มรภ.สงขลา ผนึก 7 ภาคีภาครัฐ เอกชนประชาสังคมลงนามความร่วมมือทางวิชาการพัฒนาเมืองเก่าสู่เมืองมรดกโลก

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 20 พฤศจิกายน 63 / อ่าน : 1,620


มรภ.สงขลา ผนึก 7 ภาคีภาครัฐ เอกชนประชาสังคมลงนามความร่วมมือทางวิชาการพัฒนาเมืองเก่าสู่เมืองมรดกโลก

มรภ.สงขลา ผนึก 7 องค์กร สถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาเมืองเก่าสงขลา ขับเคลื่อนสู่เมืองมรดกโลก เผยเตรียมพัฒนาหลักสูตรใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่ สอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจยุคปัจจุบัน


เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอรัญ ธรรมโน ชั้น 8 อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้แทนจาก8 องค์กร สถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาเมืองเก่าสงขลา ประกอบด้วย 1. จังหวัดสงขลา 2. เทศบาลนครสงขลา 3. สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา 4. ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม 5. บริษัท สงขลา เฮอริเทจ จำกัด 6. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กับ 8. มรภ.สงขลา นำโดย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมพิจารณารายละเอียด และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ

ผู้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา 2. ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา 3. นายชนินทร์ สาครินทร์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา 4. นายรังษี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม 5. นางสาวดวงใจ นันทวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท สงขลา เฮอริเทจ จำกัด 6. นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. 7. นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ 8. ผศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สงขลา โดยมีสักขีพยานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในสงขลารวมถึงจากส่วนกลาง เข้าร่วมพิธีลงนามฯ อย่างคับคั่ง


สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ (MOU) ของทั้ง 8 องค์กรที่ลงนามร่วมกันนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมหารือวางกรอบความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางวิชาการสู่การร่วมอนุรักษ์และการพัฒนาย่านเมืองเก่าสงขลา เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ และเพื่อกำหนดความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ Kid+Dee @Historic Center ถนนนางงาม เมืองเก่าสงขลา

ทั้งนี้ ในระหว่างร่วมพิจารณาเนื้อหาที่จะลงนามฯ ผู้แทนจาก 8 องค์กรได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อการทำกิจกรรมหรือโครงการเพื่อพัฒนาเมืองเก่าสงขลาร่วมกันในอนาคต จากนั้นจึงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาเมืองเก่าสงขลา และร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ซึ่ง มรภ.สงขลา ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ผู้ดำเนินการจัดพิธีลงนามฯ และองค์กรภาคีความร่วมมือทั้ง 8องค์กร ต่างมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญอันจะก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างองค์กร ทั้งสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมรองรับกิจกรรมและโครงการภาควิชาการสำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าสงขลาสู่เมืองมรดกโลก การประชุมเชิงปฏิบัติการ-เวิร์คช้อป และความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศและต่างประเทศ นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แสดงทรรศนะว่า ทางจังหวัดมีความยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนาในทุกด้าน รวมถึงยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสู่มรดกโลกตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ


ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนการพัฒนาเมืองเก่าสงขลาสู่การเป็นมรดกโลก ความเป็นเมืองเก่าต้องคงไว้ ยินดีอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ ที่ผ่านมาเมืองสงขลามีความร่วมมือกับเมืองมรดกโลกทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อปี 2557 ก็จัดพิธีลงนามความร่วมมือนี้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ครั้งนั้นในการประชุมวิชาการนานาชาติ International Symposium 2014 ได้มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเมืองร่วมกันมาแล้ว (จอร์จทาวน์และมะละกา ประเทศมาเลเซีย ปาเล็มบัง เมดาน และ ซาวาลุนโต ประเทศอินโดนีเซีย ภูเก็ตและสงขลา ประเทศไทย) ซึ่งในตอนนั้นเมืองซาวาลุนโตยังอยู่ในกระบวนการขอเป็นมรดกโลก ตอนนี้เมืองซาวาลุนโตได้รับการรับรองเป็นเมืองมรดกโลกจากยูเนสโกแล้ว นอกจากนี้ยังอยากจะให้ MOU นี้ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายกับเมืองมรดกโลกอื่นๆ ในอาเซียน

