ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ หากอีกหนึ่งใน New Year Resolution ของคุณจะเริ่มด้วยการลองออก “วิ่ง” ไม่แน่ว่าก้าวแรกนั้นอาจที่จะกลายเป็นก้าวสำคัญที่ชี้ชะตาชีวิตและสุขภาพของคุณในอนาคตทีเดียว
แต่หลายคนยังคงไม่เชื่อว่าแค่การวิ่งนั้น “เปลี่ยนชีวิตใหม่” ได้จริงหรือ แม้ตลอดกว่าสิบปีที่กระแสการวิ่งกลายเป็นอีกกิจกรรมที่คนทั่วโลกหันมานิยม ซึ่งสะท้อนว่าเรื่องวิ่งไม่ใช่แค่ “กระแส” แต่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากการปัจจุบันที่เราเห็นคนที่ออกมาวิ่งหลายหมื่นคน สู่หลายแสนชีวิต จนกลายเป็นหลักล้านในวันนี้
แต่บางคนก็คงอาจสงสัยในใจว่าวิ่งแล้วมันดีอย่างไร?
ใครที่ยังลังเลใจกับเรื่องวิ่ง หรืออยากรู้ว่าการวิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงคนเราได้แค่ไหน ลองมาฟังเรื่องจริงจาก 8 คนต้นแบบโครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่สตอรี่ : RunForNewLifeStory ที่พวกเขาคือบทพิสูจน์ว่า ใครๆ ก็เปลี่ยนได้ และวิ่งให้ชีวิตใหม่เขาได้จริง
โครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่สตอรี่ RunForNewLifeStory เป็นการสื่อสารกึ่งสารคดีเรียลลิตี้ เพื่อให้เกิดการสร้างแรงบันดาล กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสุขภาพและกิจกรรมทางกาย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยทั้ง 8 คนที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ พร้อมกับมีทีมโค้ชที่มีความชำนาญ คอยให้คำแนะนำ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เหมาะสมประกบติดทุกขั้นตอน ควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องโภชนาการจากนักโภชนาการ นำโดย ดร.สง่า ดามาพงษ์ จนมีร่างกายที่ฟิตและพร้อมพิชิตระยะทาง 10 กิโลเมตรแรกในชีวิตได้สำเร็จ ในระยะเวลาเพียงแค่ 85 วันเท่านั้น
วิ่งเติมพลังบวก
สมเจตน์ เสาโร (แสบ) ชายหนุ่มวัย 40 ผู้พกมาทั้งเบาหวาน ความดัน เกาท์ และโรคซึมเศร้า ทั้งยังแบกน้ำหนักถึง 98 กิโลกรัมไว้ในร่างกาย ในด้านจิตใจสมเจตน์ผ่านทั้งความเครียด ท้อแท้ในชีวิตเพราะต้องทำหน้าที่ดูแลลูกชายคนเล็กที่เป็นออทิสติก
“ผมมีน้องสาวเป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจ ซึ่งจากคนที่ต้องผ่าตัดเนื้องอก เขาใช้การวิ่งเปลี่ยนชีวิตเขาด้วย ผมเลยอยากพิสูจน์ว่ามันจริงหรือไม่
หลังเริ่มวิ่งผมได้พบสิ่งมหัศจรรย์ นอกจากผมจะมีวินัยจากการออกกำลังกาย อีกสิ่งที่ได้เพิ่มมาคือ “สติ” ทั้งในการประคองแต่ละก้าวที่เราวิ่ง ใจเราก็นิ่งขึ้น เราปล่อยวางปัญหา เพราะโฟกัสข้างหน้าเท่านั้น มันได้สมาธิ ร่างกายก็ดีขึ้น หลังทำมา 3 เดือนก็มาตรวจสุขภาพตัวเอง มันเห็นว่าค่าน้ำตาลของผมเมื่อก่อน 300 ต้องฉีดอินซูลีน หรือเพียง 110 ค่าความดันจาก 140 ขึ้นตลอด อยู่ที่ 80- 120 ค่าน้ำตาลสะสมจาก 12.2 มาเหลือ 7.7 นี่คือกรอบระยะเวลา 85 วันเท่านั้นเอง แต่แม้น้ำหนักผมเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ยุบหายไปคือพุงครับ”
