การพัฒนาภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน รากฐาน ภูมิภาษา ปัญญาแผ่นดิน ลึกซึ้งรากเหง้า ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น

29 พฤษภาคม 65 / อ่าน : 1,229

การพัฒนาภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน รากฐาน ภูมิภาษา ปัญญาแผ่นดิน ลึกซึ้งรากเหง้า ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น  

วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา, มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน และ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมสัมมนาเรื่อง “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” ประจำภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ครูบาอาจารย์ ปราชญ์พื้นที่ และศิลปินผู้เกี่ยวข้องอีกหลากหลาย เพื่อประมวลความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดให้มีองค์กรในรูปสถาบันเพื่อบริหารจัดการดูแลให้เป็นเอกภาพ ไม่กระจัดกระจายดังสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 


         โดยอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิตัล เกิดนวัตกรรรมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย แต่ภาษา ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ยังคงเป็นสิ่งที่สะท้อนความงามและความเจริญของมนุษย์ ทั้งยังเป็นรากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐาน อันเป็นอารยะธรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม  จะอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานของภาครัฐ โดยมีภาคเอกชนสนับสนุน แต่สำหรับภาคประชาชน อาจยังไม่ได้มีบทบาทและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การสะท้อนปัญหา การพัฒนานโยบาย การเร่งรัดติดตาม และการเสนอแนะที่มีแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน หัวข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดให้มีองค์กรในรูปสถาบันเพื่อบริหารจัดการดูแลให้เป็นเอกภาพ มิใช่กระจัดกระจายดังสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้ มิฉะนั้นนอกจากจะเกิดสภาพล้าหลังทางวัฒนธรรมแล้ว ยังอาจตกเป็นเหยื่อทางวัฒนธรรม ดังเริ่มจะมีเค้าอยู่แล้วในวันนี้




         “สถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน)” นี้ต้องมีลักษณะสานพลังสามภาคส่วน คือ ภาคราชการ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) ภาคประชาชน ดังเรียก “ไตรภาคี” ซึ่งต้องเป็นเอกภาพกันอย่างมีดุลยภาพอันเป็นเรื่องต้องลงลึกในรายละเอียดต่อไป เพราะเรื่องของศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินนี้สำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้อยู่ในมือของราชการแต่โดยลำพังเพียงเท่านั้น จึงเกิดเป็นเวทีต่างๆ ทั้ง 4 ภูมิภาคขึ้น ซึ่งมีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะใน 3 กลุ่ม อาทิ 1. กลุ่มภาษาและวรรณศิลป์ นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ ภาษาพื้นถิ่น นักประพันธ์เพลง กลอนลำ 2. กลุ่มภูมิบ้านภูมิเมือง แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ของดีชุมชน และ 3. กลุ่มปัญญาแผ่นดิน ปราชญ์ด้านแพทย์แผนโบราณ หัตถกรรม ศาสนา ประเพณี อาหาร ศิลปะการแสดง และศิลปะพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ ” อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าว


          ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมคณะทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ศึกษาตัวอย่างความสำเร็จของสถาบันด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งศึกษา วิจัย ทำฐานข้อมูล และจัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเสนอแนะและเร่งรัดให้ “สถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม


           ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร. เกศินี ประทุมสุวรรณ ประธานคณะทำงาน กล่าวว่า กรอบการทำงานของคณะทำงานของเราก็มีอยู่ด้วยกัน 6 เรื่อง คือ 1.เรื่องการรวบรวมกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม สนับสนุน ทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม กฎหมายว่าฉบับใดบ้างที่ควรจะปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้กฎหมายฉบับนั้นไปสนับสนุนศิลปินในพื้นที่ได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.เป็นเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลศิลปิน เรียกว่าศิลปินทุกแขนง ทุกประเภท ทุกพื้นที่ ที่เราจะรวบรวมให้มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด 3.เรื่องของการศึกษา จัดทำ ดูว่ามีปัจจัย มีอุปสรรค ปัญหา องค์ประกอบ อะไรบ้าง ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ให้มันเกิดขึ้นได้ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่าย 4.เรื่องของการศึกษารูปแบบ การดำเนินการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ มรดกทางศิลปวัฒนธรรม 5.เรื่องของการศึกษาต้นแบบในการทำงานส่งเสริม สนับสนุนเวทีการขับเคลื่อน อาจจะเป็นต้นแบบที่ไปศึกษาดูว่าในต่างประเทศตรงไหนที่เขาทำแล้วมีบทเรียนที่ดี และ 5.ก็คือเรื่องของการจัดทำรายงาน เป็นรายงานพิจารณาศึกษาการขับเคลื่อนสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินให้เกิดขึ้นได้ เพื่อที่จะได้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฎิบัติต่อไป


