแทบไม่มีขยะให้เห็นตัวเลขปริมาณขยะของเทศบาลก็ลดลง โดยทางโครงการตั้งใจลดปริมาณขยะให้เหลือ 3 ตันต่อวันหลัง จากเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาสามารถรณรงค์และจัดการปัญหาขยะในครัวเรือนจาก 6.7 ตันต่อวันจนเหลือเพียง 4 ตัน และระยะต่อมาเทศบาลตำบลสาวะถีจะปิดบ่อขยะทั้งหมดแล้วซึ่งนั่น ทำให้ตำบลสาวะถี 24 หมู่บ้านไม่มีที่ทิ้งขยะต้องไปจ่ายเงินค่าทิ้งขยะให้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะของเทศบาลนครขอนแก่น ปัญหาที่เกิดขึ้นแม้ชุมชนจะมองว่าไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะการจัดการปัญหาขยะคือหน้าที่ของหน่วยงาน ภาครัฐแต่ชุมชนของเราก็ร่วมมือกัน เพราะสาวะถีเป็นชุมชนท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรม หากเข้าหมู่บ้านมาเจอแต่ขยะก็คงไม่มีใครอยากมาเที่ยวบ้านเราแน่นอน การร่วมมือกันกำจัดขยะของชุมชนจึงเกิดขึ้นตามมา

โครงการท่าพระวิถีสะอาดกับการขับเคลื่อนชุมชนท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น หลังจากสืบค้นหาประวัติชุมชนและนำเอาสถานีรถไฟเก่าอายุเกือบ 100 ปีที่ชาวชุมชนภาคภูมิใจมาเป็นของชุมชนพร้อมกับมีตลาดท่าพระร้อยปีจนโด่งดังไปทั่วประเทศ ปีนี้มาขยับแก้ปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งนายพิสุทธิ์ อนุตรอังกูร นายกเทศมนตรีตำบลท่าพระ เมืองขอนแก่น บอกว่า ตำบลท่าพระมีคนผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก ขยะที่มีส่วนหนึ่งเป็นขยะจรที่คนข้างนอกพื้นที่มาทิ้งแต่ละวันท่าพระมีขยะประมาณ 7-8 ตัน พอมาเจอปัญหาโควิดขยะติดเชื้อเพิ่มมาอีก น้ำท่วมก็เป็นปัญหา ในส่วนของขยะติดเชื้อจัดให้มีถังขยะสีแดงไปตั้งอยู่ในชุมชน พร้อมกับทำแผนรณรงค์ คัดแยกขยะธรรมดา และขยะติดเชื้อออกจากกัน ทั้งยังมีการฝึกให้เด็กเยาวชนรู้จักปัญหาขยะ เรียนรู้การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง และช่วยเหลือชุมชนด้วยการลงพื้นที่บอกเล่า และจัดการแก้ปัญหาขยะด้วยการรณรงค์แยกขยะก่อนทิ้ง และขับเคลื่อนชุมชนด้วยการปลุกพลังให้ทุกคนมาแก้ปัญหาขยะด้วยตัวเองด้วย

 “ซึ่งจาการทำงานประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของผลงาน และเกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เกิดร่องรอย ภูมิปัญญา นวัตกรรม และการมีส่วนร่วม อย่างน้อยก็เกิดภาพลักษณ์ในเรื่องของการพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการสร้างแกนนำ สร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นในชุมชน เพราะเด็กๆ ต่อไปก็จะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งจะเกิดเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากพี่สู่น้องต่อๆ ไป นี่ก็เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการจัดการของโครงการนั่นเอง” นายพิสุทธิ์ อนุตรอังกูร บอก

สุดท้ายโครงการสปาร์คลั่นทุ่ง ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านสำราญ บ้านหนองบาก ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชื่อดังแต่กลับมีการใช้สารเคมีมากมายจนประชาชนที่นี่หลงลืม “ภูมิปัญญาผีตาแฮก” ซึ่งเคยเป็นภูมิปัญญาบรรพชนที่เคยสืบต่อกันมาเพื่อให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ แต่โครงการนี้พาเด็กและเยาวชนพร้อมคนในชุมชน ตามหาฮีตฮอยบรรพชนคนทุ่งกุลาให้ทวงคืน “ภูมิปัญญาผีตาแฮก” ให้กลับมาสู่ชุมชนอีกครั้ง ซึ่งครูเซียง ปรีชา การุณ บอกว่า การร่วมกันทำกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม โดยใช้หนังบักตื้อ กลอนลำ คำผญา สื่อดั้งเดิมในท้องถิ่นมาเป็นช่องทางในการสื่อสาร  และผสมผสานระหว่างเรื่องราวความเชื่อในอดีตที่สอดคล้องกับการทำนาอินทรีย์แบบดั้งเดิมอย่าง ‘ผีตาแฮก’ มาเล่าเรื่องราวด้วยการแสดงเพื่อให้คนในชุมชนและเด็กๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาของการใช้สารเคมีเพื่อให้ชุมชนนี้มีชื่อเสียงในเรื่อง ‘ทุ่งกุลาปลอดสารเคมี’  

“ซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่เคยเจอผีตาแฮก จึงจินตนาการว่าผีตาแฮกคืออะไร โดยเด็กเยาวชนที่นี่ตีความออกมาว่าเป็นตั๊กแตน แมลง กบ เขียดที่อยู่ในท้องไร่ ท้องนา ที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ก่อนคนเฒ่าคนแก่บอกว่าปลา กบ เขียดก็กินได้  ในความอุดมสมบูรณ์มีหมดเลยไม่ต้องซื้อกิน แต่ตอนนี้มีสารเคมีง มีการใช้ปุ๋ยมากขึ้น กบ เขียด แมลง ที่ทุ่งนาก็หายไปหมด ต้องมาซื้อกิน ซึ่งผีตาแฮกจะเป็นตัวอะไรก็ได้ในท้องนา แต่มันหมายถึงความ “อุดมสมบูรณ์ “ละครที่เราพูดเรื่องผีตาแฮกมันจะทำให้เด็กใช้ตัวละครนี้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องการใช้สารเคมีในพื้นที่เราต้องการให้คนในพื้นที่เข้าใจในการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเดิมผีตาแฮกยังคงอยู่ เพราะเขาทำเกษตรอินทรีย์ พอมาสมัยใหม่ทำเกษตรที่มีสารเคมีเยอะขึ้นตาแฮกเลยหนีไป เพราะไม่มีใครเชื่อไม่มีใครบูชาไม่เคยมีการเลี้ยงผีตาแฮก พอผีตาแฮกหนีไปไม่มีใครปกปักรักษา ทุ่งนา ในไร่นาก็ไม่มีกุ้งหอยปูปลาคนที่ลงไปในทุ่งนาก็ยัง ป่วยเป็นแผลพุพองนี้คือการที่ไม่มีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคือผีตาแฮกทำให้ต้องกลับมาทำเกษตรอินทรีย์เรื่องเล็กๆ ที่เด็กพูดมันจะทำให้ตัวเด็กเข้าใจ เองและผู้ใหญ่ที่ดูเข้าใจด้วย นี่จึงเป็นเครื่องมือที่โครงการนำมาใช้สื่อสารเพื่อปกป้องอุดมสมบูรณ์ในผืนนาเอาไว้” ปรีชา การุณ บอก

            ในงานนิทรรศการของเครือข่าย Spark U อีสาน ครั้งนี้ จึงได้มีการนำเอาผลการทำงานจาก 5 พื้นที่มานำเสนอ ทั้งเลย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น (ท่าพระ สาวะถี และเทศบาลนครขอนแก่น) ในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองโดยพลังของคนในชุมชน ซึ่งทุกพื้นที่นำเสนอประเด็นการทำงานเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งสารเคมี ยาปราบศัตรูพืช ขยะ และตลาดปลอดขยะ มาแสดงไว้ภายในงาน ปฏิบัติการ ปลุก - ใจ - เมือง #อีสานม่วนสุข 5+1 “เฮ็ด ฮัก ฮัก Head Hug Heart” ครั้งนี้ ในงานมีการเสวนาว่าด้วยการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ที่จะต้องมองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น บอกว่า หากจะเปลี่ยนหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน สอดคล้องกับนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ที่พยายามปลุกพลังคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวให้รักสิ่งแวดล้อม และนายพิสุทธิ์ อนุตรอังกูร นายกเทศมนตรีตำบลท่าพระ บอกว่า ปัญหาขยะที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่เริ่มต้นแก้ได้ด้วยพลังเยาวชนและคนในชุมชน ซึ่งนั่นหมายถึงเมื่อคนในชุมชนคิดเอง วางแผนทำเอง และพอผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นมาก็จะภาคภูมิใจและยั่นยืนมากกว่าผู้บริหารคิดและสั่งการ

             นิทรรศการทั้งหมดจัดแสดงที่หอศิลป์ต้นตาล ตลาดต้นตาลขอนแก่น หวังว่าจะเป็นพลังและแรงผลักดันที่จะทำให้คนทำงานชุมชน คนในชุมชน เกิดพลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเองด้วยมือของพวกเขา

ขอบคุณทุกพลังที่ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชน เปลี่ยนแปลงสังคม แต่เริ่มต้นที่ตัวของพวกเขาเองทั้งหมด

        #สปาร์คยู ปลุก ใจ เมือง  -  อีสานม่วนสุข 5+1

            เสียงแผ่นดินสื่อสารสุขไทเลย เสียงแผ่นดินสื่อสารสุขไทเลย เมืองเลยฉันรักเธอ

          ปลุก เปลี่ยนเมืองขอนแก่นไร้ขยะ  สานพลังประชาสังคมคนเมืองขอนแก่นแก้ปัญหาขยะล้นเมือง

            สาวะถีเมืองวิถีสุข ในวันนี้ตลาดต้องมีแต่ธรรมชาติและใบตอง

          ท่าพระวิถีสะอาด ถนนท่าพระร้อยปีที่มีตำนานเรื่องเล่าเราไม่เอาขยะ

          ปลุกใจไทกุลา ปทุมรัตน์ ร้อยเอ็ด  ฟื้นภูมิปัญญาผีตาแฮกไร้สารเคมี

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]