'ขนมเกสรลำพู' ขนมของชุมชนชาวบางลำพู ที่บอกเล่าเสน่ห์บางลำพู ผ่านความหวานละมุน

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 16 มิถุนายน 65 / อ่าน : 1,417


Read At ONCE
  • บางลำพู ชุมชนเก่าแก่ของพระนครริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่คุ้นเคยกันดีของหนุ่มสาว ยุค 60-70 ในฐานะจุดนัดพบเดิน เที่ยว กิน ช็อป ศูนย์กลางความบันเทิงใจกลางกรุง แหล่งรวม ร้านค้า เสื้อผ้า อาหาร ศิลปินถิ่นวัฒนธรรม และโรงมโหรสพ
  • ใครยังไม่เคยเห็นเสน่ห์บางลำพูและชีวิตเนิบช้า ลองหาโอกาสเดินเจาะลึกตามตรอกซอกซอย จะพบว่า ชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรม มีอาหารที่ยังสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านไปต้องได้ลองชิมลิ้มรสอาหารอร่อยจากต้นตำรับอย่างข้าวแช่สูตรบางลำพู ขนมจีนซาวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวปลา โบ๊กเกี๊ยะ ข้าวต้มน้ำวุ้น แตงโมปลาแห้งและของกินอีกมากมายริมบาทวิถี
  • ไม่นานมานี้ ชุมชนได้เปิดตัวขนมรสกลมกล่อม หน้าตาดี ชื่อน่ารักว่า ‘ขนมเกสรลำพู’ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าขนมหวานชิ้นเล็กๆ นี้เต็มไปด้วยรายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อย บางส่วนได้แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าชวนค้นหาของต้นลำพู ต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่ค่อยๆ หายไป

ช่วงหนึ่งชุมชนย่านเก่าในกรุงเทพฯ หลายแห่งกำลังหายใจรวยรินเพราะความเป็นชุมชนสูญสลายไป แต่ ‘ชุมชนบางลำพู’ ไม่น่าจะอยู่ในลิสต์นั้น กว่าจะตกผลึกเป็น ‘ชุมชนบางลำพู’ อย่างทุกวันนี้ต้องอาศัยหลายพลังทั้งจากคนภายนอกและภายใน เพราะทำท่องเที่ยวชุมชน…ทำคนเดียวไม่ได้

ชื่อของประชาคมบางลำพู ประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรมย่านบางลำพู และชมรมเกสรลำพู ปรากฎอยู่ในสื่อต่างๆ บ่อยครั้ง เพราะมีกลุ่มที่ทำงานทั้งคนสูงอายุ ผู้ใหญ่ เยาวชน รวมตัวกันมาไม่น้อยกว่า 20 ปี พวกเขาร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนดูแลรักษา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนทำให้เห็นภาพ ‘เสน่ห์บางลำพู’ ชัดเจนขึ้นบนแผนที่ท่องเที่ยว และหนึ่งในภารกิจสำคัญ คือความพยายามทุกวิถีทางให้ ‘ต้นลำพู’ ต้นไม้ที่มีคุณค่าทางจิตใจของผู้คนและชุมชนกลับมามีชีวิตอีกครั้งไม่ว่าจะอยู่ในเรื่องเล่าหรือชีวิตจริง


เริ่มต้น

เราขอแนะนำให้รู้จักกับ ‘แก้วใจ เนตรรางกูล’ หรือ ‘พี่แจ้’ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเกสรลำพู เดิมทีเป็นผู้ประกอบการทำโฮสเทลและขายอาหารตามสั่งอยู่หลังวัดตรีทศเทพ ผลกระทบจากการปิดประเทศ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้กว่าเกือบปีโฮสเทลแทบไม่มีลูกค้าเลย เธอตกอยู่ในภาวะเครียดกับรายได้ที่หดหาย แต่ยังมีคนในครอบครัวอีกหลายชีวิตที่ต้องดูแล จนกลายเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซึมเศร้าจนต้องพบหมอ แต่ด้วยใจเกินร้อยบวกกับทักษะชีวิตของนักสู้ พร้อมเริ่มต้นทำสิ่งใหม่อีกครั้ง การลุกขึ้นมาทดลองทำขนมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดูเหมือนจะกลายเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เป็นยารักษาโรคที่ทลายกำแพงความเศร้า ปลุกชีวิตชีวาในตัวเธอให้ตื่นอีกครั้ง