วิ่งเพื่อเป็นแบบอย่าง
เป้าหมายสำคัญของ รรินภรณ์ ยาวุฒิ (หล้า) แม่หลวงแห่งบ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการและเริ่มวิ่ง เพราะอยากเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทั้งครอบครัวและลูกบ้านในชุมชน
“ เราเป็นผู้นำชุมชน เมื่อก่อนเป็นคนชอบกินแต่อะไรมันๆของมันของทอด แต่พอเรามีโจทย์ว่าทำอย่างไรจะให้ชุมชนเราทุกคนมีสุขภาพดีและหันมาออกกำลังกาย ลูกบ้านในชุมชนส่วนใหญ่มีภาวะโรคอ้วน พอเราคิดจะชวนทุกคนออกมาวิ่ง มันก็เลยต้องลุกมาทำเองด้วย นอกจากสอนเรื่องวิ่ง โครงการนี้ยังมี อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ มาช่วยเหลือดูแลโภชนาการของเราว่า วรกินอย่างไร เมื่อก่อนข้าวซอยเป็นอาหารโปรดเลยนะ แต่อาจารย์สง่าแนะนำว่าทานได้ แต่ควรเป็นเดือนละครั้งพอ ให้ปรับเปลี่ยนเป็นอาหารที่ไร้ไขมันดีกว่า อย่าง ขนมจีนน้ำเงี้ยว ผักต้ม เป็นต้น
ซึ่งความสำเร็จนั้นไม่เพียงพิสูจน์ได้ว่าทุกคนแข็งแรงขึ้น แต่ยังพิสูจน์ว่าทุกคนทำได้ แม้แต่ตัวเราเอง”
วิ่งเปลี่ยนไมนด์เซ็ต
จรุงศรี ยินไธสง (กระต่าย) อีกหนึ่งสาวที่ท้าทายสุขภาพด้วยการวิ่ง จากหญิงสาวที่ไม่เคยพิศมัยเรื่องการออกกำลังกายในชีวิต เพราะเธอให้ข้ออ้างกับตัวเองว่า “ไม่มีเวลา” แต่กระต่ายลุกขึ้นมาวิ่งเพราะอยาก
“บอกตรงๆ ตอนแรกเป้าหมายของเราคือ วิ่งเพื่อที่จะให้คนที่เราแอบชอบหันกลับมามองเรา แต่หลังเราได้วิ่งเป้าหมายเราเปลี่ยนไป เรามองว่ามัน เรายังได้กัลยาณมิตรกำลังใจมากมายจากโครงการนี้ มันคือสิ่งที่เราทำแล้วเกิดความสุข เราได้เข้าใจว่าวิ่งคืออะไร คือการวิ่งเพื่อหน้าที่ที่ดีต่อร่างกาย ต่อโอกาสและความรับผิดชอบที่ได้เข้ามาตรงนี้
คนที่เราชื่นชอบเขาเป็นคนบอกว่า แรงบันดาลใจที่ดี ต้องเกิดขึ้นจากพลังบวกที่เกิดขึ้นจากตัวเราดีที่สุดและมันมั่นคง ยั่งยืนที่สุด ซึ่งเราเองก็ได้ค้นพบหลังวันที่ 50 ซึ่งพอวิ่งแล้วได้ชีวิตใหม่จริงๆ ค่ะ ที่สำคัญมันพิสูจน์ว่าเราทำได้ด้วย จากคนที่กลัวเจ็บ แต่วันนี้สิ่งที่เปลี่ยนมากที่สุด นอกจากเรื่ององค์ความรู้เรื่องสุขภาพ คือไมนด์เซ็ตของเราที่ว่า ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าเราแค่ลุกขึ้นมาเปลี่ยน เราก้าวข้ามเงื่อนไขข้อจำกัดร้อยแปดที่เราอ้างมาทั้งหมด ซึ่งถ้าเราไม่ยอมปรับ ชีวิตเราจะไม่มีทางเปลี่ยนได้เลย”
วิ่งส่งต่อแรงบันดาลใจ
ในบทบาทของนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม นครราชสีมา ท็อป ไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ คือผู้นำที่พี่น้องในชุมชนให้การยอมรับในทุกเรื่อง เขาเป็นตัวตั้งตัวตีจัดงานวิ่งให้คนอื่นมามากมาย ทั้งยังเนรมิตสวนสาธารณะที่ดีที่สุดในตำบล แต่ก็ไม่เคยไปวิ่ง
