“เปลี่ยนขยะเป็นบุญ เมื่อคุณหมุนเวียน” โจทย์ต่อเนื่องเมืองขอนแก่น

หมวดหมู่ Spark U , โดย : admin , 4 มีนาคม 64 / อ่าน : 4,581


 



“เราอยากเปลี่ยนเมืองให้มันดีขึ้น และประเด็นที่เรามาขับเคลื่อนก็คือเรื่องของการแก้ปัญหาขยะ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ทุกคนพูดถึงแต่เราไม่ได้ใส่ใจ เราตระหนักถึงปัญหา รู้ปัญหา แต่เราไม่เคยที่จะเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาร่วมกัน…”

สุมาลี​ สุวรรณกร​ หรือ “พี่หน่อย” ผู้ประสานงานปลุก เปลี่ยนเมือง (Spark U อีสาน) ชวนคุยถึงที่ไปที่มา ไอเดีย และความสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะในเมืองขอนแก่น อีกหัวเมืองในภาคอีสานที่เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เมืองใหญ่อย่างขอนแก่นมีปริมาณขยะมากถึง 40-45 ตันต่อวัน


 

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพัน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรม เปลี่ยนขยะเป็นบุญ เมื่อคุณหมุนเวียน” Clearing Day ครั้งที่ 4 รับบริจาคพลาสติกยืดและกล่องเครื่องดื่ม UHT ที่สะอาดและแห้งเพื่อรวบรวมส่งต่อให้ “โครงการวน” และ “โครงการหลังคาเขียว” หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ร่วมกับภาคประชาชนในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น

ซึ่งยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องขบคิดต่อว่า จะทำอย่างไรที่จะปรับมุมมองชาวขอนแก่นให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อนำไปสู่การลดปริมาณขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับโรงเรียน และระดับเมืองเพื่อให้เกิดการลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน 

เริ่มเปลี่ยนเมืองขอนแก่น (อีกมุม)

เราอยากเปลี่ยนเมืองให้มันดีขึ้น และประเด็นที่เรามาขับเคลื่อนก็คือเรื่องของการแก้ปัญหาขยะ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ทุกคนพูดถึงแต่เราไม่ได้ใส่ใจ เราตระหนักถึงปัญหา รู้ปัญหา แต่เราไม่เคยที่จะเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาร่วมกัน แล้วก็ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายประกาศงดให้ทำสิ่งนั้น งดให้ทำสิ่งนี้ แต่คนในพื้นที่ก็ยังทำอยู่ แม้จะบอกว่าในร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ งดให้ถุงพลาสติก แต่ร้านชำข้างบ้านก็ยังมีถุงพลาสติกอยู่ อันนั้นหมายถึงว่าเป็นการบังคับลงมา แต่มันไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมที่รู้สึกว่าอยากจะทำจริง ๆ ของคนในระดับชุมชน ในระดับครอบครัว แม้จะมีนโยบายแก้ปัญหาไม่ให้มีการใช้ถุงพลาสติกต่าง ๆ แต่มันไม่ได้ลดขยะออกจากพื้นที่เลย

เราก็เลยมาคุยกันว่าหากเราอยากจะเปลี่ยนเมือง เปลี่ยนให้เมืองของเราน่าอยู่เราจะทำเรื่องอะไร ก็ปรากฏว่าเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน นักเรียน รวมถึงเยาวชน เรามองว่าประเด็นเรื่องของขยะเป็นเรื่องใหญ่ คือไม่ได้คิดถึงนโยบายชาติแต่มองว่าหากเราจะแก้ปัญหาร่วมกันที่เป็นปัญหาที่ทุกคนสามารถทำร่วมกันแล้วเห็นผลชัดเจนในเชิงรูปธรรมก็คือเรื่องของขยะ