ฟังแล้วก็นึกถึงคำคมจากหนังเรื่องหนึ่งว่า ‘เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานจะเปิดขึ้น…แต่ถ้าคนเรามัวแต่จะอาลัยอาวรณ์กับบานประตูที่ปิดลงแล้ว เราอาจมองไม่เห็นประตูอีกบานที่เปิดรอเราอยู่…’

“ตอนนั้นคนในบ้านบอกว่าเราผิดปกติ คล้ายภาวะซึมเศร้า แต่เราไม่รู้ตัว จู่ๆ อยากร้องไห้ก็ร้องออกมา ทั้งๆ ที่คิดว่าเข้มแข็งแล้วนะ ในที่สุดตัดสินใจไปหาหมอ หมอบอกว่า พี่อยากทำอะไรทำเลย อย่าสร้างกฎเกณฑ์อะไรเยอะ”



ทดลอง

พี่แจ้ค่อยๆ ย้อนความ เธอไม่ใช่คนที่นี่ แต่เป็นสะใภ้ลูกหลานชาวบางลำพู ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับประชาคมและผู้ใหญ่ในชุมชนอีกหลายคน พอออกจากงานประจำ ก็เข้ามาช่วยทำงานชุมชนจนเหมือนลงเรือลำเดียวกันมากขึ้น ต้นทุนชีวิตของเธอมีพื้นฐานทำขนมอาหารและขนมอยู่บ้าง ความภูมิใจที่มีคนชมว่าขนมตัวนี้อร่อยจัง สิ่งนี้ทำให้เธอค่อยๆ หลุดออกมาจากโลกเศร้าๆ ของตัวเอง

 

 

“แจ้ชอบทำขนมไทย เช่น ขนมชั้น น้องๆ ในชมรมช่วยกันคิดออกแบบ เสนอว่าลองทำเป็นแม่พิมพ์ชื่อชาวบางลำพู หรือเป็นชื่อชมรมดีไหม เพื่อเน้นให้เห็นอัตลักษณ์ ส่วนขนมช่อม่วง น้องๆ เสนอว่าให้สร้างเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับคนเข้ามาร่วมทริปเดินเที่ยวในชุมชน ตอนโควิดหนักเบื่อๆ ท้อๆ เลยเข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊คซึ่งมีคนมาแนะนำซีรีส์ ‘สามชาติสามภพลิขิตเหนือเขนย’ ของจีน ใน WE TV ช่วงหนึ่งของเรื่องมีการทำขนมชื่อ ‘ขนมไร้กังวล’ ดูจบปุ๊บ ได้แรงบันดาลใจขึ้นมาเลย อยากถอดสูตรมาลองทำขนมเองดูสักตั้ง”




“ทำครั้งแรกไม่เป็นรูปเป็นร่างเลย เสียหมด จนนอนไม่หลับ เปิดซีรีส์วนไปวนมา ดูซ้ำๆ อีกไม่รู้กี่รอบ ฉากไหนที่มหาเทพกัดขนม ก็ค่อยๆ สังเกตรายละเอียด ดูว่าเนื้อมันออกมาเป็นยังไง เหนียวแบบไดฟูกุ หรือ ร่วนแบบถั่วอัด ลองผิดลองถูก ปรับวัตถุดิบไปเรื่อยๆ เสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพิ่ม ทำแล้วทำอีก เทสต์กับคนในบ้าน เพื่อนบ้านไม่รู้กี่รอบ ฟีดแบ็คที่ได้มีทั้งคำชมคำติ จนเราลังเล แต่แจ้ยึดคำจากกลุ่มทดลองที่เป็นเด็กเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าคำพูดของเด็ก ใสบริสุทธิ์ ถ้าเขากินแล้วอร่อยเขาก็จะบอกว่าอร่อย เดินไปหยิบอีกชิ้น เชื่อแบบนั้นว่ารสชาติน่าจะโอเคเป็นที่พอใจ จากนั้นก็ค่อยๆ ถอดสูตรที่ใช่ แล้วทำออกมาอีก คอยสังเกตว่าควรลด ควรเพิ่มอะไรดี แต่ยังไม่ทันคิดไปไกลว่าขนมจะชื่ออะไร มันเป็นการทดลองแก้เบื่อแก้เครียด”