“ปีที่แล้วผมมีโอกาสได้รู้จักคุณทนงศักดิ์ ซึ่งไปช่วยจัดงานวิ่งหลายงานที่โคราช ก็ได้รับคำเชิญชวนว่าทำไมผมไม่สมัคร จึงตัดสินใจลง และทำให้ได้เปลี่ยนชีวิตอีกครั้ง โดยกลับมามีสุขภาพอีกครั้ง จากเดิมที่มาครบ เบาหวาน ความดัน คลอเรสเตอรอล เกาท์ อาจารย์สง่าก็ให้ข้อคิดเราว่า ถ้าผมไม่เปลี่ยนแล้วอีกสิบปีเธอจะอยู่กับใคร และใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เธออยากเป็นผู้ป่วยติดเตียงให้ลูกต้องมาแบกไปหาหมอ คอยพลิกตัว เช็ดตัวให้หรือ ทำให้ผมคิดได้ว่าไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว เราอยากเอาตัวเองเป็นแบบอย่างเป็นกำลังใจเป็นให้ทุกคน ครอบครัว และคนในตำบลได้
เชื่อไหมว่าในเวลา 90 วันผมลงไปสิบกิโลแล้ว ตั้งแต่ Thai Health Day Run ผมวิ่งสิบกิโลเมตรทุกสัปดาห์”
วิ่งทิ้งเก้าอี้
เพาซี ยะซิง คืออีกหนุ่มที่เคยมีน้ำหนักเกิน จนเสี่ยงภาวะไขมันที่เริ่มพอกตับและกระดูสันหลังงอคด เพราะภาวะติดเก้าอี้
“ตอนแรกเห็นโครงการนี้ลังเลจะสมัครดีไหม แต่เพราะอยากลองเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลยลองทำอะไรใหม่ดู เราเป็นหน่วยสาธารณสุขเอง หลังผ่านมาถึง 85 วัน เราสามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ คือ 10 กิโลเมตร โดยทำตามความแนะนำของโค้ชในโครงการ มันก็ได้ตามเป้าจริงๆ คุณแม่เป็นกำลังใจฝึกซ้อมไปด้วยตลอด เราเคยมีไขมันสูง ต้องกินยา แต่สุดท้ายเราไม่ต้องกินยา ตอนแรกเราเป็นคนที่พูดถึงการออกกำลังกาย จะหาข้ออ้าง เราวิ่งแทบทุกวัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน อยากชวนคนรอบข้างที่ไม่เคยออกกำลังกายมาลองดู เพราะเราเองเริ่มจากคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย มาเป็นคนที่วิ่งเดือนละ 50 กิโลได้คนรอบข้างก็หันมาออกกำลังกายกับเรา”
วิ่งเพื่อคนที่รัก
ธีรวัฒน์ เถลิงสกุล หรือ หนุ่ยที่ทุกคนในวงการวิ่งรู้จักกันดี ในฐานะคนทำงานวิ่ง เขาเป็นออร์แกไนเซอร์งานวิ่งมาสิบปี แต่ไม่เคยคิดออกมาวิ่ง ล่าสุดหนุ่ยมีน้ำหนักพุ่งพรวดไปถึง 138 กิโลกรัม แต่เมื่อวันนี้เลือกที่จะเริ่มวิ่ง หนุ่ยสามารถลดน้ำหนักลงได้เหลือ 126 กิโลกรัม
“ในวันแรกที่รู้ว่าผมสมัครเข้าโครงการนี้ ข้อมือใหญ่จนใส่นาฬิกาวัดสุขภาพแทบไม่ได้ แต่วันนี้ผมสามารถทำให้ลดลง ตอนแรกที่สมัครใจมันมีหลายเสียงทั้งจากตัวเอง และคนรอบข้าง ทุกคนถามผมว่าผมตั้งใจจริงๆ ใช่ไหม และกลายเป็นเสียงที่ก้องในใจผมตลอดเข้าร่วมโครงการให้เรามุ่งมั่นเพื่อพ่อแม่ของเรา เพราะเราอยากอยู่กับเขาไปนานๆ ไม่เพียงเราเองที่รู้สึกดี แต่คนที่บ้านพ่อแม่ต่างก็ดีใจที่ลูกเปลี่ยนได้ อยากบอกว่าผมไม่ได้จะเปลี่ยนแค่เฉพาะตอนเข้าร่วมโครงการ แต่ผมจะทำต่อไป ทุกคนเช่นกัน ถ้าคุณคิดว่ามาแค่ 80-100 วันแล้วจะทิ้งไปหรือไปต่อ”
