สร้างวิสาหกิจชุมชนให้โดดเด่นด้วย Brand Identity

หมวดหมู่ สื่อศิลป์ SE - Social Enterprise , โดย : admin , 31 มกราคม 63 / อ่าน : 2,031


        


        แบรนด์คือของดีประจำชุมชน เมื่อได้ของดีแล้วก็ต้องสร้างตัวตนที่ชัดเจนให้กับแบรนด์ของเราผ่านกระบวนการสร้างแบรนด์ (Branding) ซึ่งในกระบวนการนี้ได้สอดแทรกกลยุทธ์อีกวิธีการหนึ่งที่จะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำและผู้บริโภคเกิดความสนใจ นั่นคือ “การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์” หรือ “Brand Identity” เพราะวิสาหกิจชุมชน เป็นการทำกิจการเกี่ยวกับสินค้าของชุมชน การบริการ การท่องเที่ยว ที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนในพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตร่วมกัน มีความผูกพันกัน แล้วรวมตัวกันทำกิจการด้วยการสร้างรายได้เพื่อพึ่งพาตนเองระหว่างครอบครัวและชุมชน โดยใช้วิธีการจัดการทุนทางทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น ความรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และวิถีชีวิต มาทำการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อสร้างความแตกต่างและการจดจำให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค     


        การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) โดยส่วนมากจะอยู่ที่ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น โลโก้ บรรจุภัณฑ์ ฉลากสินค้า สี ตัวอักษร และตราสินค้า เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกแบรนด์สินค้าของเราออกจากแบรนด์สินค้าอื่นได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะสำหรับกิจการในชุมชนของเราได้อีกด้วย ซึ่งโครงสร้างของการสร้างอัตลักษณ์แบรนด์จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ แก่นของการสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ หรือ Core Identity ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะจะทำการยึดแก่นที่เราสร้างขึ้นเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะบอกอยู่ในสโลแกนของแบรนด์ ตัวอย่างเช่น “รักคุณเท่าฟ้า” และ “Smooth As Silk” ของการบินไทย ที่สื่อสารได้อย่างชัดเจนว่าสายการบินไทยมีการบริการที่ดี มีการใส่ใจลูกค้าในระดับพรีเมี่ยม (Premium) ส่วนต่อมาคือ ส่วนส่งเสริมอัตลักษณ์แบรนด์ หรือ Extended Identity ที่จะช่วยขยายแก่นของอัตลักษณ์แบรนด์ให้ชัดเจนและเห็นภาพมากขึ้นได้จากการใช้สัญลักษณ์ โลโก้ สี ตัวหนังสือ และลายกราฟิกต่าง ๆ จากตัวอย่างเดิม สายการบินไทยเลือกใช้สีม่วงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับแบรนด์ ซึ่งเหตุผลที่ใช้สีม่วง เพราะว่าต้องการสื่อถึงความสง่างาม หรูหรา และยิ่งใหญ่ ซึ่งจะสอดคล้องกับแก่นของแบรนด์ เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ส่วนนี้ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างแบรนด์ของเราให้มีเรื่องราวและอัตลักษณ์มากยิ่งขึ้น


        ดังนั้น เมื่อนำการสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นโดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม และวิถีชีวิต มาแปรรูปเป็นสินค้าและบริการในโครงการพัฒนาต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม (Social Enterprise) 4 ภูมิภาค ผ่านการใช้ส่วนประกอบหลักทั้ง 2 ส่วน คือ แก่นของการสร้างอัตลักษณ์แบรนด์หรือสโลแกน และตัวช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์แบรนด์หรือการสื่อสารสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการจดจำในแบรนด์ของชุมชนให้กับผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมาย ก็จะสามารถเป็นตัวช่วยสร้างรายได้และให้ผลตอบแทนกลับคืนสู่ชุมชนได้

 

ข้อมูลประกอบจาก: เว็บไซต์ Greedisgoods และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

สำหรับใครที่อยากติดตามต่อว่าตัวช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์ของแบรนด์มีอะไรบ้าง และแต่ละส่วนมีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาแบรนด์ก็สามารถติดตามข่าวสารและบทความอื่น ๆ ได้ที่

Fanpage: แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. หรือ https://www.facebook.com/artculture4h/

Website: สื่อศิลป์ SE - Social Enterprise หรือ http://www.artculture4health.com/categories/view/12



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]