โครงการ ต้นกล้าสร้างสรรค์ ศิลปะเพื่อชุมชน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนบ้านบน

10 กันยายน 63 / อ่าน : 2,191

โครงการ ต้นกล้าสร้างสรรค์ ศิลปะเพื่อชุมชน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนบ้านบน

น้องๆ เรียนรู้ สร้างสรรค์ ยืดหยุ่น รับฟัง แก้ไข

สร้างทักษะการทำงานจริง สู่การเป็นพลเมืองที่ดี

//// บันทึกเรื่องราว จาก Chaiwattanapat Laosat ////

บันทึกเรื่องราว Street Art แห่งล่าสุดของย่านเมืองเก่าสงขลา และแห่งแรกของชุมชนบ้านบน ซึ่งเป็นอีก 1 project ในการทำงานชุมชนที่ผมมีความสุขมาก ๆ ครับ

    จุดเริ่มต้นของ project นี้ ผมได้เคยเรียนปรึกษากับท่านโต๊ะอิหม่ามไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่าอยากจะสร้าง Street Art ที่ชุมชนบ้านบน เพราะหลาย ๆ ที่ในย่านเมืองเก่าสงขลามีงาน Street Art อยู่มากมาย แต่ที่ชุมชนบ้านบนยังไม่มีครับ จึงอยากให้มีการสร้างภาพ Street Art เพื่อเป็นจุดถ่ายภาพและเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวมาที่ชุมชนบ้านบนให้มากขึ้น

       การทำ Street Art ของชุมชนบ้านบนเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะต้องคำนึงถึงบริบทความเชื่อทางศาสนามุสลิมที่มีความเคร่งครัดพอสมควร รวมถึงการยอมรับจากคนในชุมชน แต่ถือเป็นโชคดีมากที่ทางสถาบันอาศรมศิลป์ได้เข้ามาทำวิจัยซึ่งสร้างให้เกิดความเข้าใจในการพัฒนาชุมชนในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้ขัดต่อหลักศาสนา โดยท่านโต๊ะอิหม่ามยังได้ให้แนวคิดในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านบนว่า ต้องการให้ชุมชนบ้านบนเป็นต้นแบบของ"การท่องเที่ยวสีขาว" และยินดีให้นักท่องเที่ยวทุกเชื้อชาติทุกศาสนาสามารถเข้ามาเยี่ยมชมภายในมัสยิดได้ ท่านกล่าวว่า "ถ้ามิใช่คนคิดร้ายต่อศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นชาติศาสนาใด ทางมัสยิดบ้านบนและชุมชนก็ยินดีต้อนรับ และพร้อมดูแลด้วยความเต็มใจ" การทำงานของอาศรมศิลป์ร่วมกับชุมชนสร้างให้เกิดแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านบนรวมถึงแผนการสร้าง street art ของชุมชนให้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีความชัดเจนขึ้นโดยลำดับครับ


นอกจากนี้ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด 19 ทางสงขลาฟลอรั่ม นำโดยป้าหนู ได้ร่วมกับคุณแม พี่เชาว์ พี่เอ๋ a.e.y.space ได้ริเริ่มทำโครงการสงขลาดูแลกัน และพัฒนาสู่การชวนชาวชุมชนบ้านบนมาเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าภายในชุมชนให้กลายเป็นสวนแบ่งปัน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน และยังเป็นการเชื่อมใจคนในชุมชนให้ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความรักและสามัคคี และเมื่อผมได้เห็นพื้นที่และรับทราบแนวคิดของส่วนแบ่งปัน ก็ตัดสินใจได้ทันทีครับว่าที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่สร้าง street Art แห่งแรกของชุมชนบ้านบน เพราะเป็นพื้นที่ที่แสดงอัตลักษณ์การอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีกลมเกลียวของชุมชน อีกทั้งถ้าเดินมาจากถนนนางงามตรงมาสู่ชุมชนบ้านบนจะสามารถเห็นผลงาน street art ได้เด่นชัดมาก และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นทางเชื่อมเข้าไปสู่ด้านหลังของมัสยิดบ้านบน รวมถึงเชื่อมสู่ตัวชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