ซึ่ง ปลุก เปลี่ยน เมือง เราเริ่มทำมาตั้งแต่ต้นปี 2563 อยากจะเปลี่ยนเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองที่มีขยะลดลง เพราะขอนแก่นเองเป็นเมืองใหญ่ แล้วตอนนี้ที่มีปัญหา PM2.5  ถือว่าเราเป็นอันดับหนึ่งอับดับสองของประเทศตลอด มันมาจากเรื่องของการเผา หนึ่งในนั้นก็มีขยะด้วย ใบไม้ก็ถือเป็นขยะ เพราะว่าทุกอย่างที่เรามองว่ามันไม่มีประโยชน์มันจะกลายเป็นขยะทันที แต่ทีนี้โครงการของเรามาเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าหากเรามองทุกอย่างเป็นประโยชน์ มีประโยชน์และมีค่ามันจะสามารถลดปริมาณขยะไปได้เยอะมาก

How to think ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือขยะ

เราจะทำอย่างไรให้คนเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนทัศนคติ แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม หลายคนที่เด็กไม่กล้าทิ้งขยะนอกบ้าน ต้องเอามาทิ้งในบ้านเพราะเขามองว่าขยะมันเกิดจากเรา เราไม่ควรไปทิ้งให้เป็นภาระของคนอื่น นี่ก็เป็นการเริ่มในการดำเนินการ


      

 

เป้าหมายในการขับเคลื่อนก็คือ ระดับครอบครัว ก็จะร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น ในการรณรงค์ในระดับครัวเรือนว่าเราจะแก้ปัญหาขยะในครัวเรือนอย่างไร ไม่ให้มีขยะทิ้งในถังขยะ ก็มีการประกวดครอบครัวลดโลกร้อน  แล้วใหญ่ขึ้นมาก็ระดับโรงเรียน แต่เราไม่ได้ไปให้ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือว่าผู้บริหารทำ แต่เราไปปลุกพลังของเยาวชน พาไปดูงานไปศึกษาว่า เห็นไหมขยะของคนเมืองที่มันกองอยู่บ้านคำบอน ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งคนบ้านคำบอนไม่ได้ทิ้งขยะเลย แต่ขยะไปอยู่ที่นั่นเกือบ 30 ปี กองเป็นภูเขาใหญ่มากไม่สามารถจัดการได้หมดมันมาจากพวกเรานะ ก็เกิดการตระหนักในกลุ่มเด็ก แล้วก็ให้เด็กกลับมาทำโครงการว่า คุณอยากจะทำให้โรงเรียนของคุณไม่มีขยะคุณจะทำยังไงบ้าง แล้วก็ระดับชุมชนใหญ่ขึ้นมาก็คือเปลี่ยนแปลงในระดับเมือง เราก็จับมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน โรงเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ

จับมือไว้แล้วเปลี่ยนไปด้วยกัน

หากเราเริ่มที่ตัวเราเริ่มปฏิบัติเองมันน่าจะดีกว่า ก็เลยมีการลงนามร่วมกันโดยมีปฏิญญา 3 ข้อ โดยโครงการปลุก เปลี่ยน เมือง

ข้อแรก เราจะคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จากบ้าน จากตัวเรา เห็นทุกอย่างไม่ให้เป็นขยะ แต่มอง่วามันสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ กล่องนม กล่องเครื่องดื่ม UHT เรากินเยอะมากแต่เวลาเราทิ้ง เราก็ทิ้งโดยที่ไม่ได้มองว่ามันมีประโยชน์  ขยะพลาติกต่าง ๆ เราไม่ได้เห็นคุณค่าของมันเลย แต่ความจริงมันสามารถเอามาผลิตซ้ำ กล่องนม กล่องเครื่องดื่มต่าง ๆ เอามาทำหลังคาได้ ก็มาร่วมกับ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น ทำโครงการที่ชื่อว่า เปลี่ยนขยะเป็นบุญเมื่อคุณหมุนเวียน ที่เปิดรับบริจาคขยะในเฟสที่สอง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นับว่าเป็นครั้งแรกในปีนี้ เป็นการเอาขยะที่คุณมองว่าไม่มีค่า มาเปลี่ยนเป็นบุญด้วยการเอามาบริจาค คุณเสียเวลาแค่การรวบรวมแล้วเอามาบริจาค  แต่หลังจากนั้นสิ่งที่คุณบริจาค ที่คุณมองว่ามันไม่มีประโยชน์ แต่มันจะไปมีประโยชน์กับคนที่เขาต้องการ กล่องนมเอาไปทำหลังคา ถุงพลาสติกก็เอาไปเปลี่ยนเป็นถุงพลาสติกกลับมาให้เราใช้ได้ใหม่ใน  “โครงการวน