           ทั้งนี้ในเวทีภาคอีสาน สุมาลี สุวรรณกร ประธานคณะทำงานฯ ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การตั้งสถาบันภูมิภาษาปัญญาแผ่นดินขึ้นมานั้นจะสามารถเป็นองค์กรในการขับเคลื่อนงานด้านศิลปะวัฒนธรรมภาคประชาชน ที่มีความเป็นอิสระและเป็นสาธารณะได้อย่างแท้จริง เพราะว่าที่ผ่านมา คณะทำงานของเราตั้งแต่มีเรียกว่า คณะกรรมศิลปินเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่เริ่มรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องศิลปินทั่วประเทศ 4 ภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2554 ทีนี้มันจะมีความคิดเห็นของศิลปินที่เข้าไปบอกว่า ในส่วนของศิลปินอยากให้มีอะไรบ้าง หากมีการปฏิรูปศิลปิน ปฏิรูปประเทศ อยากจะให้เกิดอะไรขึ้น อยากจะให้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะในส่วนของศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ เมื่อมีข้อเสนอเข้าไปว่า การทำงานของภาคประชาชนมันไม่ได้รับการยอมรับ ไมได้รับความสนใจ ไม่ได้ถูกนึกถึงเป็นชื่อแรก ๆ เวลามีกิจกรรมอะไร เราอยากให้ศิลปินมีตัวตน มีบทบาทในพื้นที่ชุมชนของตัวเอง ก็เลยคิดว่ามันน่าจะต้องมีองค์กรอะไรที่เป็นของศิลปินโดยตรง ที่ขับเคลื่อนโดยศิลปิน และคำว่าศิลปินมันหลากหลายสาขามาก และนอกจากศิลปินแล้วมันควรจะมีในส่วนของคนที่ทำงานเพื่อประเทศชาติสังคม ที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ที่มาช่วยสนับสนุนทำให้ท้องถิ่นมันเติบโตโดยรากฐานทางวัฒนธรรม แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีองค์กรที่มาสนับสนุนตรงนี้


          “หากมีสถาบันนี้ขึ้นมา มันจะสามารถที่จะทำให้ศิลปินตัวเล็กตัวน้อยหรือว่าภูมิปัญญาที่อยู่ในท้องถิ่น มีสังกัด มีหน่วยงานที่จะรองรับสถานะ ก่อนที่คนเล็กคนน้อยเหล่านั้นหมดพลังที่จะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับชุมชนของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่พวกเขานี่คือ เรียกว่า องค์ความรู้ของชุมชน หากไม่รีบเก็บองค์ความรู้เหล่านั้นเดี๋ยวมันจะสายเกินไป ก่อนที่มันจะไม่มีองค์กรไหนขึ้นมารองรับตรงนี้” ประธานคณะทำงานฯ ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าว




          ซึ่งในภาคอีสานนี้ได้มีการระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มดังกล่าวด้วย โดยกลุ่มภูมิภาษาและวรรณศิลป์ มี ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. มารศรี สอทิพย์ และนายเจน สงสมพันธุ์ เป็นผู้ดำเนินกระบวนการ , 2. กลุ่มภูมิบ้านภูมิเมือง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ อาจารย์ทม เกตุวงศา และนายชัชวินทร์ ตันติเวชวาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินกระบวนการ และ 3. กลุ่มภูมิปัญญาแผ่นดิน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สถิตย์ ภาคมฤค , อาจารย์วรศักดิ์ วรยศ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ เอี่ยมสำอางค์ และนางสาวเมทิกา พ่วงแสง ดร.ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติร้องหมอลำ เป็นผู้ดำเนินกระบวนการ

 

          ทั้งนี้สถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทย ภาคภูมิใจในคุณค่าของภาษา ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น และเกิดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างมีดุลยภาพ เพื่อต่อยอดและนำไปสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานวัฒนธรรม เกิดชุมชนเข้มแข็ง และการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติในร

ะยะยาวต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันให้องค์กรนี้เกิดขึ้นมาเพื่อมาดูแลให้ทุกอย่างเป็นเอกภาพต่อไป..

         ติดตามเวทีในภูมิภาคอื่นๆ ได้ต่อเนื่องที่ www.facebook.com/CivicArt.CPF และที่ www.facebook.com/artculture4h

 




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]