พี่แจ้ค่อยๆ ลำดับเรื่องเล่าที่มาที่ไปอย่างใจเย็น แต่ในน้ำเสียงที่เล่า บางครั้งสัมผัสได้ว่า สั่นเครืออยู่ในบางจังหวะ…




ปรับเปลี่ยน

ถอดรสชาติให้ได้ตามที่ใจหวังไม่ได้ง่ายๆ เพราะโจทย์ที่มีคือต้องรูปลักษณ์หน้าตาดี สวยทั้งรูปจูบแล้วหอมด้วย

พี่แจ้เล่าต่อว่า ส่วนผสมของขนมไร้กังวล น่าจะใช้แป้งข้าวเหนียว และมันชนิดหนึ่ง เคยลองซื้อมาทำแต่ทำเสร็จเนื้อขนมแฉะ ลองเอามันม่วงมาทำเป็นไส้ ใครชิมก็บอกว่าติดคอ ลองเอาดอกหอมหมื่นลี้มาทำน้ำเชื่อมผลออกมาก็หวานเลี่ยนเกินไป เลยลองประยุกต์จากขนมกลีบลำดวนที่ต้องอบควันเทียน ก็เลยตัดสินใจเอาดอกหอมหมื่นลี้แทนควันเทียนอบแป้งเพื่อลดกลิ่นสาบในที่สุด”




เกือบครึ่งปีที่เธอทดลองทำอยู่อย่างนั้น ปรับไปปรับมา จนได้ส่วนผสมที่ลงตัว โดยใช้วัตถุดิบหลักๆ คือ มันม่วงคัดสรรอย่างดี แป้งเค้ก น้ำตาลอ้อย ดอกหอมหมื่นลี้จากร้านเก่งใบชา จังหวัดเชียงราย ตัวดอกให้ความหอม สีไม่คล้ำ




บวกกับความปราณีตของเธอที่ค่อยๆ บรรจงทำ คั่วแป้งเค้กจนสุก นึ่งมันม่วงจนได้ที่ ผ่านกรรมวิธีซับซ้อน ทั้งบด ปั้น คลุก นึ่ง แช่ อบควันเทียน จนเนื้อขนมเซ็ตตัว จากนั้นค่อยๆ นำไปกดลงบนพิมพ์ที่มีลวดลายเฉพาะ แม่พิมพ์เหล่านี้ก็ใช้วัสดุฟู้ดเกรด ทำจากข้าวโพด ไม่เป็นอันตราย ตัวลวดลายก็ถอดแบบมาจากวัฏจักรต้นลำพูที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นเล็ก ต้นใหญ่ ดอกลำพูที่เริ่มตั้งแต่หุบ บาน ชูเกสร มีหิ่งห้อย และซากตอของต้นที่เหลืออยู่ รวมถึงป้อมพระสุเมรุ แลนด์มาร์กสำคัญของชุมชน




ส่วนชื่อของขนม กว่าจะได้มาก็ไม่ใช่คิดกันง่ายๆ…
ขนมไร้กังวล ก็ไม่ใช่
ขนมหิ่งห้อย ก็ยังไม่เข้าท่า
จนมาลงเอยที่ ‘ขนมเกสรลำพู’ ซึ่งเด็กๆ ช่วยกันคิด พี่แจ้บอกว่าชื่อนี้สิใช่เลย!