      


ข้อสอง ขยะลดความเหลื่อมล้ำ อาจจะสงสัยว่าขยะจะลดความเหลื่อมล้ำได้ยังไง เรามีองค์กรภาคีเครือข่ายที่เป็นชมรมหอพักในจังหวัดขอนแก่น หอพัก อพาร์ทเม้นท์เยอะมาก เพราะเป็นเมืองการศึกษา ในทุก ๆ 10 ปี เขาจะมีการเปลี่ยนของเหล่านี้ แต่พอเปลี่ยนจะเอาไปทิ้งที่ไหนทั้งที่มันยังใช้ได้แค่เพียงมันเก่าแค่นั้น ก็เลยคุยกันโดยใช้วิธีเอาไปให้คนที่เขาต้องการ ไม่ใช่ว่าเป็นการเอาภาระไปให้เขาแต่ว่ามันมีคนที่อยากมีแบบนี้ แต่ไม่เคยมีมันสามารถที่จะเอาไปช่วยเหลือกันได้ เป็นการลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นการให้โอกาส

และข้อสาม คือ เครือข่ายตลาด โดยเฉพาะตลาดเขียวขอนแก่น ตลาดศรีเมืองทอง เราก็มาคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะสามารถลดยยะตั้งแต่ต้นทางตลาดเลย จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่สามารถย่อยสลายได้ ไม่ว่าจะเป็นใบตอง หรือกาบกล้วย แล้วในตลาดก็ช่วยกันบริหารจัดการไม่ให้มีขยะออกไปข้างนอก

นี่ก็เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ที่เรามีการทำจับมือร่วมกัน เรามองว่ามันจะเป็นจุดดเล็ก ๆ  ในการขยับ ในการกระเพื่อม ให้เกิดเป็นคลื่นใหญ่ ๆ ในการร่วมกันแก้ปัญหาเมืองขอนแก่น

มองขยะในเมืองใหญ่ของภาคอีสาน สู่เป้าหมายการลดปริมาณขยะจากต้นทางยังไง 

ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเรามีการตั้งเป้าว่าเราจะลดปริมาณขยะ อย่างขอนแก่นมีปริมาณขยะวันละ 40-45 ตัน ก็คุยกันว่าอยากจะลดลงให้ได้ทุกปี ปีละ 5 ตัน 10 ตันก็ยังดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ นอกจากลดปริมาณขยะได้แล้ว ยังให้เด็ก เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการกับเราเข้าใจว่าปัญหามันรุนแรงแค่ไหน และตัวเขาจะแก้ปัญหาโดยเริ่มต้นที่ตัวเองนั้นจะทำอย่างไร

 

“เราอยากจะเปลี่ยนทัศนคติของเขา เปลี่ยนวิธีคิดเพื่อเขาจะได้เอาไปเป็นนิสัยที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเขาได้ โตมาสิ่งเหล่านี้มันจะยังติดตัวเขาอยู่ และเขาก็จะเป็นหนึ่งในเมล็ดผลที่ไปขยายไปแพร่พันธุ์ต่อ อันนั้นคือเป้าหมายสูงสุดมากกว่ากับการลดปริมารขยะในเมือง”




     


สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 (ขอนแก่น)

ซึ่ง ปลุก เปลี่ยนเมือง เป็นปีแรกในการจับมือร่วมกันกับภาคีต่าง ๆ ที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่ออยากขยับให้เป็นประเด็นที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งปีนี้เราทำแค่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ปีต่อไปที่เราคุยกันไว้ก็จะขยับไปที่ เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลศิลา และเทศบาลเมืองเก่า ซึ่งเป็น 5 องค์กรเทศบาลที่อยู่ใกล้กันที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่ออยากจะให้เป็นโมเดลว่า ทุกอย่างมันแก้ได้ เริ่มต้นที่ประชาชน เริ่มต้นที่คนในครอบครัว เริ่มต้นที่เด็กเยาวชนช่วยกัน เพื่ออยากให้เมืองเราเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นและทุกคนในเมืองก็จะมีความสุข



ดูที่มาของข่าว  ที่นี่ 




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]