ผมคิดเร็วทำเร็ว ผมเริ่มคิด Project นี้ในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเปิดสวนแบ่งปัน  และเหมือนธรรมะจัดสรร ทุกอย่างลงตัวและง่ายไปหมด  เมื่อติดต่อนำเสนอแนวคิดว่าจะทำ street art ก็มีกัลยาณมิตรมาร่วมช่วยเหลือมากมาย ทั้งป้าหนูจากสงขลาฟลอรั่ม คุณแมจากบ้านในนคร พี่เชาว์จาก lynn Hostel คุณแมวจากบริษัทสงขลาเฮอริเทจ น้องหญิงจากสถาบันอาศรมศิลป์   และด้วยความโชคดีที่ครูอุ๋ย คุณครูศิลปะ ผู้ดูแลชมรมศิลปะของโรงเรียนมหาวชิราวุธ ก็มีแนวคิดในการทำโครงการทำค่ายศิลปะอาสามหาวชิราวุธพอดีและเมื่อมาลงพื้นที่ก็ถูกใจอยากมาทำกิจกรรมที่ชุมชนบ้านบนเหมือนกัน ทุกอย่างก็เลยลงตัวครับ โดยแทบไม่ได้วางแผนอะไรมาก วันที่ 4 กันยายน เราก็พร้อมเริ่มงานกันเลย โดยงบประมาณหลักเป็นการสนับสนุนจากบริษัทสงขลาเฮอริเทจ และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม​ฯ สสส.ครับ


   มีหลายคนถามผมว่าทำไมถึงให้น้อง ๆ มัธยมมาวาด street art ที่นี่ ทำไมไม่ใช้ศิลปินมืออาชีพ ซึ่งผมขออธิบายว่าแน่นอนเราอยากได้ผลงานที่สวยงามมีคุณภาพ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าผลงานคือกระบวนการเรียนรู้ครับ ผมอยากให้ผลงาน street art ครั้งนี้เป็นผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของน้อง ๆ เยาวชนชาวสงขลา ผมเลือกใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเชื่อมเยาวชนกับชุมชน ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือพาน้อง ๆ เข้าไปเรียนรู้ชุมชนอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้น้อง ๆ ให้ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่เป็นการบ่มเพาะต้นกล้าพลเมืองสร้างสรรค์และการมีจิตสาธารณะในหัวใจของน้อง ๆ ทุกคนครับ


กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง เริ่มด้วยคุณแมพาน้อง ๆ เรียนรู้ประวัติของมัสยิดบ้านบนและพาเดินเรียนรู้ชุมชน ป้าหนูพาน้อง ๆ เรียนรู้แนวคิดการสร้างสวนแบ่งปัน  น้องหญิงจากอาศรมศิลป์ให้ความรู้เรื่องแนวคิดการพัฒนาชุมชน และแนวทางสร้าง street art ป้าหนูและผมชวนคิดชวนคุยถึงความประทับใจที่น้อง ๆ มีต่อชุมชน นำความประทับใจมาสร้างเป็นแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ครูอุ๋ยพาน้อง ๆ ระดมสมองออกแบบผลงาน เราออกแบบผลงานจนถึงค่ำ จนได้แนวคิดตั้งต้น และน้อง ๆ ก็กลับไปร่างแบบต่อที่โรงเรียน น้อง ๆ ตั้งใจทำงานกันมากครับ จำได้ว่าครูอุ๋ยส่งรูปให้ดูตอนเที่ยงคืนครึ่งว่าน้อง ๆ ยังลุยงานกันอยู่ จนตอนเช้าเราก็ได้แบบร่างที่เกือบสมบูรณ์ครับ เรานำเสนอผลงานต่อชุมชนช่วยกันปรับแบบจนได้แบบที่พอใจกันทุกฝ่าย