วิ่งชนะขีดจำกัด
เพราะความที่ต้องใส่ขาเทียมและถูกตัดปอดออกไป 1 ข้าง ทำให้ ออย ยุวดี พันธ์นิคม หญิงสาวที่เคยมองความพิการของตัวเองเป็นปัญหาตลอด 20 ปี
“แต่พอเข้าโครงการนี้ ทั้งพี่ทนงศักดิ์และอาจารย์สง่า ทำให้เราได้ความคิดใหม่ว่าจริงๆ แล้วความพิการไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นแค่ข้อจำกัดของร่างกายเท่านั้น แต่ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ทำให้เรารู้ว่ากิจกรรมการวิ่ง คนพิการก็ทำได้เช่นกัน เราพิสูจน์แล้วว่าเราสามารถจบ 10 กิโลเมตรได้โดยที่ไม่โกงระยะทาง
นอกจากวิ่งแล้ว เรายังได้ทัศนคติเชิงบวกทุกอย่างจากโครงการนี้ มีคนถามออยว่าทำไมไม่ไปออกกำลังกายที่ตรงกับสภาพร่างกายตัวเอง พอได้ยินคำถามแบบนี้ เรารู้สึกโกรธเหมือนกันนะ แต่เราก็ตอบเขาไปว่าเมื่อก่อนเราเดินแค่ 200 เมตรก็เจ็บขาไม่อยากเดินแล้ว แต่การวิ่งวันนี้ออยแข็งแรงมากขึ้น ออยเดินไป 5 กิโลเมตรมันไม่เจ็บอีกต่อไปแล้ว เชื่อแล้วค่ะว่าการวิ่งสอนให้เรามีสติมากขึ้น สอนให้เราคิดดี ได้รับสิ่งดีๆ มากขึ้น มาเป็นทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิตประจำวัน”
ทั้งนี้โครงการยังจะมีการรับสมัครแฟนคลับหรือบุคคลทั่วไปที่ได้ติดตามโครงการเข้ามีส่วนร่วมกับบุคคลต้นแบบทั้ง 8 คนด้วยกิจกรรม Virtual Run (เวอร์ชวลรัน) ตามคนต้นแบบ โดย 1 THR จะสามารถมีแฟนคลับได้ 25 คน รวมทั้งสิ้น 200 คน ซึ่งมีข้อแม้ว่า 1.บุคคลนั้นต้องวิ่งจริง 2.วิ่งแล้วถ่ายรูปถ่ายที่วิ่งส่งเข้ามาที่แฟนเพจ RunfornewlifeStoryทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วันของการไปวิ่ง ไม่ว่าจะไปวิ่งที่ไหนก็ตาม อย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ (ภายใน 2 เดือน) และ3.ระยะเวลาเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2563 – วันที่ 15 มีนาคม 2563” หากใครทำได้ตามนี้จะได้รับ 1.เสื้อ Limited Edition (ลิมิเต็ด อิดิชั่น) รูป THR นั้นๆ และ 2.จะมีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมทางกาย Exclusive ที่คุณและเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการแบบสนุกๆ โดยบุคคลต้นแบบ, โค้ช และ สสส.
สามารถติดตามและเริ่มสมัครได้ที่แฟนเพจ RunfornewlifeStoryในต้นเดือนมกราคม 2563 นี้ ซึ่งใครที่พลาดครั้งที่ผ่านๆ มา สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นหนึ่งในบุคคลต้นแบบ “จะปล่อยหรือจะเปลี่ยน” กับโครงการ วิ่งสู่ชีวิตใหม่ Run for New Life Story ระยะที่ 2 ได้ในช่วงเดือนเมษายน 2563 นี้แน่นอน
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]