“เราก็ดีใจนะถ้ามันจะเป็นขนมที่เป็นส่วนหนึ่งสะท้อนอัตลักษณ์อะไรบางอย่างให้กับบางลำพู รู้สึกสนุกและภูมิใจที่เราได้ทำมันออกมา จริงๆ ตัวขนมอาจไม่ได้อร่อยมากมาย บางคนอาจมองว่าคล้ายขนมไหว้พระจันทร์ มีความเป็นแป้งเอามันม่วงมาผสม ใส่ไส้ถั่วเขียว ใส่นั่นใส่นี้ แต่ก็อยากให้ลองชิม แล้วจะรู้ว่ามันแตกต่าง มันไม่เหมือนกันเลย”



บันทึก

ขนมเกสรลำพูคือขนมสามัคคีที่ทุกคนมีส่วนร่วม พี่แจ้ ครอบครัว เพื่อนบ้าน สมาชิกในชุมชน และอีกคนที่จะขาดไปไม่ได้ คือ ปานทิพย์ ลิกขะไชย หรือ ต้า ประธานชมรมเกสรลำพู ผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกิจกรรมหลายๆ อย่างให้กับชุมชน เธอเล่าว่า เรื่องราวของต้นลำพู ตั้งแต่เป็นเมล็ดจนค่อยๆ สูญหายไปจากย่านเมืองเก่าคือโจทย์ใหญ่ เธอจึงคิดว่าขนมหวานคงเป็นเหมือนสมุดบันทึกที่ทำให้ลูกหลานและนักท่องเที่ยวได้จดจำบางลำพูในอีกแง่มุม




“สำหรับตัวขนม ต้องขอชื่นชมยกความดีให้กับพี่แจ้ ส่วนของรูปลักษณ์เราได้ สสส. ซึ่งส่งทีมนักออกแบบเข้ามาช่วยถอดแบบตัวลวดลาย ตอนแรกมีแค่ 8 ภาพ แต่พวกเราก็กลัวคนจะสับสน คิดว่าเป็นต้นลำพูที่อัมพวา ทางทีมเลยช่วยออกแบบลวดลายป้อมพระสุเมรุเพิ่มเติมให้”




“ต่อจากนี้ตั้งใจจะต่อยอดพัฒนาเรื่องดีไซน์ของแพกเกจจิ้งและพัฒนาไส้ขนมให้หลากหลายมากขึ้น อาจจะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อพัฒนาไปสู่รสชาติอื่นๆ ที่สามารถกินคู่กับเครื่องดื่มอื่นๆ ได้นอกเหนือจากชาร้อน พวกเราไม่หยุดพัฒนาแน่นอน และขอบคุณทุกการสนับสนุนที่เห็นหัวใจของคนในชุมชน”




ว่ากันว่าชื่อบางลำพู มีที่มาจากบริเวณนี้เคยมีต้นลำพูขึ้นอยู่มาก จากภาพถ่ายไม่เพียงยืนยันถึงที่มาของชื่อชุมชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศที่ดีในอดีต ด้วยการดำรงอยู่ของต้นลำพู หิ่งห้อย และสัตว์น้ำอีกนานาชนิด แต่ก็เหมือนว่าความทรงจำเหล่านั้นค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับลำพูต้นสุดท้าย ณ สวนสันติชัยปราการที่มีอายุนับร้อยปี ลำพูต้นนี้ยืนต้นตายจากไปตั้งแต่มหาอุทกภัย ในปี พ.ศ. 2554 หลงเหลือให้เห็นเพียงตอ


ใครสนใจ ‘ขนมเกสรลำพู’ สามารถติดต่อได้ทางเพจ ‘เสน่ห์บางลำพู’
สนนราคาชิ้นละ 50 บาท และมีเป็นชุดเซ็ตๆ ละ 9 ชิ้น (สามารถเก็บในตู้เย็นได้ 3 วัน)
โดยปกติจะเปิดรับออเดอร์เป็นรอบๆ ส่งฟรีในเขตพระนคร เขตอื่นๆ คิดราคาค่าส่งตามจริง
นอกจากนี้สามารถจัดเป็นเวิร์กชอป ถ้านักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาร่วมลองทำขนม พร้อมโปรแกรมเดินเที่ยวบางลำพูกับไกด์เด็ก


อ่านข่าวจากหน้าเว็บไซต์ ที่นี่



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]