แต่การทำงานก็ใช่ว่าจะราบรื่นไปทุกอย่างครับ ในขณะที่เรากำลังเริ่มร่างภาพบนผนัง เจ้าของบ้านที่อนุญาตให้เราใช้ผนังมาวาดภาพ street art ในครั้งนี้ ก็โทรศัพท์มาคุยกับผมว่ารู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก หากมีรูปคนหรือสัตว์อยู่ในภาพ เราเลยพักการทำงานและระดมสมองกันอีกรอบครับ เพราะตอนแรกเราออกแบบให้มีภาพคนอยู่หลายคนในภาพทีเดียวเพราะเราเลือกใช้คนเป็นสัญลักษณ์บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตอันอบอุ่นของชุมชนบ้านบน แต่สุดท้ายเราก็พร้อมที่จะรับฟังและเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ทุกคนสบายใจครับ ออกแบบภาพใหม่โดนตัดภาพคนและสัตว์ออกไป และหาสัญลักษณ์อย่างอื่นมาใช้บอกเล่าเรื่องราวแทน ซึ่งพี่แมได้ช่วยเหลือพวกเราอย่างมากในการให้ข้อมูลของข้าวของเครื่องใช้และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตอันงดงามของชุมชน เพื่อให้การปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่นี้ ยังคงสื่อสารถึงเรื่องราวตามความตั้งใจเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุดครับ


   ในระหว่างการวาดภาพ ชาวชุมชนต่างก็แวะเวียนมาให้กำลังใจซื้อน้ำ ขนม ผลไม้ต่าง ๆมาให้ตลอด อำนวยความสะดวกในทุก ๆอย่าง เอาเสื่อ เอาเต้นท์ มากาง เอาเก้าอี้มาให้  บางท่านก็มอบเป็นเงินสนับสนุน พี่เอ๋จากภาคีคนรักสงขลาสมาคมก็มามอบเงินสนับสนุนให้น้อง ๆ ด้วย 1,000 บาทครับ ทางชุมชนดูแลพวกเราอย่างดีมาก ๆ เป็นความประทับใจจริง ๆครับ

     เนื่องจากการแก้ปัญหาและต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบผลงานอย่างที่กล่าวมา ทำให้ผลงานเสร็จช้ากว่ากำหนดการเดิมไปพอสมควรครับ ตอนนี้ยังต้องมีการวาดเก็บรายละเอียดอีกหลายจุด โดยน้อง ๆ จะมาวาดเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมในวันศุกร์นี้ ช่วงเย็น ๆ ท่านใดสนใจแวะเวียนมาให้กำลังใจน้อง ๆ ได้เลยนะครับ โดยเราตั้งใจจะส่งมอบผลงานให้กับชุมชนในวันที่ 20 กันยายน

     ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อบันทึกเรื่องราวความประทับใจในการทำงาน รวมถึงอยากบอกเล่าถึงความตั้งใจของทีมงานทุกท่าน ทั้งป้าหนู คุณแม พี่เชาว์ คุณแมว น้องหญิง ครูอุ๋ย และน้อง ๆ ชมรมศิลปะโรงเรียนมหาวชิราวุธทุกคน ที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์ผลงานให้สามารถสร้างประโยชน์ และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

     สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณทีมงานและน้อง ๆทุกคนเป็นอย่างยิ่งครับ ผลงาน street art แห่งแรกของชุมชนบ้านบนนี้ ถ้าจะมีสิ่งผิดพลาดประการใดผมขอรับมันไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ แต่ถ้าผลงานนี้จะได้รับคำชื่นชมและเป็นประโยชน์กับชุมชน ขอยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับทีมงานทุกท่าน โดยเฉพาะน้อง ๆ ชมรมศิลปะโรงเรียนมหาวชิราวุธทุกคน น้อง ๆสุดยอดมาก ๆ และเป็นต้นกล้าสร้างสรรค์ที่จะเติบโตอย่างสวยงามในอนาคตอย่างแน่นอนครับ

#แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ #สสส.

#วิสาหกิจชุมชน

#สงขลาเฮอริเทจ

#ศิลป์สร้างสุข

#สื่อศิลป์SE




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]