ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผจก.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่าสุขภาพหรือสุขภาวะในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทของสังคมไทย ประกอบด้วยสุขภาวะ 4 มิติหลัก ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และ สุขภาวะทางปัญญา ซึ่งการศึกษาวิจัยของอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักจิตวิทยาจาก JAI Center พบว่า สุขภาวะทางปัญญาคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาสุขภาวะในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ
ขณะที่ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี และ ผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ อาจารย์จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักจิตวิทยาจาก JAI Center อธิบายว่า ปกติคนเราเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายอยู่แล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือมักทำได้ในระยะสั้นและล้มเลิกไป การวิจัยในจึงมุ่งเน้นหาคำตอบว่าเพราะอะไร และจะทำอย่างไรให้เกิดพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยศึกษาไปที่ 2 ตัวแปรที่สำคัญคือ สุขภาวะทางปัญญา และในด้านความผาสุกทางจิตใจ สุดท้ายเราได้ผลวิจัยยืนยันออกมาเป็นโมเดลที่ชัดเจนว่า สุขภาวะทางปัญญา มีผลให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยมีตัวแปรส่งผ่านคือปัจจัยทางจิตวิทยา
งานวิจัยดังกล่าสอดคล้องกับ กรณีของ “ออย - ยุวดี พันธ์นิคม” ป่วยโรคมะเร็งกระดูกต้องเสียขาและปอด 1 ข้าง กลายเป็นผู้พิการตั้งแต่เด็กอายุ 14 ปี กว่า 20 ปี ใช้ชีวิตแบบไม่เต็มร้อยแต่สุดท้ายด้วยสุขภาวะทางปัญญาที่ดี เธอสามารถสร้างพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ต่อเนื่องและยั่งยืนได้ โดยเธอลุกขึ้นมาบอกรักตัวเองจับขาเทียมมาใส่และหันมาวิ่งออกกำลังกาย ส่งผลทำให้เธอมีชีวิตสุขภาวะที่สมดุลในทุกมิติ