นายรังษี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ในฐานะคนเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง ที่สนับสนุนภารกิจต่างๆ ของทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมถือเป็นหน่วนงานภาคประชาสังคม ที่พร้อมสนับสนุนภารกิจการพัฒนาและอนุรักษ์เมืองเก่าสงขลา ดังนั้น หากจะมีภารกิจใดที่จะสามารถร่วมมือได้ ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมพร้อมและยินดีให้การสนับสนุน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาอย่างเต็มที่


อาจารย์สืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม กล่าวเสริมว่า การพัฒนาให้เมืองเก่าสงขลาได้รับการเสนอชื่อเป็นเมืองมรดกโลก จะช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจของสงขลาและภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากจะดึงเอานักท่องเที่ยวจากจีนและมาเซียเข้ามาอย่างมากมาย ดูอย่างเมืองจอร์จทาวน์ ที่ปีนัง เป็นโมเดลที่ดีมากที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจแล้วนำความสงบสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายชนินทร์ สาครินทร์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา หยิบยกการเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า เมืองใดไม่รู้ประวัติศาสตร์ เมืองนั้นไม่รู้อนาคต การขับเคลื่อนสงขลาสู่มรดกโลก เพื่อ 1. อนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญสลาย 2. ประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยว 3. ประโยชน์ทางสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเมืองสงขลานี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนับพันปี

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งพาคณะผู้บริหารและคณะทำงานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA มาร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ กล่าวว่า สำนักเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยินดีที่จะขับเคลื่อนเมืองสงขลาถึงจะเป็นมวลเล็ก ๆ แต่ CEA ก็พร้อมสนับสนุน เพราะจุดเล็กๆ จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ขยายใหญ่ขึ้น การขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลายังหมายรวมถึงการขับเคลื่อนเมืองสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต


นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ย้ำให้เห็นความสำคัญของการดำเนินงานเพื่อนำมาสู่ความร่วมมือทางวิชาการว่า สสส. มุ่งสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ก่อให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกัน และจะยินดีเป็นอย่างยิ่งหากบรรลุความสำเร็จได้ร่วมกัน ผลักดันยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อการพัฒนาเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก

นางสาวดวงใจ นันทวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท สงขลา เฮอริเทจ จำกัด บริษัทที่เน้นการดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน (Social Enterprise: SE) เพื่อเมืองเก่าสงขลา กล่าวด้วยความเต็มใจว่า บริษัท สงขลา เฮอริเทจ ยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนาเมืองเก่าสงขลา และรวมไปถึงการสนับสนุนการดำเนินงาน การทำโครงการ การจัดการเรียนการสอน รวมถึงเป็นพื้นที่ปฏิบัติการชุมชน ให้กับหลักสูตรทั้งสองที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลานำร่องพื้นที่เมืองเก่าสงขลา คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กับหลักสูตรศิลปกรรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งในอนาคตก็น่าจะมีผลงานร่วมกันมากขึ้นทั้งในภาควาการกับนักศึกษา และนำนักศึกษาร่วมโครงการต่างๆ เพื่อชุมชน เพื่อคนในเมืองเก่า และสื่อสารกับสังคมในมิติที่เกี่ยวข้อง

ผศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยรับคำแนะนำและนโยบายจากท่านนายกสภา มรภ.สงขลา ประจวบกับคณะทำงานจากทั้ง 2 หลักสูตร คือ สาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กำลังดำเนินโครงการพัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ และสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมและเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ซึ่งประเด็นความสำคัญของเมืองเก่า ความสำคัญของประวัติศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในนโยบายขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก รวมถึงการพัฒนาบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรซึ่งสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูมิลำเนาของตน ตลอดจนเมืองเก่าสงขลาได้





ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]